คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : อนาคตเมียนมา จะอยู่ใต้เงื้อมมือใคร?

รอยเตอร์

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : อนาคตเมียนมา จะอยู่ใต้เงื้อมมือใคร?

สถานการณ์ “กลียุค” ในเมียนมา เพื่อนบ้านด้านตะวันตกของไทย ดำเนินมาใกล้ 2 เดือนเข้าให้แล้ว ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายขยายตัวให้มองเห็นอนาคตได้แต่อย่างใด

การหันปากกระบอกปืนเข้าหาเพื่อนร่วมชาติด้วยกันเองยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังสุดทหารเมียนมาฉลอง “วันกองทัพเมียนมา” ด้วยการสังหารผู้ประท้วงไปถึง 114 ราย

กลายเป็นสถิติ “ฆาตกรรมรายวัน” ที่สูงที่สุดครั้งใหม่นับตั้งแต่ มิน อ่อง ลาย รัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ที่คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2020 ที่ผ่านมาด้วยสัดส่วนที่นั่งสูงถึง 83 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา สะท้อนข้อเท็จจริงให้เห็นอย่างน้อย 2-3 ประการ

Advertisement

ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ กองทัพเมียนมายึดอำนาจครั้งนี้โดยไม่ได้ใคร่ครวญ ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน รอบด้านนัก เมื่อผสมผสานเข้ากับข้อเท็จจริง

ประการถัดมานั่นคือ ชาวเมียนมายืนหยัดต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างเด็ดเดี่ยวและเด็ดขาด ยอมสูญเสียแม้กระทั่งชีวิต แต่ไม่ยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จของกองทัพอีกต่อไป

ความมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยวของประชาชนเมียนมาสร้างความประหลาดใจให้กับกองทัพพม่าที่คิดเอาแต่ได้เพียงว่า ขอเพียงแค่ส่งกำลังเข้ายึดอำนาจรัฐทุกอย่างก็จะเรียบร้อย เพราะสิ่งที่คาดคิดเอาไว้ห่างไกลจากสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมากมายเหลือเกิน

Advertisement

ข้อเท็จจริงประการสุดท้ายก็คือ “ขบวนการอารยะขัดขืน” (Civil Disobedience Movement-CDM) เพื่อต่อต้านการรัฐประหารในเมียนมาเข้มแข็งเหลือเกิน แข็งแรงและมีพลังเกินกว่าที่รัฐบาลทหารและกองทัพคาดหมายไว้

ซีดีเอ็มขยายวงอย่างรวดเร็วออกไปครอบคลุมทั่วกระทรวงสำคัญๆ ของประเทศ ตั้งแต่กระทรวงการคลัง, สาธารณสุข เรื่อยไปจนถึงกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการต่างประเทศ

การหยุดงานของหน่วยงานอย่าง ธนาคารกลางแห่งเมียนมา และธนาคารพาณิชย์ต่างๆ กลายเป็นปัญหาสำหรับรัฐบาลมากขึ้นทุกวัน จนนักสังเกตการณ์บางคนเชื่อว่ารัฐบาลกำลังเผชิญกับ “วิกฤตสภาพคล่อง” ซ้ำซ้อนกับวิกฤตทางการเมืองอยู่ในเวลานี้

การค้าระหว่างประเทศตกอยู่ในสภาพถูก “แช่แข็ง” จากทั้งการหยุดงานประท้วงและจากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกิจการธุรกิจเป็นระยะๆ การส่งออกลดฮวบลงเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นในเวลานี้

การนัดหยุดงานและปฏิเสธจะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลทหารของบรรดาบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศ ส่งผลถึงกับทำให้โรงพยาบาลมากถึง 2 ใน 3 ของโรงพยาบาลทั่วประเทศ ไม่สามารถดำเนินกิจการที่เหมาะสม

สำหรับสถานพยาบาลได้ในท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เป็นอีกวิกฤตทับซ้อนอยู่กับวิกฤตการณ์อื่นๆ ของเมียนมา

น่าเสียดายที่ทหารเมียนมาไม่ได้คำนึงถึงหลายอย่างหลายประการเหล่านี้ อย่างน้อยก็ในเวลานี้ สิ่งที่ มิน อ่อง ลาย และคณะนายทหารมองเห็น เป็นเพียงปัญหาเฉพาะหน้าที่ว่า ทำอย่างไรถึงจะรวบอำนาจมาไว้อยู่ในมืออย่างเบ็ดเสร็จ ยุติการต่อต้านขัดขืนทั้งต่อหน้าและลับหลัง

นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไม การฆ่าฟันอย่างไร้เหตุผล ไร้สติ จึงยังคงดำเนินต่อไปในเมียนมา จนยอดผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมไต่ขึ้นสู่ระดับเกินครึ่งพันอย่างรวดเร็ว

และทำให้ทั้งกองทัพเมียนมาตกอยู่ในสภาพ “มีไปไม่มีกลับ” ไม่มีการอ่อนข้อ ไม่มีการเจรจา ไม่สนใจแม้จะมีเสียงประณามจากทุกสารทิศก็ตาม

จนถึงขณะนี้ นักวิเคราะห์และนักสังเกตการณ์ทั่วไปยังคงลงความเห็นว่า สถานการณ์ในเมียนมาในยามนี้มีเงื่อนไขและปัจจัยผันแปรมากมายหลายอย่างจนไม่สามารถลงเอยในสภาพหนึ่งสภาพใดได้ทั้งสิ้น

เมียนมาอาจตกกลับไปอยู่ภายใต้อำนาจเด็ดขาดของกองทัพอีกครั้ง เหมือนเมื่อคราวที่ นายพล เน วิน รัฐประหารแล้วรวบอำนาจทุกอย่างอยู่ในกำมือนานหลายทศวรรษ

มีความเป็นไปได้ไม่น้อยว่า กองทัพอาจอาศัยภาวะวิกฤตทั้งหลายในยามนี้กับเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นข้ออ้างในการรวบอำนาจ ด้วยการสร้างภาพสร้างความเข้าใจผิดๆ ให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนว่า

ถึงเวลาต้องเลือกเอาระหว่าง สภาวะ “อนาธิปไตย” กับ “เผด็จการเบ็ดเสร็จ” แล้ว

เป็นไปได้เช่นกันที่ว่า ทุกอย่างในเมียนมาจะลงเอยเป็นไปตามเส้นทางที่ มิน อ่อง ลาย นายทหารยศพลเอกอาวุโส ที่เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารครั้งนี้กำหนดเอาไว้

นั่นคือ หลังจากผ่านการ “รักษาความสงบ” ไประยะหนึ่ง รัฐบาลทหารก็จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ขึ้น หลังจากที่เอ็นแอลดีถูกกำจัดออกจากเส้นทางการเมือง และมีการปรับปรุงกฎกติกาต่างๆ ทั้งหลายให้เอื้อต่อการที่พรรคการเมืองที่กองทัพหนุนหลังอย่างพรรคสหสามัคคีเพื่อการพัฒนา (ยูเอสดีพี) สามารถครองเสียงข้างมากได้สำเร็จ

แนวทางนี้มีความเป็นไปได้ไม่น้อย ไม่ว่าเอ็นแอลดี หรือประชาชนชาวเมียนมาจะเอาด้วยหรือไม่ก็ตามที

ปัญหาที่แท้จริงที่บั่นทอนความเป็นไปได้ของเรื่องนี้มาจากกองทัพเอง

บทเรียนที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ไม่ว่าจะดำเนินความพยายามแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและกฎเกณฑ์กติกาเพียงใด ทุกครั้งที่เปิดให้มีการเลือกตั้ง พรรคของทหารไม่เคยได้รับการต้อนรับอย่างแท้จริงจาก

ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และไม่มีวันเป็นเครื่องการันตีการได้อำนาจมาครอบครองในอนาคต

ผลการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2020 คืออุทาหรณ์สำหรับกองทัพที่ชัดเจนที่สุดแล้ว

นักสังเกตการณ์การเมืองการปกครองเมียนมาเห็นว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่สถานการณ์การเมืองถึงขั้นวิกฤตอย่างที่เป็นอยู่จะยืดเยื้อยาวนานต่อไป ซึ่งหมายความว่า การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไม่สามารถเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างที่กองทัพต้องการ แม้ว่าไม่ได้ล้มเหลวลงทั้งหมดก็ตามที

กองทัพ กับ พลเรือน กลายเป็นสองกลุ่มที่แย่งชิงอำนาจในการปกครองกันเอง ในขณะที่ต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน ซึ่งทำให้การ “เจรจาต่อรอง” ระหว่างสองฝ่ายนี้อย่างที่ หลายประเทศในกลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนเรียกร้องเอาไว้เป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง

รัฐบาลทหารตกอยู่ในสถานะเป็นรัฐบาลได้แต่ปกครองไม่ได้ ในขณะที่ขบวนการอารยะขัดขืนที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ไม่มีทางก้าวขึ้นเป็นรัฐบาลแน่นอน

นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า ยังคงมีความเป็นไปได้อยู่เช่นเดียวกันที่การรัฐประหารในเมียนมาครั้งนี้จะล้มเหลวลงโดยสิ้นเชิง ผลการเลือกตั้ง

ทั่วไปในปี 2020 ได้รับการยอมรับให้เป็นผลอย่างเป็นทางการ มีการจัดตั้งรัฐบาลเอ็นแอลดีขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่ประกาศใช้เมื่อปี 2008

หรืออาจมีรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ถูกเลือกขึ้นมาให้เป็นรัฐบาลเพื่อการถ่ายโอนอำนาจ (อีกครั้ง) เพื่อนำพาเมียนมาสู่ความเป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ อาจมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จำกัดบทบาทของกองทัพให้พ้นจากการเมือง

การตัดสินใจกระจายอำนาจทำให้รูปแบบการปกครองของประเทศอาจเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็น “สหพันธรัฐประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นรูปแบบที่บรรดาชนกลุ่มน้อยทั้งหลายในเมียนมาเรียกร้องมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกิจการเมียนมาระบุว่า การลงเอยทำนองนี้เกิดขึ้นได้ยากตราบใดที่ มิน อ่อง ลาย ยังคงอยู่ในอำนาจ และกองทัพยังคงเข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจของประเทศเหมือนที่ผ่านมา

จะให้เป็นไปได้ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายในกองทัพเมียนมา เกิดความขัดแย้งทางความคิดถึงขนาดที่มีกลุ่มต่อต้านรัฐประหารขึ้นในกองทัพที่พร้อมเข้ายึดอำนาจการคุมกำลังจากกลุ่มนายทหารชุดเดิม

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้นำชุดใหม่ของกองทัพจำต้องเต็มใจที่จะทำงาน “ภายใต้” การกำกับดูแลของรัฐบาลเหมือนกองทัพของประเทศประชาธิปไตยทั่วไป

ซึ่งหลายคนเชื่อว่ายากที่จะเกิดขึ้นได้ภายใต้บริบททางการเมืองการปกครองของเมียนมาในปัจจุบันนี้

ภายใต้สถานการณ์ในปัจจุบัน มีความสุ่มเสี่ยงเหลือหลายที่ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเมียนมาเวลานี้จะนำไปสู่สภาวะสงครามกลางเมือง

นำไปสู่สถานการณ์ที่เมียนมาด้วยกันเองจับอาวุธเข้าห้ำหั่นซึ่งกันและกันจนกว่าจะมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยอมรับและยินยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจของอีกฝ่ายหนึ่ง

เป็นสถานการณ์ที่ชวนสลดและมืดมนอย่างยิ่งสำหรับประเทศประเทศหนึ่งเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image