คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ชินโสะ อาเบะ ความสำเร็จและล้มเหลว

Franck Robichon/Pool via REUTERS

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ชินโสะ อาเบะ ความสำเร็จและล้มเหลว

การประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นของ ชินโสะ อาเบะ ไม่เพียงสร้างเซอร์ไพรส์ไปทั่วโลกเท่านั้น แม้แต่คนใกล้ชิดในรัฐบาลและพรรคเสรีประชาธิปไตย พรรครัฐบาลของญี่ปุ่นก็ยังประหลาดใจไปตามๆ กันเพราะความกะทันหันชนิดคาดไม่ถึง

อาเบะ แม้จะไม่ใช่นายกรัฐมนตรีที่ชาวญี่ปุ่นชื่นชอบมากที่สุด แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดของญี่ปุ่น

กว่า 7 ปีของการอยู่ในคำแหน่งผู้นำญี่ปุ่น อาเบะ สร้างความต่อเนื่องและเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศขึ้นนอกเหนือความคาดหมายของหลายคน ที่คิดตั้งแต่ต้นมือว่า นายกรัฐมนตรีอาเบะ ก็คงเป็นเหมือนกับผู้นำญี่ปุ่นอีกหลายคนก่อนหน้านั้น ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามารับตำแหน่ง ซึ่งเกิดขึ้นแทบจะทุกปี

โดยเฉพาะเมื่อการดำรงตำแหน่งครั้งแรกของ อาเบะ ระหว่างปี 2006-2007 ก็สอดคล้องกับแนวโน้มทางการเมืองที่ว่านั้น

Advertisement

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การลาออกจากตำแหน่งเมื่อครั้งนั้น ก็ด้วยเหตุผลเดียวกับการลาออกในคราวหลังสุดนี้ นั่นคือ สุขภาพส่วนตัวที่ย่ำแย่เพราะอาการอักเสบของบาดแผลในลำไส้ใหญ่ ซึ่งรบกวนอาเบะมาตลอด

การกลับคืนสู่แวดวงการเมืองอีกครั้ง เมื่อปี 2012 อาเบะกลับสร้างสถิติใหม่ของการอยู่ในตำแหน่งขึ้นได้สำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเชี่ยวกรากทางการเมือง อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการแตกแยก ไม่สามารถรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนของพรรคฝ่ายค้าน

แต่ส่วนสำคัญที่สุด ยังคงเป็นการแพทย์สมัยใหม่ ที่ช่วยให้อาการของอาเบะอยู่ในระดับ “ควบคุมได้” ขึ้นมา

Advertisement

จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขึ้น บังคับให้ผู้นำญี่ปุ่นต้องทำงานหนัก “แทบทุกวัน” ไม่มีวันหยุดพักผ่อน อาการอักเสบจึงกลับมากำเริบอีกครั้ง

กระบวนการรักษาเยียวยาใหม่ ที่จำเป็นต้องทำต่อเนื่อง กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ชินโสะ อาเบะ ตัดสินใจอำลาตำแหน่งในที่สุด

ในวันแถลงการตัดสินใจต่อประชาชนทั้งประเทศ แทนที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะทำเช่นเดียวกันกับผู้นำอื่นๆ ทั่วโลก ที่มักเน้นถึงความสำเร็จที่ผ่านมา

อาเบะกลับทำในทางตรงกันข้าม ด้วยการแสดงความเสียใจอย่างลึกซึ้ง บางช่วงบางตอนเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก เสียดายที่ไม่มีเวลาทำในสิ่งที่ตั้งใจทำให้สำเร็จ

“ผมขออภัยต่อประชาชนจากส่วนลึกของหัวใจ ต่อการต้องพ้นจากตำแหน่งท่ามกลางการระบาดของโควิด ในขณะที่นโยบายหลายอย่างยังคงรุดหน้าได้แค่ครึ่งทางเท่านั้น”

ขณะที่เสียงสนับสนุนและยอมรับในภารกิจการเป็นนายกรัฐมนตรีของชาวญี่ปุ่นต่ออาเบะ ยังคงเป็นหนึ่งในผู้นำที่มีความนิยมอยู่ในระดับต่ำที่สุดเพียงแค่ 30-35 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น

ผู้นำของหลายประเทศทั่วโลกกลับอดรู้สึกเสียดายผู้นำที่นำญี่ปุ่นกลับมามีบทบาทบนเวทีโลกอีกครั้งรายนี้ขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้

เมื่อ อาเบะ ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมตรีญี่ปุ่นในปี 2012 นั้น เศรษฐกิจของประเทศกำลัง ตกอยู่ในสภาพโซซัดโซเซ ค่อยๆ ทรุดลงทีละเล็กทีละน้อย มานานร่วม 20 ปี นับตั้งแต่ฟองสบู่เศรษฐกิจที่ขยายตัวเติบโตสูงแต่เปราะบางอย่างยิ่งมานานแตกดังโพละ เมื่อปี 1990

ผู้นำหลายคนก่อนหน้าเคยพยายามหาช่องทางเพื่อฟื้นฟูสภาวะเงินฝืดที่รังแต่จะกลืนกินตัวเองไปเรื่อยๆ แต่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

และแม้เศรษฐกิจจะซวนเซ แต่ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นกลับพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องจากสถานะ “เซฟ เฮเวน” ในโลกการเงิน

การแข็งค่าของเงินเยนกลับส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเลวร้ายมากขึ้น ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าญี่ปุ่นในตลาดโลกลดลง สร้างปัญหาให้กับอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมรถยนต์

อาเบะ พยายามเค้นความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมญี่ปุ่นขึ้นมาใหม่ ด้วยการประกาศใช้นโยบายฟื้นฟู “นอกตำรา” ที่รู้จักกันในชื่อ “อาเบะโนมิกส์”

“อาเบะโนมิกส์” เป็นแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจของญี่ปุ่น 3 แนวทางไปพร้อมๆ กัน เรียกกันในเวลาต่อมาว่า “สามศร” คือ การใช้มาตรการทางการเงิน, การใช้มาตรการทางการคลัง และการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจเสียใหม่

อาเบะโนมิกส์ ไม่ถือว่าประสบความสำเร็จมากมายนัก แต่ก็ไม่ได้ล้มเหลวเช่นเดียวกัน

นโยบายนี้ประสบความสำเร็จสูงในด้านการใช้มาตรการทางการเงิน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาผลิตและมีความเชื่อมั่นขึ้นอีกครั้ง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นชื่อดังอย่าง ฮารุฮิโกะ คูโรดะ ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ขุนพลคู่ใจ” ในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของ ชินโสะ อาเบะ

คูโรดะ ท้าทายตำราทางการเงิน ด้วยการประกาศใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ ผลักดันให้เกิดการกู้ยืมเพื่อการผลิต ที่แม้ไม่ถึงกับกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นมาต่อเนื่อง แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปได้ ไม่หดตัวเรียวเล็กลงเรื่อยๆ เหมือนเช่นที่ผ่านมา

สหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยูโรโซน ถึงกับหยิบยืมแนวทางของคูโรดะมาใช้อยู่ในเวลานี้

ปัญหาของอาเบะโนมิกส์ อยู่ที่อีก สองศร ที่เหลือ การกระตุ้นจากภาครัฐ จากรัฐบาลไม่ส่งผลสะเทือนมากมายนัก ในขณะที่ การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

ล้มเหลวชนิดที่ ตัวนายกรัฐมนตรีอาเบะเอง ก็เลิกพาดพิงถึงในระยะหลังด้วยซ้ำไป

ที่นอกเหนือความคาดหมายของหลายคน ก็คือ ความสำเร็จในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีผู้นี้ ทั้งด้านการต่างประเทศเอง และในด้านการค้าระหว่างประเทศ

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2016 อาเบะ เซอร์ไพรส์ผู้สันทัดกรณีทั้งหลายด้วย “เดิมพันครั้งใหญ่” หันไปสานสัมพันธ์กับโดนัลด์ ทรัมป์ ในขณะที่ทั้งโลกที่เหลือเชื่อว่าผู้ที่จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนั้นคือ ฮิลลารี รอดแฮม คลินตัน

ผลก็คือ อาเบะ กลายเป็นผู้นำต่างชาติคนแรกของโลกที่ได้เข้าพบกับประธานาธิบดีทรัมป์ ถึงทำเนียบขาว แล้วกลายเป็น “เกรท เฟรนด์” ของทรัมป์เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

ว่ากันว่าของขวัญแรกพบหน้า ที่ อาเบะ นำติดตัวไปให้ทรัมป์คือไดรเวอร์กอล์ฟ ราคาแพงระยับ ที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาระหว่างประเทศที่ผู้นำทั้งสองต้องพบพานในเวลาต่อมา เพราะแม้ไม้กอล์ฟดังกล่าวจะ “เมด อิน เจแปน” แต่บริษัทผู้ผลิตเป็นบริษัทจีน

อาเบะ เป็นแขกของทำเนียบขาวสม่ำเสมอมากที่สุดผู้หนึ่ง สุภาพอ่อนโยนตามแบบฉบับของชาวญี่ปุ่น ที่ให้ความเคารพต่อผู้อื่นเสมอ แม้จะมีความเป็นตัวของตัวเองสูงก็ตาม

ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่สามารถสร้างสมดุลในความสัมพันธ์ต่อสหรัฐอเมริกาและจีนได้ดีที่สุดประเทศหนึ่งในยามนี้

อีกความสำเร็จที่ได้รับการยกย่องสูงมากในแวดวงการค้าระหว่างประเทศของอาเบะ คือการรักษา ความตกลงการเป็นหุ้นส่วนสองฟากแปซิฟิก 11 ชาติ (ทีพีพี 11) ให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ หลังจากสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ริเริ่มการรวมกลุ่มกันดังกล่าวหันหลังให้กับความตกลงนี้โดยสิ้นเชิง ในทันทีที่โดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นมามีอำนาจ

อาเบะ มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสร้างเขตการค้าเสรีนี้ให้เป็นความจริงขึ้นมา ก้าวข้ามจากกำแพงภาษีศุลกากรของชาติ หลอมรวมเอาหลักการการเคารพต่อสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา, สิทธิแรงงาน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเข้าไว้ในความตกลงนี้ได้สำเร็จ

อาเบะไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น หากแต่ยังเดินหน้าเจรจาทำความตกลงเพื่อจัดทำเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งหากเป็นผลก็จะสามารถรังสรรค์ความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ในขณะที่ประสบความสำเร็จสูงไม่น้อยในด้านการต่างประเทศ อาเบะกลับล้มเหลวอย่างสำคัญในนโยบายภายในประเทศ

อาเบะ ยอมรับว่าความผิดหวังใหญ่หลวงที่สุดในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมาอย่างยาวนานก็คือ ความล้มเหลวในการแก้รัฐธรรมนูญของประเทศ

เป้าหมายที่ต้องการแก้ไข คือบทบัญญัติ ที่ห้ามญี่ปุ่นใช้กองกำลัง เป็นวิถีทางในการยุติความขัดแย้งระหว่างประเทศ และห้ามการจัดตั้งกองทัพใดๆ ไม่ว่าจะเป็น กองทัพบก กองทัพเรือ หรือกองทัพอากาศ

รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นฉบับนี้ ยกร่างโดยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐอเมริกา ระหว่างเข้ายึดครองประเทศนี้ หลังสงคามโลกครั้งที่ 2

นั่นคือเหตุผลที่ทำไม ญี่ปุ่น ถึงมีได้เพียง กองกำลังป้องกันตนเอง (เอสดีเอฟ) และมีบทบาทจำกัดอยู่เฉพาะภายในประเทศเท่านั้น

ในขณะที่รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นดังกล่าว สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะผู้คนในยุคหลังสงครามโลก ที่กลายเป็นกลุ่มคนที่ไม่เพียงหวั่นกลัว ยังชิงชังรังเกียจสงครามอีกด้วย

แต่ข้อเท็จจริงเดียวกันนี้ สร้างความขุ่นเคืองให้กับบรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองอนุรักษนิยมทั้งหลายมานักต่อนักและพยายามหาหนทางทำญี่ปุ่นให้กลับคืนสู่ความเป็น “ประเทศปกติธรรมดา” เหมือนประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเรื่อยมา

แม้จะไม่ได้อย่างที่ต้องการ แต่ก็ใช่ว่า อาเบะ จะอับจนในเรื่องนี้ทั้งหมด เขาเลือกใช้วิธีการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนแก้ไขแทนการเปลี่ยนแปลงชนิดจากหน้ามือเป็นหลังมือ

อาทิ การเพิ่มปริมาณกองกำลังสำรอง, การก่อตั้ง สภาความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสซี) ขึ้นเมื่อปี 2013, การผ่านกฎหมายว่าด้วยราชการลับฉบับใหม่ ที่ปูทางให้กองกำลังเอสดีเอฟ สามารถปฏิบัติการภายนอกประเทศได้ ในกรณีที่เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการทางทหารร่วมกับนานาประเทศ เป็นต้น

มาร์ติน ชูลทซ์ นักวิชาการจากฟูจิตสึ กลุ่มบริษัทด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่น เชื่อว่าการตัดสินใจลาออกของ ชินโสะ อาเบะ จะทำให้เกิดช่องว่างขนาดใหญ่ขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ภายในประเทศ ขีดความสามารถในการสร้างความต่อเนื่องและเสถียรภาพให้กับรัฐบาลของอาเบะ ยังมองไม่เห็นใครทดแทนได้

บนเวทีระหว่างประเทศ ศิลปะในการปรับปรุงความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและได้สมดุลในการดำเนินความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาและจีน ยิ่งหาตัวแทนได้ยากยิ่งกว่า

ญี่ปุ่น อาจกลับคืนสู่สภาพปักหลักอยู่แต่ภายในประเทศ เปลี่ยนตัวผู้นำเป็นว่าเล่นอีกครั้งหนึ่ง

ในขณะที่บนเวทีโลกที่ความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ทวีขึ้นทุกวันก็ขาดหายผู้นำที่มีเหตุผลและเป็นกลางไปอีกรายหนึ่งแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image