คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : โศกนาฏกรรมที่ทำเนียบขาว

AP Photo/Julio Cortez

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : โศกนาฏกรรมที่ทำเนียบขาว

การแสดงพลังของกลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเดินขบวน “มิลเลียน เอ็มเอจีเอ มาร์ช” ที่กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ แม้ว่าจะไม่มีจำนวนมากเป็น “กว่าล้านคน” อย่างที่โฆษกทำเนียบขาวพยายาม “ปั้นแต่ง” ตีปี๊บผ่านทวิตเตอร์ แต่มีเพียงหลายหมื่นคนเท่านั้นก็ตามที

แต่การรวมตัวกันเพื่อ “แสดงว่าพวกเรายังคงสนับสนุน และให้กำลังใจ” ในการ “ดื้อแพ่ง” ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ของทรัมป์ดังกล่าว ก็ส่งสัญญาณอันตรายออกไปในทุกทิศทุกทาง ไม่เพียงแต่กับ โจ ไบเดน และพรรคเดโมแครต ผู้ที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้เท่านั้น

สัญญาณที่บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า การถ่ายโอนอำนาจในครั้งนี้ไม่มีวันเป็นไปอย่างราบรื่น และโดยสันติแน่นอนแล้ว

โดนัลด์ ทรัมป์ เลือกที่จะเป็นประธานาธิบดีคนแรกในยุคใหม่ของสหรัฐอเมริกา ที่ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง ปฏิเสธที่จะให้มีการถ่ายโอนอำนาจโดยสันติตามขนบประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมานานหลายสิบปี

เลือกที่จะโจมตีสถาบันทางการเมืองและระบบการเลือกตั้งของประเทศอย่างคลุมเครือและไร้หลักฐานรองรับ ก่อให้เกิดแรงกดดันทั้งต่อแนวคิดประชาธิปไตยและความเป็นประชาธิปไตยของชาติอย่างเอกอุ

Advertisement

การปรากฏตัว โบกไม้โบกมือต้อนรับบรรดาผู้ชุมนุมประท้วง ในระหว่างที่ขบวนรถเดินทางสู่ทำเนียบของทรัมป์ ไม่ต่างอะไรจากการยั่วยุให้ความแตกแยกที่ดำรงอยู่ยิ่งแตกร้าวมากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ

ทรัมป์เลือกที่จะอยู่ใน “ความเป็นจริงทางเลือก” ทั้งๆ ที่เป็นทางเลือกที่ตรงกันข้ามกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น และพยายามบีบคั้น กดดันให้องคาพยพของรัฐบาลทั้งหมดให้ “เต้นไปตามเพลง” ที่ตนเองเป็นผู้กำหนด แม้ว่าคนเหล่านั้นพากันเบิ่งตาอ้าปากค้าง ชนิดแทบไม่เชื่อสายตาตัวเองว่า ผู้นำของประเทศจะตัดสินใจเช่นนี้

นักสังเกตการณ์ทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาบางคนอุปมาอุปไมยพฤติกรรมของประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในเวลานี้ว่า ไม่ต่างแต่อย่างใดกับเด็กชายที่กำลังสนุกกับการเล่นไม้ขีดไฟอยู่ในปั๊มน้ำมัน!

รอคอยเพียงว่า ถึงเวลาปะเหมาะเคราะห์ร้าย เกิดระเบิดตูมตามครั้งใหญ่ขึ้นมาเมื่อใด โศกนาฏกรรมของประเทศชาติและประชาธิปไตยก็มาถึงเมื่อนั้น

ในยามที่ประเทศชาติกำลังเผชิญอยู่กับวิกฤตการณ์ระดับโลกจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีชาวอเมริกันติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นแต่ละวันถึงกว่า 180,000 คน ผู้นำประเทศอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ กลับหมกมุ่นอยู่กับการควานหาแง่มุมใหม่ๆ ในการยื่นฟ้องร้องต่อศาล และพยายามสรรหาเรื่องราว ไม่ว่าจะมาจากจินตนาการ หรือมาจากทฤษฎีสมคบคิดของกลุ่มขวาสุดโต่งทั้งหลาย เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องคัดง้างผลการเลือกตั้ง

รวมทั้งพยายามใช้อำนาจของประธานาธิบดีเท่าที่มีดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้สามารถอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ในเวลานี้ให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าจะห่างไกลจากความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่สนใจไยดีต่อ “สิ่งที่ควรทำ” ในฐานะประธานาธิบดีแต่อย่างใดทั้งสิ้น

เดวิด นากามูระ แห่งวอชิงตันโพสต์ บอกเอาไว้ในรายงานเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนนี้ ว่าบรรดาเจ้าหน้าที่และคณะทำงานในสภาความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสซี) ยิ่งนับวันยิ่งกระวนกระวาย อึดอัดใจมากขึ้นกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นกับกระบวนการในการถ่ายโอนอำนาจที่ชะงักลงโดยสิ้นเชิง

อดีตที่ปรึกษาของทรัมป์ผู้หนึ่งซึ่งยังคงติดต่ออยู่กับเพื่อนร่วมงานเดิมอย่างสม่ำเสมอ บอกกับวอชิงตันโพสต์ว่า คณะทำงานตระหนักดีว่า ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนต่อไปคือ นายโจ ไบเดน แต่ “ไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงออกด้วยการกระทำประหนึ่งว่าสิ่งดังกล่าวกำลังจะเกิดขึ้น”

ในเวลาเดียวกับที่พยายามหาหนทางยับยั้งไม่ให้มีการบรรยายสรุปสถานการณ์ด้านความมั่นคงรายวันให้กับว่าที่ประธานาธิบดีไบเดน ทรัมป์เองกลับไม่ไยดีที่จะรับฟังข้อมูลด้านความมั่นคงทั้งหลายของประเทศ เจ้าหน้าที่รายเดียวกันบอกว่า การร้องขอรายงานสรุปในเรื่องหนึ่งเรื่องใด หรือแม้แต่จะมีคำสั่งให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อเอ็นเอสซีของทรัมป์ ก็เหือดหายไปด้วยเช่นเดียวกัน

เล่นเอาบรรดาคณะทำงานที่ต้องทำหน้าที่บรรยายสรุปรายงานด้านความมั่นคงให้กับโจ ไบเดน กับคามาลา ดี. แฮร์ริส ว่าที่ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ไม่เพียงอึดอัดมากขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น ยังผิดหวัง คับข้องใจมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

วอชิงตันโพสต์ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุทหารอเมริกัน 6 นาย ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่กับกองกำลังรักษาสันติภาพในไซนาย ประเทศอียิปต์ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน มีแต่ว่าที่ประธานาธิบดีไบเดนเท่านั้นที่ทวีตแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต

ส่วนทวิตเตอร์ของทรัมป์ยังเต็มไปด้วยข้อกล่าวหาผิดๆ ไร้หลักฐาน และการรีทวีตทฤษฎีสมคบคิดที่เลื่อนลอย ไม่เป็นจริงทั้งหลายเกี่ยวกับการ “ถูกโกง” การเลือกตั้งเท่านั้น

หมดจากเรื่องออกมากล่าวหาว่าถูกโกงแล้ว ก็เป็นเรื่องของการไล่ล่าบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งหลายที่แสดงท่าที “ไม่จงรักภักดีมากพอ” พ้นจากตำแหน่ง

ทรัมป์กำลังวางแผนเตรียมการทำอะไรกันแน่?

วอชิงตันโพสต์รายงานเอาไว้ด้วยว่า แม้แต่คนในแวดล้อมของทรัมป์เองก็บอกกับผู้สื่อข่าวเป็นการส่วนตัวว่า “ท่านประธานาธิบดี” ของพวกเขาไม่ได้มียุทธศาสตร์เฉียบแหลมยิ่งใหญ่ใดๆ ทั้งสิ้น ในอันที่จะทำให้สามารถพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นฝ่ายได้ชัยชนะเหนือโจ ไบเดน ได้

สิ่งที่ทรัมป์ทำอยู่นับตั้งแต่วันเลือกตั้งจนกระทั่งถึงในเวลานี้ก็คือ การพูดถึงการกลับมาลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีใหม่อีกครั้งในปี 2024 กับการดำเนินความพยายามไล่เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงกลาโหม (เพนตากอน) และกระทรวงเพื่อความมั่นคงภายในมาตุภูมิ (ดีเอชเอส)

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน มาร์ค ที. เอสเปอร์ รัฐมนตรีกลาโหมถูกปลดออกจากตำแหน่ง ต่อด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกหลายราย ก่อนถูกแทนที่ด้วยคนที่ทรัมป์เห็นว่า “ภักดีเพียงพอ” ต่อตนเอง พอถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน ทำเนียบขาวไล่เจ้าหน้าที่ระดับสูงอีก 3 คนพ้นตำแหน่งในกระทรวงดีเอชเอส

บางคนบอกว่า ทรัมป์พยายามปูทางไปสู่การประกาศนโยบายสำคัญในช่วงวันสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง อีกบางคนตีความการกระทำของทรัมป์ว่าเป็นการ “ทำความสะอาดบ้าน” ด้วยการแต่งตั้งคนของตนเข้าทำหน้าที่สำคัญๆ

เป้าหมายไม่น่าจะมีอะไรมากไปกว่าการทำให้การปกครองของโจ ไบเดน ลำบากยากเย็นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

จูเลียน เซลิเซอร์ คอลัมนิสต์ ของซีเอ็นเอ็น ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า โดยมารยาทแล้ว ประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งหลังพ่ายแพ้การเลือกตั้ง หรือในวาระสุดท้าย มักไม่ดำเนินการเชิงนโยบายใดๆ ที่จะส่งผลผูกพันถึงรัฐบาลชุดต่อไป

กระนั้นก็ยังมีประธานาธิบดีอีกไม่น้อยที่ตัดสินใจใช้เวลาที่เหลืออยู่ 2 เดือนเศษนี้ผลักดันนโยบายสำคัญของตนจนเป็นผลสำเร็จ ทิ้งเอาไว้เป็นมรดกแก่คนในชาติ

ในปี 1980 ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ก็ใช้เวลาช่วงที่เหลือนี้เจรจาต่อรองจนสามารถยุติวิกฤตการณ์การจับตัวประกันอเมริกันในอิหร่านได้เป็นผลสำเร็จ และลงนามในรัฐบัญญัติว่าด้วยการอนุรักษ์ผืนดินที่เป็นผลประโยชน์แห่งชาติในอลาสกา จนทำให้ผืนป่ามหาศาลตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้

ในเดือนธันวาคม ปี 1992 ประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ซีเนียร์ ก็ดำเนินการจนการเจรจาทำความตกลง “สตาร์ต 2” สนธิสัญญาลดอาวุธนิวเคลียร์กับรัสเซียได้เป็นผลสำเร็จ ในขณะที่เตรียมความพร้อมส่งมอบอำนาจต่อให้กับประธานาธิบดีบิล คลินตัน

ทรัมป์เองก็สามารถเลือกที่จะทำแบบเดียวกันนั้นได้ อาทิ ผลักดันร่างความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจต่อผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด แต่เลือกที่จะไม่ทำ!

เลือกที่จะยุยงส่งเสริมความแตกแยก แทนที่จะเรียกร้องความเป็นเอกภาพให้กับทั้งประเทศ

ซีเอ็นเอ็นเชื่อว่า ในช่วงวาระสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง โดนัลด์ ทรัมป์ อาจทำในสิ่งที่หลายคนไม่คิดว่าประธานาธิบดีจะทำได้ เพราะไม่เคยมีประธานาธิบดีคนไหนลองทำ นั่นคือ การมีคำสั่ง “อภัยโทษ” ให้กับตนเอง และคนสนิททั้งหลาย

เหตุผลของซีเอ็นเอ็นก็คือ มีคนสนิทที่ชิดเชื้ออยู่กับทรัมป์เป็นจำนวนมากที่ถูกศาลพิพากษาแล้วว่ากระทำผิดทางอาญาจริง

ทรัมป์ไม่เพียงแต่จะใช้อำนาจที่มีอยู่ให้อภัยโทษคนเหล่านั้น แต่ยังอาจใช้เพื่ออภัยโทษให้กับตนเอง ถึงกับมีผู้เชี่ยวชาญบางคนระบุว่า ถึงที่สุดแล้ว ทรัมป์อาจตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี เพื่อทำให้ ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดี ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

เพื่อจุดประสงค์เดียวคือให้ ไมค์ เพนซ์ ใช้อำนาจประธานาธิบดีอภัยโทษให้กับทรัมป์ เลียนแบบเมื่อครั้งประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด ที่ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งเพราะการลาออกของ ริชาร์ด นิกสัน จากคดีวอเตอร์เกต แล้วใช้อำนาจประธานาธิบดีอภัยโทษให้กับนิกสันในที่สุด

ซึ่งหากเป็นจริง คงไม่มีใครประหลาดใจมากมายนัก แต่คงมีหลายคนที่เสียดายกับเส้นทางที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมที่ทรัมป์เลือก

เป็นโศกนาฏกรรมทั้งต่อทรัมป์ และต่อประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกาทั้งประเทศเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image