รายงานพิเศษ : ความร่วมมือของฝรั่งเศสกับนานาชาติ เพื่อรับมือกับโรคโควิด-19

สิทธิในสุขภาพและการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิดังกล่าวปรากฏอยู่ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ.1789 ของฝรั่งเศส ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใดต้องได้รับโอกาสแบบเดียวกันในการสร้างอนาคตของตนเอง นี่คือความท้าทายยิ่งใหญ่ที่เราต้องรับมือ ฝรั่งเศสได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นดังกล่าวร่วมกับประชาคมโลก

องค์การอนามัยโลก (WHO) มีบทบาทสำคัญในเรื่องการประสานงานการรับมือโรคระบาดใหญ่ในระดับนานาชาติ และมีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ และความรู้ภาคสนาม ฝรั่งเศสสนับสนุนการดำเนินการของ WHO มาโดยตลอด และได้ตัดสินใจให้การสนับสนุนด้านการเงินเพิ่มขึ้นแก่ WHO เมื่อไม่นานมานี้ฝรั่งเศสได้ร่วมกับ WHO ชาติพันธมิตรยุโรป และองค์การด้านสาธารณสุขระดับโลก ริเริ่มโครงการ Access to Covid-19 Tools (ACT) Accelerator เพื่อสนับสนุนการวิจัย เร่งรัดการพัฒนาการวินิจฉัย วิธีการรักษา และวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนทั่วโลกสามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้ โดยเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดการประชุมนานาชาติเพื่อระดมทุนสนับสนุนโครงการดังกล่าว และสามารถระดมทุนได้จำนวน 9.8 พันล้านยูโร โอกาสดังกล่าว ฝรั่งเศสได้ประกาศสนับสนุนเงินจำนวน 510 ล้านยูโร

ฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับการพัฒนาวัคซีน โดยมีเจตนารมณ์ว่า หากมีการค้นพบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทุกคนจะต้องสามารถเข้าถึงได้ ด้วยเหตุนี้ ในระหว่างการประชุมสุดยอดวัคซีนโลกเพื่อระดมทุนเข้าองค์กรพันธมิตรโลกเพื่อวัคซีน (Gavi, the Vaccine Alliance) เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ฝรั่งเศสได้ประกาศให้เงินอุดหนุนองค์กรดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 250 ล้านยูโรเป็น 500 ล้านยูโร ในช่วงปี 2021-2026 และจะให้เงินอุดหนุนอีก 100 ล้านยูโร เมื่อมีการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ การให้เงินอุดหนุนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยให้มีการผลิตวัคซีนในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้การดำเนินการต่างๆ ที่จำเป็นในการป้องกันโรคอื่นๆ ยังคงดำเนินได้ต่อไปในระดับเดิม

Advertisement

ร่วมต่อสู้กับโรคโควิด-19 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทย

เพื่อตอบสนองต่อความมุ่งมั่นของฝรั่งเศส สำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (Agence Francaise de Developpement – AFD) และสำนักงานเพื่อความร่วมมือด้านเทคนิคระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (Expertise France – EF) ได้ดำเนินการในการรับมือกับโรคโควิด-19 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในประเทศไทย

ภายใต้โครงการ COVID-19 – Health in Common AFD ได้มอบเงินสนับสนุนเพิ่มเติมจำนวนกว่า 2 ล้านยูโร เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา แก่โครงการ ECOMORE II ซึ่งเป็นโครงการระดับภูมิภาคว่าด้วยโรคอุบัติใหม่ ขณะเดียวกัน EF จะให้เงินสนับสนุนเพิ่มเติมจำนวนกว่า 2 แสนยูโร เพื่อช่วยให้เกิดความต่อเนื่องในการบริการสุขภาพแก่ประชากรกลุ่มเปราะบางในประเทศไทย ผ่านโครงการกองทุน Initiative 5% ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบการให้เงินอุดหนุนของฝรั่งเศสแก่กองทุนโลกเพื่อการต่อสู้โรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย

โครงการ ECOMORE II และประเทศไทย

โครงการ ECOMORE II มีเป้าหมายในการเสริมสร้างระบบการเฝ้าระวัง การวินิจฉัย และการตอบสนองต่อโรคระบาดของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยในฐานะที่มีความก้าวหน้าด้านการวิจัยโรคไข้เลือดออก ได้มีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าวผ่านกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ และภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยร่วมบรรยายการอบรม 2 ครั้ง เพื่อเสริมสร้างทักษะให้แก่เจ้าหน้าที่เทคนิคห้องปฏิบัติการในกัมพูชา

ภายใต้โครงการ ECOMORE II ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันปาสเตอร์ ห้องปฏิบัติการ 7 แห่งจาก 5 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จะได้รับประโยชน์จากเงินสนับสนุนในระยะตอบโต้ (response phase) โรคโควิด-19 ในด้านต่างๆ ดังนี้ 1. การสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อสำหรับเจ้าหน้าที่ 2.การจัดซื้อชุดตรวจวินิจฉัย 3.การเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์และการอบรม 4.การถ่ายทอดทักษะความรู้ 5.การขยายการตรวจหาการติดเชื้อในระดับที่มากขึ้น (mass testing) เพิ่มเติมจากการตรวจวินิจฉัยทางอณูชีวโมเลกุล (molecular diagnosis) และ 6.การสนับสนุนการประมวลผลข้อมูลด้วยความร่วมมือกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาของฝรั่งเศส (Institut de recherche pour le developpement – IRD) เพื่อเสริมสร้างการเฝ้าระวังโรค

สนับสนุนการเงิน 2 โครงการในไทย

ภายใต้การสนับสนุนของโครงการกองทุน Initiative 5% เงินสนับสนุนจำนวนกว่า 2 แสนยูโรได้ถูกจัดสรรให้แก่โครงการนับหนึ่ง และโครงการ M-Fund

โครงการนับหนึ่ง เป็นโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก IRD และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการให้การปรึกษาและบริการตรวจเลือดหาการติดเชื้อ 4 อย่าง ได้แก่ เอช ไอ วี ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และซิฟิลิส ได้มากขึ้น เงินสนับสนุนที่ได้รับการจัดสรรกว่า 120,000 ยูโร ช่วยให้โครงการนี้สามารถพัฒนาระบบการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบรวดเร็ว (COVID-19 rapid test system) จัดการอบรมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ

โครงการ M-Fund หรือ Migrant Fund เป็นโครงการประกันสุขภาพราคาถูกซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Dreamlopments สำหรับคนต่างด้าวที่ไม่สามารถใช้สิทธิในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้และอยู่อาศัยบริเวณชายแดนระหว่างไทยกับเมียนมา เงินสนับสนุนที่ได้รับการจัดสรรกว่า 80,000 ยูโร จะช่วยจ่ายค่าเบี้ยประกันเป็นเวลา 2 เดือนให้แก่สมาชิกโครงการ M-Fund 8,000 คน ทำให้สมาชิกปัจจุบันเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างต่อเนื่องและช่วยเพิ่มสมาชิกใหม่ นอกจากนี้ ยังช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ รวมถึงจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19

ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการขยายความร่วมมือเพิ่มเติมที่มีการลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่างฝรั่งเศสและไทย เมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา เพื่อเฉลิมฉลองในวาระ 333 ปี ราชทูตสยามเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การทูตของไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ออกพระวิสุทธสุนทร ได้นำคณะราชทูตสยามไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับฝรั่งเศส และได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2229

เป้าหมายของความตกลงดังกล่าวก็เพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นในภาคส่วนสำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีจี) ซึ่งรวมไปถึงประเด็นเกี่ยวกับสภาวะบรรยากาศโลก, พลังงาน และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

นาย ยาซิด เบนซาอิด ผู้อำนวยการ AFD ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวไว้ในครั้งนั้นว่า “การสร้างความเข้มแข็งให้กับสัมพันธภาพระหว่างฝรั่งเศสกับ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ผ่านมาตรการต่างๆ ในทางปฏิบัติภายใต้กรอบสามเหลี่ยมความร่วมมือนี้ จะช่วยให้ฝรั่งเศสสามารถพัฒนากิจกรรมต่างๆ ขึ้นได้ทั้งในไทย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในแอฟริกาในทำนองเดียวกัน”

และเป็นการตอกย้ำถึงความมั่นคงและยั่งยืนของความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสและไทยที่ยืนนานมาหลายศตวรรษอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image