คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ‘สปุตนิค’ เดอะ รัสเซียนรูเลตต์ วัคซีน

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : 'สปุตนิค วี' เดอะ รัสเซียนรูเลตต์ วัคซีน
(Alexander Zemlianichenko Jr/ Russian Direct Investment Fund via AP)

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ‘สปุตนิค’ เดอะ รัสเซียนรูเลตต์ วัคซีน

เมื่อ 4 เดือนที่ผ่านมา อเล็กซานเดอร์ กินซ์เบิร์ก วัย 68 ปี นักจุลชีววิทยา และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยกามาเลยา ในกรุงมอสโก สาธารณรัฐรัสเซีย ตัดสินใจฉีด “วัคซีนโควิด” ที่เขาพัฒนาขึ้นมาให้ตัวเองนั้น

กินซ์เบิร์กยังไม่ได้แม้ทดลองวัคซีนตัวนี้ใน ลิง สัตว์ทดลองยอดนิยม เนื่องเพราะสายพันธุ์ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากที่สุดด้วยซ้ำไป

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยกามาเลยายืนยันว่า ตอนนี้เขาก็ยังรู้สึกดีอยู่ เช่นเดียวกับพนักงานประจำสถาบันอีกราว 100 คน ที่ตกลงใจรับการฉีดวัคซีนใหม่เอี่ยมนี้ ทุกคนยังคงมีสุขภาพดี

“ผมอยากป้องกันตัวเองและคุ้มครองเพื่อนร่วมงานของผม” กินซ์เบิร์กบอกก่อนย้ำว่า ยังไงก็แล้วแต่ วัคซีนตัวนี้ก็ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว

Advertisement

วัคซีนที่ว่านี้ ถูกขนานนามอย่างอลังการว่า “สปุตนิค” โดยวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ผู้ประกาศเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ให้ความเห็นชอบนำเอาวัคซีนนี้มาใช้และยืนยันว่า สปุตนิค ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับการฉีดให้กับสาธารณชนทั่วไปแล้ว

ในเวลานั้น วัคซีนรัสเซียเพิ่งจะผ่านการทดลองในคนในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 มาเท่านั้น จำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลองทั้งสองระยะมีเพียง 76 คน

ไม่เพียงยังไม่ผ่านการทดลองในคนในระยะที่ 3 ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งเท่านั้น กินซ์เบิร์ก และทีมพัฒนาวัคซีนสปุตนิค ยังไม่เคยตีพิมพ์วิธีการและผลการทดลองทั้ง 2 ระยะสู่สาธารณะ เพื่อการตรวจสอบและประเมินคุณค่า แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Advertisement

คิริลล์ ดมิทริเยฟ ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อการลงทุนโดยตรงแห่งรัสเซีย (อาร์ดีไอเอฟ) หน่วยงานเพื่อการลงทุนของรัฐ บอกว่า การทดลองระยะที่ 3 มีแน่ โดยจะเริ่มตั้งแต่ 12 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป โดยมีหลายประเทศเข้าร่วม ตั้งแต่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ซาอุดีอาระเบีย, ฟิลิปปินส์ และอาจเป็นไปได้ว่า บราซิล ด้วยอีกประเทศ

แต่ในระหว่างการดำเนินการนั้น “รัสเซียจะฉีดวัคซีนนี้ให้กับประชาชนทั่วไป หลายหมื่นหรือหลายแสนคน” ดมิทริเยฟระบุ

นั่นคือที่มาของเสียงวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านที่ดังกระหึ่มขึ้นจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกในเวลานี้

“สปุตนิค” เป็นวัคซีนชนิด “ไวรัล เวคเตอร์ วัคซีน” ซึ่งหมายความถึงการนำเอาเชื้อไวรัสต้นแบบมาทำให้ไม่สามารถแบ่งตัวได้ แล้วตัดแต่งเอาพันธุกรรมจาก โคโรนา ไวรัส ซาร์ส-โคฟ-2 ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 มาใส่ไว้กับเชื้อไวรัสต้นแบบ เพื่อให้มันสร้างตุ่มโปรตีนที่คล้ายคลึงกับไวรัส ซาร์ส-โคฟ-2

นั่นทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มองวัคซีนที่ฉีดเข้าไปเหมือนเป็นเชื้อไวรัสที่อันตราย แล้วกระตุ้นให้เกิดการสร้างแอนติบอดี ขึ้นมาเพื่อต่อต้านหรือกำจัด

เชื้อไวรัสต้นแบบที่ทีมวิจัยกามาเยลา ใช้ในการผลิตวัคซีนสปุตนิค คือ อดีโนไวรัส ซึ่งเป็นไวรัสที่รู้จักกันมานานแล้วว่าก่อให้เกิดโรคหวัดทั่วไปในหมู่คนเรา ไวรัสตัวเดียวกันนี้ถูกนำมาใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาวัคซีนของอีกหลายบริษัท รวมทั้งวัคซีนที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาโดย จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน สหรัฐอเมริกา และ แคนซิโนวัคซีน ของจีน (วัคซีนของออกซ์ฟอร์ด ก็ใช้ไวรัสชนิดนี้ ต่างกันตรงที่ อดีโนไวรัสที่ออกซ์ฟอร์ดใช้เป็นสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคคล้ายหวัดในลิง ไม่ใช่ในมนุษย์)

แต่ “สปุตนิค” ยังแตกต่างออกไปจากวัคซีนที่พัฒนาโดยทั่วไปอยู่ในเวลานี้อีกอย่าง นั่นคือ สปุตนิค ใช้เทคนิคในการเสริมภูมิคุ้มกัน ที่ผู้เชี่ยวชาญเรียกว่า “ไพรม์บูสต์” โดยใช้ไวรัสอดีโนต่อเนื่องกัน 2 ตัว

อดีโนไวรัส ที่ทำหน้าที่ไวรัล แวคเตอร์ ตัวแรกคือ เอดี26 ซึ่งเป็นตัวเดียวกับของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และ ไวรัล แวคเตอร์ ตัวถัดมาคือ เอดี5 แบบเดียวกับที่แคนซิโนใช้

ด้วยเทคนิคไพรม์บูสต์นี้ สิ่งที่คาดหวังได้ก็คือ ภูมิคุ้มกันที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดขึ้นจะสูงกว่าปกติ แต่ในเวลาเดียวกัน เทคนิคนี้ก็มีปัญหาหรือข้อจำกัดอยู่บ้างบางประการ เพราะมีความซับซ้อนสูง และที่สำคัญก็คือ ข้อมูลด้านความปลอดภัยในระยะยาวยังมีน้อย เพราะเป็นเทคนิคที่ใหม่มากนั่นเอง

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัคซีนประเภท ไวรัล เวคเตอร์ ก็คือ เคยมีผู้พยายามใช้วิธีการนี้มาแล้วหลายครั้งในช่วงหลังมานี้ โดยสามารถไปไกลจนถึงการทดลองในคน โดยใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ได้วัคซีนสำหรับป้องกัน เอชไอวี/เอดส์, มาลาเรีย, วัณโรค และ อีโบลา

ผลลัพธ์ก็คือ มีเพียงวัคซีนสำหรับอีโบลาเพียงตัวเดียวเท่านั้นที่ได้รับความเห็นชอบให้ใช้กับสาธารณชนทั่วไปได้

อันตรายจากการใช้วัคซีนที่ไม่ได้ผ่านการทดลอง กลั่นกรอง ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนเพียงพอนั้น อาจอยู่นอกเหนือจินตนาการของคนทั่วไป แต่สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาแล้ว ความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาขึ้นจากไวรัสที่ไม่ผ่านการทดลองตามขั้นตอนนี้ ใหญ่หลวงเกินกว่าที่จะสุ่มเสี่ยงดำเนินการได้

การกำหนดแนวทางการทดสอบวัคซีนที่ใช้กันอยู่ในเวลานี้นั้น ไม่ได้กำหนดขึ้นอย่างเลื่อนลอย แต่เป็นการกำหนดขึ้นจากประสบการณ์นายหลายศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งหลายต่อหลายครั้งเป็นความเจ็บปวดเหลือหลายทั้งต่อผู้ที่พัฒนาวัคซีนและผู้ใช้วัคซีน

การทดลองในคนในระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2 ซึ่งกำหนดให้ใช้กลุ่มตัวอย่างในหลักร้อยนั้น เป็นการทดลองเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนว่า ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในระดับไหน และมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายในระยะสั้นหรือไม่

การทดลองสองระยะแรก ใช้เพื่อการตรวจสอบผลข้างเคียงระยะสั้น ซึ่งที่พบกันมากก็อย่างเช่น การเกิดอาการบวมแดง หรือปวดบริเวณจุดที่ฉีด บางทีก็เป็นอาการไข้ต่ำๆ เท่านั้น

นั่นเท่ากับเป็นการให้ “เบาะแส” เท่านั้นว่าวัคซีนที่นำมาทดสอบนั้นใช้ได้ผลหรือไม่ แต่มีแต่การทดลองระยะที่ 3 ซึ่งกำหนดให้ใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นหลักหมื่นขึ้นไปเท่านั้น ที่จะช่วยให้ทีมวิจัยตรวจสอบพบว่า วัคซีนดังกล่าวก่อผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายสูงมากขึ้นหรือไม่

การทดลองระยะที่ 3 นั้นจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการประเมินความปลอดภัยในหมู่คนจำนวนมากได้ เพราะผลข้างเคียงร้ายแรงบางอย่าง อาจไม่เกิดขึ้นในการทดลองสองระยะแรกเพราะมีกลุ่มตัวอย่างน้อยเกินไป

อย่างเช่น ถ้าหากผลข้างเคียงร้ายแรงจากวัคซีน ปรากฏขึ้นในผู้ได้รับวัคซีน 1 คนในทุกๆ 10,000 คน ผู้พัฒนาจำเป็นต้องใช้กลุ่มตัวอย่างมากถึง 60,000 คนถึงจะตรวจสอบพบและได้หลักฐานบ่งชี้ที่มั่นใจได้

ในทางกลับกัน ผลข้างเคียงร้ายแรง 1 ต่อ 10,000 คนจะส่งผลกระทบสูงมากต่อผู้ได้รับวัคซีนในประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือทั่วโลก ซึ่งมีจำนวนหลายร้อยล้านคน

พร้อมกันนั้น นักวิชาการด้านระบาดวิทยาและจุลชีววิทยาทั้งหลาย เชื่อว่า วัคซีนโควิด-19 มีโอกาสสูงมากที่จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรง ที่รู้จักกันในชื่อ “เอดีอี”

“เอดีอี” ย่อมาจาก “แอนติบอดี ดีเพนเดนท์ เอ็นแฮนซ์เมนต์” (antibody dependent enhancement -ADE) เป็นปรากฏการณ์ในร่างกายของผู้ได้รับวัคซีน ที่แทนที่จะป้องกันการติดเชื้อได้ กลับมีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน และยังมีอาการรุนแรงมากขึ้นกว่า ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนด้วยซ้ำไป

เอดีอี ถูกค้นพบที่ฮาวายเมื่อปี 1977 ทางการแพทย์ยังไม่เข้าใจกลไกของมันมากมายนัก โดยทั่วไปแล้วมักพบการเกิด เอดีอี ในช่วงของการทดลองในสัตว์ทดลอง ก่อนที่จะมีการทดลองในคน แต่มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะพบเกิดขึ้นในกลุ่มทดลองขนาดใหญ่ในระยะที่ 3

แพทย์หญิง ซาราห์ จอร์จ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านโรคติดเชื้อและภูมิคุ้มกันวิทยา ของมหาวิทยาลัย เซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา บอกว่า เอดีอี หรือปัญหาจากวัคซีนคล้ายคลึงกัน มักจะเกิดขึ้นกับกลุ่มทดลองที่ได้รับวัคซีน มากกว่ากลุ่มควบคุมที่ได้รับวัคซีนเปล่า หรือวัคซีนหลอก

และมีแนวโน้มที่จะไม่พบเห็นได้ในการทดลองสั้นๆ เพียง 2 เดือน เหมือนเช่นที่รัสเซียทดลองในระยะที่ 1 และ 2 แต่สามารถพบได้ในการทดลองระยะที่ 3 ซึ่งกินเวลานานกว่าและมีผู้ร่วมในการทดลองมากกว่า

นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ในประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา, จีน หรือประเทศในสหภาพยุโรป ไม่ว่าร้อนใจต้องการพัฒนาวัคซีนให้ได้รวดเร็วแค่ไหน ยังไม่ยอมข้ามขั้นตอนการทดลองในระยะที่ 3 นี้ เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นที่รัสเซีย

แดนนี อัลท์แมน ศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยาประจำ อิมพีเรียล คอลเลจ ประเทศอังกฤษ เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งพูดถึง เอดีอี

อัลท์แมนชี้ว่า ทีมวิจัยรัสเซียอาจไม่ได้ทำอะไรผิด แต่การรวบรัดจนเร็วเกินไปไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน

“เมื่อเราพูดถึงความปลอดภัย คุณก็ต้องนึกถึงประเด็นอย่าง เอดีอี ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าจะเกิดขึ้นเพราะ เอดีอี คือประเด็นสำคัญที่ทำให้การพัฒนาวัคซีนสำหรับโรคซาร์ส พังพาบมาแล้ว”

ข้อที่น่าคิดก็คือ ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส กับไวรัสโควิด-19 คือไวรัสในกลุ่ม อินฟลูเอนซา เช่นเดียวกันครับ

นอกจากผลข้างเคียงร้ายแรงอย่าง เอดีอี แล้ว ยังมีประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งพูดกันมากในหมู่นักวิชาการด้านระบาดวิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาทั้งหลาย ซึ่งยืนกรานข้อเท็จจริงที่ว่า การไม่มีวัคซีนอาจบางทีดีกว่า การมีวัคซีน แต่ไม่ปลอดภัย หรือไม่มีประสิทธิภาพพอ ด้วยซ้ำไป

ข้อเท็จจริงก็คือ หากวัคซีนก่อให้เกิดเอดีอี ซึ่งทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้นและอาการหนักมากขึ้น การไม่มีวัคซีนใช้ย่อมดีกว่าแน่

เอียน โจนส์ ศาสตราจาย์ด้านไวรัสวิทยา ประจำมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง ประเทศอังกฤษ ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับวัคซีนของรัสเซียนั้น ไม่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดข้อมูลที่จำเป็นหลายด้าน แม้ว่าอาจเชื่อได้ว่า สปุตนิค จะปลอดภัยก็ตามที

ตัวอย่างเช่น การไม่แน่ใจว่าจะก่อให้เกิด เอดีอี ขึ้นหรือไม่? วัคซีนสามารถป้องกันโรคได้มากแค่ไหน? และจำเป็นต้องใช้ปริมาณเท่าใด จึงจะได้ผลอย่างที่ต้องการ? และวัคซีนนี้ให้ผลครอบคลุมทุกกลุ่มประชากรหรือไม่?

“อันตรายที่ร้ายแรงก็คือ หากวัคซีนไม่สามารถป้องกันโรคได้ดี หรือไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มประชากรบางกลุ่ม สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือความคาดหวังปลอมๆ เมื่อได้รับวัคซีนว่า ตัวเองไม่ติดเชื้อแล้ว ผลก็คือจะทำให้เชื้อยังคงแพร่ระบาดต่อไปได้ รวมทั้งในกลุ่มคนที่คิดว่าตัวเองมีภูมิคุ้มกันแล้วก็ตาม”

นาตาลี ดีน รองศาสตราจารย์ด้านชีวสถิติ ของมหาวิทยาลัยฟลอริดา ชี้ให้เห็นในประเด็นเดียวกันว่า เราคงไม่อยากเห็นคนทั่วไปทำตัวเหมือนปกติธรรมดาหลังจากที่ได้รับวัคซีนเข้าไป เพราะคิดว่าตัวเองมีการป้องกันเต็มที่แล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้ว วัคซีนกลับไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่จำเป็น

ผลก็คือ การแพร่ระบาดจะยิ่งรุนแรงมากกว่าเดิมหลายเท่า

ในกรณีนี้ก็เช่นกัน ไม่มีวัคซีน ยังจะดีกว่ามีวัคซีนที่อ่อนแอ ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ฟรานซิส คอลลินส์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (เอ็นไอเอช) ของสหรัฐอเมริกาถึงได้บอกว่า การใช้วัคซีนสปุตนิคของรัสเซีย ก็เหมือนกับการเล่น “รัสเซียนรูเลตต์” ดีๆ นี่เอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image