คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : โศกนาฏกรรม เมด อิน อินเดีย!

REUTERS

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : โศกนาฏกรรม เมด อิน อินเดีย!

วิกฤตโควิด-19 ที่อินเดีย กลายเป็นโศกนาฏกรรมเต็มรูปแบบไปแล้วสำหรับชาวอินเดีย เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันของอินเดีย ทำสถิติสูงที่สุดในโลกขึ้นมาใหม่ 3 วันติดต่อกัน

อินเดีย ทำลายสถิติโลกเดิมของการติดเชื้อเพิ่มในวันเดียวที่ สหรัฐอเมริกาเคยทำไว้ที่ 297,430 คนลงได้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 เมษายน เมื่อยอดติดเชื้อเพิ่มในวันเดียวทะลุผ่านหลัก 300,000 คน

วันที่ 23 เมษายนถัดมา อินเดียทำลายสถิติโลกของตัวเองลงอย่างรวดเร็ว เมื่อยอดติดเชื้อเพิ่มพุ่งขึ้นเป็น 332,730 คนต่อวัน

ก่อนที่จะทำสถิติโลกใหม่อีกครั้ง เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา ยอดติดเชื้อใหม่อย่างเป็นทางการของในรอบ 24 ชั่วโมงในวันนั้นคือ 346,786 คน!

Advertisement

จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นมากมายมหาศาล ส่งผลทั้งทรัพยากรและบุคลากรเท่าที่มีในระบบสาธารณสุขของอินเดีย ถูกสูบเหือดหายไปอย่างรวดเร็ว

ระบบสาธารณสุขทั้งระบบของที่นั่น กำลังจวนเจียนจะล่มสลายพังพาบลงอยู่รอมร่อ

โศกนาฏกรรมในชีวิตจริงที่ไม่น่า และไม่ควรจะเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นให้เห็นแก่ตา

Advertisement

ตั้งแต่ ลูกชาย พาพ่อที่อาการป่วยโควิดทรุดหนัก ใส่รถ ขับตระเวนทั่วทุกโรงพยาบาลใน รัฐมหาราษฎระ ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง คิดเป็นระยะทางกว่าร้อยกิโลเมตร

แต่หาเตียงว่างสำหรับบิดาตัวเองไม่ได้

หรือ ครอบครัวต้องกวาดเอาเพชรนิลจินดา ประดามีในบ้านออกมาขาย สำหรับเป็นทุนใช้ซื้อ ออกซิเจน ให้กับพ่อที่อาการหนักต้องใช้เครื่องหายใจ ในสนนราคาที่แพงกว่าเดิมถึง 2 เท่าตัว

โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน นิวเดลี เมืองหลวงของประเทศ ประกาศหยุดรับคนไข้ใหม่ จนกว่าจะมีออกซิเจนสำหรับเครื่องช่วยหายใจเข้ามาเพิ่มเติม

ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อใด!

ผู้ป่วยหลายคน ตกอยู่ในสภาพตะเกียกตะกาย ควานหาอากาศเข้าปอดที่อักเสบหนักเพราะเชื้อโควิด เสียชีวิตลงขณะรอคิวอยู่หน้าโรงพยาบาล

รวมทั้งรายล่าสุดอย่าง สยม นารายัน ที่ตายคารถเข็นของโรงพยาบาล คุรุ เตคะ พหาธุร ทางตะวันออกของนิวเดลี

ราช นารายัน น้องชายของผู้ตาย ออกปากต่อหน้าศพพี่ชายว่า ระบบทั้งระบบพังหมดแล้ว!

ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก บอกอย่างตรงไปตรงมาว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับอินเดียในเวลานี้คือ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ที่แสดงให้ทุกประเทศได้เห็นเป็นประจักษ์ว่า โควิด-19 ก่อให้เกิดอะไรขึ้นได้บ้าง

หากย่ามใจจนตกอยู่ในความประมาทในการรับมือ

เนื้อหาของข้อความชุดหนึ่งที่ วินัย ศรีวัสตวา ผู้สื่อข่าวอาวุโสวัย 65 ปี เผยแพร่ผ่านทวิตเตอร์ เมื่อไม่นานมานี้กำลังกลายเป็น “ไวรัล” สนั่นโลกโซเชียลที่อินเดีย

วินัย ชาวเมืองลัคเนา ในรัฐอุตตรประเทศ ทางตอนเหนือของอินเดียเริ่มต้นทวีตเมื่อคืนวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา สื่อสารโดยตรงถึง โยคี อธิตยานาถ มุขมนตรีแห่งรัฐ เนื้อหาบอกเล่าว่า ระดับออกซิเจนในเลือดของเขาลดต่ำลงมาก อยู่ที่ระดับ 52 ต่ำจากระดับของผู้คนปกติทั่วไป ซึ่งควรอยู่ในระดับระหว่าง 95 ถึง 100
ปัญหาของวินัยก็คือ เขาไม่สามารถหาเตียงผู้ป่วยได้ ไม่ว่าจะจากโรงพยาบาลใด ไม่ได้พบแม้แต่หมอหรือแม้กระทั่งการตรวจหาเชื้อเพื่อยืนยันว่า นี่คือโควิด-19 จริงๆ ท่านมุขมนตรีโยคี มีหนทางช่วยเหลืออย่างไรบ้าง?

ไม่มีคำตอบ สถานการณ์ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงตลอดคืนนั้น

เช้าวันรุ่งขึ้น หลังวินัยและลูกชายล้มเหลวกับความพยายามหาเตียงผู้ป่วยอีกคำรบ เขาทวีตข้อความขอความช่วยเหลือเดียวกันออกไปในแทบทุกภาษาถิ่นที่ใช้กันในอินเดีย

“ระดับออกซิเจนของผมตอนนี้เหลือ 50 แต่ยามที่หน้าประตูโรงพยาบาลบัลรามปุระ ไม่แม้แต่จะอนุญาตให้ผมเข้าไปด้านใน”

ทวีตนี้แพร่ออกไปทั่วอินเดีย แต่ไม่มีความช่วยเหลือใดๆ มาถึง 45 นาทีให้หลัง วินัย ทวีตข้อความสุดท้าย

“ออกซิเจนของผมเหลือ 31 แล้ว เมื่อไหร่จะมีใครช่วย?”

หนึ่งชั่วโมงหลังจากนั้น วินัย ศรีวัสตวา เสียชีวิตอยู่กับบ้านนั่นเอง

ในวันเดียวกับที่ วินัย ศรีวัสตวา เสียชีวิต ความสนใจของ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ไม่ได้อยู่ที่การแสวงหาหนทางเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด

แต่อยู่ที่การปราศรัยในการชุมนุมหาเสียงช่วยเหลือลูกพรรค ภราติยะชนตะ (บีเจพี) ในการเลือกตั้งที่เมือง อสานศล ในรัฐเบงกอลตะวันตก

การปรากฏตัวของนายกรัฐมนตรีเรียกชาวเมืองได้ถนัดใจ ผู้คนหลายหมื่นคนเดินทางมาเข้าร่วมจนแน่นขนัด ปราศจากการระแวดระวัง ไม่มีแม้แต่หน้ากากป้องกันการติดและแพร่เชื้อ

การชุมนุมใหญ่ผู้สนับสนุนพรรคบีเจพีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของขบวนรณรงค์หาเสียงของ อมิต ชาห์ รัฐมนตรีมหาดไทยของรัฐเบงกอลตะวันตกที่จัดขึ้นในเมืองสำคัญต่างๆ ทั่วทั้งรัฐมาตั้งแต่ต้นเดือน ไม่หยุดแม้พรรคคู่แข่งจะยกเลิกการชุมนุมหาเสียงไปจนหมดแล้วก็ตาม

ไม่น่าประหลาดใจที่อัตราการติดเชื้อต่อวันในเบงกอลตะวันตกพุ่งกระฉูดขึ้นตามมา จากราว 1,274 คนในวันที่ 1 เมษายน

กลายเป็น 8,419 คนเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา

นอกจากจะจัดให้มีการชุมนุมใหญ่ทางการเมืองแล้ว รัฐบาลโมดี ยังตัดสินใจอนุญาตให้มีการจัด “กุมภเมลา” เทศกาล จาริกแสวงบุญ ชำระบาป ประจำปีของบรรดาผู้นับถือศาสนาฮินดู ที่เมืองหริทวาร ในรัฐอุตตราขันธ์
ถึงขนาดซื้อโฆษณาหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ตีพิมพ์ภาพนายกรัฐมนตรียิ้มแย้มพร้อมข้อความ

“ยินดีต้อนรับ” สู่ “กุมภเมลา”

ได้ผลทันตา ภายใน 5 วันจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในเมืองหริทวารพุ่งกระฉูดขึ้นเป็นกว่า 2,000 คน จนต้องประกาศตัดทอนเทศกาลให้สั้นลงในที่สุด

ภาพที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับความชื่นชมยินดีที่ โมดี พบเห็นในการชุมนุมหาเสียง แพร่หลายอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียในเวลาเดียวกันนั้น

คิวยาวเหยียดของผู้ป่วยที่เข้าแถวเพื่อรอเตียงว่างในโรงพยาบาล ภาพผู้ป่วยที่ถูกสถานการณ์บีบบังคับจนต้องใช้เตียงร่วมกับผู้อื่น ภาพล็อบบี้ภายในโรงพยาบาลหลายต่อหลายแห่ง ถูกเปลี่ยนให้เป็นห้องพยาบาลชั่วคราวเพื่อรับมือกับผู้ติดเชื้อจำนวนมหาศาล คือหลักฐานในเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นในอินเดีย

จำนวนผู้ที่ใช้สื่อโซเชียลเพื่อร้องหาความช่วยเหลือ ถามหาเตียงและหมอ เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นเรือนพัน เรือนหมื่น

ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งคนอย่าง วี.เค. ซิงห์ นายพลเกษียณอายุ ที่ปัจจุบันคือรัฐมนตรีคมนาคมและทางหลวงในรัฐบาล

หรือกระทั่ง ลูกชายของ ประนาบ มุขขจี อดีตประธานาธิบดีอินเดี่ย ที่จำเป็นต้องทวีตร้องขอความช่วยเหลือเช่นกัน

จากประเทศที่ประกาศชัยชนะเหนือการแพร่ระบาดใหญ่ไปเมื่อต้นปี อินเดีย กลายเป็นประเทศที่ถูก คลื่นการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่สองถล่มจนตกอยู่ในสภาพหนักหนาสาหัสที่สุดของโลกในยามนี้
ระบบสาธารณสุขขนาดมหึมาของประเทศ ค่อยๆ พังทลายลงทีละเล็กทีละน้อยอย่างช่วยไม่ได้

จากประเทศที่มีครบถ้วนทุกประการ กลายเป็นประเทศที่ขาดแคลนทุกสิ่งอย่างไปภายในชั่วเวลาเพียง 2 เดือน
เตียงผู้ป่วย แพทย์และพยาบาล ออกซิเจนสำหรับเครื่องช่วยหายใจ เรื่อยไปจนถึง ฌาปนสถาน สำหรับเผาศพผู้เสียชีวิต

ที่นิวเดลี เมืองหลวงของประเทศ ยอดติดเชื้อ ณ วันที่ 19 เมษายน พุ่งขึ้นเป็นสถิติใหม่ 25,462 คน มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 161 ราย มากพอที่จะไปสมทบกับศพก่อนๆ หน้านี้ จนเกินกำลังรับของสถานประกอบพิธีฌาปนกิจ ต้องประกาศรับพนักงานเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ

รัฐบาลท้องถิ่นเดลี ต้องออกคำสั่งให้ ฌาปนสถานทั้งหลายทำงานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงเพื่อลดจำนวนศพที่กองพะเนินขึ้นเรื่อยๆ ลงให้ได้

สถานการณ์ไม่ได้แตกต่างกันมากมายนักกับที่ คุชราต รัฐบ้านเกิดของนายกรัฐมนตรี จนทำให้สื่อท้องถิ่นของอินเดีย ตั้งข้อสังเกตุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นที่ฌาปนสถานกับตัวเลขรายงานการเสียชีวิตรายวันในอินเดีย ขัดแย้งกันอย่างยิ่ง

เพื่อหาคำตอบ สื่ออินเดีย ปักหลักอยู่บริเวณหน้าฌาปนสถานกับโรงพยาบาลในแต่ละท้องถิ่น นับจำนวนศพที่เดินทางออกมาจากโรงพยาบาลไปสู่ฌาปนสถานเพื่อนำมาเทียบกับรายงานการเสียชีวิตของทางการ
แล้วพบความต่างกันหลายเท่าตัว สะท้อนถึงความตายจำนวนมากมายที่ไม่ได้ถูกระบุไว้ในรายงานของทางการ

ที่อาห์เมดาบัด เมื่อวันที่ 12 เมษายน ทางการรายงานการเสียชีวิตว่าเพิ่มขึ้น 20 ราย ในขณะที่ในวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวนับศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ได้มากถึง 63 ราย เฉพาะจากโรงพยาบาลเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
ที่เมืองโพปาล ในรัฐมัธยประเทศ รายงานการเสียชีวิตจากโควิดเมื่อวันที่ 15 เมษายนคือ 8 ราย แต่เมื่อผู้สื่อข่าวตรวจสอบข้อมูลการเผาศพจากฌาปนสถานทุกแห่งในวันนั้น ยอดเผาในวันเดียวมีมากถึง 108 ราย เป็นต้น

นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี เคยประกาศเอาไว้ว่า ด้วยศักยภาพทางเภสัชกรรมและการผลิตวัคซีนเท่าที่มี อินเดีย สามารถเป็น “ร้านขายยาของทั้งโลก” ได้

ถึงตอนนี้ คำประกาศดังกล่าวรวมทั้ง “การทูตวัคซีน” มลายหายไปอย่างเงียบๆ พร้อมกับการมาถึงอย่างอึกทึกคึกโครมของการระบาดระลอกที่ 2

ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ จนถึงมีนาคมที่ผ่านมา อินเดียส่งออกวัคซีนไปให้ประเทศต่างๆ รวมทั้งสิ้น 63.4 ล้านโดส ทั้งขายและให้เปล่า

แต่ในช่วง 19 วันแรกของเดือนเมษายน การส่งออกลดลงเหลือเพียง 1.6 ล้านโดสเท่านั้น
ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ แผนการกระจายวัคซีนภายในประเทศที่ไร้ประสิทธิภาพ ทำให้อินเดีย เพิ่งฉีดวัคซีนให้กับประชากรของตนเองไปเพียง 138 ล้านโดส แล้วก็ชะงักงัน เพราะศูนย์ฉีดวัคซีนทั่วประเทศ ไม่มีวัคซีนหลงเหลือให้ฉีด

จำนวนเท่านั้น คิดเป็นอัตราส่วนของการฉีดวัคซีนเพียง 1.6 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศเท่านั้นเอง
เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน อินเดีย จำเป็นต้องนำเข้าทั้งวัคซีน และ ทั้ง เรมเดซิเวียร์ ยาสำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19

ประเทศต้องเข้าสู่สภาวะ “ล็อคดาวน์” อีกครั้งอย่างช่วยไม่ได้

สำหรับอินเดียทั้งประเทศ ดูเหมือนราคาของความล้มเหลวหนนี้จะแพงระยับเลยทีเดียว!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image