คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : โลกกับอาหารและสันติภาพ

โกลบอลโฟกัส
(AP Photo/Tsvangirayi Mukwazhi, File)

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : โลกกับอาหารและสันติภาพ

เหมือนเช่นทุกปี รางวัลโนเบลสันติภาพประจำปีนี้ รางวัลเชิดชูเกียรติที่ได้รับการยอมรับว่าควรค่าแก่ความภาคภูมิใจมากที่สุดในโลก รางวัลนี้จำเป็นต้องคัดเลือกจากรายชื่อมากมายที่ถูกส่งเข้ามาให้พิจารณา เฉพาะที่เป็นตัวบุคคล มีมากถึง 211 ราย ส่วนที่เป็นองค์กรต่างๆ มีการเสนอชื่อเข้ามาแยกต่างหากอีก 107 องค์กร หลังปิดรับการเสนอชื่อไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีนี้

สถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศแห่งสตอกโฮล์ม ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลหรือ นิติบุคคล ที่เหมาะสมเข้ารับรางวัล ค่อยๆ ทยอยตัดทอนรายชื่อให้สั้นลงเรื่อยๆ ทุกอย่างถูกปิดเป็นความลับสุดยอด แม้ว่าผู้ที่ถูกเสนอชื่อจะได้สิทธิในการเปิดเผยกับสื่อมวลชนก็ตาม

ถึงที่สุดแล้ว โครงการอาหารโลก (ดับเบิลยูเอฟพี) แห่งสหประชาชาติ ก็ได้รับเลือกจากคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลให้ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพประจำปีนี้

เบริท รีส-แอนเดอร์เสน สุภาพสตรีผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการคัดสรรผู้ที่เหมาะสมเข้ารับรางวัลโนเบล บอกเหตุผลเอาไว้อย่างชัดเจนในวันประกาศรางวัลประจำปีนี้

Advertisement

“คณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์ หวังว่าด้วยการเลือกดับเบิลยูเอฟพี ให้ได้รับรางวัลในปีนี้ จะทำให้ทุกคน ทุกสายตาทั่วโลก หันกลับมามองไปยังผู้คนหลายล้านคนที่กำลังทนทุกข์ทรมานจากความอดอยากหิวโหย หรือกำลังถูกความอดอยากหิวโหยคุกคามอยู่ในยามนี้”

เธอย้ำว่า การเชื่อมโยงซึ่งกันและกันระหว่างสงครามกับความอดอยาก หิวโหยนั้นคือวัฏจักรเลวร้ายที่ไม่มีวันสิ้นสุด

สงครามและความขัดแย้งคือที่มาของความหิวโหยและความไม่มั่นคงด้านอาหารได้ มากพอๆ กับที่ความอดอยากหิวโหยและความไม่มั่นคงด้านอาหารสามารถก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง จนแตกระเบิดออกกลายเป็นการสู้รบรุนแรงซึ่งกันและกันได้

Advertisement

“เราไม่มีวันที่จะบรรลุถึงเป้าหมายในการกำจัดความหิวโหยให้เป็นศูนย์ได้ ตราบเท่าที่เรายังไม่สามารถทำให้สงครามและความขัดแย้งด้วยสรรพาวุธ ยุติลง” รีส-แอนเดอร์เสนย้ำ

แดน สมิธ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสันติภาพฯ ยืนยันแนวความคิดเดียวกันนั้น ด้วยการบอกเล่าสภาพการณ์ของโลก ความอดอยาก และสงคราม ในปัจจุบันเอาไว้ว่า

“ปัญหาเรื่องความอดอยากหิวโหยของโลกกำลังทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอยู่ในเวลานี้ เช่นเดียวกับปัญหาเรื่องความขัดแย้งรุนแรง

“งานของดับเบิลยูเอฟพีเจาะจงลงไปที่จุดตัดของปัญหาทั้งสองอย่างนั้น”

โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1962 ในฐานะเป็น “โครงการทดลอง” ของประธานาธิบดี ดไวท์ ดี. ไอเซนฮาวร์ แห่งสหรัฐอเมริกา ว่า จะสามารถใช้โครงสร้างและระบบขององค์การระหว่างประเทศแห่งนี้เพื่อการจัดสรรอาหารยังชีพให้กับประเทศและผู้คนที่ต้องการได้หรือไม่

ประเทศแรกที่ได้รับประโยชน์จากการดำรงอยู่ของดับเบิลยูเอฟพี ก็คือ อิหร่าน เมื่อเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้นทางตอนเหนือของประเทศ หลังการก่อตั้ง ดับเบิลยูเอฟพี ได้เพียงสองสามเดือน สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นอย่างหนัก มีคนเสียชีวิตมากถึงกว่า 12,000 คน

ดับเบิลยูเอฟพี จัดส่งข้าวสาลี 1,500 เมตริกตัน, น้ำตาล 270 ตัน และชาอีก 27 ตัน ไปยังผู้รอดชีวิตแต่ตกอยู่ท่ามกลางภาวะวิกฤตในการดำรงชีพหลังโศกนาฏกรรมครั้งนี้

น่าสนใจที่ชาติถัดมาที่ได้รับความช่วยเหลือจากดับเบิลยูเอฟ ก็คือประเทศไทย ที่เผชิญวินาศภัยธรรมชาติร้ายแรงในเดือนตุลาคม 1962 เมื่อพายุ แฮเรียต ถล่มพื้นที่บริเวณแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช แทบราพณาสูร

การทดลองถือว่าประสบความสำเร็จสูงเกินความคาดหมาย ส่งผลให้เพียงแค่ 3 ปี ดับเบิลยูเอฟพี ก็กลายเป็นโครงการถาวรของสหประชาชาติเต็มตัวอย่างเป็นทางการ

เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา หน่วยงานของสหประชาชาตินี้ให้ความช่วยเหลือต่อประชาชนที่เดือดร้อนและอดอยากมากถึง 97 ล้านคน ในประเทศต่างๆ 88 ประเทศ

สถิติโดยเฉลี่ยของดับเบิลยูเอฟพี ก็คือ ในแต่ละวันจะมี รถบรรทุก 5,600 คัน เรือบรรทุกอาหารอีก 30 ลำ กับ เครื่องบินลำเลียงอีกเกือบ 100 ลำ เคลื่อนไหวจัดส่งอาหารไปยังจุดหมายปลายทางที่กำลังโหยหาอยู่ทุกๆ วัน

ในปีหนึ่งๆ อย่างน้อยที่สุด ดับเบิลยูเอฟพี จัดสรรอาหารเพื่อจ่ายแจกเสบียงอาหารดังกล่าวไปมากกว่า 15,000 ล้านครั้ง

พันธกิจของดับเบิลยูเอฟพี จัดว่าเรียบง่ายและตรงไปตรงมาที่สุดในบรรดาหน่วยงานทั้งหลายของสหประชาชาติ นั่นคือ นำอาหารและความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาตนเองไปยังคนที่กำลังต้องการอย่างยิ่ง

กระนั้นเพื่อบรรลุพันธกิจดังกล่าว การทำหน้าที่ของดับเบิลยูเอฟพี จัดว่าสลับซับซ้อนมากที่สุดในทางปฏิบัติหน่วยงานหนึ่ง

เมื่อคำนึงถึงขอบเขตกว้างใหญ่ไพศาลของภารกิจที่ต้องแบกรับ

ภารกิจหลักที่เป็นพื้นฐานของดับเบิลยูเอฟพี คือการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินด้านอาหาร พร้อมๆ กับให้ความช่วยเหลือให้ผู้ที่พลัดที่นาคาที่อยู่สามารถตั้งหลักแหล่งใหม่ได้อีกครั้ง เช่นเดียวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาต่างๆ ต่อชุมชนที่เดือดร้อน ทุกข์ยาก จากวิบัติภัยทั้งหลาย

ในแง่นี้ ดับเบิลยูเอฟพี จึงไม่ได้เพียงหยิบยื่นปลาให้กับผู้อดอยากหิวโหยทั้งหลาย แต่ยังให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ผู้คนเหล่านั้น สามารถจับปลา เลี้ยงปลาเพื่อปากท้องของตนเองได้ในระยะยาวอีกด้วย

งานราว 2 ใน 3 ของดับเบิลยูเอฟพี อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและสงคราม ที่ซึ่งบรรดาผู้คนตกอยู่ในสภาพอดอยากหิวโหย หรือด้อยโภชนาการได้มากกว่าปกติถึง 3 เท่าตัว

โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี ดำเนินงานใกล้ชิดกับหน่วยงานของสหประชาชาติอีก 2 แห่งในกรุงโรมเช่นเดียวกันอย่าง องค์การอาหารและเกษตรกรรม (เอฟเอโอ) ซึ่งมีหน้าที่ในการช่วยเหลือประเทศหนึ่งๆ จัดทำนโยบายและปรับเปลี่ยนข้อกำหนดกฎเกณฑ์ทั้งหลายให้เอื้อต่อการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน กับกองทุนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรม (ไอเอฟเอดี) ที่ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนทางการเงินต่อโครงการต่างๆ ในพื้นที่ชนบทยากจนของประเทศทั้งหลาย

ดับเบิลยูเอฟพีได้รับการสนับสนุนทางการเงินหรือสิ่งของจากการบริจาคโดยสมัครใจเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินทุนสนับสนุนการดำเนินงานจากรัฐบาลของประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ

เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา ดับเบิลยูเอฟพีระดมทุนสนับสนุนได้ 8,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับการจัดหาอาหาร 4.2 ล้านตันกับเป็นเงินสนับสนุนแบบให้เปล่า หรือคูปองแลกอาหารอีกรวมมูลค่า 2,100 ล้านดอลลาร์

ดับเบิลยูเอฟพีมีเจ้าหน้าที่ทำงานประจำอยู่มากกว่า 17,000 คน ราว 90 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนเจ้าหน้าที่ดังกล่าวนี้ ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ที่โครงการอาหารโลกกำลังปฏิบัติการให้ความช่วยเหลืออยู่ในเวลานี้

มีน้อยพื้นที่มากบนโลกใบนี้ ที่ดับเบิลยูเอฟพีไม่เคยให้ความช่วยเหลือทั้งในอดีตและปัจจุบัน

เมื่อครั้งที่เกิดภาวะแล้งเข็ญครั้งใหญ่ในพื้นที่แถบ ซาเฮลตะวันตกในทศวรรษ 1970 ดับเบิลยูเอฟพีต้องดิ้นรนในทุกๆ ทาง ทุกๆ วิธีเพื่อให้สามารถเข้าถึงบรรดาผู้คนที่ประสบทุพภิกขภัยอยู่ในเวลานั้นให้จงได้

ปฏิบัติการดังกล่าวจำเป็นต้องใช้แม้แต่กระทั่ง อูฐ เพื่อลำเลียงเสบียงอาหารในพื้นที่ซึ่งรถบรรทุกไม่สามารถเข้าถึงได้ หรือไม่ก็ต้องล่องเรือลำเลียงไปตามลำน้ำเมื่อไม่มีถนนหนทางใดๆ ให้ใช้งานได้อีกแล้ว

ในปี 1984 ดับเบิลยูเอฟพี จัดหาอาหารราว 2 ล้านตันให้กับผู้ประสบทุพภิกขภัยครั้งใหญ่และยาวนานในเอธิโอเปีย ต่อมาต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือทั้งในซูดาน, รวันดา, และในโคโซโว รวมถึงการจัดหาอาหารให้กับผู้ประสบวินาศภัยสึนามิในหลายประเทศในเอเชียเมื่อปี 2004 และเหตุการณ์ธรณีวิบัติภัยในเฮติ เมื่อปี 2010 ที่ผ่านมา

ปี 2019 สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก) เผชิญกับภาวะวิกฤตความอดอยากครั้งใหญ่ที่สุดเป็นอับดับสองของโลก ดับเบิลยูเอฟพีต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้คนราว 6.9 ล้านคนที่นั่น

เมื่อไวรัส อีโบลา ระบาดหนักในแอฟริกา ดับเบิลยูเอฟพีก็ต้องเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านอาหารจากการระบาดหนนั้น

เช่นเดียวกับที่ต้องให้ความช่วยเหลือคนพลัดที่พลัดถิ่นจากสงครามกลางเมืองในซีเรีย ไม่น้อยกว่า 4.5 ล้านคน รวมทั้งเด็กๆ ราว 300,000 คน ที่ตกอยู่ภายใต้ภาวะทุพโภชนาการรุนแรง เพราะความขัดแย้งภายในของไนจีเรีย

แต่ทั้งหมดนั้นยังไม่ยุ่งยาก และใหญ่โตเท่ากับการให้ความช่วยเหลือชาวเยเมนที่อดอยากเพราะการสู้รบเช่นเดียวกัน

สหประชาชาติบอกว่าสถานการณ์ในเยเมนบรรลุถึงจุดที่กลายเป็น “วิกฤตด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่ที่สุดของโลก” ไปแล้ว

ที่เยเมน ดับเบิลยูเอฟพีต้องให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่ผู้คนที่อดยากราว 13 ล้านคนต่อเดือน ทุกเดือน!!

ราว 2 ใน 3 ของประชากรเยเมน 30 ล้านคน ไม่รู้ว่าอาหารมื้อหน้าของตนเองจะมีหรือไม่!

โลกนี้ไม่เคยขาดแคลนคนอดอยาก หิวโหย ข้อมูลของดับเบิลยูเอฟพีเองระบุว่า ประชากรโลกกว่า 821 ล้านคน ตกอยู่ในสภาวะ “หิวโหยเรื้อรัง” ในขณะที่อีก 135 ล้านคน ตกอยู่ในสภาพอดอยากรุนแรง หรือไม่ก็กำลัง “อดตาย”

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น แต่จะยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ด้วยการก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปทั่วโลก

ดับเบิลยูเอฟพีประเมินว่า นั่นจะทำให้จำนวนประชากรผู้หิวโหยของโลกเพิ่มมากขึ้นไปอีก โดยคาดว่าเมื่อสิ้นปี 2020 นี้ จะมีผู้ตกอยู่ในภาวะอดอยากเพิ่มมากขึ้นอีก ระหว่าง 83 ล้านคนถึง 130 ล้านคนทั่วโลก

เดวิด บีสลีย์ ผู้อำนวยการบริหารของดับเบิลยูเอฟพี ชี้ให้เห็นว่า แม้จะไม่มีโควิด สถานการณ์ความอดอยากแต่เดิมก็ทรุดตัวเลวร้ายลงเรื่อยๆ อยู่ก่อนแล้ว

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จำนวนประชากรโลกที่ตกอยู่ในฐานะไร้ความมั่นคงทางอาหารในระดับร้ายแรง มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์

“ก่อนหน้าจะเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผมบอกเอาไว้แล้วว่า ในปี 2020 โลกจะเผชิญหน้ากับวิกฤตด้านมนุษยธรรมครั้งที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง

“เมื่อมีโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติม เราไม่เพียงกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดในเชิงสาธารณสุขเท่านั้น

“แต่ยังต้องเผชิญกับหายนะด้านมนุษยธรรมด้วยอีกต่างหาก”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image