อนาคตเศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจโลก ในทศวรรษที่ 21 (จบ)

อนาคตเศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจโลก ในทศวรรษที่ 21 (จบ)

หมายเหตุ “มติชน” เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดการสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจโลก : ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เพื่อร่วมกันระดมสมอง วางแผนเศรษฐกิจไทยให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกในอนาคต ซึ่งวิทยากร 3 ท่าน ได้แก่ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงานและผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ดำเนินรายการโดย นายอนุสนธิ์ ชินวรรโณ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจมาสรุปให้ได้รับทราบกัน

๐ทิศทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนาคตพหุภาคีหรือทวิภาคี บทบาทของความร่วมมือระดับภูมิภาคและนโยบายของไทย
ดร.บัณฑูร – เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) เรื่องที่ 7 คือเรื่องพลังงานสะอาด และ SDGs ที่ 13 เรื่องอุณหภูมิกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในอนาคตมีการคาดว่าจะเกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะนี้ผู้นำโลกทั้งสหรัฐ อียูและประเทศเอเชียตะวันออกมีการตั้งเป้าหมายลดคาร์บอนเป็น 0 ในปี 2050 เช่นเดียวกับภาคเอกชนในแผน race to zero
ประเทศไทยเริ่มปรับไปใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นเพื่อหวังจะลดคาร์บอนให้ได้มากที่สุด และไทยออกแผนพลังงานชาติซึ่งมีเป้าหมายคือลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์และใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น และจะก้าวขึ้นเป็นฮับรถยนต์ไฟฟ้า และไทยจะปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2070 energy transition smart grid renuable energy ไทยต้องเริ่มปรับตัวไปใช้พลังงานทดแทนให้มากที่สุด เพราะทิศทางในอนาคตบริษัทที่จะมาลงทุนในไทยก็ต้องการให้ใช้พลังงานสะอาดทั้งหมด

๐เป็นไปได้ไหมที่จะมีการแยกฝั่งระหว่างจีนกับสหรัฐ คิดว่าในอนาคตไทยจะต้องเลือกข้างไหม ถ้าต้องเลือกข้างเราจะต้องทำตัวอย่างไร
ดร.พิพัฒน์ – ในปัจจุบันยังไม่สามารถตัดสินได้ว่าในอนาคตจะมีการแยกฝั่งอย่างชัดเจนหรือไม่ แต่จากสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคิดว่าจะเห็นการแบ่ง supply chain มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสหรัฐพยายามตัดขาจีนทุกวิถีทางเพราะจีนกำลังเติบโต อย่างที่โทรศัพท์มือถือมีแยกแอพพ์สโตร์ หัวเว่ยสโตร์ หรือการที่สหรัฐไม่ให้ผู้ใช้งาน 5G ของหัวเว่ยเชื่อมต่อกับบางอย่างของสหรัฐ เรื่องดังกล่าวน่ากังวลทั้งในมุมเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและการต่างประเทศ ในอนาคตอาจถึงจุดที่ต้องแสดงการเลือกข้างมากขึ้นเรื่อยๆ และต้นทุนในการเลือกข้างสูงขึ้น
ดร.คิริยา – แม้ในอนาคตโลกอาจจะแบ่งเป็น 2 ค่ายแต่ 2 มหาอำนาจเห็นด้วยในเรื่องเดียวคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ส่วนกรณีที่ 2 มหาอำนาจสู้กันจะส่งผลให้ไทยและอาเซียนได้รับผลกระทบในหลายด้าน เช่น การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ เกิดการจัด supply chain ในโลกใหม่ โดยถ้าเป็นบริษัทที่ผลิตเพื่อจีนก็ไม่ย้ายออกจากจีน แต่ถ้าผลิตในจีนเพื่อส่งออกไปต่างประเทศจะย้ายไปยังประเทศแม่หรือประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่เป็นเวียดนาม ไทยเป็นอันดับ 2 ส่วนใหญ่เป็นบริษัทจีนและญี่ปุ่นที่ย้ายมาไทย เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตจากจีนออกมา สาเหตุที่เวียดนามเป็นหมุดหมายของบริษัทต่างๆ เพราะมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ ค่าแรงถูกกว่าและหลายอย่างถูกกว่าไทย จึงสามารถผลิตได้ตั้งแต่รองเท้าไปจนถึงโทรศัพท์ ส่วนในไทยจะผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีระดับกลางถึงสูง ประเด็นต่อมาคือสหรัฐไม่อยากรับคนจีนมาทำงาน เนื่องจากกลัวข้อมูลรั่วไหลเพราะกฎหมายของจีนที่สามารถเรียกข้อมูล personal data ได้ ซึ่งอาจเป็นโอกาสของคนไทยมากขึ้น ส่วนความเสี่ยงในอนาคตของไทยคือภาวะสมองไหล จากการที่คนไทยออกไปทำงานในต่างประเทศมากขึ้น

๐โมเดลการพัฒนาที่จะต้องเปลี่ยน ไทยควรจะต้องเน้นเรื่องอะไรบ้าง ในเชิงมาตรการและนโยบาย
ดร.บัณฑูร – ภาวะโลกรวน (climate change) ไม่ได้ส่งผลเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการค้าระหว่างประเทศ การเมืองระหว่างประเทศ ความมั่นคง เศรษฐกิจและอีกมากมาย ที่สำคัญคือเป็นรูปแบบการพัฒนาใหม่ที่เชื่อมระหว่างสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและพลังงาน อย่างในอียูมี green new deal ซึ่งตอบโจทย์ในเรื่องต่างๆ และเน้นไปเรื่องโลกหลังโควิด
นอกจากนี้โลกยังมีความตกลงปารีสที่จะช่วยให้โลกบรรลุเป้าหมายในเรื่องสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันมีตัวอย่างคือ บริษัทจากยุโรปจะมาตั้งโรงงานในไทยก็ต้องการให้โรงงานนั้นๆใช้พลังงานสะอาด แล้วก็จะเกิดการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นตามมา

Advertisement

ในช่วงถามตอบและข้อเสนอแนะ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงงาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นว่า จากการสัมมนาในครั้งนี้ทำให้ได้ข้อสรุปของอนาคตเศรษฐกิจโลกในสองประเด็นหลักคือ ประเด็นความขัดแย้งของจีนและสหรัฐกับมหาอำนาจตะวันตก และประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างภาวะโลกร้อนซึ่งมีผลกระทบสูงมากถึงขั้นมีการพูดถึงการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ทำให้ดร.ปิติเสนอให้มีการระดมสมองร่วมกับนักวิชาการและนักลงทุนต่างๆ ว่าในอนาคตไทยจะต้องเจอกับเหตุการณ์อะไรบ้าง เพื่อทำการวางนโยบายต่างประเทศว่าควรจะเป็นแบบใดเพื่อรับมือและป้องกันในสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป

ด้านนางบุษยา มาทแล็ง อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ มีคำถามในเรื่องของนโยบายเศรษฐกิจชีวิภาพ เศรษฐีหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy หรือบีซีจี) ของรัฐบาลไทย โดยเห็นว่าเส้นทางที่ไปสู่บีซีจีภาครัฐควรช่วยอำนวยความสะดวกบางอย่างด้วย เช่น เรื่องกฎระเบียบหรือกฎหมาย ไม่ใช่ให้ภาคเอกชนขับเคลื่อนอย่างเดียว และควรทำให้เกิดฉันทามติในสังคม เพราะจากการที่ได้พูดคุยกับภาคเอกชนพบว่า ภาคเอกชนยังมองว่าความพยายามลดการปล่อยคาร์บอนหรือการทำตามกรอบบีซีจีเป็นการลงทุนที่มีค่าใช้จ่ายสูง อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าในอนาคตไทยไม่สามารถหลีกหนีเรื่องบีซีจีหรืออีซีจีได้ จึงเห็นว่าภาครัฐควรทำโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็น Green logistics hub ของภูมิภาคหรือพื้นที่ที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

ด้านผู้แทนจากจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้ความเห็นว่า นโยบายบีซีจีต้องการดึงดูดเรื่องความร่วมมือทางเทคโนโลยีจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อมาพัฒนาเศรษฐกิจไทยแต่ก็ต้องคำนึงว่าอาจมีผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทันจึงอาจต้องการเงินทุน ระยะเวลา เทคโนโลยีเพื่อปรับตัว โดยต้องมีกรอบนโยบายที่ชัดเจน คำถามคือกระทรวงต่างประเทศจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการส่งผ่านข้อตกลงที่ไทยลงนามไว้มาปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างไร โดยเฉพาะนโยบายเพื่อตอบสนองเรื่อง SDGs

Advertisement

ดร.บัณฑูร ระบุว่าเห็นด้วยอย่างยิ่งว่ารัฐควรอำนวยความสะดวก อีอีซีจะเป็นตัวอย่างว่ารัฐจะไปถึงเป้าหมายบีซีจีได้ตามแผนหรือไม่ ส่วนบทบาทเอกชนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากการทำ CSR เป็น Core business มากขึ้น เช่นการดูแลผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ดร.กิริฎา ระบุว่าตอนนี้บริษัทใหญ่ได้นำกรอบบีซีจีไปอยู่ใน Core business แล้ว เนื่องจากการทำบีซีจีก็ได้ประโยชน์กับบริษัทด้วย เช่นการนำน้ำเสียมารีไซเคิล หรือการใช้พลังงานจากแผงโซลาเซลล์ ส่วนการทำให้ประเทศไทยใช้พลังงานสะอาดคงต้องพึ่งภาครัฐเป็นหลัก หากจะให้ภาคเอกชนวางโครงสร้างพื้นฐานคงจะเป็นไปได้ยาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image