คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: 10 ปี ในความทรงจำ

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: 10 ปี ในความทรงจำ

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 แผ่นดินไหวครั้งที่รุนแรงที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยบันทึกไว้ เขย่าพื้นที่นอกชายฝั่งจังหวัดฟุคุชิมะและจังหวัดใกล้เคียง แล้วก่อให้เกิดสึนามิมหึมา กวาดทำลายชีวิตผู้คนไปมากกว่า 18,000 คน

ยิ่งไปกว่านั้น คลื่นยักษ์ในครั้งนั้นยังเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดภาวะ เมลท์ดาวน์ รุนแรงขึ้นภายในเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุคุชิมะ ไดอิจิ

ชาวเมืองโดยรอบเกือบครึ่งล้านคน พลัดพรากไปจากถิ่นเกิดและแหล่งทำมาหากิน อยู่อาศัยและเติบใหญ่ หลายแสนคนในจำนวนนั้น ไม่เคย “กลับบ้าน” มาอีกเลย

รัฐบาลญี่ปุ่นใช้งบประมาณในการปฏิสังขรณ์เชิงกายภาพในพื้นที่ไปแล้วมากกว่า 30 ล้านล้านเยน (ราว 8.6 ล้านล้านบาท) หลายสถานที่ได้รับการบูรณะ อีกหลายสถานที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ทดแทน

Advertisement

กระนั้น คัตซูอิ ฮิราซาวะ รัฐมนตรีกิจการปฏิสังขรณ์ของญี่ปุ่น ที่รับผิดชอบในการสร้างอาคารสถานที่ใหม่ขึ้นเพื่อทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้น ยอมรับว่า ญี่ปุ่น ลงทุนน้อยกว่านั้นมาก เพื่อการฟื้นฟูบูรณะชีวิตของผู้คน

อย่างเช่น การให้บริการปรึกษาด้านสุขภาพจิต เพื่อลดหรือลบความเจ็บปวดทรมานจากเหตุการณ์เมื่อ 10 ปีก่อน เป็นต้น

ทำอย่างไร ถึงสามารถจะคืนหัวใจให้กับผู้คน เพื่อคืนผู้คนให้กับตัวเมือง เพื่อชำระคราบทะมึนของโศกนาฏกรรมชวนสลดที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ

Advertisement

อาจบางที นี่คือเป้าหมายสำคัญต่อไปสำหรับฟุคุชิมะ เพื่อคืนชีวิตชีวาให้กับหลายเมืองในจังหวัดนี้

คืนหัวใจอบอุ่นให้กับผู้คนในโศกนาฏกรรมซ้ำซ้อนครั้งนั้นอีกคำรบหนึ่ง

10 ปีที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่ ยาสุโอะ ทากามัตสึ ในวัย 64 ปี ทำจนเป็นกิจวัตร ก็คือ เฝ้ามองหา ยูโกะ ภรรยาที่หายไปจากชีวิตตนแบบเฉียบพลัน ในทันทีที่สึนามิกวาดทำลายมาถึงโอนากาวะ เมืองในจังหวัดมิยาหงิ

ค้นหาไม่หยุดหย่อน ไม่ยอมยุติ ทั้งบนผืนแผ่นดินและใต้ผืนแผ่นน้ำสีคราม

ยาสุโอะดิ้นรนเพื่อการนี้กระทั่งสามารถสอบได้ใบอนุญาตดำน้ำ ดำลงไปใต้ผืนน้ำเพื่อมองหาบุคคลอันเป็นที่รัก

เขาทำเช่นนี้ทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละอย่างน้อย 1 ครั้ง

กระทำต่อเนื่องกันมานานโดยไม่มีขาดตอนเป็นเวลา 7 ปีเต็ม นับจำนวนการดำได้ 470 ครั้ง และยังไม่จบลงเพียงแค่นั้น

“ผมคิดอยู่ในใจเสมอมาว่า เธอคงอยู่ที่ไหนสักแห่งใกล้ๆ นี่แหละ”

นอกจากการดำโดดเดี่ยวแล้ว ยาสุโอะยังใช้เวลาอีกเดือนละครั้ง เพื่อเข้าร่วมกับทางการท้องถิ่นของเมือง

ในปฏิบัติการค้นหาใต้น้ำ มองหาซากชิ้นส่วนศพของผู้คนราว 2,500 คนที่ยังไม่มีแม้แต่ศพมายืนยันการเสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมหนนั้น

ยาสุโอะบอกว่า ตัวเมืองโอนากาวะที่เสียหายไปในเหตุการณ์นั้น ส่วนใหญ่ได้รับการบูรณะเรียบร้อยแล้ว

“แต่การฟื้นฟูหัวใจของผู้คนต่างออกไป…คงต้องใช้เวลามากกว่านี้”

ผลลัพธ์จากการค้นหาไม่หยุดหย่อน ยาสุโอะพบอัลบั้มภาพ, เสื้อผ้า และข้าวของอื่นๆ อีกมากมาย น่าเสียดายที่ว่า ในจำนวนของเหล่านั้น ไม่มีแม้แต่ชิ้นเดียวที่เป็นของยูโกะ

แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เขายืนยันที่จะมองหาผู้เป็นภรรยาต่อไป

“ครั้งสุดท้ายที่เธอส่งข้อความมาหาผม เธอถามว่า

‘คุณโอเคดีมั้ย? ฉันอยากกลับบ้าน'” เขาบอกด้วยน้ำเสียงเรียบๆ “ผมแน่ใจว่าตอนนี้เธอยังคงอยากกลับบ้านมา”

นั่นคือสิ่งที่ผลักดันให้ยาสุโอะ ทากามัตสึ ยังคงมองหาต่อไป

“จนกว่าร่างกายผมจะขยับเขยื้อนไม่ไหว”!

คลื่นยักษ์ที่ถาโถมเข้าใส่เมืองริกุเซนตาคาตะ ในวันนั้นไม่เพียงใหญ่โตมหึมา ยอดคลื่นยังสูงถึง 17 เมตร

พลานุภาพของมันทำลายล้างทุกอย่างบนเส้นทางที่กรายผ่านไป

รวมทั้งกิจการซอสถั่วเหลืองของครอบครัว มิชิฮิโร่ โคโนะ

อานุภาพทำลายล้างมากมายมหาศาลเสียจน ทุกอย่างที่ประกอบกันขึ้นเป็นโรงงานผลิตซอสถั่วเหลืองอายุยาวนานถึง 2 ศตวรรษถูกทำลายไปหมดจด

รวมทั้งยีสต์ถั่วเหลืองพิเศษสำหรับใช้ในการหมักซอสสูตรเฉพาะของโรงงาน

มิชิฮิโร่เพียงหนึ่งเดือนหลังเหตุการณ์ ต้องเข้ารับสืบทอดกิจการของครอบครัว เพื่อให้การผลิตซอสถั่วเหลืองเก่าแก่ของจังหวัดอิวาเตะนี้สามารถดำรงต่อไปได้

การสามารถดำรงธุรกิจนี้ต่อไปได้ ถือเป็น “ปาฏิหาริย์” สำหรับมิชิฮิโร่ เพราะยีสต์ถั่วเหลือง องค์ประกอบสำคัญของการหมักซอส รอดจากสึนามิมาได้ เป็นเพราะเขาเคยนำส่วนหนึ่งไปบริจาคให้กับห้องปฏิบัติการทดลองของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเท่านั้น

เขาเริ่มต้นสร้างธุรกิจครอบครัวขึ้นมาใหม่ สร้างโรงงานใหม่ เพื่อทดแทนโรงงานที่ถูกทำลายไปบนพื้นที่เดิม ซึ่งครอบครัวเคยเริ่มต้นกิจการไว้ตั้งแต่เมื่อปี 1807 ในชื่อบริษัท ยากิซาวะ โชเต็น

โรงงานแห่งใหม่กำหนดจะแล้วเสร็จต่อมาในปีนี้ เมื่อทุกอย่างเริ่มต้นอีกครั้ง คือห้วงเวลาสำคัญในชีวิตของมิชิฮิโร่ โคโนะ เพราะเป็นห้วงเวลาที่เขามองเห็นได้ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้าเขาสามารถทำสิ่งที่มีความหมายให้กับบ้านเกิดเมืองนอนได้

“ผมเกิดที่นี่ แล้วตอนนี้ผมก็สามารถเริ่มต้นทุกอย่างได้อีกครั้ง”

แต่เขาอาจต้องทำมากขึ้นกว่าเดิม เพราะริกุเซนตาคาตะ ในวันนี้ ประชากรลดลงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ จำนวนที่หลงเหลือมีไม่เกิน 18,000 คนเท่านั้น เขาคงต้องสร้างเครือข่ายธุรกิจที่ครอบคลุมไปไกลกว่าในเมืองนี้

ในความทรงจำมิชิฮิโร่ รำลึกได้ว่า หลายๆ คนที่ตกเป็นเหยื่อของวินาศภัยธรรมชาติในครั้งนี้ เป็นคนที่เขาเคยหารือเรื่องแผนรังสรรค์ริกุเซนตาคาตะให้กลายเป็นเมืองยิ่งใหญ่ด้วย

“ผมอยากทำหลายๆ อย่างให้แล้วเสร็จ เมื่อเจอะเจอพวกเขาในโลกหน้าพวกเขาจะบอกได้ว่า ‘ทำดีมาก คุณทำได้แล้ว'”

เนาโตะ มัตสึมูระ เป็นชาวนา อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปจากฟุคุชิมะ ไดอิจิ ไม่ถึง 10 กิโลเมตร

เมื่อ 10 ปีก่อน เขาฝืนคำสั่งอพยพของทางการ เพื่ออยู่กับไร่นาของตนเอง ทำหน้าที่ปกป้องที่ดินผืนเดียวที่มีกับปศุสัตว์จำนวนหนึ่งของเพื่อนบ้าน ซึ่งถูกทอดทิ้งเอาไว้

ขณะนี้เนาโตะยังคงอยู่ที่เดิม ที่นี่

เมื่อปี 2017 พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองโทมิโอกะ ได้รับอนุญาตให้เปิดเป็นที่อยู่อาศัยได้อีกครั้ง กระนั้น เนาโตะ ยังรู้สึกได้ว่า เพื่อนบ้านที่แวดล้อมอยู่โดยรอบยังไม่กลับมา เพราะอย่างนั้น ยามค่ำคืนในพื้นที่นี้ ถึงได้มืดสนิท มืดดำราวกับหมึก

สถานีรถไฟหลักในโทมิโอกะ เมืองในจังหวัดฟุคุชิมะ ได้รับการบูรณะใหม่เรียบร้อยแล้ว ศูนย์การค้าแห่งใหม่ ก่อสร้างแล้วเสร็จนานแล้วเช่นกัน

แต่มีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของชาวเมืองแต่เดิม 16,000 คนเท่านั้นที่หวนกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่

เหตุผลก็คือ กัมมันตภาพรังสีที่เคยเป็นต้นเหตุของการอพยพ ยังคงทำให้หลายส่วนของเมืองยังไม่สามารถใช้อยู่อาศัย หรือทำกินได้ บ้านเรือน ร้านรวงจำนวนไม่น้อยยังคงยืนร้าง ไร้ผู้คน

“เมืองนี้ กว่าจะสร้างขึ้นมาเป็นตัวเป็นตนได้ ต้องใช้เวลาหลายร้อยปีในประวัติศาสตร์ แต่ถึงตอนทำลาย มันถูกทำลายได้ในชั่วพริบตา” เนาโตะ ในวัย 62 ปีบอก “ผมโตที่นี่…แต่ตอนนี้ไม่มีอะไรเหลือให้รู้ว่าเป็นบ้านเกิดอีกแล้ว”

ทางการใช้เวลา 6 ปี ถึงได้ยกเลิกคำสั่งให้อพยพ ด้วยเหตุนี้หลายคนที่อพยพออกไปในครั้งนั้นจำเป็นต้องหางานใหม่และหาที่อยู่อาศัยใหม่ ตั้งรกรากในที่อื่นๆ

ราวครึ่งหนึ่งของผู้อพยพจากโทมิโอกะบอกในการสำรวจครั้งหนึ่งว่า ได้ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่กลับมา

พื้นที่ส่วนหนึ่งของเมือง ยังคงถูกกำหนดเป็นเขต “ห้ามเข้า” เพราะถูกใช้เป็นสถานที่เก็บ “ขยะกัมมันตภาพรังสี” ที่หลงเหลือจากความพยายามขจัดการปนเปื้อนในพื้นที่ของตัวเมือง

“ใครล่ะอยากจะกลับมาใช้ชีวิตในพื้นที่อย่างนี้?” เนาโตะถาม “ผมมองไม่เห็นอนาคตของเมืองนี้เอาเลย”

10 ปีที่ผ่านมา เพื่อนๆ ของเนาโตะ มัตสึมูระ ไม่ใช่ผู้คน แต่เป็นฝูงวัวจำนวนหนึ่ง ลูกม้าตัวหนึ่ง กับสุนัขล่าสัตว์ของครอบครัวอีกฝูงหนึ่ง ซึ่งช่วยเขาขับไล่หมูป่าที่ล่วงล้ำเข้ามาทำลายพืชพรรณในไร่นา

ฝูงวัวคือมรดกตกทอดจากฟาร์มปศุสัตว์ของเพื่อนบ้านที่เขาตัดสินใจเก็บมาเลี้ยงเอาไว้ เป็นการประท้วงคำสั่งของทางการ ที่สั่งให้ฆ่าทิ้งไปนับพันนับหมื่นก่อนหน้านี้ ด้วยกังวลว่าจะมีการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี

ฤดูใบไม้ผลิปีนี้ เนาโตะ มัตสึมูระ ยังคิดเริ่มต้นกิจการของตนเองใหม่อีกครั้ง เป็นครั้งแรกที่เขาจะลองทำนา ปลูกข้าวใหม่อีกครั้ง พร้อมๆ กับขยายการเลี้ยงผึ้งที่ทำอยู่ออกไปอีกด้วย

เขาไม่รู้ว่าผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นอย่างไร เพียงแน่ใจได้ประการหนึ่งเท่านั้นว่า

“ผมจะอยู่ที่นี่ ตราบจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image