คอลัมน์แกะรอยต่างแดน : 35 ปี ความตกลงเชงเกน จุดกำเนิดที่เมือง “เชงเกน”

คอลัมน์แกะรอยต่างแดน : 35 ปี ความตกลงเชงเกน จุดกำเนิดที่เมือง
เครดิตภาพ - Kirsten Henton

คอลัมน์แกะรอยต่างแดน : 35 ปี ความตกลงเชงเกน จุดกำเนิดที่เมือง “เชงเกน”

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 35 ปี ของ “ความตกลงเชงเกน” ความตกลงระหว่างประเทศในยุโรป ที่ถือกำเนิดขึ้นที่เมืองเชงเกน ประเทศลักเซมเบิร์ก เมื่อปี ค.ศ. 1985 เพื่อให้พลเรือนในกลุ่มประเทศเหล่านี้สามารถเดินทางระหว่างกันได้โดยไม่ต้องใช้หนังสือเดินทาง

รวมไปถึงการอนุญาตให้เดินทางเป็นการชั่วคราวให้แก่ผู้ที่ถือ “วีซ่าเชงเกน” ด้วย ซึ่งปัจจุบัน ครอบคลุม 26 ประเทศ มีทั้งที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) และที่ไม่ใช่

ทั้งนี้ เชงเกน เป็นเพียงเมืองเล็กๆเมืองหนึ่ง ในประเทศลักเซมเบิร์ก ที่ซึ่งเมื่อ 35 ปีก่อน มีเพียงตัวแทนของฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก ที่เดินทางไปลงนามในความตกลงดังกล่าวที่เมืองเชงเกน

สำหรับเมืองเชงเกนนั้น เป็นเมืองผลิตไวน์เล็กๆ อยู่ห่างออกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศลักเซมเบิร์ก ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำมอแซล แม่น้ำที่ไหลผ่านฝรั่งเศส ลักเซมเบิร์ก และเยอรมนี

Advertisement

และที่สำคัญคือ เป็นจุดเชื่อมต่อชายแดน 3 ประเทศ คือลักเซมเบิร์ก เยอรมนี และฝรั่งเศส

ที่กลายเป็นสาเหตุที่เมืองเชงเกน ถูกเลือกให้เป็นที่ลงนามในความตกลง เพราะเป็นสถานที่แห่งเดียวที่ฝรั่งเศส และเยอรมนี สามารถพบกับกลุ่มประเทศ เบเนลักซ์ หรือ ก็คือ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก ได้ในที่เดียว และการเป็นเมืองที่เชื่อมต่อ 3 ประเทศ ก็เป็นเสมือนกับสัญลักษณ์ เพื่อให้แน่ใจว่า จะมี “ความเป็นกลาง” ในความตกลงที่เกิดขึ้น

และในอีก 10 ปีต่อมา ในวันที่ 26 มีนาคม 1995 ฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส และสเปน จะกลายกลุ่มประเทศแรกที่เปิดชายแดนให้พลเรือนของตัวเองเดินทางข้ามประเทศไปมากันได้โดยไม่ต้องใช้หนังสือเดินทาง

Advertisement

กลายเป็นเขต “ไร้พรมแดน” ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในโลก

ก่อนที่สมาชิกของเชงเกนจะขยายออกไป จนกลายเป็น 26 ประเทศในปัจจุบัน

หากต้องการจะเดินทางไปยังเมืองเชงเกนตอนนี้ อาจจะต้องมีความพยายามมากเสียหน่อย เพราะอยู่ห่างจากกรุงลักเซมเบิร์ก ราว 35 กิโลเมตร ต้องขับผ่านป่าและทุ่งนาต่างๆ มุ่งหน้าไปยังเมืองเล็กๆแห่งนี้

ที่เมืองนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ยุโรป ที่มีเรื่องประวัติศาสตร์เกี่ยวกับข้อตกลงการเปิดพรมแดนที่เรียกได้ว่ายิ่งใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้ ให้ได้เรียนรู้กัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image