คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : มีอะไรใน”วัคซีนโควิด”?

ภาพ รอยเตอร์

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : มีอะไรใน”วัคซีนโควิด”?

วัคซีนโควิดที่ว่านี้คือ วัคซีนสูตรของ ไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค ที่มีชื่อรหัสว่า “บีทีเอ็น162” และอาจจะมีชื่อทางการค้าใหม่ในเร็วๆ นี้ หลังจากที่ สำนักงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และเฮลธ์แคร์ (เอ็มเอชอาร์เอ) ของประเทศอังกฤษ อนุมัติให้ขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ใช้ได้เป็นการทั่วไปเป็นประเทศแรก

บาห์เรน เป็นชาติที่สองที่อนุมัติให้ใช้วัคซีน บีทีเอ็น162 เป็นการทั่วไปได้ ต่อด้วย แคนาดา และ ที่เพิ่งให้ความเห็นชอบใช้เป็นกรณี “ฉุกเฉิน” ล่าสุดก็คือ มติของคณะกรรมการอาหารและยา (เอฟดีเอ) ของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา

การเป็นประเทศแรกๆ ที่มีวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นเรื่องดีแน่ โดยเฉพาะในแง่ของขวัญกำลังใจคนในชาติ ที่กำลังเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่เล่นงานหลายชาติในยุโรปสาหัส

แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องถูกจับตามองจากชาติอื่นๆ ทั่วโลก เป็นเสมือนหนึ่งหนูทดลองให้กับอีกหลายต่อหลายประเทศ ในแง่ของผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวัคซีนที่ใช้เป็นวัคซีนที่ใช้เทคนิคใหม่ในการผลิต

Advertisement

ในอดีตที่ผ่านๆ มา โลกไม่เคยใช้วัคซีนชนิด เอ็มอาร์เอ็นเอ หรือ โมดิฟายด์ แมสเซนเจอร์ อาร์เอ็นเอ เหมือนที่ใช้ผลิตวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค รวมทั้งของ โมเดอร์นา มาก่อน

ไม่มีใครแน่ใจว่า วัคซีนใหม่ ที่ผลิตด้วยกระบวนการใหม่เอี่ยมเช่นนี้ จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาอย่างไรกับร่างกายของผู้ได้รับวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะยาว

ยิ่งเกิดกรณี บุคลากรสาธารณสุขของอังกฤษ 2 ราย ที่ได้รับวัคซีน บีทีเอ็น162 ล็อตแรกไป เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง (แอนนาฟิแลกซิส-Anaphylaxis) ขึ้น จนเป็นเหตุให้ เอ็มเอชอาร์เอ ต้องประกาศปรับเปลี่ยนคำแนะนำในการแจกจ่ายวัคซีนเสียใหม่ภายในชั่วข้ามคืน

เตือนว่า ผู้ใดที่รู้ตัวว่าตนเองมีประวัติว่าเกิดอาการแพ้ใดๆ ติดตัวอยู่ ไม่ควรเข้ารับการฉีดวัคซีน บีทีเอ็น162 นี้

แอนนาฟิแลกซิส เกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อวัคซีนเฉียบพลันและมากจนเกินไป แพทย์และผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อาการแพ้รุนแรงนี้บางครั้ง บางกรณีหนักมากจนคุกคามถึงชีวิตได้
ด้วยเหตุนี้ อังกฤษจึงยิ่งถูกจับตามองมากยิ่งขึ้นจากทั่วโลก ด้วยความคาดหวังว่า ทางการอังกฤษพร้อมที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
เพื่อเป็นบทเรียนที่เป็นคุณูปการของทั้งโลกต่อไป

วิลเลียม แชฟฟ์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญโรคติดต่อประจำศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ ในเมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา ตั้งข้อสังเกตุไว้ว่า ด้วยการเป็นผู้เริ่มใช้เป็นประเทศแรก เอ็มเอชอาร์เอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอังกฤษ จึงระมัดระวังกับการแจกจ่ายและฉีดวัคซีนไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค ครั้งนี้เป็นพิเศษ

ยิ่งเป็นวัคซีนใหม่ สร้างด้วยเทคโนโลยีใหม่ ยิ่งต้องระมัดระวังสูงมาก เมื่อเกิดการแพ้วัคซีนขึ้นมา ก็เป็นเหตุให้ต้องสอบสวนกันอย่างจริงจังและถี่ถ้วน
แชฟฟ์เนอร์ เชื่อว่า ทั้งสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ที่เหลือของโลกจะได้รับประโยชน์จากการสอบสวนของเอ็มเออาร์เอ ดังกล่าวนี้

เพื่อให้ได้ประโยชน์ ต้องติดตามข้อมูลของสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างใกลิชิด สตีเฟน ฮาห์น หนึ่งในคณะกรรมการเอฟดีเอ ของสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่าทางเอฟดีเอ ถึงกับเข้าไป “ทำงานร่วมกัน” กับทางเอ็มเอชอาร์เอ เพื่อการนี้

เอ็มเอชอาร์เอ นั้นให้ข้อมูลเบื้องต้นไว้ว่า อาการแพ้วัคซีนรุนแรง หรือ แอนนาฟิแลกซิส นั้น เป็นที่รู้จักกันดี และแม้ว่าพบได้ยาก แต่ก็เป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้กับวัคซีนทุกชนิดทุกโรคได้

ที่สำคัญก็คือ คนส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดอาการแพ้รุนแรงนี้ แต่เกิดขึ้นกับคนจำนวนน้อยมาก ในขณะที่ประโยชน์จากการป้องกันโรคโควิด-19 มีน้ำหนักมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

ฐานข้อมูลสำหรับแพทย์ทั่วไปในฝรั่งเศส ประมาณการเอาไว้ว่า แอนนาฟิแลกซิส สามารถเกิดขึ้นได้กับวัคซีนในอัตราส่วนราวๆ 1 ครั้งต่อวัคซีน 100,000 โดส

แต่ในขณะเดียวกัน ก็ย้ำเอาไว้ด้วยว่า อาการแพ้รุนแรงนี้ “อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้” และ “เกิดขึ้นกับวัคซีนใดๆ ก็ได้”

พอล เทอร์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา ของ อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ซึ่งทำหน้าที่เป็นหนึ่งในที่ปรึกษาของ เอ็มเอชอาร์เอ ยืนยันว่าอาการแพ้ที่เกิดขึ้นกับผู้ได้รับวัคซีน 2 รายในอังกฤษนั้น “ไม่น่าจะเกิดจากการแพ้อาหาร” แต่น่าจะเกิดจาก “ส่วนประกอบ” ส่วนหนึ่งส่วนใดในวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค ที่เพิ่งได้รับ

คำถามก็คือ ในวัคซีนมีอะไรเป็นส่วนประกอบ ถึงได้ก่อให้เกิดอาการ “แพ้” ชนิดรุนแรงและมีนัยสำคัญได้ถึงขนาดนั้น?

“อาการแพ้วัคซีน” ไม่ได้เป็นปัญหาเดียวของวัคซีน บีทีเอ็น162 ของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค

ปัญหาที่หนักหนาสาหัสและบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของวัคซีนนี้ไปในความคิดเห็นของหลายคน ที่ต้องเป็น ผู้รับวัคซีน ก็คือ “ข่าวลือ” และ การเผยแพร่ “ข้อมูลผิดๆ” ของวัคซีนตัวนี้และตัวอื่นๆ ทั้งหลาย

ข่าวลือประเภท “เฟคนิวส์” ซึ่งเกิดจากบรรดาเจ้าทฤษฎีสมคบคิดทั้งหลาย บางครั้งไปไกลถึงขนาดที่ว่า ภายในวัคซีนโควิดทั้งหลายนั้น บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ ยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยี ที่เป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญในการผลักดันวัคซีนโควิดสำหรับคนทั่วโลก แอบใส่ “ไมโครชิปส์ติดตามตัว” เข้าไปในวัคซีนทุกๆ เข็ม

หรือบางกรณีก็ให้ข้อมูลผิดๆ กันไปว่า ภายในวัคซีนแต่ละเข็ม มีสารเอนไซม์ชื่อ “ลูซิเฟอเรส” หรือ “ลักซ์” ผสมอยู่

ลูซิเฟอเรส เป็นเอนไซม์ชนิดหนึ่ง ซึ่งก่อให้กิดสารเรืองแสงสีเขียวแกมน้ำเงิน (ตัวอย่างที่เราเห็นได้ในธรรมชาติคือสารเคมีเรืองแสงในตัวหิ่งห้อย) ขึ้นมา แต่เจ้ากรมข่าวลือทั้งหลายกลับนำเอาชื่อสารนี้ไปเชื่อมโยงกับ “ลูซิเฟอร์” ทูตสวรรค์ที่พระเจ้าขับไล่ลงมาเพราะพฤติกรรมชั่วร้าย

การเปิดเผยส่วนประกอบของ “บีทีเอ็น162” ต่อสาธารณชนทั่วไปออกมาอย่างเป็นทางการจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างช่วยไม่ได้

เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความเชื่อมั่นและทำลายความน่าเชื่อถือของ ข่าวลือและข่าวลวงทั้งหลายไปพร้อมกันในตัว

นิตยสาร เทคโนโลยีรีวิว ของ สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเสตต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา นำเอาส่วนประกอบของ บีทีเอ็น162 ซึ่งทาง เอฟดีเอ เปิดเผยออกมา มาเผยแพร่ต่อคนทั่วไปผ่านนิตยสารดังกล่าวไว้ ดังนี้

Active Ingredient
nucleoside-modified messenger RNA (modRNA) encoding the viral spike glycoprotein (S) of SARS-CoV-2
Lipids
(4-hydroxybutyl)azanediyl)bis(hexane-6,1-diyl)bis (ALC-3015)
(2- hexyldecanoate),2-[(polyethylene glycol)-2000]-N,N-ditetradecylacetamide (ALC-0159)
1,2-distearoyl-snglycero-3-phosphocholine (DPSC)
cholesterol
Salts
potassium chloride
monobasic potassium phosphate
sodium chloride
basic sodium phosphate dihydrate
Other
sucrose

อ่านไม่ออก หรืออ่านออกก็ไม่เข้าใจ ไม่เป็นไร มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนอธิบายองค์ประกอบไว้ให้เสร็จสรรพอีกด้วย

ส่วนประกอบแรกสุดของวัคซีน บีทีเอ็น162 ก็คือ เอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลพันธุกรรมของไวรัสก่อโรคโควิด-19 และถือเป็นวัคซีนตัวแรกที่มีข้อมูลพันธุกรรมส่วนหนึ่งของไวรัสจริงๆ บรรจุอยู่ภายใน
เอ็มอาร์เอ็นเอ เป็น “ชนิด” ของโมเลกุล ที่ทำหน้าที่ส่งผ่าน “สำเนาพันธุกรรม” ไปทั่วทั้งเซลล์ สำหรับเป็นแนวทางให้เซลล์สร้างโปรตีนขึ้น
ตัวโมเลกุลนี้บอบบางและละเอียดอ่อนมาก จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมวัคซีนของไฟเซอร์ถึงต้องเก็บไว้ในอุณหภูมิราว -70 องศาเซลเซียสจนกระทั่งถึงตอนใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อแขน

ส่วนของอาร์เอ็นเอที่นำเอามาจากไวรัสจริงๆ ก็คือส่วนที่สั่งการให้เซลล์สร้าง “สไปค์โปรตีน” หรือโปรตีนรูปตุ่มหรือหนาม ที่เป็นลักษณะเด่นของไวรัสก่อโรคโควิด-19 (สำหรับใช้เกาะจับกับเซลล์ในร่างกายมนุษย์) เมื่อแยกส่วนมาใช้เฉพาะ โดยไม่มีส่วนอื่นของไวรัสประกอบด้วยนั้น อาร์เอ็นเอที่บรรจุไว้ในวัคซีนไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ขึ้นกับร่างกาย แต่ร่างกายของคนเราก็ยังเกิดปฏิกิริยาขึ้นกับมัน ซึ่งส่งผลให้ผู้รับวัคซีนมี “ภูมิคุ้มกัน” นั่นเอง

เอ็มอาร์เอ็นเอในวัคซีนนั้น ไม่มีลักษณะใดๆ เหมือนกับพันธุกรรมในตัวมนุษย์ ซึ่งเป็นข้อดี เพราะร่างกายเราจะถือมันเป็นสิ่งแปลกปลอม และทำลายมันทิ้งไป

เพื่อป้องกันไม่ให้ เอ็มอาร์เอ็นเอ ของไวรัสถูกภูมิคุ้มกันในร่างกายทำลาย ทางไฟเซอร์จำเป็นต้อง “โมดิฟายด์” มันเล็กน้อย ทั้งยังมีการปรับปรุง “บางส่วนของพันธุกรรม” อีกนิดหน่อยเพื่อให้ได้ผลดีมากขึ้น

โมดิฟายด์ อย่างไร และ ปรับแต่งพันธุกรรมส่วนไหน เป็นข้อมูลลับเชิงพาณิชย์ในสูตรวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคครับ

ส่วนผสมถัดมาในวัคซีนของไฟเซอร์ และในวัคซีนของโมเดอร์นา ซึ่งใช้เทคโนโลยีเดียวกันในการผลิต คือ “ลิปิด” (lipids) ที่อยู่ในรูปของ “อนุภาคระดับนาโน” รูปทรงกลมเป็นมันวาว ทำหน้าที่ปกป้อง เอ็มอาร์เอ็นเอ และช่วยหล่อลื่นเมื่อมันไหลเข้าไปในเซลล์ของร่างกาย

อนุภาคลิปิด ที่ว่านี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 100 นาโนเมตร (เท่ากับ 0.00001 เซนติเมตร) ซึ่งเป็นขนาดเดียวกันกับขนาดของไวรัสก่อโรคโควิด-19 นั่นเอง

บีทีเอ็น162 มีลิปิดผสมอยู่ 4 ชนิด ในอัตราส่วนจำเพาะ (ซึ่งเป็นความลับอีกเช่นกัน) คือ ลิปิด ALC-0315, ALC-0159, DPSC และ คลอเรสเตอรอล ที่จำเป็นต้องมีลิปิดผสมอยู่ในวัคซีนก็เพื่อให้มันสามารถจับเกาะอยู่กับเอ็มอาร์เอ็นเอได้ เนื่องจากลิปิดมีประจุไฟฟ้าเป็นบวก ในขณะที่เอ็มอาร์เอ็นเอมีประจุไฟฟ้าเป็นลบนั่นเอง

ส่วนประกอบถัดมาคือ เกลือ (Salt) อีก 4 ชนิด ที่ทางการแพทย์เรียกรวมๆ กันว่า ฟอสเฟต-บัฟเฟอร์ ซาไลน์ หรือ “พีบีเอส” ทำหน้าที่ทำให้ส่วนผสมทั้งหมดมีค่าความเป็นกรด (ค่าพีเอช) คงที่ในระดับใกล้เคียงกับภายในร่างกายคน

ส่วนประกอบสุดท้าย คือ น้ำตาลซูโครส ซึ่งจะทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ส่วนผสมกลายเป็นผลึกน้ำแข็งและไม่ให้ส่วนผสมจับกันเป็นก้อน

เมื่อนำมาฉีด วัคซีนจะถูกละลายในน้ำเกลือก่อนจึงฉีดเข้าสู่กล้ามเนื้อแขน เช่นเดียวกับยาฉีดทั่วไป โดยไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค ระบุว่า วัคซีนตัวนี้ไม่มีส่วนผสมของสารกันเสีย thimerosal เหมือนเช่นที่ใช้ผสมในวัคซีนทั่้วไปที่ผ่านมา แม้ว่า เอฟดีเอ จะยืนยันว่า ไทเมอโรซัล เป็นสารที่ปลอดภัยก็ตามที

ไม่มีสารกันบูด ไม่มีไมโครชิป และไม่มีลูซิเฟอเรส ในวัคซีนโควิดแน่นอน!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image