คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : เปิด2งานวิจัยชี้ชัด “แอสตร้าเซนเนก้า”ก่อลิ่มเลือด

An undated graphic shows imagining response of cells exposed to the AstraZeneca coronavirus disease (COVID-19) vaccine producing coronavirus native-like protein spikes. University of Southampton/via REUTERS ATTENTION EDITORS - THIS IMAGE HAS BEEN SUPPLIED BY A THIRD PARTY. NO RESALES. NO ARCHIVES. MANDATORY CREDIT.

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : เปิด2งานวิจัยชี้ชัด “แอสตร้าเซนเนก้า”ก่อลิ่มเลือด

เมื่อไม่นานมานี้รายงานผลการวิจัย 2 ชิ้น เผยแพร่ในวารสารวิชาการที่เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงการแพทย์อย่าง นิวอิงแลนด์ เจอร์นัล ออฟ เมดิซีน (เอ็นอีเจเอ็ม) เป็นงานวิจัยจากยุโรปสองชิ้น ตีพิมพ์ควบคู่กัน

เนื้อหาในรายงานสองชิ้นดังกล่าว ถือเป็นการให้คำอธิบายได้ชัดเจนที่สุดและละเอียดที่สุดว่า อะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการเกิดลิ่มเลือดขึ้นในหลอดเลือดของผู้ที่รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและผลิตโดยบริษัทยาสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน อย่าง แอสตร้าเซนเนก้า

การเกิดลิ่มเลือดในผู้ได้รับวัคซีนจำนวนหนึ่ง สร้างความปั่นป่วน สับสนให้เกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะในภาคพื้นยุโรป ซึ่งมีแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนหลัก

แม้ สำนักงานการแพทย์แห่งยุโรป (อีเอ็มเอ) จะออกมายืนยันว่า ผลลัพธ์ในการป้องกันโควิด-19 ของวัคซีนตัวนี้มีค่าสูงกว่าความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์อยู่มาก และยังเสนอแนะให้ใช้วัคซีนตัวนี้ต่อไปใน 30 ชาติของยูโรแอเรีย ที่อีเอ็มเอรับผิดชอบอยู่

Advertisement

เพียงเปิดทางให้แต่ละชาติกำหนดกลุ่มอายุที่จะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้ตามที่หน่วยงานรับผิดชอบของประเทศนั้นๆ เห็นสมควร

ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาและคลายความกังวลที่เกิดขึ้นต่อวัคซีนตัวนี้ลงได้แต่อย่างใด

วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งใช้ชื่อ “แวกซ์เซเวรีย” ในยุโรป (วัคซีนตัวเดียวกันนี้ที่ผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย ใช้ชื่อ “โควีชีลด์” ในขณะที่อีกบางประเทศเรียกง่ายๆ เพียงว่า “เอแซด” วัคซีน) ถูกมองว่าเป็น “วัคซีนชั้นสอง” ไปในหลายประเทศในยุโรป

Advertisement

ผลสำรวจความคิดเห็นในฝรั่งเศสล่าสุด แสดงว่า มีประชาชนเพียง 23 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ถือว่า “แวกซ์เซเวรีย”เป็นวัคซีนที่ปลอดภัย เทียบกับ 32 เปอร์เซ็นต์ ในเยอรมนี ในขณะที่นอร์เวย์และเดนมาร์ก ยังคงยืนกรานระงับการใช้งานต่อไป

อีเอ็มเอให้เหตุผลในการให้ใช้งาน แวกซ์เซเวรีย ต่อไปว่าหลังจากการทบทวนผลการฉีดวัคซีนตัวนี้ในอียูแล้ว พบเพียงความ “เป็นไปได้” ว่าวัคซีนตัวนี้เชื่อมโยงกับการเกิดลิ่มเลือดเท่านั้น

ไม่รู้ว่า เมื่ออ่านรายละเอียดของงานวิจัย 2 ชิ้นนี้แล้ว อีเอ็มเอจะเปลี่ยนใจเปลี่ยนการเสนอแนะของตนหรือไม่

รายงานชิ้นแรกเป็นของทีมวิจัยจากเยอรมนี นำโดย ศาสตราจารย์ แอนเดรียส กรีนาเชอร์ จากมหาวิทยาลัยการแพทย์กรีฟส์วาลด์ ในเยอรมนี เผยแพร่รายละเอียดการศึกษาวิจัยผู้ป่วย 11 ราย ในเยอรมนีและออสเตรียแบบรายคน

ผู้ป่วยทั้ง 11 คน มีอาการการเกิดลิ่มเลือดหรือธรอมโบซิสขึ้นแบบผิดปกติ บวกกับอาการเกล็ดเลือดต่ำ (thrombo cytopenia) ตั้งแต่ระดับปานกลางจนถึงขั้นรุนแรง หลังจากได้รับวัคซีนแวกซ์เซเวรียไป 5-16 วัน

ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่เคยได้รับยา “เฮพาริน” ซึ่งเป็นยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ซึ่งเป็นที่รู้กันในวงการแพทย์มานานก่อนหน้านี้ว่า เป็นตัวทำให้เกิดลิ่มเลือดและเกล็ดเลือดต่ำผิดปกติในผู้ได้รับยาเพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์ เรียกกันว่าภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากเฮพาริน (เอชไอที)

ปัญหาก็คือ ผู้ป่วยที่นำมาวิจัยทั้ง 11 คน ไม่เคยใช้หรือได้รับเฮพารินมาก่อนเลย

ผู้ป่วยทั้ง 11 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงคือ 9 คน อายุตั้งแต่ 22-49 ปี (ค่ามัธยฐานของอายุคือ 36 ปี)

ในจำนวน 11 คนนี้ มีผู้ป่วย 5 คนที่เกิดลิ่มเลือดมากกว่า 1 รูปแบบ โดยมี 9 รายที่เกิดอาการอุดตันจาก

ลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำในสมอง (ซีวีเอสที), 3 รายมีอาการหลอดเลือดแดงท้องอุดตัน (splanchnic vein thrombosis), 3 รายมีอาการโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (pulmonary embolism หรือ PE) และ 5 รายมีภาวะลิ่มเลือดกระจายในหลอดเลือด (disseminated intravascular coagulation หรือ DIC)

ในจำนวน 11 คน มีผู้เสียชีวิต 6 คน

ทีมวิจัยยังได้ตรวจสอบข้อมูลของผู้ป่วยอีก 28 คน ซึ่งเกิดภาวะลิ่มเลือดและภาวะเกล็ดเลือดต่ำ หลังได้รับวัคซีนเช่นกัน เมื่อตรวจสอบพบการเกิดแอนติบอดีหรือสารภูมิคุ้มกัน

ที่เรียกว่า เพลทเล็ท แฟคเตอร์ 4 (พีเอฟ 4) สูงผิดปกติ

พีเอฟ 4 ที่เกิดขึ้นมากนี้แสดงปฏิกิริยาไปจับตัวแบบผิดปกติกับเกล็ดเลือดหรือเพลทเล็ท ภายในเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายผลิตขึ้นเมื่อได้รับการกระตุ้นจากวัคซีน

ผลก็คือ มีการจับตัวกันขึ้นเป็นก้อน กลายเป็นลิ่มเลือด

ที่อันตรายกระจายตัวพร้อมที่จะอุดตันหลอดเลือดที่ใดที่หนึ่งในร่างกาย และเป็นที่มาของภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

กรีนาเชอร์กับทีมระบุว่า ภาวะผิดปกตินี้เทียบได้กับผู้ที่เกิดภาวะเอชไอทีหรือภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากยาเฮพารินขั้นรุนแรง แต่เช่นเดียวกัน ผู้ป่วยทั้ง 28 ราย ไม่เคยได้รับยาเฮพารินมาก่อนหน้านี้เลย

ผู้ที่ได้รับวัคซีนเหล่านี้ นอกจากจะเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำรุนแรงแล้ว ยังเกิดภาวะลิ่มเลือดกระจายในหลอดเลือด (ดีไอซี) และเกิดภาวะอุดตันแบบผิดปกติขึ้น

ข้อสรุปของทีมวิจัยของศาสตราจารย์กรีนาเชอร์ ก็คือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า คือตัวการที่ก่อให้เกิดอาการที่เหมือนกับอาการเอชไอทีขั้นรุนแรง

เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ทีมวิจัยเรียกกลุ่มอาการที่เกิดจากวัคซีนนี้ว่า “ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน-เกล็ดเลือดต่ำอันเกิดจากวัคซีน” (vaccine induced immune thrombotic thrombocytopenia) หรือ “วีไอทีที”

ในวารสารเอ็นอีเจเอ็มฉบับเดียวกัน ทีมวิจัยนอร์เวย์ นำโดยนีนา เอช. ชูลทซ์ จากออสโล ยูนิเวอร์ซิตี ฮอสพิทอล ในประเทศนอร์เวย์ นำเสนอรายงานผลการศึกษาวิจัยผู้ป่วย 5 ราย ที่เกิดภาวะลิ่มเลือดและเกล็ดเลือดต่ำ หลังจากได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว 7-10 วัน

ทั้ง 5 ราย เป็นบุคลากรสาธารณสุขอายุระหว่าง 32-54 ปี เป็นส่วนหนึ่งของผู้ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าของนอร์เวย์ทั้งสิ้นราว 132,686 คน

ในจำนวน 5 ราย มีมากถึง 4 ราย ที่เกิดอาการหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน (cerebral venous sinus thrombosis) หรือซีวีเอสที ขั้นรุนแรง ถึงขนาดเกิดอาการหลอดเลือดแตกในสมอง (intracranial hemorrhage) จนเกิดอาการเลือดคั่งตามมา สามคนในจำนวนนี้เสียชีวิต

ที่น่าสนใจก็คือ มีผู้ป่วยมากถึง 4 ราย จากจำนวน 5 รายได้รับยาในกลุ่มเฮพารินที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ (low molecular weight heparin หรือ LMWH) มาก่อนหน้าที่จะมีการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อการวิจัย

ทีมวิจัยของนอร์เวย์ ตรวจสอบพบเหมือนกับที่ทีมวิจัยของเยอรมนีพบ ก็คือ ผู้ป่วยมีพีเอฟ 4 สูงผิดปกติ มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำมาก เมื่อวิเคราะห์ต่อไปก็พบการจับตัวของสารภูมิคุ้มกันกับเกล็ดเลือดจนเป็นลิ่มเลือดเช่นเดียวกัน

ทีมวิจัยของชูลทซ์สรุปเช่นเดียวกันว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นตัวการกระตุ้นหรือเหนี่ยวนำให้เกิดการตอบสนองของภูมิคุ้มกันผิดปกติในกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ และเสนอให้ใช้คำเรียกกลุ่มอาการนี้ว่า “วีไอทีที” เช่นเดียวกัน

ชูลทซ์สรุปเอาไว้ว่า ถึงแม้จะเกิดได้ยากมาก แต่วีไอทีทีก็เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อผู้คนที่หากไม่ได้รับวัคซีนก็จะยังคงมีสุขภาพดีและอายุยังน้อย และเสริมไว้ว่า

“ผลของการศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่า วีไอทีทีอาจเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าที่พบกันในการศึกษาวิจัยเพื่อหาระดับความปลอดภัยของวัคซีนตัวนี้”

งานวิจัยทั้งสองชิ้นนี้ชี้ชัดเจนว่า วัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า คือตัวกระตุ้นให้เกิดกลุ่มอาการ “วีไอทีที” ขึ้น ทั้งยังอธิบายความถึงกระบวนการเกิดโรคดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน

กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญอีกบางคนยืนยันว่า ยังคงมีคำถามที่ต้องหาคำตอบให้กระจ่างอยู่อีกหลายคำถาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำถามที่ว่า ทำไมกรณีนี้ถึงเกิดขึ้น? เป็นการเกิดขึ้นเฉพาะกับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า

หรือเกิดขึ้นเฉพาะกับวัคซีนใดก็ตามที่ใช้เทคโนโลยีในการสร้างวัคซีนแบบเดียวกับแอสตร้าเซนเนก้ากันแน่?

แอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ในการพัฒนา ในทางวิชาการเรียกวัคซีนที่ใช้เทคนิคนี้ว่า “ไวรัล เวคเตอร์ วัคซีน”

ไวรัล เวคเตอร์ วัคซีน หมายถึง “วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ” ในการนำเอารหัสพันธุกรรมที่สร้างสไปค์โปรตีนของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ไปให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายรู้จักและกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาทำลาย

เชื้อโรค ซึ่งเท่ากับเป็นการคุ้มครองผู้ที่ได้รับวัคซีน ไม่เป็นโรคโควิด-19 นั่นเอง

ในกรณีวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า/ออกซ์ฟอร์ด ไวรัสที่ใช้เป็น “พาหะ” คือ อะดีโนไวรัส ซึ่งก่อโรคคล้ายหวัดในลิงชิมแปนซี

ไวรัล เวคเตอร์ วัคซีน ยังไม่มีการอนุมัติให้ใช้เพื่อป้องกันโรคใดๆ ในคนมาก่อนหน้าที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้ “เป็นกรณีฉุกเฉิน” เพื่อป้องกันโควิด-19

ที่ผ่านมา มีวัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีนี้เพียงอย่างเดียว

ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นการทั่วไป แต่ไม่ใช่ใช้กับคน เพราะเป็นวัคซีนเพื่อป้องกันโรคกลัวน้ำในสัตว์เท่านั้นเอง

ความสำคัญของปมเงื่อนดังกล่าวนี้ก็คือ วัคซีนแวกซ์ เซเวรีย หรือวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ไม่ใช่วัคซีนตัวเดียวที่ใช้เทคโนโลยีนี้

วัคซีน “สปุตนิค วี” ของรัสเซียก็ดี วัคซีนของบริษัท “จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน” แห่งสหรัฐอเมริกา ก็ดี ล้วนแต่ใช้เทคโนโลยีเดียวกันนี้ทั้งสิ้น

ผู้เชี่ยวชาญวัคซีนผู้หนึ่งระบุว่า รายงานทั้งสองชิ้นนี้ ไม่เพียงส่งผลให้เกิดความสงสัย ไม่แน่ใจต่อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเท่านั้น ยังกลายเป็นเงาทะมึนของความเคลือบแคลงสงสัยต่อวัคซีนอื่นที่ใช้เทคนิคเดียวกันนี้อีกด้วย

เมื่อวันที่ 9 เมษายน วันเดียวกันกับที่รายงานทั้ง 2 ชิ้นเผยแพร่ออกมา อีเอ็มเอประกาศว่า กำลังทบทวนประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนเจแอนด์เจ อยู่ในเวลานี้

เนื่องจากมีรายงานว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีน เจแอนด์เจ 4 รายเกิดภาวะลิ่มเลือดขึ้น และ 1 ในจำนวนนั้นเสียชีวิต!

คําถามสำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งเป็นปัจจัยประกอบในการพิจารณาว่าควรใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าต่อไปหรือไม่ และถ้าใช้ควรระวังอย่างไร ก็คือ คำถามที่ว่า “วีไอทีที”

ที่ว่าเกิดยากมากนั้น เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหนในจำนวนผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมดที่ผ่านมา

ซาบีน สเตราส์ ประธานคณะกรรมการประเมินความเสี่ยงและเฝ้าระวังความปลอดภัยทางยา ของอีเอ็มเอ ยอมรับว่า สัดส่วนการเกิดปัญหาดังกล่าวหลากหลายแตกต่างออกไปในหลายประเทศ “ขึ้นอยู่กับว่า ระบบการรายงานทางการแพทย์ของแต่ละประเทศ ดีมากน้อยแค่ไหน”

ในฐานข้อมูลความปลอดภัยทางยาของสหภาพยุโรป ระบุเอาไว้ว่า มีการฉีดวัคซีนนี้ไป 34 ล้านโดส ทั้งในยุโรปและสหราชอาณาจักร จนถึง 4 เมษายน

มีการรายงานการเกิดซีวีเอสที 169 กรณี และเกิดการอุดตันในหลอดเลือดช่องท้อง (เอสวีที) อีก 53 กรณี

ดร.สเตราส์บอกว่า ในเยอรมนี ซึ่งมีระบบการรายงานทางการแพทย์ที่ดี สัดส่วนของการเกิดอยู่ที่ 1 รายต่อผู้ได้รับวัคซีน 100,000 ราย หรือ 0.001 เปอร์เซ็นต์

ในขณะที่สำนักงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพและยา (เอ็มเอชอาร์เอ) ของอังกฤษ ระบุว่า ได้รับรายงานการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน จากการได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 79 คน จากการฉีดวัคซีนทั้งสิ้น 20.2 ล้านโดส นับถึง 31 มีนาคม

คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงราว 4 เปอร์เซ็นต์ โดยมีผู้เสียชีวิต 19 ราย

นี่คือโจทย์ใหญ่สำหรับหลายประเทศทั่วโลกที่ใช้หรือคาดหวังว่าจะใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นหลักในการสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ให้ประเทศตน

รวมทั้งประเทศไทย!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image