คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ‘เบลารุส’ บนความเปลี่ยนแปลง

REUTERS

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ‘เบลารุส’ บนความเปลี่ยนแปลง

การชุมนุมประท้วงการ “โกงการเลือกตั้ง” เดินขบวนต่อต้านรัฐบาลประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ระลอกแล้วระลอกเล่า ต่อเนื่องกันมานับตั้งแต่วันเลือกตั้งเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม กลายเป็นเซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่ ไม่เว้นแม้แต่กับชาวเบลารุสเอง ที่แทบไม่เชื่อสายตากับการลุกฮือขึ้นมา ร่วมมือกันเป็นหนึ่งเดียวในครั้งนี้

นับตั้งแต่ประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต เมื่อปี 1991 เบลารุส ปกครองประเทศภายใต้ระบอบเผด็จการสังคมนิยม ที่ไม่เคยมี และไม่เคยถูกเปิดโอกาสให้มี แม้แต่นักการเมืองฝ่ายค้าน หรือผู้นำทางการเมืองที่มีความคิดเห็นไม่ลงรอยกับประธานาธิบดี ลูคาเชนโก

กิจกรรมทางการเมืองอย่างเดียวที่คนเบลารุสรู้จัก คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดี และผู้นำคนเดียวที่เบลารุสรู้จัก คือ อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 1994 รู้จักกันดีในหมู่สื่อมวลชนทั่วยุโรปในฐานะ “เผด็จการที่แท้จริงคนสุดท้ายของยุโรป”

ลูคาเชนโก ได้รับการประกาศชื่อให้เป็นผู้ชนะในการลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 6 ต่อเนื่องกัน ด้วยคะแนนเสียงสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ

Advertisement

สิ่งเดียวที่ขัดขวางการดำรงตำแหน่งที่ว่านั้นก็คือ ส่วนใหญ่ของชาวเบลารุส ไม่เห็นด้วยกับผลการเลือกตั้งดังกล่าว

พวกเขาเห็นว่า ท่านประธานาธิบดีวัย 66 ปี ไม่ได้ทำอย่างหนึ่งอย่างใด นอกเหนือไปจากการใช้อำนาจกดขี่ กดดัน ผู้ที่ลงสมัครแข่งขันกับตนเอง จนหากไม่ไปลงเอยอยู่ในเรือนจำ ก็ต้องระเห็จออกไปใช้ชีวิตลี้ภัยอยู่ในต่างแดน

คู่แข่งขันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดของลูคาเชนโก ก็คือ สเวตลานา ทีคานอฟสกายา ซึ่งลงสมัครรับเลือกตั้งแทน เซอร์เก ทีคานอฟสกายา สามีที่ถูกอำนาจเบ็ดเสร็จส่งเข้าคุกไปก่อนหน้านี้

Advertisement

เป็น สเวตลานา ทีคานอฟสกายา นี่เอง ที่ชาวเบลารุสส่วนใหญ่เชื่อว่า เป็นผู้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ กลายเป็นชนวนให้เกิดการประท้วงขึ้นทันทีที่มีการประกาศผล เอ็กซิทโพล ในการเลือกตั้งครั้งนี้ขึ้นมา

การชุมนุมประท้วง ที่ขยายตัวลุกลามออกไปใหญ่โตมากขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับการนัดหยุดงานของโรงงานอุตสาหกรรมและเหมืองแร่ ที่เคยเป็นฐานเสียงสำคัญของประธานาธิบดี สะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสังคมเบลารุสในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา

หนึ่งเดียวที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงและก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงในวงกว้างที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา คือ อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก นั่นเอง

ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา สังคมเบลารุสเปลี่ยนแปลงไปมากมายและลึกซึ้ง แม้พัฒนาการทางเศรษฐกิจจะหยุดชะงักเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งส่งผลให้ เบลารุส ยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนของทวีปยุโรป

ตามข้อมูลของธนาคารโลก ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ เฉลี่ยต่อคนต่อปีของเบลารุส ยังคงอยู่ที่ 6,700 ดอลลาร์ มีเพียงไม่กี่ประเทศในยุโรปเท่านั้นที่ยากจนกว่าระดับนี้ อาทิ ยูเครน, จอร์เจีย, อาร์เมเนีย, มอลโดวา, บอสเนียและเฮอร์เซโกวินา กับ แอลเบเนีย เป็นต้น

ปัญหาก็คือ นับตั้งแต่ปี 2015 เรื่อยมา เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วขยายตัวเร็วกว่า เบลารุส ที่เศรษฐกิจจ่อมจมลงสู่วิกฤตลึกลงทุกที แทบทั้งสิ้น

ยิ่งนานวันเข้าก็ยิ่งเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นตามลำดับว่า จำเป็นต้องมีอะไรผิดพลาดเกิดขึ้นในระบอบการปกครองของเบลารุส และไม่เพียงต้องแก้ไขความผิดพลาดเท่านั้น เบลารุสยังจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอันที่จะก้าวไปข้างหน้าอีกด้วย

ซมีเซียร์ มีเคียวิชซ์ ผู้สื่อข่าวของ เบลแซท ทีวี สื่ออิสระของเบลารุส บอกว่า ก่อนหน้านี้ ลูคาเชนโก เคยรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น บีบให้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลได้ด้วยการสร้างแรงสนับสนุนจากความสำเร็จใน 2 ด้านสำคัญ

หนึ่งคือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ อีกหนึ่งคือความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในสังคม

มีเคียวิชซ์บอกว่า เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของเบลารุสถูกทำลายไปเพราะความผิดพลาดในการบริหารจัดการเศรษฐกิจในระยะหลัง จนพัฒนากลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจอยู่ในเวลานี้ ในขณะที่ความมั่นคงทางสังคม ถูกทำลายไปเพราะรัฐบาลไม่สนใจ ไม่ใส่ใจต่อการแพร่ระบาดของ โควิด-19

เขาชี้ว่า ชาวเบลารุสส่วนใหญ่เดินทางไปลงคะแนนเลือกตั้ง พร้อมกับข้อกังขามากมายต่อภาวะการนำของ ลูคาเชนโก และไม่ยอมเชื่อถือผลการเลือกตั้งของทางการอีกต่อไป

และยินดีเชื่อเต็มที่ เมื่อ สเวตลานา ทีคานอฟสกายา อ้างประเมินผลการเลือกตั้งขององค์กรอิสระว่า เธอคือผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้

การชุมนุมประท้วง เดินขบวนประท้วง นัดหยุดงานประท้วง เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่บัดนั้น

ในสุดสัปดาห์หลังสุด การชุมนุมใหญ่ที่ “อินดิเพนเดนต์ สแควร์” ในกรุงมินสก์ เรียกผู้คนได้มากมายมหาศาลถึง 250,000 คน เป็นการรวมตัวกันของประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ เรียกร้อง ลูคาเชนโก ให้ลาออกจากตำแหน่งในทันที

ที่น่าสนใจก็คือ ในขณะที่การชุมนุมประท้วงส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสันติ ไร้เหตุรุนแรง

การตอบโต้จากทางการกลับยิ่งรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับอำมหิตเลยทีเดียว

อานิส มาริน ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติ ด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเบลารุส ระบุเอาไว้ว่า มีประชาชนราว 7,000 คน ถูกจับกุม ในช่วง 4 วันแรกของการชุมนุมประท้วง

ส่วนใหญ่ คนเหล่านี้ถูกทุบตีและกระทำทารุณกรรมในรูปแบบต่างๆ กันโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งในรถบรรทุกตำรวจ และในที่กักกันอีกจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สถานกักกัน โอเครสตินา ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการควบคุมตัวผู้ชุมนุมประท้วง

ผู้ถูกจับกุมจะถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องขังที่แออัดยัดทะนาน ชนิดไม่มีที่ยืนและต้องสลับกันนั่งเพื่อผ่อนคลาย

ผู้ถูกควบคุมตัวบางคน ถูกบังคับให้อยู่ในสภาพคุกเข่า ก้มหน้าแนบพื้น สองมือถูกมัดไพล่หลังนานครั้งละหลายชั่วโมง

อัลโยนา เชอร์บินสกายา ผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์เบลแซท ตกเป็นหนึ่งในเหยื่อของการจับกุมแบบเหวี่ยงแหในเบลารุสมาแล้ว เล่าว่า เห็นผู้ชายถูกบังคับให้คุกเข่าก้มหน้าลงกับพื้นที่เต็มไปด้วยเลือด ส่วนผู้หญิงที่ถูกจับมาพร้อมกับ เชอร์บินสกายา ที่มีเบาหวานเป็นโรคประจำตัว ถูกทรมานให้อดอาหาร และปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ใดๆ ผู้หญิงที่ถูกจับกุม ถูกผู้คุมสตรีหวดเข้าที่บริเวณไขสันหลัง ถ้าหากไม่ก้มลงมากพอจนแนบพื้น หรือไม่ก็ตุ๊ยหน้าท้องอย่างไร้ความปรานี

“ฉันถูกชกเข้าที่ท้องหลายครั้ง ก่อนถูกจับยัดเข้าห้องขังพร้อมกับคนอีก 30 คน ทั้งๆ ที่มีเตียงนอนเพียง 4 เตียง” เชอร์บินสกายาบอก

เธอถูกควบคุมตัวที่ โอเครสตินา เพียง 3 วัน แต่หลังจากหลุดออกมาได้ ต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานกว่าสัปดาห์

นัสเซีย มาสเชวา กับ อาเทอร์ ฟินเควิช อาสาสมัครที่ทำงานร่วมกับบรรดาผู้ถูกควบคุมตัวที่โอเครสตินา บอกว่า ผู้ที่ถูกรวบตัวมาหลายคนไม่แม้แต่กระทั่งได้เข้าร่วมอยู่ในการประท้วงด้วยซ้ำไป

บ่อยครั้งที่มีพยานพบเห็น “โอมอน” เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ “ล่าสังหาร” ของรัฐบาลลูคาเชนโก ลากเอาคนขับรถลงมาขณะขับรถผ่านไปมาใกล้จุดชุมนุมประท้วง หรือไม่ก็รวบเอาตัวประชาชนทั่วไปที่กลับจากร้านกาแฟ หรือกำลังมุ่งหน้าไปซุปเปอร์มาร์เก็ต

“เป้าหมายของพฤติกรรมนี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อกำราบการประท้วง แต่เป็นการกระทำเพื่อข่มขู่สังคมทั้งสังคม เพื่อแสดงให้เห็นว่า ไม่มีใครปลอดภัยอีกต่อไปวิทัลลี ไซแฮนคู นักวิเคราะห์การเมืองและผู้สื่อข่าวของ เรดิโอ ฟรี ยุโรป ระบุ

ไซแฮนคู ได้รับบทเรียนนี้ด้วยตัวเอง เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ปืนจี้และดึงลงมาจากรถพร้อมกับภรรยา ถูกควบคุมตัวและทุบตีก่อนปล่อยเป็นอิสระ

ปัญหาคือ ยิ่งนานวันเข้า กลยุทธ์นี้ของลูคาเชนโก ยิ่งได้ผลน้อยลงตามลำดับ

ในการชุมนุมครั้งหนึ่งที่ คามารูสกี ไรนัค ตลาดใหญ่ที่สุดของกรุงมินสก์ เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ประท้วงสตรีรวมตัวกันหลายพันคน พร้อมใจกันตะโกนเสียงดังฟังชัดว่า

“เราไม่กลัวอีกแล้ว”

ความเปลี่ยนแปลงที่เบลารุส ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในจุดที่เกิดการชุมนุมประท้วง แต่กลับแผ่ขยายออกไปกว้างขวางในหลายระดับของคนในสังคม จากชนชั้นกลางที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในหลายสิบปีที่ผ่านมา ไปสู่แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม เหมืองโปแตช ซุปเปอร์มาร์เก็ตและคนเดินถนนทั่วไป

กลุ่มคนที่มีความรู้ความชำนาญด้านเทคโนโลยี ผู้ประกอบการรายย่อยผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด

ยิ่งนับวัน ชาวเบลารุสที่เดินทางท่องเที่ยวทั้งในยุโรป และในสหรัฐอเมริกาได้ เพิ่มจำนวนขึ้นมากมาย เช่นเดียวกับความสามารถในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย

สิ่งที่พวกเขาเหล่านี้ ได้ยินได้ฟัง ได้รับรู้ด้วยตาตนเอง มันขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิงกับภาพที่สื่อโฆษณาชวนเชื่อของทางการนำเสนอออกมาให้เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

กลุ่มผู้ประท้วงและผู้ที่มีความคิดเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาล สามารถเสาะแสวงหาแหล่งข่าวที่พวกตนเชื่อถือได้ด้วยตัวเอง ไม่ได้ถูกปิดหูปิดตาอีกต่อไป

แอพพลิเคชั่นเพื่อการสื่อสารอย่าง เทเลแกรม มีบทบาทสูงมากเป็นพิเศษในการชุมนุมประท้วงครั้งนี้

“เน็กซ์ตา ไลฟ์” ช่องสื่อสารพิเศษในเทเลแกรม ที่ดำเนินการโดยนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหนุ่มจากวอร์ซอ โปแลนด์ สามารถดึงดูดสมาชิกได้มากมาย ทั้งๆ ที่ก่อกำเนิดขึ้นมาเพียงไม่นานก่อนการชุมนุมประท้วง

ตอนนี้สมาชิกของ เน็กซ์ตา ไลฟ์ สูงกว่า 2 ล้านคน หรือราว 1 ใน 5 ของชาวเบลารุสทั้งประเทศเข้าไปแล้ว

เน็กซ์ตา ไลฟ์ นอกจากจะเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและวิดีโอ เกี่ยวกับการประท้วงแล้ว ยังตั้งเป้าไว้อย่างแน่วแน่ ล้มล้างระบอบการปกครองเผด็จการของลูคาเชนโกให้ได้

เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลที่ว่า ทำไม ลูคาเชนโก ถึงไม่เข้าใจและไม่รู้ว่าจะรับมือกับการชุมนุมประท้วงได้อย่างไร

เพราะในขณะที่ลูคาเชนโกพยายามแล้วพยายามอีก มองหา “หัวหน้า” หรือ “แกนนำ” ที่อยู่เบื้องหลังขบวนการประท้วงในเบลารุส เพื่อจัดการ “ตัดไฟแต่ต้นลม”

กลับได้แต่เผชิญหน้ากับขบวนการที่ไร้แกนนำโดยสิ้นเชิงเท่านั้นเอง

แต่การไร้ผู้นำ ไร้หัวหน้าของการชุมนุมประท้วงก็มีปัญหาของตัวเอง นั่นคือ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าจะเกิดอะไรขึ้นเป็นลำดับต่อๆ ไป

สเวตลานา ทีคานอฟสกายา ถึงที่สุดแล้วอาจเป็นได้เพียง “สัญลักษณ์” ของการชุมนุม เพราะไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมือง และไม่มีพันธมิตรทางการเมืองเพียงพอที่จะเผชิญหน้ากับลูคาเชนโก แต่อย่างใด

เธอเป็นเพียงครูสอนภาษาอังกฤษและเป็นล่าม ไม่เคยเล่นการเมืองมาก่อนที่จะถูกผลักให้ลงสมัครแทนที่ผู้เป็นสามี

ในเวลาเดียวกัน อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ยังคงกุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ ท่ามกลางการสนับสนุนของขุนทหารอย่างครบครัน

และที่สำคัญ รัสเซีย ของพี่ใหญ่ วลาดิมีร์ ปูติน ก็กำลังย่างกรายมาถึง

ยังไม่มีใครบอกได้ว่า สุดท้ายแล้วความเปลี่ยนแปลงที่เบลารุสจะนำไปสู่อะไรกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image