สัมภาษณ์พิเศษ : กลั่นประสบการณ์ ทูตไทยในรัสเซีย มองโลกในวิกฤตโควิด (จบ)

ธนาธิป อุปัติศฤงค์

หมายเหตุ “มติชน”ท่านทูตธนาธิป อุปัติศฤงค์ เอกอัครราชทูตไทยประจำรัสเซีย ได้ให้มุมมองและแนวคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเป็นไปในโลกที่กำลังเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้น และไทยควรทำอย่างไรท่ามกลางความท้าทายสำคัญครั้งนี้

ไทยต้องสังเคราะห์ให้ถ่องแท้เพื่อกำหนดรูปแบบในการดำเนินความสัมพันธ์ทั้งแบบ “ฉายเดี่ยวก็งดงาม” (Small is beautiful) และร่วมใน “ภาพหมู่ที่ทั้งโดดเด่นและกลมกลืนกับผลประโยชน์ของกลุ่มและของชาติ” (Big is attractive, yet harmonious) หากไทยสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยความเข้าใจอย่างเพียงพอในการสร้างหรือแบ่งสรรผลประโยชน์ระหว่างประเทศ (redistribution) ในทางสถาปัตยกรรมทางการเมืองและเศรษฐกิจใหม่ก็จะดียิ่ง เราต้องสร้างทางเลือกที่หลากหลาย (diversification) สร้างจุดสมดุล (rebalance) และมีความพอเพียงในตัวเอง (self-sufficiency) เพื่อการ “อยู่รอด อยู่ดี และอยู่ยืนยาว” ของไทย ธำรงไว้ซึ่งประโยชน์ร่วมกันและผลประโยชน์ของแต่ละประเทศ ซึ่งเราควรต้องเข้าไปมีบทบาทในการออกแบบเวทีใหม่นี้ร่วมกับประเทศ กลุ่มประเทศ หรือองค์การที่เป็นเจ้าของเวทีเดิมและผู้ท้าชิง ทั้งที่เป็นรัฐและไม่ใช่รัฐในต่างประเทศ

ในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาเซียน สิ่งที่ไทยทำได้ดี มักออกมาในรูปของภาพลักษณ์ของประเทศในฐานะผู้ประสานที่ดีและผู้ริเริ่มในหลายเรื่อง แต่ยังมีช่องว่างให้ปรับเปลี่ยนได้อีกมาก การเป็นสมาชิกอาเซียนของไทยจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มเปี่ยมต่อเมื่อไทยต้องสามารถดึงและใช้การเป็นสมาชิกอาเซียนให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นอีก

จุดอ่อนของไทยที่เกี่ยวโยงกับการต่างประเทศที่สำคัญคืออะไร

Advertisement

จุดที่ถ้าเราปรับปรุงหรือพัฒนาได้แล้วจะทำให้ไทยดีขึ้นได้มาก อาจกล่าวกว้างๆ 2 ประการ ได้แก่ 1.การใช้ประโยชน์จากมิตรประเทศในเวทีโลกยังน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และมักเต็มไปด้วยความลังเลและระแวงจนกลายเป็นการปิดกั้นตัวเอง ส่วนหนึ่งเป็นมรดกจากยุคสงครามเย็น และการศึกษาอบรมกล่อมเกลาบุคลากรของไทยโดยเฉพาะในภาครัฐตั้งแต่อดีตส่วนใหญ่จะอยู่ในโลกตะวันตก 2.การใช้ประโยชน์จากการรวมกลุ่มเป็นสมาชิกความร่วมมือระดับภูมิภาคต่างๆ ยังทำไม่ได้มากเท่าที่ควร เชื่อมโยงสู่ระบบเศรษฐกิจทุกระดับในประเทศได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น แม้ไทยจะมีความตกลงการค้าเสรีจำนวนไม่น้อย สิ่งที่ไทยต้องผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมจึงเป็นการแปรผลประโยชน์ในระดับระหว่างประเทศให้เป็นความมั่งคั่งและมั่นคงภายในประเทศในความหมายที่กว้างขึ้น เสถียรภาพ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของมนุษย์พร้อมๆ กันไปในทุกเสาของความร่วมมือ การปรับและเตรียมระบบภายในประเทศให้พร้อม รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันและเตรียมการรองรับประโยชน์จากการเปิดรับระบบใหม่ เพื่อให้ไทยมีต้นทุนจากการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับต่างประเทศที่ไม่สูงจนเกินไป

มักกล่าวกันว่าไทยควรใช้และมีบทบาท “นำ” ในอาเซียนภายใต้สภาพการณ์ปัจจุบัน แต่สิ่งที่น่าจะสำคัญกว่านั้นสำหรับไทยในยุคหลังยุคโควิด-19 คือ “ระบบนิเวศ (ecosystem) ของการทูตและกิจการระหว่างประเทศ” ซึ่งจำเป็นต้องบูรณาการเข้ากับนโยบายภายในประเทศทั้งในเชิงกระบวนทัศน์และองคาพยพที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนต้องร่วมกันกำหนดนโยบายและวิถีการเดินไปสู่เป้าหมายที่วัดผลได้ ในบริบทด้านต่างประเทศเอง ความสำเร็จในการดำเนินวิเทโศบายที่จะนำซึ่งความมั่นคงมั่งคั่งของชาติจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้น ส่วนภายในประเทศนั้น ทุกหน่วยงานในภาครัฐต้องเข้าใจบริบทและทิศทางของการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ และกำหนดเป้าหมาย แผนยุทธศาสตร์ และวิธีการบรรลุ โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนและวัดผลให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ส่วนภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนไทยควรมีความตระหนักรู้และความเข้าใจตรงกัน มีเอกภาพในการร่วมสร้าง รักษา และส่งเสริมผลประโยชน์ของไทย มิฉะนั้นสังคมภายในประเทศของไทยอาจจะกลายเป็นเหยื่อและข้อจำกัดในการสร้างความมั่งคั่งมั่นคงและปกป้องรักษาผลประโยชน์ของชาติในเวทีโลกโดยรู้ไม่เท่าทันได้

ขณะนี้เราอยู่ในโลกที่ภาคเอกชนและประชาชนมีพลังอำนาจแอบแฝงในการกำหนดนโยบายของรัฐบาลต่างๆ ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากจะระบุให้ชัดเจนยิ่งขึ้น สงครามการค้าที่เกิดขึ้นในตอนนี้ มี Currency War และ Digital Technology War ที่สร้างสรรค์โดยภาคเอกชนและประชาชน แต่ผลักดันโดยภาครัฐ การเตรียมพร้อมของพวกเราชาวไทย คือ การส่งเสริมให้ภาคเอกชนและประชาชนของไทยเข้าให้ถึงลูกค้าผ่านทางระบบดิจิทัล ครอบคลุมในกิจกรรมทุกด้านของชีวิตไม่เฉพาะทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเรามีความพร้อมทั้งในด้านอุปกรณ์การเข้าถึงและความพร้อมในการใช้อยู่แล้ว หากเราสามารถวางให้ประเทศอยู่ใน value chain ของโลกและระบบการรับจ่ายเงินที่ทำให้ไทยเข้าถึงและได้เปรียบในการแข่งขัน ก็จะช่วยให้ไทยก้าวต่อไปได้ดียิ่งขึ้น แต่ต้องไม่ลืมใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการรู้รักสามัคคี ทำดีด้วยหัวใจในการดำเนินการ เพื่อให้ไทยพึ่งพาตนเองและอยู่ได้ดี ต้องสร้างความเข้มแข็งภายในไปพร้อมกัน โดยเน้นในสาขาที่ไทยมีศักยภาพสูง แล้วนำมาสร้างสรรค์สินค้า บริการ ประสบการณ์บนฐานของอุปสงค์ใหม่ที่มีอยู่บนความเชื่อใจและทันสมัยขึ้น เช่น สินค้าอาหาร เกษตร และการท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ รวมทั้งควรจะใช้โอกาสในการแก้ไขคอขวดที่เราก้าวข้ามได้ยากในอดีต เช่น การนำงานวิจัยและพัฒนามาผลิตใช้ในเชิงอุตสาหกรรมและบริการ อาทิ บริการด้านสุขภาพ Health Hospitality ดังที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้ดำเนินการให้เห็นผลเป็นตัวอย่างแล้ว

Advertisement

อะไรเป็นสิ่งสำคัญในการบริหารกิจการระหว่างประเทศ (International Affairs)

ปัจจุบันเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารทำให้การเข้าถึงบุคคลดูจะเป็นเรื่องง่าย แต่การเข้าถึงมิได้หมายความว่า ฝ่ายใดจะสามารถบอกให้อีกฝ่ายทำสิ่งใดตามสิ่งที่เราต้องการได้โดยง่าย ตรงกันข้ามและดังที่กล่าวมาแล้ว ในโลกที่ซับซ้อนใบนี้ อำนาจรัฐในประเทศที่กุมบังเหียนโลกย่อมมีบทบาทและอิทธิพลต่อไทยในหลายๆ ทาง ภาครัฐของประเทศเหล่านั้นล้วนเข้าไปมีบทบาทและอิทธิพลต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเอกชนของตนมากขึ้น ในยุคที่มีลักษณะเช่นนี้ ปฏิสัมพันธ์แบบมีส่วนร่วมอย่างแยบคายกับผู้กำหนดนโยบายของภาครัฐในแต่ละประเทศหรือกลุ่มก้อนที่เป็นผู้เล่นสำคัญๆ ของโลกจะเป็นหัวใจสำคัญของการกำหนดระเบียบโลกใหม่

การกุมบังเหียนด้านกิจการระหว่างประเทศจึงต้องใช้บุคคลที่เก่งในเชิงการบริหารแบบ “การรุกเชิงทูต” โดยเป็นผู้ที่มีสรรพและสหประสบการณ์ มี cross-cultural literacy สูง เข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ พฤติกรรมรัฐ รู้ประวัติศาสตร์การเมืองโลก เสริมด้วยการเข้าใจโลกยุคดิจิทัลที่มีส่วนอย่างมากในการชี้นำระเบียบโลกให้ทวีความสลับซับซ้อนและเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ระบบใหม่ด้วยความสับสนวุ่นวาย จากสภาวะ de-globalization to formation of new world economic, financial, social and political order รวมทั้งต้องสามารถเข้าไปมีส่วนในการโน้มน้าวการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายของต่างประเทศในแต่ละระดับได้อย่างมีประสิทธิผล โดยภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันสร้างกฎกติกาที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนการขยายผลประโยชน์แก่ประเทศไทยโดยรวม เปลี่ยนข้อกำหนดที่ไม่เป็นคุณให้เอื้อต่อผลประโยชน์ร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หากไทยเราฝ่าด่านภาครัฐของประเทศอื่นซึ่งเป็นผู้กำหนดและกำกับดูแลนโยบาย อาทิ ด้านการเมืองการปกครอง การค้าการลงทุนการท่องเที่ยวของเขาไม่ได้ ภาคเอกชนไทยก็จะยิ่งประสบความยากลำบาก เศรษฐกิจดั้งเดิมในโลกยุค 1.0-3.0 ก็จะยิ่งเติบโตยาก ดังนั้น แนวคิดของภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับการไป “เคาะหรือแง้มประตู” เช่นที่เคยยึดถือจนถึงปัจจุบันไม่น่าจะเพียงพอ การปล่อยให้ภาคเอกชนเดินตามภาครัฐเพื่อเข้าประตูไปเองในยุคที่ดิจิทัลเปลี่ยนเราในแทบทุกอณูของชีวิตก็จะเป็นเรื่องที่ไม่ได้ผลดีมากนัก

เทคโนโลยียุคใหม่ทำให้อุปสรรคในการติดต่อทางกายภาพลดลงไปมาก แต่ได้เพิ่มความซับซ้อนในการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Communication for Change) และการโน้มน้าวใจยังต้องขับเคลื่อนด้วย “คน” ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า คนที่กุมบังเหียนในการกำหนดทิศทางการติดต่อสื่อสาร หรือคนที่ทำหน้าที่สื่อสารกับผู้บริหารนโยบายต่างๆ ของมิตรประเทศจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศไทยได้ดีเพียงไร “สมรรถนะร่วมและสมรรถนะเฉพาะตัว” ที่มีส่วนผสมอย่างเหมาะเจาะเพื่อสร้างผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมจึงสำคัญ เนื่องจากเราไม่อาจใช้สูตรสำเร็จในอดีตทั้งหมดในการบริหารกิจการระหว่างประเทศได้อีกต่อไป การรู้จักบุคคลที่เป็นผู้เล่นหรือผู้ตัดสินใจสำคัญๆ ในต่างประเทศและเวทีระหว่างประเทศจะต้องพ่วงด้วยความสามารถในการสร้างพันธมิตรที่ยินดีสนองผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมในโลกที่พลวัตสูง เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละประเทศล้วนมีทั้งมิติที่เป็นความร่วมมือที่ดูแนบแน่น ในขณะเดียวกันก็มีการแข่งขันหรือแง่มุมของการเป็นปรปักษ์ต่อกันไม่น้อย แม้ไทยจะมิได้มีข้อขุ่นข้องกับใครนัก และยังสามารถ “เก็บน้ำขุ่นไว้ใน” แต่จะทำอย่างไรให้ผลกระทบนั้นสามารถแปลงเป็นห่วงโซ่แห่งคุณค่า (value chain) มิใช่โซ่ตรวนที่จะเป็นกับดักให้กลืนไม่เข้าคายไม่ออก หรือได้แต่ยืนบนชายขอบของผลประโยชน์ที่มหาอำนาจเขาจัดสรรกัน ซึ่งผลเช่นนี้จะบังเกิดได้ดีด้วยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานนอกเหนือจากกระทรวงการต่างประเทศ

ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สังคมไทยควรจะเรียนรู้อะไรบ้างจากวิกฤตโควิด-19

ในขณะนี้ โลกเรากำลังเผชิญทั้งสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยีดิจิทัล สงครามไซเบอร์ สงครามข่าวเท็จ สงครามการเงินและสกุลเงิน สงครามเชื้อโรค และการใช้กำลังทหารและอาวุธเฉพาะจุด ซึ่งทำให้ทุกชาติทั่วโลกต้องประสบความทุกข์ยากในหลายๆ ด้าน รูปแบบการพัฒนาประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกและนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบเดิมจึงเป็นเรื่องที่ยากยิ่งสำหรับทุกประเทศ สังคมไทยจึงควรตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการไม่ร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยสามัคคีของโลกภายใต้โควิดดังที่กล่าวมาแล้ว

วิกฤตโควิด-19 ทำให้เราเห็นประจักษ์ว่า ประเทศที่รับมือกับวิกฤตโควิดได้ดีนั้น มิใช่สังคมประชาธิปไตยหรือเผด็จการ หากแต่เป็นสังคมที่เข้มแข็งจากภายในด้วยความรู้รักสามัคคีในการร่วมกันฟันฝ่าทุกอุปสรรค พลังบวกและพลังลบที่เกิดจากภายในสังคมล้วนเป็นได้ทั้งแสงสว่างที่ปลายถ้ำหรือเป็นกงจักรได้ทั้งสิ้น อยู่ที่เราเลือกว่าจะไปทางไหน การชี้นิ้วโทษกันย่อมไม่ส่งผลดีอันใดเลยแก่ชาติและตนเอง พวกเราพึงรู้ทันการเมืองระหว่างประเทศว่า ภาวะมิตรไม่แท้และศัตรูเทียมเกิดขึ้นได้ตลอด ทุกประเทศล้วนอยู่ในข่ายที่จะถูกมหาอำนาจบางรายใช้เป็นเครื่องมือด้วยการใช้คำพูดหรืออุดมการณ์สวยหรู และก่อกวนมิตรประเทศในลักษณะ “ปากว่าตาขยิบ” บทเรียนเรื่อง “สามัคคีเภทคำฉันท์” จึงน่าจะเป็นคติเตือนใจที่ดีที่สุด เมื่อผนวกกับการแข่งขันหรือความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจทั้งหลายในช่วงเข้าตาจน จึงเสมือนหนึ่งช้างสารชนกัน ประเทศเล็กๆ จึงกลายเป็นดั่งหญ้าแพรกได้โดยง่าย

ทว่าในทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ ตราบใดที่เราสามารถใช้วิกฤตนั้นตอบสนองต่อการแก้ปัญหาซึ่งอยู่เหมือนการติดแหร่วมกัน ตราบใดที่ “หยิกเล็บยังต้องเจ็บเนื้อ” เพราะโลกอยู่ในสภาวะย้อนแย้ง (Paradox) และหลอมรวมทุกมิติเข้าด้วยกัน ความสำเร็จของประเทศไทยที่มิได้จำกัดเฉพาะด้านการต่างประเทศ จึงมิได้อยู่ที่ใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การ “อยู่รอด อยู่ดี อยู่ยืนยาว” ของไทยจึงอยู่ที่พวกเราทุกคนในทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันเดินฟันฝ่าไปด้วยความ “รู้รักสามัคคี” และมุ่ง “ทำดีด้วยหัวใจ” ให้แผ่นดินเราได้อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image