คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : 10 ปี’อาหรับสปริง’ สำเร็จหรือล้มเหลว?

AFP

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : 10 ปี’อาหรับสปริง’ สำเร็จหรือล้มเหลว?

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2010 โมฮัมเหม็ด บูอัซซิซี พ่อค้าผลไม้เร่ที่เมือง ซิดี บูซิด ในประเทศตูนิเซีย ประท้วงการจับกุมและยึดแผงลอยของตนไป พร้อมทั้งปฏิเสธไม่ให้พบกับผู้ว่าการเมืองซิดี บูซิด ด้วยการใช้น้ำมันหนึ่งขวด ราดตัวเองแล้วจุดไฟ

บาดแผลไฟไหม้ลามไปทั่วร่างกายไม่ได้ทำให้เสียชีวิตในทันที บูอัซซิซี เสียชีวิตในอีกสองสัปดาห์ต่อมา

ระหว่างสองสัปดาห์ที่พ่อค้าผลไม้หนุ่มนอนรอความตายอยู่บนเตียงพยาบาล การชุมนุมประท้วงก่อหวอดขึ้นและลุกลามไปทั่วกรุงตูนิส เมืองหลวงของตูนิเซีย เรียกร้องการปฏิรูปทางการเมืองและยุติระบอบการปกครองเผด็จการฉ้อฉล ที่ทำให้ประธานาธิบดี ไซนี เอล-อบิดีน เบน อาลี ครองอำนาจสูงสุดอยู่ต่อเนื่องมานานถึง 24 ปี

พลังแสวงหาการเปลี่ยนแปลงมหาศาล ท่วมท้นเสียจน เบน อาลี จำเป็นต้องยอมรับความเป็นจริง วางมือลงจากอำนาจ และหลบหนีออกไปยังซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2011

Advertisement

หลายคนเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตูนิเซียว่า “ปฏิวัติดอกมะลิ” มะลิที่หอมหวนทวนลม กระจายหอมออกไปทั่วทั้งโลกอาหรับในเวลาต่อมา

ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้น และเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันเช่นนั้น ระบอบ เบน อาลี ไม่น่าล่มสลายเร็วขนาดนั้น เช่นเดียวกับเผด็จการอำนาจนิยมอย่าง ฮอสนี มูบารัก ในอียิปต์, โมอัมมาร์ กาดาฟี ในลิเบีย เรื่อยไปจนถึง อาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ แห่งเยเมน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกอาหรับเมื่อปลายปี 2010 ต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2011 พิเศษพิสดาร ทรงพลัง และเกินความคาดหมายอย่างแท้จริง…อย่างน้อยที่สุดก็ในสายตาของนักสังเกตการณ์ภายนอก

Advertisement

ผู้สื่อข่าวและนักวิเคราะห์สถานการณ์ในโลกอาหรับ เริ่มต้นเรียกขานปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “อาหรับสปริง” ใช้ภาษากวีเพื่ออุปมาอุปมัยสถานการณ์น่าตกตะลึงที่เกิดขึ้นจริงๆ เพื่อสะท้อนถึงความไม่แน่นอนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงแรกเริ่มดังกล่าวนั้นจะนำพาโลกอาหรับไปสู่สิ่งใด สถานการณ์ไหน

10 ปีผ่านไป อาหรับสปริงในโลกอาหรับ กลายเป็นฤดูหนาวที่หนาวเหน็บและยาวนานอีกครั้ง

แต่นั่นอาจเป็นการด่วนสรุปมากเกินไป หากคำนึงถึงว่า “ปรากสปริง” การลุกฮือขึ้นที่กรุงปราก ก็ถูกทางการบดขยี้อย่างปราศจากปรานีปราศรัย กระนั้น ชาวเช็ก และ สโลวัก ก็โยนเผด็จการคอมมิวนิสต์ทิ้งไปได้สำเร็จใน 2 ทศวรรษให้หลัง

อาหรับสปริง อาจเป็นไปในทำนองเดียวกัน หรืออาจไม่เป็นเช่นนั้นเลยก็เป็นได้เช่นกัน!

ตะวันออกกลางทุกวันนี้ แตกต่างกันเหลือหลายกับสภาพแวดล้อมเมื่อครั้งที่กดดันให้ บูอัซซิซี จำต้องเลือกหนทางทำลายตัวเองเป็นเครื่องแสดงออกถึงความคับแค้นและไม่เห็นด้วย

การลุกฮือของประชาชนในครั้งนั้น ได้เปลี่ยนแปลงบริบททางการเมืองในภูมิภาคไปมากมายไม่ใช่น้อย ตั้งแต่การแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ในมือเพียงไหน ศูนย์กลางแห่งอำนาจทั้งปวงก็ใช่ว่าจะปราศจากจุดเปราะบาง

ในขณะเดียวกับที่การลุกฮือของนักศึกษาประชาชนเหล่านั้นก็กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญยิ่งให้ทุกคนสามารถวาดหวังถึงอนาคตที่ดีกว่าได้ กลายเป็นแบบอย่างของการเลือกใช้องค์ประกอบและปัจจัยหลากหลายในการท้าทายต่ออำนาจรัฐครั้งใหม่

ในทันทีที่สภาวะแวดล้อมที่โอบล้อมอยู่โดยรอบศูนย์กลางแห่งอำนาจก่อให้เกิด “โอกาส” ครั้งใหม่ขึ้น

กระนั้น ในห้วงเวลาเดียวกับ อำนาจรัฐทั้งหลายในตะวันออกกลางและโลกอาหรับเองก็เปลี่ยนโฉมไปไม่น้อย

สำหรับอำนาจรัฐ เหตุการณ์เมื่อ 10 ปีก่อน ไม่ใช่เหตุปกติที่ควรบังเกิดขึ้นตามธรรมชาติสภาวะของสังคม แต่เป็น “ภาวะเบี่ยงเบน” ที่เกิดขึ้นชั่วครั้งคราว บิดเบือนสภาพตามธรรมชาติที่ควรดำเนินไปอย่างราบรื่นเท่านั้นเอง

ดังนั้น เป็นธรรมดาอยู่เองที่ศูนย์กลางแห่งอำนาจเหล่านี้จะไม่ยินยอมอนุญาตให้มีพื้นที่ หรือช่องว่างใดๆ ไม่ว่าจะในโลกแห่งความเป็นจริงหรือในโลกเสมือนจริง ที่จะสามารถกลายร่างเป็นจุดเริ่มต้นของการคัดค้าน การแสดงทรรศนะไม่ลงรอยและกระตุ้นให้เกิดการลุกฮือขึ้นอีกครั้ง

ไม่มี เฟซบุ๊กแฟนเพจใดๆ ที่สามารถถูกเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นเครื่องมือในการระดมมวลชนเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อีกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอียิปต์ ที่หน่วยงานความมั่นคงได้รับบทเรียนอย่างเหลือหลายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ทุกวันนี้ นักเคลื่อนไหว ผู้ซึ่งไม่ได้คิดฝันไปไกลถึงขั้นก่อให้เกิดการปฏิวัติขึ้นในสังคม เพียงจินตนาการถึงสังคมที่เปิดกว้าง และเป็นธรรมเท่านั้น ก็มีโอกาสกลายเป็นผู้ร้าย เป็นปฏิปักษ์ต่อสังคมและสามารถตกเป็นผู้ต้องหา ถูกจับกุมได้แทบร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม

นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไม ในสายตาของนักสังเกตการณ์ภายนอกบางคน อาหรับสปริง ตายแล้ว!

หลายคนเริ่มตั้งคำถาม อาหรับสปริง คือการปฏิวัติที่แท้จริงหรือ? หรือเป็นเพียงเหตุการณ์ที่ “คลับคล้าย” กับการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น?

ประชาชนลุกฮือขึ้น ผู้นำประเทศถูกโค่นล้ม…แต่เนื้อหาการปฏิวัติโดยแท้นั้นซับซ้อนยิ่งกว่านั้นมากนัก การปฏิวัติไม่เพียงต้องทำลายระบบการเมืองดั้งเดิมลงไปเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องมีพลังหนุนเสริมเพื่อรังสรรค์ระเบียบในสังคมใหม่ขึ้นมาอีกด้วย

ตัวอย่างของการปฏิวัติที่แท้จริง มีให้เห็นในอิหร่าน ในปี 1979 ภายใต้การปฏิวัติอิสลามของ อยาดอลเลาะห์ รูฮัลเลาะห์ โคไมนี

แต่ไม่ใช่ในหลายประเทศในโลกอาหรับระหว่างปี 2010-2011 แน่นอน

ตูนิเซีย ประเทศที่ริเริ่มและได้ประโยชน์จากการลุกฮือขึ้นของประชาชนเมื่อ 10 ปีก่อนมากที่สุด มากกว่าอาหรับอีกหลายประเทศ ยังคงตกอยู่ในระหว่างช่วงของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพียงแต่ไม่ได้เกิดจากผลกระทบจากการลุกฮือโดยตรง แต่เกิดจากการเจรจาต่อรองซ้ำแล้วซ้ำอีกในหมู่ผู้นำ เพียงเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสถานการณ์วิกฤตขึ้น หรือเพียงเพื่อให้สามารถก้าวไปข้างหน้าต่อไปจากภาวะวิกฤตได้ เท่านั้น

เห็นได้จากการที่วัฒนธรรมทางการเมืองในตูนิเซียไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และแม้แต่ระเบียบทางสังคมที่ช่วยให้ เบน อาลี อยู่ในอำนาจได้ยาวนานก็ยังคงอยู่ เหมือนเช่นที่ผ่านมา

ในอียิปต์ การลุกฮือขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2011 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของผู้นำเผด็จการทหารอย่าง ฮอสนี มูบารัก ในอีก 18 วันต่อมา แทนที่จะกลายเป็น “การปฏิวัติ” ที่แท้จริง กลับกลายเป็นการ “รัฐประหาร” ที่ทำให้เกิดเผด็จการทหารคนใหม่อย่าง นายพล อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี ในเดือนกรกฎาคม 2013

รัฐประหารของนายพลอัล-ซิซี ไม่ได้เกิดขึ้นในอีกหลายปีให้หลัง แต่เริ่มต้นในทันทีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2011 ด้วยการยึดอำนาจของ จอมพล โมฮัมหมัด ฮุสเซน ทันทาวี ที่กระทำในนามของ สภากองทัพสูงสุดแห่งอียิปต์ ที่เข้ายึดอำนาจการปกครองเพื่อ “ความสงบและความมั่นคง” ของชาติ

สิ่งที่ “อาหรับสปริง” ก่อให้เกิดขึ้นในอียิปต์ เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนตัวผู้นำ

แต่องคาพยพของระเบียบทางการเมืองและการปกครองของประเทศ ยังคงอยู่เช่นเดิมทุกประการ

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ ประเทศหนึ่งซึ่งสถานการณ์เข้าใกล้กับการปฏิวัติทางการเมืองมากที่สุด ในทุกวันนี้กลับกลายสภาพเป็นโกลาหล อลหม่านและไร้ทางออกมากที่สุด

นั่นคือประเทศอย่าง ลิเบีย!

เมื่อ กาดาฟี สิ้นชีวิตและหมดอำนาจลงโดยสิ้นเชิงนั้น บรรดาแกนนำทางการเมืองระดับสูงในลิเบีย พยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อรังสรรค์แนวทางที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่าง “เป็นประชาธิปไตย” และเต็มไปด้วย “สันติภาพ” ให้ได้

ปัญหาก็คือ ระบบระเบียบทางสังคมของลิเบีย ไม่เพียงไม่เอื้อให้เกิดแนวทางดังกล่าวขึ้น ยังทำให้การสนับสนุนกะพร่องกะแพร่งและกระจัดกระจาย

สังคมลิเบีย ขึ้นอยู่กับการพึ่งพาแกนนำของ “ชนเผ่า” และ “ภูมิภาค” สูงอย่างยิ่ง แกนนำเหล่านี้มีนัยสำคัญในการกำหนดระเบียบการทางสังคมมาเนิ่นนานตั้งแต่ยุคเผด็จการของกาดาฟี

นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไม ผลประโยชน์ทางการเมืองที่จำกัดแคบของชนเผ่าและแกนนำในระดับภูมิภาคหรือระดับเขตปกครองต่างๆ ถึงได้ก่อให้เกิดความโกลาหลอลหม่าน รบพุ่งซึ่งกันและกันจนกลายเป็นการแบ่งแยกลิเบียในที่สุด

ไม่นานหลังการลุกฮือขึ้นของมวลชนในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2011

ลิเบีย ทุกวันนี้ ขึ้นอยู่กับกองกำลังติดอาวุธสารพัดกลุ่ม, รัฐบาลแห่งชาติ 2 รัฐบาล, กลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งต่างๆ กับสงครามกลางเมืองที่นับวันจะกลายเป็นปัญหาการยึดครองและขยายเขตอำนาจของผู้นำในระดับภูมิภาคไป

ที่ ซีเรีย สถานการณ์การลุกฮือไม่ได้ก้าวไปไกลอย่างลิเบียด้วยซ้ำไป เมื่อ บาชาร์ อัล-อัสซาด ตอบโต้การชุมนุมประท้วงด้วยกระสุนปืนและการทารุณกรรม

10 ปีให้หลัง ซีเรีย ถูกกระชาก ฉีกทึ้ง เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ด้วยความขัดแย้งกับการสู้รบที่ซับซ้อนและอำมหิต

11.5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรของประเทศ ถ้าไม่ถูกสังหารก็บาดเจ็บพิการในช่วงเวลานับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2011 มาจนถึงปัจจุบันนี้

อีกราว 12 ล้านคน หรือราวครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ ถ้าไม่เป็นคนพลัดถิ่นอยู่ในดินแดนบ้านเกิดของตนเองก็กลายเป็นผู้อพยพ พลัดที่นาคาที่อยู่ในต่างแดน

ชาวซีเรียเกือบ 100,000 คนหายไป เป็นตายร้ายดีอย่างไรไม่มีใครรู้ในช่วงเวลาดังกล่าว

ในทุกความขัดแย้ง ต้องมีผู้ชนะ ผู้พ่ายแพ้ และ เหยื่อ อาหรับสปริง ก็เป็นเช่นเดียวกัน

ไม่ว่าจะถูกยึดถือว่า “สำเร็จ” หรือ “ล้มเหลว” ปรากฏการณ์อาหรับสปริง ก็เป็นบทเรียนสำคัญให้ผู้คนในตะวันออกกลางได้เรียนรู้ถึงความแตกต่าง ระหว่างความเป็นผู้นำ กับความเป็น เผด็จการ

ปรากฏการณ์นี้ ช่วยปลดปล่อยความคิดของผู้คนมากมายในภูมิภาคให้เป็นเสรี อย่างน้อยก็ช่วยให้พวกเขาได้เห็นความงดงามของการรวมหมู่ ร่วมกันเรียกร้องหาเสรีภาพ ความเป็นธรรม และอาหารที่อิ่มท้อง หลังจากต้องทนทุกข์งอก่องอขิงอยู่ใต้อำนาจเผด็จการมานานปี

เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้ทั้งโลกรู้ว่า แม้ในโลกอาหรับ ก็พร้อมที่จะโอบรับความเปลี่ยนแปลง

อาจบางทีการตอบโต้ด้วยการกดขี่ หรือการปราบปรามด้วยความรุนแรงอย่างที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สามารถอำนวยประโยชน์ให้กับรัฐเผด็จการได้ก็แค่การประวิงเวลาให้เนิ่นช้าไปอีกเล็กน้อยเท่านั้นเอง

ว่ากันว่า เมื่อดอกไม้เสรีภาพเบ่งบานในใจ ยากนักที่ใครจักลบทำลายได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image