คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ทำไมรัฐสภาอเมริกัน ไร้ความปลอดภัย?!

รอยเตอร์

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ทำไมรัฐสภาอเมริกัน ไร้ความปลอดภัย?!

เหตุการณ์ที่อาคารรัฐสภา หรือแคปิตอล ฮิลล์ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา มีผลสะท้อนผูกพันมากมายทั้งต่อการเมืองอเมริกันและสังคมอเมริกันโดยรวม

เหตุการณ์ดังกล่าว ไม่เพียงก่อให้เกิดแรงเสริมมหาศาลให้กับการริเริ่มกระบวนการอิมพีชเมนต์ เพื่อถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสภาคองเกรสเท่านั้น

ยังมีเสียงเรียกร้องให้รองประธานาธิบดีและคณะรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามความในรัฐบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 25 เพื่อถอดถอนประธานาธิบดีพ้นตำแหน่งโดยทันที เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

ปัญหาที่เกิดขึ้นยังลุกลามกลายเป็นปัญหาสังคมมหึมาที่เคยถูกกวาดซุกไว้ใต้พรมตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปัญหากลุ่มแนวคิดขวาจัดสุดโต่ง กลุ่มติดอาวุธที่ยึดติดอยู่กับลัทธิบูชาผิวขาว อย่าง “พราวด์บอยส์” กลุ่มแปลกแยกในสังคมที่หลงใหลในทฤษฎีสมคบคิดอย่าง “คิวเอนอน”

ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นควบคู่ไปด้วยกันกับกลุ่มสุดโต่งเหล่านี้ คือ ปัญหาข้อมูลบิดเบือน ผิดๆ ที่อยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีสมคบคิด ที่แพร่ระบาดให้หลายคนหลงเชื่อ หลงใหล เข้าใจผิดอยู่ในทุกวี่วันบนโลกออนไลน์อันไพศาล

Advertisement

เมื่อหลอมรวมทั้งหมดเข้าด้วยกัน อุบัติการณ์ของโศกนาฏกรรมที่น่าสลดใจก็เกิดขึ้นได้อย่างเหลือเชื่อเหลือหลายในดินแดนอย่างสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ภาพปัญหาหนักหนาสาหัสเหล่านั้น ยังไม่เร่งด่วนเท่ากับปัญหาใหญ่หลวงอีกปัญหาหนึ่งซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นได้ชัดเจนกระจะตาจากเหตุการณ์ครั้งนี้

นั่นคือความล้มเหลวของระบบรักษาความปลอดภัยประจำอาคารรัฐสภา!

Advertisement

ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยหลายคนระบุตรงกันว่า เหตุการณ์บุกยึดอาคารรัฐสภา แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวใหญ่หลวงและเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศ

ความล้มเหลวที่ทำให้สัญลักษณ์ของอำนาจสูงสุดหนึ่งในสามอำนาจในสหรัฐอเมริกา กลายเป็นเวทีแสดงออกถึงความรุนแรงทางการเมืองโดยอิสระ และถึงตาย

สถานที่สำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา ถูกบุกรุกอย่างง่ายดาย ราวกับไม่มีการป้องกันใดๆ ทั้งสิ้น ตัวแทนของประชาชนอเมริกันถูกไล่ล่า ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เอาชีวิตรอด

คำถามสำคัญในเวลานี้ ที่ต้องสอบถามสืบสวนสอบสวนจนกระจ่างชัดให้ได้ ก็คือความล้มเหลวที่เกิดขึ้นนี้ เกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุ หรือเป็นเจตนาของใครคนใดคนหนึ่งออกแบบสถานการณ์ไว้ให้เป็นเช่นนั้นกันแน่?

3 วันก่อนหน้าที่บรรดาผู้สนับสนุนหัวรุนแรงของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะบุกเข้าไปภายใน “หัวใจ” ของอาคารรัฐสภา ตามล่าคน “ทรยศ” ในความเห็นของพวกเขาได้เหมือนไม่มีอุปสรรคใดขัดขวาง กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ได้สอบถามมายัง สำนักงานตำรวจรัฐสภา (ยูเอสซีพี) ที่มีหน้าที่รับผิดชอบการรักษาความปลอดภัย เฉพาะในอาคารรัฐสภาและปริมณฑลโดยรอบทั้งหมดว่า ต้องการกำลังเจ้าหน้าที่รักษาดินแดนมาช่วยสมทบเพิ่มเติมหรือไม่?

คำตอบจาก ยูเอสซีพี ก็คือ ไม่ต้อง ขอบคุณ!

เช้าวันเกิดเหตุ เมื่อปรากฏการรวมตัวของกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์จำนวนมากในเขต ดี.ซี. ขณะที่กำลังจะมีการเปิดประชุมสภาคองเกรส อันเป็นการประชุมร่วมสองสภา เพื่อให้การรับรองผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน และรับรองคะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่อาคารรัฐสภา

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา สอบถามมายัง ยูเอสซีพี อีกครั้งว่า ต้องการกำลังเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรมหรือไม่?

คำตอบจากยูเอสซีพี ยังคงเหมือนเดิม คือ ไม่ต้องการ!

ไม่ว่าการปฏิเสธดังกล่าวจะเกิดจากเหตุผลอันใด ผลลัพธ์ของมันปรากฏชัดเจนอย่างยิ่ง แนวป้องกันของเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา ถูกทลายลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประท้วงบุกขึ้นมาจากลานพลาซาด้านล่าง สู่ขั้นบันได้ระเบียงอาคารด้านหน้าจนคราคร่ำ

เทอแรนซ์ เกนเนอร์ อดีตหัวหน้าสำนักงานตำรวจรัฐสภา ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยนี้ ได้รับการฝึกมาให้กันไม่ให้บรรดาผู้ประท้วงเข้าถึงบันไดและลานหินอ่อนด้านหน้าประตูอาคารเด็ดขาด

เหตุผลก็คือ อาคารสมัยศตวรรษที่ 19 แห่งนี้ มีประตูหน้าต่างมากมายเหลือเกิน จนยากที่กำลังเจ้าหน้าที่จะป้องกันได้ครบถ้วนทุกทิศทาง

“ในทันทีที่พวกนั้นขึ้นบันไดมาได้ ทุกอย่างก็จบ หน้าต่าง ประตู ไม่เหลือให้อารักขาอีกแล้ว” เกนเนอร์บอก

กำลังตำรวจรัฐสภาทั้งหมดมี 2,300 นาย ไม่มีใครรู้ว่าในวันเกิดเหตุมีกำลังจำนวนเท่าใดที่ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ ในขณะที่เอฟบีไอประเมินกำลังของม็อบทรัมป์ไว้ก่อนหน้าว่า อยู่ระหว่าง 2,000-80,000 คน

หลายคนชี้ว่า กำลังตำรวจรัฐสภามีน้อยเกินไปสำหรับการรับมือหนนี้

การเผชิญหน้าด้วยกำลังที่แตกต่างกันมหาศาลเช่นนี้ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่จำนวนเจ้าหน้าที่ แต่อยู่การคาดการณ์ทำความเข้าใจสถานการณ์ล่วงหน้า วางแผนล่วงหน้า เพื่อรับมือ

นั่นคือความล้มเหลวของยูเอสซีพี

อย่างน้อยที่สุด ยูเอสซีพี ก็สามารถร้องขอกำลังเสริมจากกองกำลังรักษาดินแดนในสังกัดกลาโหม หรือเอฟบีไอ ในสังกัดกระทรวงยุติธรรมได้ หากต้องการ

แต่ทำไมยูเอสซีพี ถึงไม่ต้องการ?

เจ้าหน้าที่ยูเอสซีพี 2,300 นาย อารักขาตัวอาคาร เขตปริมณฑล และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 435 คน กับ วุฒิสมาชิกอเมริกันอีก 100 คน บวกกับคณะเจ้าหน้าที่ประจำตัว ส.ส.และ ส.ว.แต่ละคนอีกจำนวนหนึ่ง ไม่ถือว่าน้อยสำหรับอาณาบริเวณที่มีเนื้อที่ทั้งหมดเพียง 16 เอเคอร์

เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจน เอพี ยกตัวอย่างเช่น สำนักงานตำรวจมินนีอาโพลิส ที่มีประชากรมากถึง 425,000 คน มีเนื้อที่มากถึงกว่า 6,000 เอเคอร์ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบประจำการอยู่เพียง 840 นายเท่านั้นเอง

นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไม แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรถึงได้ออกปากชัดเจนอย่างยิ่งว่า “เหตุการณ์นี้เป็นการแสดงถึงความล้มเหลวในภาวะผู้นำของผู้บัญชาการ (ยูเอสซีพี)”

อาร์ท อาเซเวโด ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจฮุสตัน ที่ต้องรับมือกับสารพัดม็อบ หลากหลายขนาดมาตั้งแต่เกิดเหตุการฆาตกรรม จอร์จ ฟลอยด์ โดยน้ำมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เห็นพ้องด้วย 100 เปอร์เซ็นต์

อาเซเวโดบอกว่า ครั้งหนึ่งเคยไปร่วมพิธีศพเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในอาณาบริเวณนี้ ตอนนั้นยังปรากฏเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้เห็นมากกว่าเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมาด้วยซ้ำไป

“ตำรวจรัฐสภาต้องทำได้ดีกว่าที่เห็นนั่นมาก ผมมองไม่เห็นทางว่าจะเลี่ยงความรับผิดชอบได้ยังไง”

ไรอัน แม็คคาร์ธี รัฐมนตรีกิจการกองทัพ บอกว่า ระหว่างเกิดเหตุเห็นได้ชัดว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภามีกำลังไม่เพียงพอและกำลังพ่ายแพ้ ประเด็นสำคัญที่แม็คคาร์ธีต้องการบอกก็คือ ยูเอสซีพี ไม่ได้วางแผนฉุกเฉินเตรียมพร้อมเอาไว้เลยว่า จะทำอย่างไร ให้กำลังจากส่วนไหนไปช่วย ในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา

กว่ากองกำลังรักษาดินแดน ภายใต้การร้องขอของ มูรีล บาวเซอร์ นายกเทศมนตรีวอชิงตัน ดี.ซี. จะเดินทางมาถึง เหตุจลาจลในอาคารรัฐสภาก็ดำเนินไปร่วมๆ 2 ชั่วโมงเเล้ว

ที่สำคัญที่สุดก็คือ ลงเอยถึงที่สุดแล้ว สหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องระดมกำลังจากเจ้าหน้าที่แทบทุกหน่วยเข้าไปเพื่อระงับเหตุการณ์ครั้งนี้จนสงบลงได้ในที่สุด

ตั้งแต่หน่วยตำรวจประจำพื้นที่มหานคร ซึ่งเป็นตำรวจท้องที่, เอฟบีไอ และเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงยุติธรรมจากทุกหน่วยงานในละแวกใกล้เคียง, เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานอารักขาบุคคลสำคัญ หรือซีเครทเซอร์วิส ซึ่งส่งหน่วยคอมมานโดเข้ามาร่วมปฏิบัติการ, เจ้าหน้าที่จากสำนักงานควบคุมแอลกอฮอล์, ยาสูบ, อาวุธปืนและวัตถุระเบิด (เอทีเอฟ) ที่ส่งทีมยุทธวิธี 2 ทีมเข้ามา

นี่ยังไม่นับตำรวจจากสำนักงานตำรวจท้องที่ใกล้เคียง บางแห่งไปไกลถึง นิวเจอร์ซีย์ ที่ต้องส่งกำลังเข้ามาช่วย

ทั้งหมดนั่นยังต้องใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมงถึงสามารถผลักดันผู้ประท้วงออกนอกปริมณฑลของรัฐสภาได้สำเร็จ…ยูเอสซีพี ไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้เลยหรือ?

เจ้าหน้าที่เอฟบีไอ และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ได้เริ่มจับตาสถานการณ์ในวอชิงตัน ดี.ซี. มานานหลายสัปดาห์แล้ว

พวกเขาตรวจสอบผู้ที่เข้าพักโรงแรมต่างๆ เช็กผู้โดยสารของเที่ยวบินที่จุดหมายปลายทางอยู่ที่วอชิงตันทั้งหลายแหล่ และที่สำคัญที่สุดก็คือการเฝ้าจับตามองความเคลื่อนไหวของกลุ่มสุดโต่งทั้งหลายในโซเชียลมีเดียชนิดไม่กะพริบ

มูรีล บาวเซอร์ นายกเทศมนตรี ดี.ซี. เตือนถึงเหตุรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้มาอย่างต่อเนื่องหลายสัปดาห์ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์จริงขึ้น

ที่ชวนคิดก็คือ บรรดาร้านรวงทั้งหลายในละแวกใจกลาง ดี.ซี. ถึงกับประกาศปิดกิจการล่วงหน้าเพื่อรองรับคำเตือนของนายกเทศมนตรี แต่ ยูเอสซีพีไม่เชื่อถือ?

บาวเซอร์ ยื่นขอกองกำลังรักษาดินแดนเข้ามาช่วยในวันที่ 31 ธันวาคม แต่ ยูเอสซีพีแจ้งปฏิเสธไปเมื่อวันที่ 3 มกราคม เพนตากอนรู้สึกงงกับการปฏิเสธดังกล่าวไม่น้อย ถึงกับสอบถามซ้ำมาอีกครั้ง แล้วก็ได้รับคำปฏิเสธอีกครั้ง

ซึ่งนำไปสู่คำถามสำคัญอีกครั้งว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวันนั้นเป็น “อุบัติเหตุ” หรือ “เจตนา” กันแน่!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image