คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ‘โจ ไบเดน’ กับภูมิภาคเอเชีย

ไบเดน
REUTERS/Jim Bourg/Pool

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ‘โจ ไบเดน’ กับภูมิภาคเอเชีย

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งที่ 59 กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เพื่อชี้ขาดว่าคู่แข่งขันจากพรรคการเมืองใหญ่และเก่าแก่ที่สุด 2 พรรค คือ โดนัลด์ ทรัมป์ ของรีพับลิกัน และ โจ ไบเดน ตัวแทนพรรคเดโมแครต ใครจะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

ผู้สันทัดกรณีทางการเมืองอเมริกันส่วนใหญ่เชื่อว่ามีโอกาสสูงไม่น้อยที่ โจ ไบเดน จะสามารถก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ คนที่ 46 ของสหรัฐอเมริกา

ผลการสำรวจความคิดเห็นของสำนักสำรวจความคิดเห็นหรือสำนักโพลต่างๆ แสดงให้เห็นแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน โพลของบางสำนักถึงกับยกให้ ไบเดน นำห่างถึงกว่า 10 จุด

บ่อนรับพนันที่ถูกต้องตามกฎหมายในประเทศอังกฤษ ก็ยังยกให้ ไบเดน มีโอกาสได้รับเลือกตั้งสูงกว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่ง

Advertisement

บ่อนรับพนันบางแห่งถึงกับให้ไบเดนเหนือกว่าที่อัตราส่วน 64 ต่อ 34 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว

บรรยากาศการเลือกตั้งโดยรวมส่อแสดงให้เห็นว่า ไบเดน ไม่เพียงชนะการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในต้นสัปดาห์หน้านี้เท่านั้น ยังเป็นชัยชนะที่ขาดลอยด้วยอีกต่างหาก

อย่างไรก็ตามนักสังเกตการณ์บางคน เตือนเอาไว้ว่า บรรยากาศทำนองเดียวกันนี้ ผลโพลเช่นนี้ เคยปรากฏขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

Advertisement

ฮิลลารี รอดแฮม คลินตัน มีคะแนนนิยมนำหน้าในแทบทุกๆ โพลจนถึงวันเลือกตั้ง

แต่แล้วผู้ชนะกลับเป็น โดนัลด์ ทรัมป์!

ครั้งนี้ บรรดาโพลและเกจิการเมืองอเมริกันทั้งหลายจะ “หน้าแตก” อีกครั้งหรือไม่? ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการทำโพลบางคนชี้ว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดซ้ำได้ พร้อมกับชี้ให้เห็นว่า ความแตกต่างอย่างสำคัญระหว่างโพลในการเลือกตั้งครั้งนี้กับครั้งที่ผ่านมาบางประการเอาไว้

ที่สำคัญที่สุดก็คือ เมื่อ 4 ปีก่อนนั้น คลินตัน นำหน้า ทรัมป์ ในแทบทุกโพลก็จริงอยู่ แต่เป็นการทิ้งห่างกันเพียงแค่ 3-5 จุด แทบยังอยู่ในพิสัยของค่าความผิดพลาดของโพล ต่างจากครั้งนี้ที่ ไบเดน นำหน้าทรัมป์อยู่มากถึง 5-10 จุด

นอกจากนั้น ในขณะที่ ทรัมป์ มีกรณี อีเมล์รั่วไหลเป็นหมัดเด็ดในช่วงโค้งสุดท้ายเมื่อ 4 ปีก่อน ในครั้งนี้กลับไม่มีอะไรเป็นทีเด็ด ไม่แม้กระทั่งเรื่องข้อมูลฉาวของ ฮันเตอร์ ไบเดน นักธุรกิจผู้เป็นลูกชายของ โจ ไบเดน

ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองอเมริกันจึงยังเชื่อว่า ไบเดน มีโอกาสสูงที่จะชนะการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้

คำถามสำคัญก็คือ หากประธานาธิบดีอเมริกันเปลี่ยนโฉมหน้าเป็น โจ ไบเดน สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกา กับ ภูมิภาคเอเชียโดยรวมจะเป็นไปในทางใด?

บิลาฮารี เกาสิกาน อดีตนักการทูตระดับสูงของสิงคโปร์ ที่ขึ้นชื่อรู้จักกันดีในฐานะนักการทูตปากกล้า ตรงไปตรงมาอย่างยิ่ง เคยทำนายทายทักเอาไว้ว่า ถ้าหาก ไบเดน ได้รับชัยชนะแล้วละก็ “แล้วพวกเราในเอเชียจะหวนกลับไปคิดถึงทรัมป์”

ปัญหาก็คือ ไม่ได้มีอดีตนักการทูตอย่าง บิลาฮารี เพียงลำพังที่คิดเช่นนั้น

เจมส์ แคร็บทรี นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษ ที่ปักหลักอยู่ในสิงคโปร์ ตั้งข้อสังเกตไว้ในข้อเขียนแสดงความคิดเห็นในนิตยสาร ฟอรีน โพลิซี เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า ยิ่งส่อเค้าว่า ไบเดน จะได้รับชัยชนะมากขึ้นเท่าใด ระดับความกระวนกระวายใจ “อย่างเงียบๆ” ในภูมิภาคเอเชียยิ่งทวีสูงขึ้นมากเท่านั้น

ในสหรัฐอเมริกา ทรัมป์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์รอบตัวว่า เล่นการเมืองเชิงรุกแบบก้าวร้าวและไม่คิดหน้าคิดหลัง และคาดหวังเอาว่า ต่างชาติ ไม่ว่าชาติใดก็ตามที่มีสภาพจิตเป็นปกติดี ก็ต้องคิดไปในทำนองเดียวกัน

แคร็บทรีชี้ให้เห็นว่า ในยุโรป การคาดหวังดังกล่าวเป็นไปได้สูงยิ่ง แต่ไม่ใช่ในเอเชีย ซึ่งยิ่งนานวันเข้า เจ้าหน้าที่ทางการไม่ว่าจะใน ญี่ปุ่น, อินเดีย, สิงคโปร์ และอื่นๆ ยิ่งคุ้นเคยและ “สบายๆ” กับทรัมป์และความแข็งกร้าวในนโยบายต่อต้านจีนของทรัมป์มากขึ้นตามลำดับ

โอกาสสูงที่จะได้รับชัยชนะของ ไบเดน ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงเหล่านี้เริ่มหวนกลับไปคิดถึงสภาวการณ์อึดอัด คับข้องใจ ในยุคของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ที่มีนักการเมืองอย่าง โจ ไบเดน ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี แทนที่จะคิดถึงการเปลี่ยนแปลงในไปทางที่ดีขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงตัวประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ข้อสังเกตดังกล่าวจะถูกต้องหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ โจ ไบเดน มีปัญหาอยู่ไม่น้อยในภูมิภาคเอเชีย

ทั้งยังเป็นปัญหาเรื่องของความน่าเชื่อถือ ซึ่งแก้ไขยากเย็นไม่น้อยเสียด้วย

ในการกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับนโยบายต่อที่ประชุมใหญ่พรรคเดโมแครต ไบเดน แจกแจงนโยบายที่ตนยึดถือว่ามีความสำคัญสูงสุดที่ต้องดำเนินการหากได้รับชัยชนะไว้ 4 ประการ ซึ่งรวมถึงการจัดการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการส่งเสริมความเป็นธรรมเชิงชาติพันธุ์

แคร็บทรี ตั้งข้อสังเกตว่า ใน 4 นโยบายที่มีความสำคัญสูงสุดของไบเดนดังกล่าวนั้น ไม่มีประเด็นเรื่อง การดำเนินการต่อจีน อยู่ด้วย ทั้งๆ ที่การบริหารจัดการ หรือการควบคุมจีน เป็นข้อกังวลสำคัญอย่างยิ่งยวดของหลายประเทศในเอเชีย

เขาชี้ให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นที่ไม่ระบุชื่อ เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในความเรียงว่าด้วย “ข้อดี” ของยุทธศาสตร์เผชิญหน้าจีน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของสหรัฐอเมริกาในยุคโอบามา ซึ่ง “ภารกิจสำคัญที่สุดคือการผูกสัมพันธ์” ไม่ใช่การเผชิญหน้าหรือแข่งขันกับจีน

“ถ้าเป็นไปได้ เราต้องการกลับไปในสู่โลกในยุคก่อนหน้าทรัมป์หรือไม่?” ผู้เขียนนิรนามรายนี้ตั้งคำถามเอาไว้ ก่อนขยายความต่อว่า

“สำหรับผู้ตัดสินใจเชิงนโยบายหลายคนในโตเกียว อาจบางทีคำตอบของคำถามนี้ก็คือ ไม่”!

ผู้เขียนรายนี้ให้เหตุผลเอาไว้ว่า “เป็นเพราะการมียุทธศาสตร์ที่โดยพื้นฐานแล้วถูกต้อง แต่ถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างย่ำแย่ (ภายใต้ทรัมป์) ยังดีเสียกว่าการมียุทธศาสตร์ที่นำมาใช้ได้เป็นอย่างดี แต่พื้นฐานกลับคลุมเครืออย่างยิ่ง (ภายใต้โอบามา)”

ความรู้สึกทำนองเดียวกันนี้ ยิ่งสัมผัสได้ชัดเจนกว่าในประเทศอย่างอินเดีย ซึ่งกำลังมีปัญหาพรมแดนด้านเหนืออยู่กับจีน และยิ่งนับวัน ยิ่งให้คุณค่าต่อนโยบายต่อต้านจีนของทรัมป์มากขึ้นทุกที

ราชา โมหัน นักวิเคราะห์ด้านการต่างประเทศที่อินเดีย เชื่อว่า อย่างน้อยที่สุด การก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของไบเดน ก็จะทำให้ยุทธศาสตร์ของอินเดียต่อจีนสลับซับซ้อนกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้

โมหัน คาดว่า ไบเดน จะลดการเผชิญหน้ากับจีนลง ในเวลาเดียวกันก็ยุติท่าทีโอนอ่อนผ่อนปรนที่ทรัมป์เคยมีต่อรัสเซียลงพร้อมกันไปด้วย

ซึ่งจะส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับชาติมหาอำนาจทั้งหลาย ซับซ้อน มากขึ้นอย่างแน่นอน

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งก็คือ ความเคลือบแคลงสงสัยต่อ โจ ไบเดน ในเอเชีย ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้นำหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทุกประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่นเดียวกับที่การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกวาระเป็นสมัยที่สองของทรัมป์ ก็ไม่ใช่ว่าจะปลอดจากความเสี่ยงต่อเอเชียเช่นเดียวกัน

หากทรัมป์ ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง ก็มีแนวโน้มที่อาจสร้างความเสียหายไม่น้อยขึ้นกับประเทศในภูมิภาคนี้ ทั้งจากการไม่ให้ความสำคัญไม่ให้ความสนใจ และการบริหารจัดการนโยบายต่างประเทศเชิงแลกเปลี่ยน ยื่นหมูยื่นแมว และความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งทางทหารกับจีนขึ้นอย่างจริงจัง ซึ่งแม้จะมีโอกาสน้อย แต่ก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลาที่ผ่านไป

แน่นอน ยังมีหลายชาติในเอเชียที่ยินดีต้อนรับการกลับมาของห้วงเวลาทางการทูตที่ผ่อนคลาย ไม่ต้องทุ่มเถียงวิวาทกันบ่อยครั้งนักของสหรัฐอเมริกา และแสดงความคาดหวังว่า การเปลี่ยนตัวผู้นำสหรัฐอเมริกาเป็นไบเดน จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ตัวอย่างเช่น ข้อเขียนแสดงท่าทีของ ลี เซียนหลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เมื่อไม่นานมานี้ เป็นต้น เนื้อความตอนหนึ่งระบุถึงจีนและสหรัฐอเมริกาว่า

“มหาอำนาจทั้งสอง ต้องร่วมกันหาทางทำให้เกิดความตกลงชั่วคราวขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันซึ่งกันและกันในบางอย่าง แต่ต้องไม่เปิดโอกาสให้การเป็นคู่แข่งขันซึ่งกันและกันนั้นเป็นปัญหาต่อความร่วมมือซึ่งกันและกันในส่วนอื่นๆ”

ไม่ต้องสงสัย ความคาดหวังนี้ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในยุคของ โจ ไบเดน มากกว่าที่จะเกิดขึ้นในยุคของทรัมป์สมัยที่สองแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ข้อที่ต้องคำนึงประการหนึ่งก็คือ แนวนโยบายต่อจีนของไบเดน “แข็งกร้าว” กว่านโยบายจีนของบารัค โอบามา อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

ไบเดน เคยเรียกขาน สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนว่า “อันธพาล” ในการดีเบตในกระบวนการคัดสรรตัวแทนพรรคเมื่อต้นปีนี้ ทั้งยังฉายภาพของจีนให้เห็นว่าเป็น “ชาติเผด็จการอำนาจนิยม” อีกด้วย

นักสังเกตการณ์บางคนเชื่อว่า นัยของคำเรียกขานดังกล่าวสะท้อนถึงแนวความคิดต่อจีนของไบเดน ที่เป็นเช่นเดียวกับแนวคิดของผู้นำทางการเมืองส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาที่ว่า จีน คงไม่มีวันเกิดการปฏิรูปทางการเมืองขึ้นได้อีกแล้ว

และสหรัฐอเมริกาเอง จำเป็นต้องแข่งขัน ช่วงชิงอำนาจอิทธิพลเหนือภูมิภาคเอเชียจากอุ้งมือของจีนให้ได้เท่านั้น ไม่มีทางเลือกอื่น

นั่นคือที่มาของการส่งสัญญาณ “เล็กๆ” มายังสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ด้วยการแสดงนัยว่า พร้อมที่จะเดินทางมาร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนซึ่งทรัมป์เมินเฉยอยู่บ่อยครั้ง

แอนโธนี บลิงเคน หนึ่งในทีมที่ปรึกษาอาวุโสของไบเดน เชื่อว่า อาเซียน เป็นภูมิภาคที่จำเป็นในการจัดการแก้ไขปัญหาสำคัญ อย่างเช่นปัญหาโลกร้อนและปัญหาสุขภาวะของโลก เขาทวีตข้อความไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า “ประธานาธิบดีไบเดน จะมาพบและผูกสัมพันธ์กับอาเซียนในประเด็นสำคัญๆ ทั้งหลาย”

ข้อเขียนของไบเดน เมื่อเร็วๆ นี้ บ่งบอกชัดเจนว่า สหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องแข็งกร้าวกับจีน เพราะเชื่อว่านั่นคือวิธีที่ “มีประสิทธิภาพที่สุด” ในการสร้างแนวร่วมของสหรัฐอเมริกาเพื่อต่อต้าน “พฤติกรรมกดขี่, ละเมิดสิทธิมนุษยชน” ทั้งหลาย แม้ว่าพยายามจะแสวงหาความร่วมมือกับปักกิ่งในด้านอื่นๆ อยู่ในเวลาเดียวกันเช่น “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” เป็นต้น

ปัญหาก็คือ แม้แต่ในอาเซียนเองและอีกหลายประเทศในเอเชียนอกเหนือจากจีน ก็มีสิ่งที่สหรัฐมองว่าเป็นปัญหาอยู่ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชนและการปฏิรูปทางการเมือง

ที่สำคัญก็คือ ไม่มีเอเชียประเทศไหนต้องการตกอยู่ในสภาพ “ถูกอบรมสั่งสอน” เรื่องสิทธิมนุษยชน และผลักดันให้มีการปฏิรูปการเมืองเหมือนเมื่อครั้งที่เกิดขึ้นในยุคโอบามาอีกแล้ว

และได้แต่คาดหวังว่า อาจบางที โจ ไบเดน ก็คือ โจ ไบเดน ไม่ใช่ บารัค โอบามา เท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image