คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : โควิด-19ในปี2021 สถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง

REUTERS/Kim Kyung-Hoon

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : โควิด-19ในปี2021 สถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง

โลก รวมทั้งประเทศไทย ทำสงครามต่อสู้กับโควิด-19 มา 1 ปีเต็มๆ มีผู้ติดเชื้อไปแล้วอย่างน้อย 84 ล้านคน เสียชีวิตไปมากกว่า 1.8 ล้านคน ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นความน่าสะพรึงกลัวของโรคระบาดนี้ได้เป็นอย่างดี

แล้ววัคซีนก็มาถึง มาถึงในระยะเวลาที่เร็วมากเป็นประวัติการณ์ของวงการแพทย์ทั่วโลก วัคซีน 3 ตัวแรก จากผู้พัฒนา 3 ราย ได้รับอนุมัติให้ใช้ได้โดยเร็ว และถูกเปรียบเสมือน “แสงสว่าง” ที่ปลายอุโมงค์ ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นขึ้นมาว่า โควิด-19 จะถูกพิชิตได้ในที่สุด

คำถามก็คือว่า เวลานั้นเมื่อใดจะมาถึง?

คำถามของบางคนง่ายยิ่งกว่านั้น คือถามว่า ใน 6 เดือนข้างหน้า สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ จะดีขึ้นไหม? เท่านั้นเอง

Advertisement

เรายังต้องหวั่นกลัว ผวา เครียด อึดอัดกับการใช้ชีวิตแบบจำกัดจำเขี่ยอยู่ต่อไปอีกนานเท่าใด?

คำตอบ ณ เวลานี้ ชัดเจนอย่างมากว่า ในเวลานี้ สงครามครั้งใหญ่กับโรคระบาดร้ายแรงนี้จะยังคงดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะมีวัคซีนหรือไม่มีก็ตาม

เรายังจำเป็นต้องปิดบังใบหน้าบางส่วนด้วยหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เรายังจำเป็นต้องรักษาระยะห่าง ยังอาจจำเป็นต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในบ้าน งดหรือละเลิกการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง หลีกเลี่ยงการชุมนุมกับคนหมู่มาก โดยเฉพาะในพื้นที่ปิดต่อไป

Advertisement

อย่างน้อยในอีก 6 เดือนข้างหน้า สถานการณ์โควิดจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากมายนัก

ความนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่ในประเทศไทย แต่ครอบคลุมไปทั่ว แม้แต่ในประเทศที่เริ่มการฉีดวัคซีนป้องกันเป็นลำดับแรกๆ ของโลกแล้วอย่าง อังกฤษ หรือ สหรัฐอเมริกา ก็ตามที

ปี 2021 ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจาก ปี 2020 เท่าใดนักในแง่ของสถานการณ์โควิด-19

ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และระบาดวิทยาหลายคน ยืนยันตรงกันว่า ถึงแม้จะมีการเริ่มฉีดวัคซีนกันไปแล้วในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษ แต่ผลจากการฉีดวัคซีนดังกล่าว จะยังคงไม่สะท้อนออกมาให้เห็นในแง่ปริมาณของผู้ติดเชื้อต่อวันไปอีกระยะหนึ่ง

เหตุผลอย่างหนึ่งอาจเป็นเพราะ ขณะที่เริ่มการกระจายวัคซีนออกไปทั่วประเทศและเริ่มต้นการฉีดนั้น การแพร่ระบาดกำลังพุ่งขึ้นสูงสุด ทำสถิติสูงสุดใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก กลายเป็นแรงเหวี่ยงของการระบาดแบบทวีคูณที่ยากต่อการชะลอ หรือยับยั้ง

นอกจากนั้น ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นกลุ่มแรกสุด ยังเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในระดับแถวหน้าทั้งหลาย อาทิ กลุ่มเจ้าหน้าที่ขับรถพยาบาล หรือกลุ่มเจ้าหน้าที่ตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น

กลุ่มที่สองที่ได้รับวัคซีนในระลอกแรก ก็คือกลุ่มเจ้าหน้าที่และผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านพักคนชรา หรือผู้ป่วยเรื้อรังระยะยาว

คนทั้งสองกลุ่มนี้ จำเป็นต้องได้รับวัคซีนก็จริง แต่เป็นกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในระบบปิด ซึ่งส่งผลต่อภาพรวมภายนอกได้น้อย

ในขณะเดียวกัน นาฮิด พาเดเลีย นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อซึ่งเป็นรองศาสตราจารย์ประจำสำนักการแพทย์มหาวิทยาลัยบอสตัน ยืนยันว่า วัคซีนจะไม่ส่งผลกระทบให้เห็นกระจ่างชัดในแง่ของจำนวนผู้ติดเชื้อในอีกหลายเดือนข้างหน้า จนกว่าบุคคลทั่วไปในสังคม “ในจำนวนที่เป็นสัดส่วนซึ่งมีนัยสำคัญ” จะได้รับวัคซีนด้วย

ที่จะเห็นได้ก่อนก็คือยอดการเสียชีวิต ด้วยเหตุที่ว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ของผู้เสียชีวิตจากโควิดที่สหรัฐอเมริกา มาจากบ้านพักผู้สูงอายุ ดังนั้น เมื่อวัคซีนเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้ในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ คือราว 3 ล้านคน ยอดเสียชีวิตจากโควิดจึงจะลดลงมาให้เห็นได้ชัดเจน

ในขณะที่ยอดติดเชื้อที่บ่งชี้ถึงการแพร่ระบาดในสังคมโดยรวมจะยังดำเนินต่อไป จนกว่าแรงเหวี่ยงของการแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้จะชะลอลงเอง หรือจนกว่าจะฉีดวัคซีนให้กับประชากรได้ในสัดส่วนที่เพียงพอต่อการสร้าง “เฮิร์ด อิมมูนิตี” หรือ “ภูมิคุ้มกันหมู่” ขึ้นได้

ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า นั่นหมายถึงสัดส่วน 70-90 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งหมดต้องได้รับวัคซีนแล้ว

จนถึงขณะนี้ สหรัฐอเมริกาฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปแล้ว 2.8 ล้านคน ยังคงห่างไกลจากระดับที่ว่านั้นมากมายนัก

เมื่อคำนึงถึงว่าประชากรทั้งประเทศของสหรัฐอเมริกามีมากถึง 328 ล้านคน

ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งซึ่งหลายคนไม่ได้คิดถึง นั่นคือ ในบรรดาวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ฉีดแก่ประชาชนทั่วไปได้ทั้ง 3 ตัว คือ วัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค, วัคซีนของ โมเดอร์นา และวัคซีนของ ออกซ์ฟอร์ด-แอสทราเซเนกา นั้น ไม่มีวัคซีนตัวไหนมีประสิทธิภาพ 100 เปอร์เซ็นต์

การประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนจากผลการทดลองเบื้องต้น พบว่าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด มีประสิทธิภาพเพียงแค่ 95 เปอร์เซ็นต์

นั่นหมายความว่า อย่างดีที่สุดแล้ว เมื่อฉีดให้กับคน 100 คน วัคซีนสามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้เพียงแค่ 95 คน

และหมายความด้วยว่า แม้จะฉีดให้กับคนได้มากถึง 300 ล้านคน ก็ยังมีคนอีกมากถึง 15 ล้านคน ที่ไม่สามารถป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ได้

สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ รายงานผลการทดลองในคนในระยะที่ 3 ยังไม่มีการเผยแพร่รายละเอียดออกมาสู่สาธารณะให้ได้รับรู้กันให้ชัดเจนลงไปว่า ภูมิคุ้มกันที่วัคซีนโควิด-19 ก่อให้เกิดขึ้นในร่างกายของผู้ได้รับวัคซีนนั้น สามารถป้องกันการติดเชื้อได้หรือไม่

คำแนะนำจาก ศูนย์เพื่อการป้องกันและควบคุมโรค (ซีดีซี) ต่อบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับฉีดวัคซีนก็คือ “จงสวมหน้ากาก (เอ็น95) และชุดป้องกันการติดเชื้อในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป”

นักวิจัยทั่วโลกยังคงตั้งความหวังว่า จะมีการเผยแพร่ผลการทดลองละเอียดขั้นสุดท้ายออกมาโดยเร็ว เพื่อสร้างความเข้าใจให้กระจ่างชัดกันว่า วัคซีนที่แต่ละคนได้รับไป ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อ หรือป้องกันไม่ให้ผู้ที่ (ฉีดวัคซีนแล้ว) ติดเชื้อ ไม่ล้มป่วยหรือมีอาการหนักถึงแก่ชีวิต

เพราะหากแค่ป้องกันไม่ให้โรคลุกลามในร่างกายได้เพียงอย่างเดียว ผู้ที่ได้รับวัคซีนก็ยังคงสามารถ “แพร่” เชื้อต่อไปได้อยู่นั่นเอง

นอกจากนั้น วัคซีนทั้งหมดที่ได้รับอนุมัติ ยังคงจำกัดกลุ่มอายุของผู้รับวัคซีนอยู่ทั้งหมด กรณีของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค นั้น จำกัดให้ฉีดได้เฉพาะบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป

กรณีของโมเดอร์นา จำกัดให้ฉีดได้เฉพาะบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป

วัคซีนของออกซ์ฟอร์ด-แอสทราเซเนกา ก็ถูกจำกัดด้วยข้อจำกัดนี้เช่นกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นเนื่องจากวัคซีนทุกตัวยังไม่ได้ทดลองหรือสรุปผลการทดลองในกลุ่มอายุต่ำๆ และในเด็กออกมานั่นเอง

นั่นหมายถึงว่าประชากรกลุ่มนี้ ซึ่งมีหลายสิบล้านคนแต่อายุไม่ถึงเกณฑ์ ก็จะไม่มีภูมิคุ้มกันโรคเช่นเดียวกัน

ผลการทำโพลในสหรัฐอเมริกาเมื่อไม่นานมานี้มูลนิธิ เฮนรี เจ. ไกเซอร์ แฟมิลี บ่งบอกให้เห็นว่า ยังคงมีคนอเมริกันอีกกลุ่มมหึมาที่ปฏิเสธที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19

โพลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า สัดส่วนของการปฏิเสธวัคซีนยิ่งสูงขึ้นเมื่อเจาะจงลงไปในบรรดาชนกลุ่มน้อย หรือในพื้นที่ชนบทในสหรัฐอเมริกา

โพลของ เฮนรี เจ. ไกเซอร์ แฟมิลี แสดงให้เห็นว่า คนอเมริกันในวัยผู้ใหญ่สูงถึง 27 เปอร์เซ็นต์ ยังคงลังเลที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน ด้วยสารพัดเหตุผล

ตั้งแต่ไม่เชื่อ ไม่เอาวัคซีน ไปจนถึงความกลัวต่อผลข้างเคียงและปฏิกิริยาในเชิงลบจากวัคซีน และข้ออ้างที่ว่า วัคซีนขัดกับหลักการอะไรบางอย่างที่กลุ่มตนเองยึดถือ

มีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ยอมฉีดวัคซีนเพราะไม่ต้องการเป็นคนแรกที่ทดลอง แต่ต้องการดูว่า คนอื่นๆ โดยเฉพาะผู้คนข้างเคียงรอบตัวที่รู้จักมักคุ้น ฉีดแล้วเป็นอย่างไร เท่านั้นเอง

ข่าวร้ายอีกประการที่ทำให้ “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” ของวัคซีนสลัวลงอย่างเห็นได้ชัด มาถึงไล่เรี่ยกันกับเทศกาลคริสต์มาส นั่นคือ การพบการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 “อย่างมีนัยสำคัญ” ที่อังกฤษหนึ่งสายพันธุ์และที่แอฟริกาใต้อีกหนึ่งสายพันธุ์

ยังดีที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคน รวมทั้ง แองเจลา ราสมุสเซน นักไวรัสวิทยาผู้เชี่ยวชาญโคโรนาไวรัส จากศูนย์เพื่อความมั่นคงและวิทยาศาสตร์สุขภาพโลกของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ สหรัฐอเมริกา บอกเอาไว้ว่า ยังไม่มีเค้าลางส่อให้เห็นว่าโควิด-19 ที่กลายพันธุ์นี้จะต่อต้านต่อวัคซีนที่ได้รับอนุมัติแล้วได้

เธอเสริมด้วยว่า วิธีการป้องกันการแพร่ระบาดทั้งหลายแหล่ที่เราทำมาแล้วก็จะยังได้ผลอยู่ต่อไปในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ใหม่นี้

นั่นคือการระมัดระวังตัวเอง สวมหน้ากาก อยู่กับบ้าน หลีกเลี่ยงที่มีคนหมู่มาก ยกเลิกการรวมตัวกันสนุกสนานในวันหยุด ฯลฯ เท่านั้นเอง

ในสหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ประเมินไว้ว่า ด้วยเหตุผลสารพัดอย่างทั้งหมดนั้น มาตรการระมัดระวังเหล่านี้ยังคงจำเป็นต้องดำเนินต่อไป อย่างน้อยก็ 6 เดือนหรือนานกว่านั้น

ในประเทศที่ “ไกลปืนเที่ยง” อย่างไทยหรือเพื่อนบ้านทั้งหลายในอาเซียน คงอาจต้องใช้เวลาของปีใหม่นี้อีกทั้งปี ระมัดระวังตัวเองเพื่อตัวเอง เพื่อคนรอบข้างและเพื่อสังคมต่อไป

สถานการณ์โควิด-19 ในปีใหม่นี้ จึงยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image