คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: “มะ จาล ซิน” กับผู้หญิงแถวหน้าที่เมียนมา

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: “มะ จาล ซิน” กับผู้หญิงแถวหน้าที่เมียนมา

“มะ จาล ซิน” เพิ่งอายุสิบแปดปีเต็มก่อนหน้ามีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้เธอมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้เป็นครั้งแรกในชีวิต

จาล ซิน ลงคะแนนเลือกตั้งในมัณฑะเลย์ อย่างเต็มใจและภาคภูมิ

(“จาล ซิน” เป็นชื่อ คำว่า “มะ” เป็นคำเรียกนำหน้านามสำหรับเพื่อนผู้หญิงในวัยเดียวกันหรืออ่อนกว่า ที่ยังไม่แต่งงาน ทำนองเดียวกับการใช้ “ดอ” นำหน้าชื่อสตรีสูงวัยกว่าหรือแต่งงานแล้วเพื่อให้เกียรติ)

เธอบันทึกเอาไว้ในเฟซบุ๊กในวันเลือกตั้งพร้อมกับภาพตัวเองกำลังจุมพิตนิ้วมือจุ่มหมึก สัญลักษณ์ของการผ่านการใช้สิทธิเลือกตั้งในเมียนมาเอาไว้ว่า

Advertisement

“ครั้งแรกในชีวิตที่ฉันได้แสดงความรับผิดชอบในฐานะพลเมือง…หนึ่งเสียงนี้จากใจ”

นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้จาล ซิน โมโหมากเป็นพิเศษเมื่อ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมายึดอำนาจรัฐ จับกุมแกนนำของพรรคเอ็นแอลดีทั้งหมด รวมทั้ง วิน มยิน ประธานาธิบดี และ ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศ

สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ จาล ซิน และเพื่อนสนิทมากหน้าหลายตา เป็นเมียนมาเจเนอเรชั่นใหม่ “เจนแซด” อย่างที่เรียกขานกัน เป็นชาวเมียนมารุ่นล่าสุดที่เติบใหญ่ขึ้นมาพร้อมกับอิสระ เสรี อบร่ำด้วยบรรยากาศประชาธิปไตย ในกระบวนการปฏิรูปทางการเมืองของประเทศที่เริ่มต้นเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา

เป็นเจเนอเรชั่นสมาร์ทโฟน โซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ที่หล่อหลอมสำนึกอิสระ ชีวทัศน์ที่สดใส โลกทัศน์ที่เปิดกว้าง หลอมรวมเป็นความเชื่อมั่นในตัวเอง ตระหนักในศักยภาพแห่งตนเต็มเปี่ยม

จาล ซิน รักทุกอย่างที่ช่วยให้เธอดำเนินชีวิตอย่างอิสระ รักเพื่อน รักครอบครัว รักการร้องการเต้น หลงใหลในกีฬาเทควันโด ที่ทำให้เธอประกอบสัมมาชีพเป็นแดนเซอร์ และเป็นเทรนเนอร์เทควันโด เลี้ยงตัวเอง

หน้าเพจเฟซบุ๊กของจาล ซิน สะท้อนอิสระเสรีออกมาเต็มที่ สนุกกับการเซลฟี่ ได้เล่นกับบรรดาน้องหมา การฉลองวันเกิดกับเพื่อนฝูงมากมาย

เธอไม่อยากและไม่ยอมสูญเสียมันไปอีกแล้ว โดยเฉพาะอย่างเสียมันไปให้กับเผด็จการทหารที่ยึดอำนาจไปไว้ในมือโดยไม่ชอบธรรม และมิชอบด้วยกฎหมาย

เธอเชื่อเหมือนกับเจนแซดของเมียนมาอีกมากมายเชื่อว่าอนาคตอยู่ในกำมือของตนเอง ไม่ใช่ถูกกำหนดอยู่ใต้เงื้อมมือเผด็จการ

3 มีนาคม เธอบอกลาผู้เป็นพ่อ เพื่อออกไปเดินขบวนประท้วงการรัฐประหารกับเพื่อนๆ เหมือนเช่นทุกวันในระยะหลัง

พ่อดึงตัวเธอเข้าไปกอดลา ส่งยิ้มให้กำลังใจ ไม่ได้สำเหนียกว่า ค่ำนี้ จาล ซิน จะไม่ได้กลับบ้านมาเหมือนเคยอีกแล้ว

บ่ายวันเดียวกันนั้น จาล ซิน หรือ “แองเจิล” ของเพื่อนๆ ในวัยย่างเข้า 19 ปี เสียชีวิตอยู่บนท้องถนนในมัณฑะเลย์

กระสุนเผด็จการเจาะเข้าที่ศีรษะ ยุติความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวของเธอเอาไว้เพียงแค่นั้น

มะ จาล ซิน ออกจากบ้านวันนั้นในสภาพเตรียมพร้อมเต็มที่ ในเป้สีดำที่สะพายติดหลัง มีอุปกรณ์จำเป็นครบครัน รวมทั้งแว่นนิรภัยสวมป้องกันดวงตา

เธอสวมยีนส์สีซีดตัวเก่ง ที่มีรอยขาดขวางตรงเข่าซ้าย เสื้อยืดหลวมๆ สีดำ ด้านหน้ามีอักษรภาษาอังกฤษสีขาวหรา “Everything will be OK”

แต่เธอรู้ดีว่าภายใต้สถานการณ์ตึงเครียดที่เป็นอยู่ ใช่ว่าทุกอย่างจะ “โอเค” ตามนัยของตัวหนังสือ

นั่นทำให้เธอโพสต์กลุ่มเลือด “บี-โพสิทีฟ” ของตัวเองเอาไว้ในเฟซบุ๊กก่อนหน้า พร้อมกับระบุเอาไว้ว่า ต้องการบริจาคร่างกายและอวัยวะทั้งหลายให้กับผู้ที่ต้องการ ในกรณีที่เธอเสียชีวิต

“ถ้าฉันเจ็บหนัก จนกลับบ้านในสภาพดีไม่ได้ อย่าช่วยฉันเลยนะ ฉันจะบริจาคส่วนที่ยังดีอยู่ให้กับคนอื่น ใครก็ได้ที่ต้องการมัน ถึงจะทำให้ต้องถึงแก่ชีวิตก็เถอะ” เธอย้ำไว้ในตอนท้าย

ในคลิปที่กลายเป็นไวรัลทั้งในโลกออนไลน์ที่เมียนมา และทั่วโลกในเวลาต่อมา แสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ในช่วงไม่กี่นาทีสุดท้ายของจาล ซิน แสดงให้เห็นว่า เธอไม่เพียงเป็นแค่ผู้ร่วมเดินขบวนประท้วงอยู่บนถนนสาย 48 เท่านั้น หากแต่ยังอยู่ในแถวหน้าสุด เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มมวลชนเยาว์วัยที่ใช้สองมือถือป้ายผ้าขนาดใหญ่ แสดงเจตจำนงต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างถึงที่สุด

ใครที่ตั้งใจสังเกตเล็กน้อยจะพบว่า ในแถวหน้าของผู้ประท้วงในวันนั้น มีผู้หญิงเพียงคนเดียวคือ จาล ซิน เท่านั้น

ทันที่กระบอกแก๊สน้ำตา ร่วงลงมาด้านหน้าขบวนราวห่าฝน

พร้อมเสียงปะทุของอาวุธปืนจากอีกฟากหนึ่งของถนนสายเดียวกัน สีหน้าทุกคนส่อความกังวลเต็มเปี่ยม

แต่จาล ซิน กลับตะโกนเสียงดัง ชัดเจน “พวกเราสู้ใช่ไหม?” เรียกเสียงตะโกนตอบจากรอบข้าง “สู้!สู้!”

เมียะ ตู เพื่อนชายรุ่นพี่วัย 23 ปี ที่อยู่ด้วยกับเธอในนาทีนั้น บอกว่า นั่นแหละ จาล ซิน ผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจที่แท้จริงให้เกิดขึ้นได้เสมอ

เขายืนยันว่า ไม่เคยพบใคร ไม่ว่าหญิงหรือชาย กล้าและเด็ดเดี่ยวเหมือนเธอมาก่อน

ครั้งหนึ่งหลายคนโดนแก๊สน้ำตาเข้าเต็มหน้า ไม่มีน้ำชะล้าง ก็เป็นจาล ซิน อีกนั่นแหละที่ตัดสินใจตวัดเท้าเตะท่อเอสลอนส่งน้ำแตกกระจาย ได้น้ำมาล้างพิษแก๊สน้ำตา

เมียะ ตู บอกว่า จาล ซิน นึกถึงคนอื่นก่อนตัวเองเสมอ แม้ตอนที่ตำรวจเริ่มระดมยิงเธอยังอดเป็นห่วงเพื่อนอย่างเขาไม่ได้

“เธอบอกผมว่า นั่งลง! จะโดนลูกปืนเอา ทำยังกะอยู่บนเวทียังงั้นแหละ!” เมียะ ตู บอกกับผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ “เธอใส่ใจที่จะปกป้องคนอื่นๆ อยู่ตลอดเวลา”

เขาเล่าว่า เจ้าหน้าที่เริ่มต้นจู่โจมด้วยแก๊สน้ำตา ที่ระดมยิงเข้าใส่แนวหน้าของผู้ชุมนุมถี่ยิบขึ้นเรื่อยๆ ถึงที่สุด ทุกคนก็หันกลับมามองหาช่องทาง ถอยฉากร่นลงมาด้านหลัง

จาล ซิน ในสภาพคุกเข่าพลิกตัวกลับแล้วขยับลุกขึ้นวิ่งกลับมาด้านหลัง เธอดึงหน้ากากผ้าป้องกันโควิดขึ้นมาปิดปากปิดจมูกกันแก๊สน้ำตาไปในตัว

ควันแก๊สน้ำตายังไม่ทันจางหาย เสียงปืนชุดหนึ่งดังขึ้นจากทางฝั่งเจ้าหน้าที่

กระสุนนัดหนึ่งทำชายหนุ่มวัย 37 ปี หมุนคว้าง ทิ้งตัวลงกับพื้น เสียชีวิต

ไม่มีใครเห็นจาล ซิน รู้อีกทีพบเธอคว่ำหน้าอยู่กับพื้นถนน บริเวณศีรษะด้านหลังทางซ้าย ต่ำจนแทบจะถึงลำคอเต็มไปด้วยเลือด

น่าเชื่อว่าจาล ซิน เสียชีวิตในทันที แม้ว่าเพื่อนผู้ประท้วงด้วยกันจะนำตัวขึ้นจักรยานยนต์โดยหนีบเธอไว้ตรงกลาง บึ่งไปหาหน่วยแพทย์สนามที่ใกล้ที่สุดก็ตามที

“เธอเป็นคนร่าเริง สนุก” เมียะ ตู บอก “รักครอบครัว แล้วครอบครัวก็รักเธอมากด้วย” เขาถอนใจ

“เราไม่ได้อยู่ในสงครามสักหน่อย ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะใช้กระสุนจริงยิงใส่พวกเรา”

“เธอคือฮีโร่แห่งชาติของเรา” มะ โช เวอู หนึ่งในเพื่อนสนิทในกลุ่มของ “แองเจิล” จาล ซิน แล้วก็เป็นอีกหนึ่งในชาวเมียนมาจำนวนนับหมื่นนับแสนที่ลุกฮือขึ้นต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้แบบเอาชีวิตเข้าแลกในนับร้อยหัวเมืองทั่วประเทศยืนยันไว้อย่างนั้น

“ด้วยการร่วมอยู่ในขบวนการปฏิวัติครั้งนี้ ผู้หญิงในเจเนอเรชั่นของเราแสดงให้เห็นแล้วว่า เรากล้าไม่แพ้ผู้ชาย”

ลินเล วะดี อายุ 19 เพื่อนสนิทวัยเดียวกันของ “แองเจิล” บอกว่า การสูญเสียจาล ซิน ไปทำให้กลุ่มเพื่อน

ทั้งกลุ่มขาดสีสันและความสนุกสนานไปมาก

“เสียเพื่อนอย่างนี้ไปไม่ดีต่อทั้งกลุ่มเพื่อนของเราแล้วก็ไม่ดีต่อประเทศชาติอีกต่างหาก นี่แหละที่ทำให้เราเศร้าหนักมาก

“แองเจิลโกรธทุกอย่างที่ไม่เป็นธรรมที่กำลังเกิดขึ้นทั่วเมียนมาในเวลานี้เอามากๆ เธอถึงได้บอกพวกเราเสมอว่า เธอจำเป็นต้องประท้วง แล้วก็เข้าร่วมชุมนุมมาตั้งแต่วันแรก” ลินเลระบุ ย้ำด้วยว่า เธอเองยังไม่มุ่งมั่นเท่าแองเจิลด้วยซ้ำไป

นักสังเกตการณ์หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ผู้หญิงเมียนมาโดยเฉพาะในเจเนอเรชั่นเอ็กซ์-วาย-แซด ที่ “ปราศจากความกลัว” มีบทบาทสูงมากในการชุมนุมประท้วงต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้

และไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใดที่ ผู้หญิงอย่างจาล ซิน เสียชีวิตไปไม่น้อยในช่วงเดือนเศษที่ผ่านมา และผู้ชุมนุมรายแรกที่เสียชีวิตจากการปราบปรามของรัฐบาลทหาร ก็เป็นนักศึกษาหญิงวัย 20 ปี ที่ถูกยิงกะโหลกเปิดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์

แพทย์หญิง ยิน ยิน นอง คุณหมอวัย 28 ปี ที่เป็นหนึ่งในขบวนต่อต้านที่มัณฑะเลย์ บอกว่า ผู้หญิงเยาว์วัยรุ่นใหม่อย่างจาล ซิน หรือตัวเธอเอง กลายเป็นหัวหอกในการต่อต้านอำนาจเผด็จการครั้งนี้ไปแล้ว

“เด็กสาวรุ่นใหม่กลายเป็นแกนนำ กลายเป็นผู้ที่อยู่แถวหน้าของการต่อต้านในเมียนมา ด้วยเหตุที่ว่าทุกคนมีสัญชาตญาณความเป็นแม่อยู่ในตัวโดยธรรมชาติ เราไม่อยากให้คนรุ่นต่อๆ ไปในเมียนมา ถูกกัดกร่อนทำลายภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จ” ยิน ยิน นอง บอก

“เราไม่แคร์หรอกว่าชีวิตเราเองจะดับสูญหรือไม่ แต่เราใส่ใจกับคนรุ่นหลังต่อไปในอนาคต”

เช่นเดียวกับ ตินซา ชุนเลย ยี นักเคลื่อนไหววัยทีนที่เตรียมพร้อมจะออกไปร่วมชุมนุมในย่างกุ้งอีกครั้ง หลังวัน “ฆาตกรรมหมู่” อย่างน้อย 61 ศพทั่วประเทศ ตามสถิติที่บันทึกไว้ของ โฟร์ติฟาย องค์กรเพื่อการกุศลในเมียนมา

“ประชาชนไม่มีวันถอยหลัง ไม่มีทางยอมแพ้” เธอบอก “เมื่อย่างเท้าออกจากบ้าน เรายึดถือกันในใจแล้วว่าเราคือศพดีๆ นี่เอง

“เรารู้ว่าเรากำลังต่อสู้อยู่กับอะไร คนพวกนี้ก็คือกลุ่มก่อการร้ายในเครื่องแบบดีๆ นี่เอง”

ตอนที่กลุ่มเพื่อนพ้องและสหายร่วมรบบนท้องถนนของแองเจิล เรียงรายเข้าไปร่ำลาศพของเธอเป็นครั้งสุดท้ายนั้น ทุกคนตั้งใจร้องเพลงประท้วงอมตะของเมียนมาให้เธอเป็นพิเศษ

“กะบา มะ เจ บู” คือชื่อเพลงเพลงนั้น เพลงที่แปลงจากท่วงทำนอง “ดัสต์ อิน เดอะ วินด์” เพลงประท้วงตะวันตกในปี 1977 ที่เคยโด่งดังมาตั้งแต่สมัยการต่อสู้ของนักศึกษาในปี 1988 และถูกแบนเด็ดขาดมานานในเมียนมา เพิ่งกลับมาฮิตสุดขีดอีกครั้งในการต่อต้านอำนาจเผด็จการนานเดือนเศษหนนี้

ชื่อเพลงนี้ในภาษาอังกฤษคือ “We Won’t Forget Until the End of the World”

เราไม่มีวันลืมพวกเขาตราบสิ้นโลก ไม่ใช่หรือ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image