คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส “อะ เพลซ วิธ โนเนม”

ภาพถ่ายผ่านดาวเทียมเปรียบเทียบก่อนและหลังการทำลายล้างเมื่อปี 2017 (google earth/planet lab via reuters)

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส “อะ เพลซ วิธ โนเนม”

เมื่อ 3 ปีก่อน กองทหารเมียนมา บุกเข้าไปในพื้นที่ของรัฐยะไข่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ เผาทำลายหมู่บ้านโรฮีนจา ชื่อ “กานจะ” จนราบทั้งหมู่บ้าน หลงเหลือเพียงซากปรักหักพัง ดำเป็นตอตะโก

เท่านั้นดูเหมือนยังไม่เพียงพอ กองทัพเมียนมาใช้รถตักกวาดทำลายหมู่บ้านทั้งหมูบ้าน จนไม่หลงเหลือแม้แต่ซาก

ถึงปี 2019 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติในยะไข่ พบว่าชื่อหมู่บ้าน “กานจะ” ถูกลบทิ้งออกจากแผนที่ทางการของเมียนมา

นับแต่บัดนั้น “กานจะ” จะไม่คงอยู่อีกต่อไป ไม่มีทั้งหมู่บ้าน ไม่หลงเหลือแม้แต่ชื่อที่คุ้นเคย

Advertisement

กานจะ กับถิ่นที่อยู่ของชุมชนโรฮีนจาอีกหลายสิบแห่ง ถูกลบหายไปจากบันทึกอย่างเป็นทางการของเมียนมา คงอยู่ในสถานะพื้นที่ส่วนหนึ่งของเมือง ไม่ว่าเมืองเล็ก หรือเมืองใหญ่ก็ตามที

แต่ต้องไม่มีชื่อหลงเหลือให้เรียกขานกันอีกแล้ว!

รัฐยะไข่ มีพรมแดนติดต่อกับบังกลาเทศ ส่วนหนึ่งของแนวกั้นเขตแดนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติคือ ลำน้ำนาฟ

ถัดจากริมฝั่งแม่น้ำเข้ามาภายในเมียนมาอีกราว 5 กิโลเมตร คือ “กานจะ” หมู่บ้านโรฮีนจาที่มีประชากรเป็นเรือนพัน ก่อนที่กองทัพเมียนมาจะปฏิบัติการครั้งใหญ่ รุกไล่โรฮีนจา 730,000 คน โดยประมาณ หลั่งไหลกับหลบหนีออกนอกประเทศเมื่อปี 2017

ปฏิบัติการที่สหประชาชาติระบุเอาไว้ว่า เป็น “ตัวอย่างตามตำราว่าด้วยการทำลายล้างชาติพันธุ์”

ทัตมะดอ หรือกองทัพพม่า ซึ่งตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำการอันเป็นการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” โรฮีนจา ไม่ได้ปฏิเสธปฏิบัติการดังกล่าว แต่ให้เหตุผลง่ายๆ เพียงว่าเป็นปฏิบัติการเพื่อ “กวาดล้าง” เป้าหมายที่เป็น “กองกำลังติดอาวุธ” เท่านั้น

ประเด็นที่น่าสนใจในรายงานล่าสุดเผยแพร่เมื่อ 11 กันยายนที่ผ่านมา ของรอยเตอร์ สืบเนื่องจากปฏิบัติการเมื่อ 3 ปีก่อนก็คือ พื้นที่ซึ่งเดิมเคยเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านกานจะ ในเวลานี้กลายเป็นที่ตั้งของอาคารที่ทำการของรัฐ อาคารที่ตั้งทางทหาร รวมทั้งสถานีฐานขนาดใหญ่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ขยายตัวออกไปเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วและไม่หยุดยั้ง

ภาพถ่ายผ่านดาวเทียมของพื้นที่บริเวณเดียวกัน ที่ปรากฏในกูเกิลเอิร์ธ เมื่อเทียบกับภาพถ่ายดาวเทียมใหม่ที่ แพลเนท แล็บ จัดหามาให้เปรียบเทียบ สะท้อนความจริงนี้ออกมาอย่างชัดเจน

เจ้าหน้าที่หน่วยจัดทำแผนที่ของสหประชาชาติ เพื่อส่งมอบให้หน่วยงานอื่นๆ ขององค์การระหว่างประเทศนี้ อาทิ ยูเอ็นเอชซีอาร์ ที่มีภารกิจเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย หรือกลุ่มดำเนินการเพื่อมนุษยธรรมภายใต้การกำกับดูแลของสหประชาชาติทั้งหลายในเมียนมา ได้ใช้งาน พบเมื่อปี 2020 นี่เองว่า หมู่บ้านกานจะหายไปจากแผนที่ทางการพม่า

พื้นที่กานจะเดิม ไม่มีชื่อเรียกอีกต่อไป และถูกกำหนดใหม่ให้กลายเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของเมืองมองดอ ที่เคยอยู่ใกล้เคียงกันไปแล้ว

กานจะเป็นหนึ่งในเกือบ 400 หมู่บ้านที่ถูกทหารเมียนมาโจมตีและทำลายในระหว่างปฏิบัติการครั้งใหญ่เมื่อปี 2017 นี่คือข้อมูลที่ฮิวแมนไรท์ วอทช์ องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนในนิวยอร์กได้จากการวิเคราะห์แผนที่ผ่านดาวเทียมในบริเวณรัฐยะไข่

คำถามคือ แล้วทำไมต้องลบชื่อ เปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพที่ปรากฏของพื้นที่หมู่บ้านกานจะไปจนหมดสิ้น?

กระทรวงสวัสดิการสังคม ซึ่งรับผิดชอบกิจกรรมการฟื้นฟูรัฐยะไข่ ของรัฐบาลเมียนมา ปฏิเสธที่จะตอบคำถามนี้ เช่นเดียวกับคำถามเกี่ยวกับนโยบายเรื่องการรับผู้ลี้ภัยโรฮีนจา กลับคืนมาสู่ถิ่นฐานเดิม

หน่วยงานแผนที่ของสหประชาชาติ จัดทำแผนที่เมียนมาขึ้นมาใหม่อย่างน้อย 3 เวอร์ชั่นนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แผนที่ซึ่งจำต้องยึดตามแผนที่ทางการดังกล่าวเหล่านั้น แสดงให้เห็นหมู่บ้านโรฮีนจานับสิบแห่ง ที่ถูกลบชื่อออกไป ทั้งที่ลบทิ้งไปเฉยๆ และ ที่กำหนดใหม่ให้เป็นพื้นที่ของเขตทางการปกครองอื่นไป

สำนักงานสหประชาชาติเปิดเผยว่า ได้ตัดสินใจลบแผนที่รัฐยะไข่ของเมียนมาที่จัดทำขึ้นมาใหม่ออกจากเว็บไซต์ไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

พร้อมกันนั้นก็มีคำสั่งให้ศึกษาวิจัยนโยบายรัฐบาลเมียนมาต่อหมู่บ้านเหล่านี้ว่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อนโยบายรับผู้ลี้ภัยคืนถิ่น หลังจากกลุ่ม องค์การแห่งชาติอาระกัน โรฮีนจา ที่เป็นกลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิชาวโรฮีนจาในอังกฤษ ร้องเรียนเรื่องนี้ขึ้นมา

แต่ยังไม่มีการสรุปเรื่องนี้ออกมาให้เป็นที่แน่ชัดแต่อย่างใด

อี ยังฮี อดีตผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติประจำเมียนมา แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้เอาไว้อย่างตรงไปตรงมา

ด้วยเชื่อว่า การกระทำดังกล่าวเป็นไปโดยเจตนาของรัฐบาลเมียนมา เพื่อทำให้ยากลำบากมากขึ้นต่อการที่ผู้ลี้ภัยโรฮีนจาจะ “คืนถิ่น” ในเมื่อถิ่นฐานเดิมของตนเองกลายเป็นพื้นที่ไร้ชื่อ ไม่หลงเหลือหลักฐานใดๆ ให้เชื่อได้ว่า พวกเขาเคยใช้ชีวิตอยู่ “ตรงนั้น”

“นี่คือหนทางกำจัดอัตลักษณ์พื้นฐานของพวกเขาให้หมดนั่นเอง” เธอเชื่ออย่างนั้น

เธอชี้ด้วยว่า สหประชาชาติตกอยู่ในฐานะผู้รู้เห็นเป็นใจ เพราะไม่ยับยั้งปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ต่อหน้าต่อตา

สเตฟาน ดูยาร์ริช โฆษกประจำตัวนายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ อธิบายเรื่องนี้เอาไว้ว่า การกำหนดขอบเขตพื้นที่ใหม่นั้น ถือเป็น “กระบวนการปกติทางการปกครอง” ที่เกิดขึ้นเป็นกิจวัตร ไม่จำเพาะแต่ในเมียนมา

การทำแผนที่ของสหประชาชาติ ก็จำเป็นต้องยึดเขตปกครองใหม่ที่กำหนดไว้ เพื่อผลประโยชน์ในการเดินทาง การทำงานในพื้นที่ของหน่วยงานของสหประชาชาติเอง ชื่อและปริมณฑลในแผนที่สหประชาชาติจึงจำเป็นต้องยึดถือตามแบบฉบับของทางการ

กระนั้น ดูยาร์ริช เอง ก็ยอมรับว่าการเปลี่ยนสถานะทางกฎหมายของหมู่บ้านทั้งหลายของโรฮีนจา อาจกลายเป็น “ความซับซ้อน” ที่ทับซ้อนขึ้นมาจากความซับซ้อนแต่เดิมอีกชั้นหนึ่ง เมื่อบรรดาผู้ลี้ภัยต้องการกลับมาอ้างอิงเอา “บ้านเดิม” ของตนเองเป็นถิ่นที่อยู่อีกครั้ง

ทางการเมียนมาอ้างเสมอมาว่ายินดีและเปิดกว้างที่จะรับผู้ลี้ภัยโรฮีนจาที่หลบหนีเหตุรุนแรง เมื่อปี 2017 กลับประเทศ แต่ต้องดำเนินการให้เป็นกระบวนการที่เป็นระเบียบ เรียบร้อย

การเจรจาระหว่างเมียนมากับบังกลาเทศ เรื่องผู้ลี้ภัยโรฮีนจา กว่า 1 ล้านคน ที่ยัดทะนานกันอยู่ที่ค่ายลี้ภัยใกล้กับค็อกซ์บาซาร์ ในบังกลาเทศ ชะงักงันอยู่จนถึงทุกวันนี้

โรฮีนจาบางคนที่พยายามข้ามกลับมายังถิ่นฐานเดิมของตน ถูกจับกุมในฐานะ “เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย” โดยอ้างความวิตกว่าจะเป็นพาหะแพร่โรคโควิด-19

 

โมฮัมเหม็ด โรฟิค (reuters)

โมฮัมเหม็ด โรฟิค อดีตหัวหน้าหมู่บ้านโรฮีนจา ที่อยู่ใกล้กับ กานจะ ซึ่งตอนนี้ใช้ชีวิตอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ บอกว่า ความเคลื่อนไหวทั้งหมดของรัฐบาลเมียนมาครั้งนี้ส่อให้เห็นเจตนาชัดเจนยิ่ง

“พวกเขาไม่ต้องการให้พวกเรากลับไป”

ในการตรวจสอบเปรียบเทียบแผนที่ดาวเทียมของรอยเตอร์ พบว่าฐานที่ตั้งของเจ้าหน้าที่ในกานจะ ขยายตัวอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา มีการเพิ่มลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขึ้นอีก 2 จุด มีถนนตัดใหม่เพิ่มขึ้นอีกสาย ตัดผ่านอีกหมู่บ้านหนึ่งใกล้เคียงกัน ชื่อ “โกนนา” ที่ถูกเกรด ทำลายราบเช่นกัน

ทั้งสองหมู่บ้าน ถูกลบชื่อและกลายเป็นปริมณฑลใหม่ของเมืองมองดอ

ในเดือนกันยายน 2019 ภายใต้คำสั่งของกรมการปกครองทั่วไป (จีเอดี) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยเมียนมา ให้กำหนดเขตปกครองซึ่งเดิมเป็นหมู่บ้านโรฮีนจารวม 16 หมู่บ้าน ให้กลายเป็นปริมณฑลของเมืองมองดอ

ชื่อของหมู่บ้าน 6 หมู่บ้านในจำนวนดังกล่าว ถูกคงไว้ในแผนที่ยะไข่ของสหประชาชาติ แต่ถูกกำหนดเขตปกครองใหม่ไปขึ้นอยู่กับเมืองมองดอ

อีก 10 หมู่บ้าน ไม่หลงเหลือแม้แต่ชื่อ

ข้อมูลอย่างเป็นทางการของกรมการปกครองทั่วไป ประชากรทั้งหมดของเมืองมองดอ มี โรฮีนจา ซึ่งจีเอดี ยังคงถือว่าเป็น “ต่างชาติ” ที่ข้ามมาจากบังกลาเทศอยู่ คิดเป็นสัดส่วน 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งเมืองนี้

ในปี 2017 ก่อนหน้าปฏิบัติการกวาดล้างของทหารเมียนมา สัดส่วนโรฮีนจาในมองดอ มีมากถึง 97 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลของสหประชาชาติแสดงให้เห็นว่า ยังมีอีก 11 หมู่บ้าน ซึ่งถูกกำหนดเขตปกครองใหม่ในช่วง 5 ปีหลังมานี้ ถูกกำหนดให้ไปขึ้นอยู่กับ เมืองใหม่ชื่อ “มินฮลุท”

เป็นเมืองที่กระทรวงสวัสดิการสังคม กำหนดให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว ด้วยหาดทรายสวยงามกับอาหารทะเลพร้อมพรั่ง

หมู่บ้านเล็กๆ ทั้ง 11 แห่งเหล่านี้เคยถูกทำลายยับเยินในปี 2017 ยกเว้นเพียง 2 หมู่บ้าน แต่ก็ไม่รอดเงื้อมมือของทางการที่ส่งรถตักเข้าไปกวาดทำลายเมื่อปี 2018

มีการก่อตั้งสถานีรักษาการณ์ขึ้นใหม่ 6 จุด พร้อมด้วยหอคอยระวังภัย ที่สังเกตพบได้จากภาพถ่ายดาวเทียม

ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ ในขณะที่หมู่บ้านโรฮีนจาถูกลบหายไปไม่เหลือแม้ชื่อ หมู่บ้านชาวพุทธในยะไข่กลับเพิ่มมากขึ้น อย่างน้อยก็มีการเพิ่มหมู่บ้านพุทธขึ้น 2 หมู่บ้านในแผนที่ของสหประชาชาติปี 2020

หนึ่งในจำนวนนั้นคือ อินน์ดิน ซึ่งมีชาวโรฮีนจาถูกสังหารรวดเดียว 10 รายในปฏิบัติการเมื่อปี 2017 เหตุทำนองเดียวกันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก จนชาวบ้าน 6,000 คนพากันหลบหนีทิ้งถิ่นข้ามแดนไปยังบังกลาเทศ

ทั้งหมู่บ้านถูกทำลายราบ แล้วมีการก่อสร้างขึ้นใหม่กลายเป็นหมู่บ้านชาวพุทธมาแทนที่

เหตุทำนองเดียวกันเกิดขึ้นที่ จ็อกปันดู หมู่บ้านโรฮีนจาที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งตอนนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านชาวพุทธอินน์ดิน ไปแล้ว

ขนาดของหมู่บ้านขยายใหญ่กว่าเดิมเป็นสองเท่า

ดูยาร์ริช โฆษกของเลขาธิการสหประชาชาติ ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เมื่อมีการกล่าวหาทางการเมียนมาว่า มีพฤติกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะปฏิบัติการเมื่อปี 2017 นั้น คำสั่งหนึ่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก มีคำสั่งให้รัฐบาลเมียนมา รักษาสภาพดั้งเดิมของพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการกล่าวหาไว้ ซึ่งรัฐบาลก็ตกลง

การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวหรือไม่ ดูยาร์ริช ไม่ได้ระบุออกมา

เช่นเดียวกับที่มีผู้สันทัดกรณีที่จับตามองเมียนมาอีกหลายคน เห็นตรงกันว่า

การกวาดล้างโรฮีนจาอย่างเป็นระบบและเต็มกำลัง ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องในเมียนมา

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image