คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: อาณาจักรธุรกิจมหึมา ของกองทัพเมียนมา

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: อาณาจักรธุรกิจมหึมา ของกองทัพเมียนมา

กัลยาณมิตรอาวุโสชาวเมียนมาผู้หนึ่งเคยตั้งคำถามเอาไว้ว่า พวกคุณบอกว่า กองทัพครอบงำธุรกิจ

ทั้งประเทศ เคยรู้กันบ้างไหมว่า กองทัพเมียนมาทำธุรกิจอะไร แล้วก็ทำอย่างไร?

คำตอบตามความสัตย์จริงก็คือ ไม่รู้!

แม้จะระแคะระคายมาบ้างว่าธุรกิจเหมืองหยกและเหมืองทับทิมทั้งหมดในเมียนมาตกอยู่ในกำมือของกองทัพแบบเบ็ดเสร็จมานานแล้ว ด้วยการกุมอำนาจในการออกใบอนุญาตหรือประทานบัตร ผ่าน เมียนมา เจมส์ เอนเทอร์ไพรส์ (เอ็มจีอี) ที่เป็นกิจการของกองทัพ

Advertisement

แม้ว่านั่นเป็นแหล่งรายได้มหาศาล สร้างความมั่งคั่ง ร่ำรวยให้กับนายทหารเมียนมามานักต่อนักแล้วก็ตามที

แต่เหมืองอัญมณีก็เป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวเล็กๆ ส่วนเดียวในบรรดากิจการมหึมาที่ครอบงำไปทั่วทั้งประเทศ

ธุรกิจของกองทัพในเมียนมาเป็นความลับมานานสำหรับบุคคลภายนอก บางคนที่เคยพยายามเข้าไปศึกษาค้นหารายละเอียดและเส้นสนกลใน ถึงกับอุปมาเอาไว้ว่า เหมือนกับ “กล่องดำ” ที่ไม่เพียงหาพบได้ยากยิ่งเท่านั้น เมื่อพบแล้วยังต้องถอดความ อ่านรหัสกันวุ่นวายด้วยอีกต่างหาก

Advertisement

ผมถามต่อไปประสาเขลาว่า แล้วกองทัพเมียนมาทำธุรกิจอะไร และจำคำตอบที่ได้ขึ้นใจมาจนถึงทุกวันนี้

“อย่าถามเลยว่ากองทัพเมียนมาทำธุรกิจอะไร ถามว่ากองทัพไม่ได้ทำธุรกิจอะไรจะตอบง่ายกว่ามาก”

ยิ่งเรียนรู้นานเข้ายิ่งตระหนักในความเป็นจริงข้อนี้มากขึ้นทุกที แทบทุกอย่างตั้งแต่ซิมการ์ดไปจนถึงเบียร์, ภัตตาคารและโรงแรม, สวนสนุกเรื่อยไปจนถึงปั๊มน้ำมัน กองทัพเมียนมาล้วนเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ด้วยทั้งหมด

มีกิจการธุรกิจเพียงไม่กี่มากน้อยเท่านั้นในเมียนมาที่ไม่มีกองทัพเข้าไปมีเอี่ยวอยู่ด้วย

แล้วก็ทำให้กองทัพเมียนมาอาจเป็นกองทัพเดียวในโลกที่ให้ความสนใจน้อยที่สุดกับเงินงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้

ตราบเท่าที่รัฐบาลยังไม่เอื้อมมือมาแตะต้องธุรกิจที่กองทัพดำเนินการอยู่เท่านั้น

กองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการทางธุรกิจทั้งหลายในเมียนมามาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ นายพล เน วิน ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองเมื่อปี 1962 แล้วประกาศใช้แนวทางการปกครองที่ (พยายามจะให้)

ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน คือ “เส้นทางสู่สังคมนิยมพม่า” (Burmese way to Socialism) วางแผนเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ และยึดเอากิจการทั้งหมดมาเป็นของรัฐ

ถึงที่สุดแล้ว “เส้นทางสู่สังคมนิยมพม่า” ก็ล้มเหลวและล้มเลิกไปโดยปริยาย จำแลงตัวเองกลายเป็น “ทุนนิยมพวกพ้อง” ไปในที่สุด

ถึงตอนนั้นบรรดานายทหารระดับสูงและนายทหารอาวุโสของกองทัพก็พาเหรดเข้ายึดกุมตำแหน่งแห่งที่สำคัญๆ ในหลายภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้มหาศาลทั้งหลายในหลายๆ ธุรกิจ มีเพียงบริษัทของกองทัพ หรือบริษัทในเครือเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการได้

แน่นอนโดยอาศัยคำว่า “ความมั่นคง” เป็นฉากบังหน้า!

เมื่อมีการดำเนินการตาม “โรดแมป” สู่ประชาธิปไตยเพื่อเปิดประเทศในปี 2011 นั้น กระบวนการเข้าควบคุมธุรกิจของบรรดานายทหารและบรรดาชนชั้นสูงที่เป็น “เครือข่าย” ก็ทวีอัตราเร่งเร็วขึ้น

มีการ “แปรรูป” กิจการหลายแห่งให้เป็นของเอกชน แต่ถึงที่สุดแล้วผู้ที่มีเงิน “ซื้อ” หรือลงทุนในกิจการเหล่านั้นก็หนีไม่พ้นบรรดานายทหารและชนชั้นสูงเหล่านี้เท่านั้น

แอนนา โรเบิร์ตส์ ผู้อำนวยการบริหารของ “เบอร์มา แคมเปญยูเค” กลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาในเมียนมา เรียกปฏิบัติการครั้งนั้นว่า “ปฏิบัติการปล้นครั้งมโหฬาร” ที่บรรดาประชาชนและทหารระดับล่างไม่ได้ประโยชน์โภชผลเลยแม้แต่น้อย

เงินที่ได้แทนที่จะนำไปใช้เพื่อการศึกษาและสาธารณสุข กลับถูกผ่องถ่ายไปใช้เพื่อจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์แทน

นั่นยังไม่นับรวมกับที่ตกๆ หล่นๆ เป็นเบี้ยบ้ายรายทาง หลุดเข้ากระเป๋าประดานายพลทั้งหลายอีกต่างหาก

ยิ่งกลายเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้นายทหารในกองทัพและพวกพ้องเข้าไปควบคุมภาคธุรกิจที่สำคัญๆ ของประเทศได้มั่นคงมากยิ่งขึ้น

ในทรรศนะของ “จัสทิซฟอร์เมียนมา” กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมในเมียนมา “เมื่อก้าวเข้าไปสู่ธุรกิจผลประโยชน์ที่กองทัพได้รับก็คือความสามารถในการควบคุมภาคธุรกิจสำคัญๆ ในระบบเศรษฐกิจได้แทบจะเป็นการผูกขาด” และ

“กองทัพใช้เงินที่ได้จากธุรกิจเหล่านี้ไปสนับสนุนหน่วยต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานของกองทัพที่ประกอบอาชญากรรมหฤโหดทั้งหลาย

“และด้วยธุรกิจที่มีอยู่ในมือ ทำให้กองทัพไม่จำเป็นต้องพึ่งพางบประมาณจากการจัดสรรของสภาแต่อย่างใด”

นักวิจัยเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางธุรกิจของกองทัพเมียนมาอย่าง แคลร์ แฮมมอนด์ ซึ่งทำงานให้กับ โกลบอล วิทเนสส์ องค์กรเอกชนที่ต่อต้านการคอร์รัปชั่น

ระหว่างประเทศ ที่เคยเปรียบเทียบข้อมูลเรื่องนี้ไว้ว่าเหมือนอยู่ใน “กล่องดำ” ระบุเอาไว้ว่า ถึงจะพยายามเก็บงำมากแค่ไหน ผลประโยชน์ “สีเทา” เหล่านี้ก็เล็ดลอดออกมาอยู่ดี

บางส่วนถูกเปิดเผยให้โลกได้เห็นจากเอกสารที่รั่วไหลออกมา อีกหลายส่วนเกิดขึ้นจากความพยายามของหลายๆ ฝ่ายในการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้

ข้อมูลเหล่านั้นแสดงให้เห็นตรงกันว่า กองทัพเมียนมาอาศัย 2 บริษัทยักษ์ในการควบคุมกิจการทั้งหมดในเครือที่ครอบคลุมในแทบทุกภาคธุรกิจ

บริษัทแรกเรียกว่า เมียนมา อีโคโนมิค โฮลดิงส์ จำกัด (เอ็มอีเอชแอล) อีกบริษัทเรียกว่า บรรษัทเศรษฐกิจเมียนมา (เอ็มอีซี)

กระทรวงกลาโหมเป็นผู้ก่อตั้งเอ็มอีเอชแอลขึ้นในเดือนเมษายน 1990 เพื่อให้ทำหน้าที่ “จัดหาสวัสดิการเชิงเศรษฐกิจแก่ทหาร, ทหารผ่านศึก และประชาชนชาวพม่า รวมทั้งเพื่อสนับสนุนพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศ”

ในรายงานทางการทูตที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำเมียนมารายงานกลับไปยังรัฐบาลในกรุงวอชิงตันเมื่อปี 2009 เสนอแนะเอาไว้ว่า รัฐบาลสหรัฐควร “แซงก์ชั่น” เอ็มอีเอชแอล รวมไปถึงกิจการในเครือที่กิจการนี้เข้าไปถือหุ้นอยู่, คณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) กับกรรมการผู้จัดการทั้งหมด

เนื่องเพราะ “อิทธิพลและการเข้าไปถือหุ้น (โฮลดิงส์) ของบริษัทนี้คือส่วนประกอบสำคัญของระบบอุปถัมภ์ที่ละเอียดซับซ้อนของระบอบ (ปกครองของทหาร) ซึ่งรัฐบาล (ทหารในเวลานั้น) นำมาใช้เพื่อให้คงอยู่ในอำนาจอย่างต่อเนื่อง”

คณะกรรมการค้นหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติที่ยูเอ็นจัดส่งเข้าไปเพื่อให้ตรวจสอบและจัดทำรายงานว่าด้วยการกวาดล้างชาวโรฮีนจาของกองทัพเมียนมา จัดทำรายงานหนา 110 หน้า นำเสนอต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็น และตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ 5 สิงหาคม 2019 ให้ข้อเท็จจริงที่สอดคล้อง และเสริมรายละเอียดเกี่ยวกับบทบาทและอิทธิพลของเอ็มอีเอชแอล กับเอ็มอีซีเพิ่มขึ้นอีกมาก

ในรายงานดังกล่าวเปิดเผยกิจการที่เอ็มอีเอชแอลและเอ็มอีซีเป็นเจ้าของโดยตรงเอาไว้ทั้งสิ้น 106 บริษัท กับอีก 27 บริษัทที่เป็นกิจการในเครือ ซึ่งส่งผลให้กองทัพสามารถครอบงำทรัพยากรธรรมชาติของทั้งประเทศไว้ในกำมือ

เครือข่ายผลประโยชน์ในทางพาณิชย์เหล่านี้อำนวยให้กิจการทั้งหลายของกองทัพ “สามารถปกปิดตัวเองจากการกำกับดูแลและไม่ต้องรับผิดชอบ” ใดๆ ยิ่งขยาย

เครือข่ายออกไปกว้างขวางมากขึ้นเท่าใดยิ่งมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุให้กิจการในเครือของกองทัพถูกกล่าวหาอยู่เนืองๆ ว่า ทำผิดกฎหมาย

ทั้งในแง่ของการบังคับใช้แรงงานและอื่นๆ ไปจนถึงการลักลอบทำการค้าแบบมิชอบอีกด้วย

มอนท์ซี แฟร์เรร์ ที่ปรึกษาด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของ องค์การนิรโทษกรรมสากล (เอไอ) เคยจัดทำรายงานว่าด้วยผลกำไรที่กองทัพเมียนมาได้รับจากเอ็มอีเอชแอลไว้เมื่อปีที่ผ่านมา ระบุว่า ในช่วงเวลา

20 ปี จนกระทั่งถึงปี 2011 เฉพาะปันผลจากเอ็มอีเอชแอลบริษัทเดียวก็ทำให้กองทัพเมียนมามีรายได้มากถึง 18,000 ล้านดอลลาร์ (ที่อัตราแลกเปลี่ยนทางการ 1 ดอลลาร์เท่ากับ 6 จ๊าด)

ภายใต้อาณาจักรธุรกิจเอ็มอีเอชแอล และเอ็มอีซีมีกิจการอยู่มากมายมหาศาล ตั้งแต่กิจการที่ทำรายได้ดีที่สุด มั่งคั่งที่สุดในเมียนมาในเวลานี้อย่าง เมียนมาออยล์ แอนด์แก๊ส เอนเทอร์ไพรส์ (เอ็มโอจีอี) และ เมียนมา เจมส์ เอนเทอร์ไพรส์ (เอ็มจีอี) ไปจนถึงกิจการด้านบันเทิง, กิจการอาหารและเครื่องดื่ม, กิจการร้านสะดวกซื้อ, กิจการเท็กซี, กิจการปั๊มน้ำมัน ก่อสร้าง ธนาคารและสถาบันการเงิน และบุหรี่ ฯลฯ

เอไอศึกษาเอกสารที่รั่วไหลออกมาอยู่ในมือของ “จัสทิซฟอร์เมียนมา” องค์กรเอกชนที่รณรงค์เพื่อความเป็นธรรมและความรับผิดชอบในเมียนมา พบว่า เอ็มอีเอชแอลกับเอ็มจีอีไม่ได้อำนวยประโยชน์ให้แต่เฉพาะนายทหารระดับสูงเท่านั้น แต่ยังจัดสรรหุ้นให้กับหลายๆ ส่วนของกองทัพอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นกองทัพบก, เรือ, อากาศ ซึ่งกระจายหุ้นลงไปถึงในระดับกองพันที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ในแนวรบด้วยอีกต่างหาก

แฟร์เรร์บอกว่า ถือเป็นเรื่องน่าทึ่งที่ไม่เหมือนใครเลยทีเดียว

นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเรื่องพม่าส่วนใหญ่แล้วเห็นตรงกันว่า หากต้องการทำลายระบอบการปกครอง หรือระบอบการปกครองที่ครอบงำด้วยทหารในเมียนมา จำเป็นต้องทลายแหล่งที่มาของรายได้ที่ค้ำจุน อำนวยความมั่นคงให้กับกองทัพพม่าเหล่านี้ลงก่อน ซึ่งในเวลาเดียวกันก็จะก่อให้เกิดผลพลอยได้ข้างเคียง ที่จะเป็นคุณูปการใหญ่หลวงแก่ประชาชนเมียนมา นั่นคือการทำให้ระบบเศรษฐกิจของเมียนมา “เปิดกว้าง” และ “เสรี” สำหรับประชาชนทุกคน

จะทำให้เศรษฐกิจของเมียนมาเปิดกว้างอย่างแท้จริงได้ ต้องทำให้กองทัพเมียนมาเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ว่า ทหารและกองทัพไม่ได้เป็น “เจ้าของ” และเป็น “หลักประกัน” สำหรับความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต อีกต่อไปแล้ว

ประชาชนชาวเมียนมาเท่านั้นที่เป็น “เจ้าของ” ประเทศของตนเอง

และกำลังลุกฮือขึ้นมาทวงความเป็นเจ้าของคืนจากกองทัพอยู่ในเวลานี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image