คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : 10 ปีกับการซ่อมแซม โบสถ์ไครสต์เชิร์ช หลังแผ่นดินไหว

(AP Photo/Mark Baker)

คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : 10 ปีกับการซ่อมแซม โบสถ์ไครสต์เชิร์ช หลังแผ่นดินไหว

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นวันครบรอบ 10 ปีของเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงในเมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ที่นอกเหนือจากคร่าชีวิตผู้คนไปถึง 185 รายแล้ว ยังทำให้สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในเมืองได้รับความเสียหายอย่างหนัก

รวมไปถึงโบสถ์ไครสต์เชิร์ชที่ถือว่าได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนถึงกับมีข้อถกเถียงกันในเวลาต่อมาว่า จะทำการบูรณะขึ้นมาใหม่ หรือจะทุบทิ้งดี

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด พบว่าโบสถ์ไครสต์เชิร์ชแห่งนี้เริ่มมีความคืบหน้าในการบูรณะแล้ว และมีความคล้ายคลึงกับตอนก่อสร้างเสร็จใหม่ๆ เมื่อปี ค.ศ.1904 เพียงแต่มีการปรับปรุงให้ดูอบอุ่นขึ้นและปลอดภัยมากขึ้น

รวมไปถึงการเพิ่มเติมห้องน้ำให้มากเพียงพอต่อความต้องการใช้าน

Advertisement

ปีเตอร์ คาร์เรลล์ บิชอป แห่งไครสต์เชิร์ช บอกว่า การเปิดตัวอีกครั้งของโบสถ์แห่งนี้จะเป็นก้าวย่างที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่ทำให้ไครสต์เชิร์ชกลับมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกครั้ง และจะเป็นการเยียวยาบาดแผลในหัวใจของไครสต์เชิร์ชหลังเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง

แต่อย่างไรก็ตาม การกลับมาเปิดโบสถ์อีกครั้งคาดว่าคงต้องรอไปอีกราว 6 ปี ถึงจะพร้อม

โดยการบูรณะเพื่อให้โบสถ์กลับมาเปิดตัวได้อีกครั้งจะต้องใช้ทั้งเงินจำนวนมากและเวลาอีกมากเพื่อเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ซึ่งเงินที่นำมาใช้ก็มีทั้งจากเงินประกัน จากโบสถ์ จากสภาเมือง และจากรัฐบาล ที่คิดเป็นเงินเพียงแค่ 2 ใน 3 ของเงินที่ต้องการใช้ทั้งหมด 154 ล้านเหรียญนิวซีแลนด์

ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำตอนนี้ก็คือ การหาทางระดมเงินเพื่อนำมาบูรณะโบสถ์แห่งนี้ต่อไป โดยจะรับทั้งจากในประเทศและการบริจาคจากต่างประเทศ ซึ่งบิชอป ปีเตอร์ คาร์เรลล์ เชื่อมั่นว่า จะสามารถหาเงินได้ทันเวลาที่กำหนด

ในส่วนของสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ในเมืองไครสต์เชิร์ชนั้น หลังเหตุแผ่นดินไหวก็มีการซ่อมแซม และปลูกสร้างใหม่ขึ้นมากมาย รวมไปถึงการสร้างสวนสาธารณะ หรือจะเป็นสวนสนุกขึ้นมาใหม่

เช่นเดียวกับจิตใจของผู้คนในเมืองไครสต์เชิร์ช ที่แม้จะยังมีบาดแผลลึกๆ อยู่จากเหตุการณ์เมื่อ 10 ปีก่อน แต่ทุกสิ่งต้องก้าวต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image