คอลัมน์ ไฮไลต์โลก : ต้นไม้แลกค่ารักษา ปลุกพลังอนุรักษ์ผืนป่า

คอลัมน์ ไฮไลต์โลก : ต้นไม้แลกค่ารักษา ปลุกพลังอนุรักษ์ผืนป่า

ทุกเดือน ฮามิซา หญิงชาวอินโดนีเซีย จะต้องพาแม่ที่มีอายุมากถึง 78 ปีแล้วไปหาหมอที่คลินิก อลัมเซฮัต เลสตารี (เอเอสอาร์ไอ) สถานพยาบาลเล็กๆ ตั้งอยู่ในจังหวัดกาลิมันตันตะวันตกของอินโดนีเซีย ทุกครั้งสิ่งที่เธอจะต้องไม่ลืมหยิบติดมือไปด้วยเสมอนั่นก็คือ ต้นไม้อะไรก็ได้สักต้นหนึ่ง

พ่อของฮามิซาในวัย 82 ปีก็เช่นกัน ทุกครั้งที่เขาแวะไปหาหมอที่คลินิกนี้ตอนเจ็บไข้ได้ป่วย เขาก็จะนำต้นมะม่วงบ้าง ต้นเงาะบ้างที่เป็นต้นอ่อน ติดมือไปด้วยทุกครั้งเหมือนกับคนไข้ทั่วไปทุกคนที่จะมาหาหมอที่คลินิกแห่งนี้เพื่อรับการรักษา ก็จะต้องจ่ายค่ารักษา ค่าหยูกยา เป็นต้นไม้แทน

คลินิกเอเอสอาร์ไอ เป็นสถานพยาบาลที่ไม่ได้มีเงินทุนสนับสนุนมากมายอะไร โดยทำงานร่วมกับองค์กรเฮลธ์ อิน ฮาร์โมนี ในสหรัฐอเมริกา ที่มุ่งให้บริการด้านสาธารณสุขไปพร้อมกับการอนุรักษ์ผืนป่าเอาไว้ โดยเฉพาะพื้นที่อุทยานแห่งชาติกูนังปาลังของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อย่างลิงอุรังอุตัง

คลินิกแห่งนี้เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2550 คอยให้การดูแลรักษาประชาชนในพื้นที่นี้ที่มีประชากรราว 120,000 คน ซึ่งนอกจากต้นอ่อนของต้นไม้ที่ทางคลินิกรับมาจากคนไข้แทนค่ารักษา ค่ายา เพื่อนำไปลงดินปลูกเป็นการขยายผืนป่าต่อไป ซึ่งในแต่ละปีทางคลินิกได้รับต้นไม้มาจากคนไข้รวมกันได้ราว 2-3 หมื่นต้นต่อปีแล้ว ทางคลินิกยังรับงานหัตถกรรมและปุ๋ยคอกแทนค่ารักษาด้วย

Advertisement

โมฮัมเหม็ด ฮามิซา หัวหน้าหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในเขตเซดาฮันจายา บอกว่านอกจากหมู่บ้านของเธอจะได้รับการดูแลรักษายามเจ็บไข้ได้ป่วยจากทางคลินิกแห่งนี้แล้ว ชาวบ้านยังได้ความตระหนักรู้ในคุณค่าความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

ดอกเตอร์คินารี เว็บบ์ ผู้ก่อตั้งคลินิกเอเอสอาร์ไอและองค์กรเฮลธ์ อิน ฮาร์โมนี ซึ่งเดินทางจากสหรัฐอเมริกามายังอุทยานแห่งชาติกูนังปาลังในปี 2536 ขณะยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับลิงอุรังอุตัง จนทำให้เธอได้แรงบันดาลใจและตั้งปณิธานว่าจะทำงานด้านนี้ไปตลอดชีวิต แต่สิ่งที่เธอได้เผชิญเกือบทุกวันในเวลานั้นก็คือเสียงเลื่อยที่ลอบตัดไม้อย่างผิดกฎหมายในพื้นที่ป่า จนทำให้คิดว่าเธอจะศึกษาเรื่องลิงอุรังอุตังได้อย่างไร หากลิงอุรังอุตังเหล่านั้นไม่ได้มีอยู่อีกต่อไป หากไร้ป่าที่เป็นถิ่นอาศัยของพวกมัน ก่อนที่เธอจะล่วงรู้เหตุผลส่วนหนึ่งของการลอบตัดไม้ในป่าว่า เป็นเพราะชาวบ้านนำไม้ที่ลอบตัดได้ก็เพื่อไปขายให้ได้เงินมาเป็นค่ารักษาตัวหรือรักษาคนในครอบครัว

โครงการต้นไม้แลกค่ารักษาจึงเริ่มต้นขึ้น โดยดอกเตอร์เว็บบ์ได้ตั้งกลุ่มทำงานร่วมกับชาวอินโดนีเซีย ทำงานเชิงรุกด้วยการเข้าไปรับฟังปัญหาของคนในชุมชนในพื้นที่ต่างๆ พร้อมกับพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันถึงความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันปกป้องรักษาผืนป่าเอาไว้ ซึ่งชาวบ้านบอกว่าพวกเขาต้องการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขและการได้รับการฝึกอบรมด้านการทำเกษตรอินทรีย์ ดอกเตอร์เว็บบ์และทีมงานจึงเริ่มลงมือช่วยเหลือชาวบ้านสานฝันในเรื่องนี้ในปี 2550

Advertisement

โดยโครงการนี้ได้ดำเนินมาต่อเนื่องนับแต่นั้น ซึ่งรวมถึงการให้บริการของคลินิกเอเอสอาร์ไอเองด้วย ขณะเดียวกันองค์กรเฮลธ์ อิน ฮาร์โมนีเองยังได้ทำโครงการในลักษณะเดียวกันนี้ในประเทศบราซิลและมาดากัสการ์ด้วย

จนถึงขณะนี้องค์กรเฮลธ์ อิน ฮาร์โมนี และคลินิกเอเอสอาร์ไอ ได้ใช้งบประมาณลงทุนในการตั้งคลินิกให้การรักษาและจัดทำโครงการฝึกอบรมไปแล้ว 5.2 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการทำงานภายใต้โครงการนี้ทำให้พวกเขาสามารถช่วยลดอัตราการตายของทารกลงในชุมชนได้ถึง 67 เปอร์เซ็นต์ และยังลดการตัดต้นไม้ของชาวบ้านลงได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image