คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อ ‘ทรัมป์’ ติดโควิด?!!

REUTERS/Carlos Barria/File Photo

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อ ‘ทรัมป์’ ติดโควิด?!!

ข่าวการติดเชื้อโรคโควิด-19 ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ใช่ข่าวปกติธรรมดา ด้วยเหตุที่ว่ามันก่อให้เกิดคำถามต่างๆ ขึ้นตามมามากมาย กลายเป็นความไม่แน่นอนอย่างใหม่ สุมทับลงบนความไม่แน่นอนแต่เดิมที่ทำให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายเป็นวิกฤตอยู่ในเวลานี้

ด้านหนึ่ง จังหวะเวลาของการติดเชื้อของทรัมป์ไม่เพียงไม่เหมาะอย่างยิ่งที่จะเกิดขึ้นในช่วงปีแห่งการเลือกตั้ง แต่ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่หลงเหลืออีกเพียง 5 สัปดาห์ ก็จะถึงวันเลือกตั้ง 3 พฤศจิกายนนี้เท่านั้นเอง

ในอีกด้านหนึ่ง ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกายังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสหรัฐอเมริกาอยู่ด้วย อาการของทรัมป์จึงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศตามไปด้วย ยิ่งอาการหนักเท่าใด อันตรายยิ่งมากขึ้นตามไปด้วยเท่านั้น

ปัญหาก็คือ แม้ว่า มาร์ค มีโดวส์ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบขาว จะแถลงอย่างเป็นทางการว่า ทรัมป์แสดงอาการของโรคออกมา “เล็กน้อย” ก่อนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล วอลเตอร์ รีด เนชั่นแนล มิลิทารี เมดิคัล เซนเตอร์ ก็ตาม แต่เป็นไปได้สูงมากที่ทุกคน แม้แต่ทรัมป์เองก็จะยังไม่รู้แน่ชัดว่าอาการป่วยของผู้นำสหรัฐอเมริกาจะหนักหนาสาหัสขนาดไหนต่อไปอีกระยะหนึ่ง

Advertisement

กรณีเปรียบเทียบที่ใกล้เคียงที่สุดคือกรณีของ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งเริ่มต้นจากอาการเพียงเล็กน้อยเช่นเดียวกัน แต่ไม่ช้าไม่นาน อีกสัปดาห์ถัดมาอาการป่วยก็ชัดเจนมากขึ้น รุนแรงมากขึ้น จนต้องส่งตัวเข้าหออภิบาลผู้ป่วยหนัก (ไอซียู) และจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในที่สุด

บอริส จอห์นสัน หายหน้าค่าตาไปจากการบริหารประเทศร่วมเดือน และยอมรับในเวลาต่อมาว่า ความตายอยู่ห่างจากตนเพียงแค่ยื่นมือก็สัมผัสถึง

ความต่างอย่างสำคัญระหว่าง จอห์นสัน กับทรัมป์ ก็คือ ฝ่ายแรกอายุเพียง 56 ปี ในขณะที่ฝ่ายหลังอายุมากถึง 74 ปีแล้ว

Advertisement

การที่โดนัลด์ ทรัมป์ ถูกแพทย์วินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด จึงก่อให้เกิดคำถามขึ้นมากมาย ทั้งต่ออำนาจการปกครองของรัฐบาล และต่อการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา

ปัญหาแรกที่ฝ่ายบริหารของทรัมป์ต้องขบคิดก็คือ ควรเปิดเผยสภาวะสุขภาพของประธานาธิบดีตามความเป็นจริงตลอดเวลา จนกว่าจะกลับมาทำหน้าที่ได้ตามปกติหรือไม่

ทรัมป์ไม่ได้เป็นผู้นำสหรัฐอเมริการายแรกที่ล้มป่วยระหว่างปฏิบัติหน้าที่ แต่หากยึดถือตามแบบอย่างในประวัติศาสตร์แล้วละก็ สุขภาวะของประธานาธิบดีอเมริกันจะถูกถือเป็นความลับสุดยอด

ในเดือนเมษายน ปี 1919 ทีมแพทย์ของทำเนียบขาวปกปิดอาการป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ของ วูดโรว์ วิลสัน ไว้มิดชิด แม้ไข้จะสูงถึง 39.4 องศาเซลเซียส เช่นเดียวกับเมื่อประธานาธิบดีวิลสันเกิดอาการสโตรกย่อมๆ ในปลายเดือนเดียวกัน และเกิดสโตรกรุนแรงอีกครั้งในเดือนตุลาคมปีนั้น

เอดิธ วิลสัน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง กลายเป็นผู้บริหารประเทศอย่างลับๆ ในช่วง 17 เดือนที่เหลืออยู่ของวาระการดำตำแหน่งคราวนั้น

ต่อมาในเดือนมีนาคม 1944 ราว 7 เดือนก่อนหน้าวันเลือกตั้ง ทีมแพทย์ของประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลท์ สรุปผลการตรวจวินิจฉัยว่า “เอฟดีอาร์” ประสบภาวะ “หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน” และเริ่มให้ยากล่อมประสาท บาบิทูเรต เพื่อลดความเครียดให้ท่านประธานาธิบดี

แต่ไม่เคยบอกกับตัวประธานาธิบดีรูสเวลท์ หรือคนอเมริกันทั้งประเทศโดยละเอียดว่าสุขภาวะของเขาไม่เหมาะกับการดำรงตำแหน่งผู้นำของสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป

เอฟดีอาร์เดินหน้าลงเลือกตั้งแล้วได้รับชัยชนะแต่เสียชีวิตคาตำแหน่ง เพียงแค่ 3 เดือนหลังวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเท่านั้นเอง

ดไวท์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ประธานาธิบดีคนที่ 34 มีอาการหัวใจวายรุนแรงในการดำรงตำแหน่งสมัยแรก และเกิดอาการสโตรกย่อมๆ ขึ้นในสมัยที่ 2

ทีมแพทย์ของไอเซนฮาวร์เปิดเผยอาการหัวใจวายต่อสาธารณะโดยละเอียด ต่างจากทีมแพทย์ของประธานาธิบดีคนดังอย่าง จอห์น เอฟ. เคนเนดี ที่ไม่เคยเปิดเผยรายละเอียดที่เจเอฟเคป่วยเป็นโรคแอดดิสัน (โรคผิดปกติเกี่ยวกับต่อมหมวกไต) เรื้อรัง ที่อาจถึงชีวิตได้ง่ายๆ และก่อให้เกิดความเครียดทางอารมณ์ได้มาก

ทั้งยังไม่เคยเปิดเผยด้วยว่า ผู้นำคนดังรายนี้จำเป็นต้องได้รับ “ค็อกเทล สเตียรอยด์” กับ “แอมเฟตามีน” เพื่อบำบัดเป็นประจำ

แต่เมื่อยุคนิวเคลียร์มาถึง สุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้นำสหรัฐอเมริกาก็มีนัยสำคัญจนปล่อยให้เหมือนเดิมต่อไปไม่ได้อีกแล้ว

สหรัฐอเมริกาถึงกับต้องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อการนี้

ในปี 1947 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นวางระเบียบวิธีปฏิบัติเพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะมีรัฐบาลบริหารประเทศต่อเนื่องในกรณีที่ประเทศถูกโจมตีด้วยระเบิดนิวเคลียร์

แต่การปกปิดไม่เปิดเผยความจริงเกี่ยวกับสุขภาวะของผู้นำก็ยังเป็นปัญหาเด่นชัด

การลอบสังหาร จอห์น เอฟ. เคนเนดี นำไปสู่การลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 25 ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1967 ซึ่งนอกจากจะเพิ่มความกระจ่างชัดให้กับบทบัญญัติก่อนหน้านี้ที่ว่า หากประธานาธิบดีอเมริกันเสียชีวิตระหว่างวาระการดำรงตำแหน่ง รองประธานาธิบดีจะกลายเป็นประธานาธิบดี (ไม่ใช่รักษาการประธานาธิบดี) ยังกำหนดมาตรการเอาไว้เป็นครั้งแรกด้วยว่า ประธานาธิบดีที่เจ็บป่วยสามารถถ่ายโอนอำนาจชั่วคราวให้กับรองประธานาธิบดีได้ “โดยสมัครใจ”

ในกรณีที่ทีมแพทย์หรือตัวประธานาธิบดีไม่ซื่อตรงโปร่งใสเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ ถึงระดับไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 25 กำหนดระบบซับซ้อนในการถ่ายโอนอำนาจเอาไว้

กระบวนการต้องอาศัยเสียงข้างมากของรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาล ร่วมกันทำหนังสือแจ้งไปยังคองเกรส ในกรณีนี้ รองประธานาธิบดีจะทำหน้าที่ “รักษาการประธานาธิบดี”

แต่ในกรณีที่ประธานาธิบดียังมีเรี่ยวแรงพอที่จะทำความเห็นแย้ง ก็ต้องอาศัยมติคองเกรส 2 ใน 3 เป็นเครื่องชี้ขาด

จนถึงขณะนี้ มีการนำส่วนที่เป็นการถ่ายโอนโดยสมัครใจในฉบับแก้ไขครั้งที่ 25 มาใช้ปฏิบัติแล้ว 3 ครั้ง

เริ่มต้นด้วย โรนัลด์ เรแกน ในปี 1985 เมื่อจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกในลำไส้ เรแกนเลือกโอนอำนาจให้กับรองประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช เป็นการชั่วคราว

ในปี 2002 กับอีกครั้งในปี 2007 จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ผู้ลูก โอนอำนาจช่วงสั้นๆ ให้กับ ดิ๊ก เชนีย์ รองประธานาธิบดี เมื่อต้องส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่

ในส่วนของการถ่ายโอนโดยไม่สมัครใจ ยังไม่เคยมีการนำมาใช้ในทางปฏิบัติเลยแม้แต่ครั้งเดียว

นั่นเป็นการแก้ปัญหาในส่วนของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ยังคงมีปัญหาในส่วนของการเลือกตั้ง

อย่างเช่นกรณีทรัมป์ในเวลานี้ที่ผ่านกระบวนการสรรหาภายในพรรค ได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งแล้วเกิดปัญหาสุขภาพสาหัสขึ้น จะทำอย่างไร?

ความเป็นไปได้ที่จะมีประธานาธิบดีซึ่งกลายเป็นบุคคลที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ระหว่างการเลือกตั้ง เริ่มปรากฏชัดขึ้นมานับตั้งแต่ปี 1944 พรรครีพับลิกันตรากฎขึ้นมารองรับปัญหานี้ไว้โดยเฉพาะ

ตามกฎเกณฑ์ของพรรค ในกรณีที่เห็นว่าทรัมป์ไม่ควรเป็น “แคนดิเดต” ต่อไปในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น รีพับลิกันกำหนดให้ผู้สมัครคู่ในตำแหน่งรองประธานาธิบดีทำหน้าที่ “แคนดิเดต” แทน

ซึ่งในกรณีนี้คือ ไมค์ เพนซ์ ที่จะทำหน้าที่แทนทรัมป์หากเกิดเสียชีวิต หรือด้อยสมรรถภาพอย่างร้ายแรงขึ้นมา

คำถามถัดมาก็คือ ในกรณีที่สมมุติว่าเกิดการเสียชีวิตหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หลังการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว คือหลังจากวันที่ 3 พฤศจิกายน จะทำอย่างไรกัน?

รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาฉบับแก้ไขครั้งที่ 20 ให้แนวปฏิบัติในเรื่องนี้เอาไว้ครับ

สมมุติอีกครั้งว่า ทรัมป์ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่เกิดเสียชีวิตก่อนหน้าที่จะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม

บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้ชัดเจนว่า รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ จะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

กระนั้นก็ยังแยกเป็น 2 กรณี

กรณีแรก สมมุติว่าทรัมป์ได้รับเสียงข้างมากของ “คณะผู้เลือกตั้ง” (ที่คำนวณจากสัดส่วนของคะแนนดิบในแต่ละรัฐ) แต่เกิดเสียชีวิตก่อนหน้าที่ คณะผู้เลือกตั้งจะประชุมพร้อมหน้ากันในเดือนธันวาคมเพื่อลงมติ

ในกรณีนี้ พรรครีพับลิกันอาจใช้วิธีโน้มน้าวให้ “คณะผู้เลือกตั้ง” ที่กำหนดต้องเลือกทรัมป์ไปลงคะแนนเลือกเพนซ์แทน

แต่ในกรณีสมมุติที่ว่า ทรัมป์เสียชีวิตหลังจากที่คณะผู้เลือกตั้งประชุมกันแล้วลงมติเรียบร้อยแล้ว ไมค์ เพนซ์ จะกลายเป็นเพียง “รักษาการประธานาธิบดี” ที่ทำหน้าที่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม

ตำแหน่งรักษาการดังกล่าวจะคงอยู่ตราบจนกระทั่งคองเกรสลงมติเลือกประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการต่อไป

ยังคงมีเงื่อนปมที่ไม่มีใครเคยคำนึงถึง ไม่ว่าเมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 20 หรือครั้งที่ 25 ก็ตามที

นั่นคือ ในกรณีสมมุติที่ว่าทรัมป์ไม่ได้เสียชีวิต หากเพียงแค่อยู่ในสภาพ “ไร้ความสามารถ” ที่จะทำหน้าที่ได้แล้วชนะการเลือกตั้ง

ในกรณีนั้นคงต้องวุ่นวายกว่าเล็กน้อย เพราะต้อง “ด้นกันสดๆ” แบบไม่มีแนวทางแนะนำ หรือมีประเพณีปฏิบัติให้ไว้เป็นตัวอย่างครับ

ตามรายงานข่าวจากสหรัฐอเมริกาจนถึงขณะนี้แสดงให้เห็นว่า ประธานาธิบดีทรัมป์เริ่มมีอาการเหนื่อยล้า และหายใจลำบากแล้ว

หากรายงานดังกล่าวเป็นความจริง อีกไม่นานทรัมป์ก็คงป่วยหนักเกินกว่าที่จะทำหน้าที่ได้ตามปกติ แบบเดียวกับที่เคยเกิดกับนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน

ที่ทุกฝ่ายเป็นกังวลมากกว่าก็คือมีหลักฐานบ่งชี้ทางการแพทย์มากขึ้นเรื่อยๆ ว่าโควิด-19 อาจระบาดไปสู่สมอง ส่งผลกระทบต่อสมอง และก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่อความสามารถของสมอง (cognitive dysfunction) อาทิ ความผิดปกติของความจำ ความผิดปกติในการใช้ภาษา การสูญเสียทักษะในการทำกิจกรรม (อาทิ แปรงฟัน หวีผม) เกิดอาการไม่รู้ หรือไม่รับรู้ในสิ่งที่เคยรู้มาก่อน หรือสูญเสียความสามารถในการบริหารจัดการ การชี้ขาด ตัดสินใจ เป็นต้น

ผู้ป่วยบางคนเกิดอาการประสาทหลอน ปวดหัวอย่างรุนแรง สับสน มึนงง และอาจเกิดความเสียหายต่อสมองเป็นการถาวรขึ้นได้ด้วยเช่นกัน

อาการเหล่านี้อาจคงอยู่ในตัวผู้ป่วยได้นานเป็นเวลาหลายเดือน หรืออาจตลอดไป ในกรณีที่สมองเสียหายถาวร

เพื่อไม่ให้ทุกอย่างปั่นป่วนโกลาหลมากจนเกินไป ผู้คนที่แวดล้อมทรัมป์ในยามนี้ได้แต่สวดภาวนาขอสิ่งที่ดีที่สุดบังเกิดขึ้น

นั่นคือ ทรัมป์หายวันหายคืน กลับคืนมาเป็นปกติให้ได้เร็วที่สุดนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image