คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : หมู่บ้าน “ฟุกเกอไร” บ้านเอื้ออาทรเก่าแก่ที่สุดในโลก

คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : หมู่บ้าน “ฟุกเกอไร” บ้านเอื้ออาทรเก่าแก่ที่สุดในโลก

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา “ฟุกเกอไร” โครงการบ้านเอื้ออาทร ที่ตั้งอยู่ในเมืองเอาก์สบวร์ก ประเทศเยอรมนี มีอายุครบรอบ 500 ปี

และได้ชื่อว่าเป็นโครงการบ้านเอื้ออาทรที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก

โครงการบ้าน “ฟุกเกอไร” สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1521 โดยจาค็อบ ฟุกเกอร์ ที่ต้องการสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้คนที่มีปัญหาด้านการเงิน

และเรียกเก็บเงินค่าเช่าเพียงปีละ 1 กิลเดอร์ หรือคิดเป็นเงินตอนนี้ก็อยู่ที่ราว 0.88 ยูโร (ราว 34 บาท) และที่สำคัญคือ ทุกวันนี้ ก็ยังคงเก็บค่าเช่าเท่าเดิมมาตลอด 500 ปี

Advertisement

โดยเงื่อนไขของผู้ที่จะมาเช่า จะต้องเป็นผู้ที่มีปัญหาด้านการเงิน แต่ต้องไม่มีหนี้สิน อาศัยอยู่ในเมืองเอาก์สบวร์กมาไม่ต่ำกว่า 2 ปี และจะต้องเป็นชาวคาทอลิก

อีกหนึ่งเงื่อนไข ที่อยู่ในข้อตกลงให้เช่า คือ ผู้เช่าจะต้องสวดมนต์ให้กับนายจาค็อบ ฟุกเกอร์ วันละ 3 ครั้ง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งในเงื่อนไขของผู้ที่จะเข้าอยู่ที่นี่

ปัจจุบัน โครงการบ้านฟุกเกอไร มีผู้อยู่อาศัยราว 150 คน ในโครงการบ้าน ฟุกเกอไร กระจายอยู่ทั่วอพาร์ตเมนต์ 140 ห้อง

แต่ละปี จะเปิดรับผู้เข้ามาอยู่อาศัยเพียง 30-40 คนเท่านั้น ตอนนี้ มีผู้ที่ต่อคิวรอเพื่อเข้าอยู่อาศัยถึง 80 คน

สิ่งที่ทำให้ผู้คนอยากอยู่ที่นี่ คือบรรยากาศที่แสนอบอุ่นของโครงการ ความปลอดภัย เพื่อนบ้าน มีโบสถ์ให้เข้า มีพื้นที่สีเขียวสำหรับผู้คนที่อาศัย และมีพื้นที่ว่างสำหรับผู้อยู่อาศัยได้มาเจอกัน

จนได้ชื่อว่าเป็น “หมู่บ้านในเมือง”

โนเอล กัวบาเดีย ผู้อาศัยวัย 27 ปี อยู่ที่ฟุกเกอไรมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น เมื่อครั้งที่แม่ของเขาต้องเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว และมีปัญหาเรื่องเงินทอง

ตอนแรก เขาก็กลัวๆ เพราะตอนนั้นคนที่อาศัยอยู่ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ

แต่เมื่ออยู่ไปอยู่มา เขาก็พบว่า ที่นี่มีสังคมที่ดีมาก มีการพูดคุยกันที่ลานกว้าง มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อนบ้านทุกคน เป็นเหมือนกับครอบครัวอีกครอบครัวหนึ่ง

และการที่ค่าครองชีพที่นี่ถูกมาก ทำให้ผู้คนมีเวลาในการไปพัฒนาด้านต่างๆ โดยไม่ต้องคำนึงถึงการที่จะต้องหาเงินมาจ่ายค่าเช่าแพงๆ

กัวบาเดีย เป็นเพียงแค่ตัวอย่างหนึ่งของคนที่อาศัยอยู่ที่ฟุกเกอไร และยังมีผู้คนอีกกว่าร้อยคน ที่ก็มีความสุขอยู่กับโครงการบ้านเอื้ออาทรแห่งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image