คอลัมน์ People In Focus : โมฮัมหมัด ฮัสซัน อัคฮุนด์ จากผู้ก่อการร้ายสู่นายกรัฐมนตรี

คอลัมน์ People In Focus : โมฮัมหมัด ฮัสซัน อัคฮุนด์ จากผู้ก่อการร้ายสู่นายกรัฐมนตรี

กลุ่มทาลิบัน ประกาศแต่งตั้ง โมฮัมหมัด ฮัสซัน อัคฮุนด์ เป็นนายกรัฐมนตรีอัฟกานิสถานคนใหม่ เมื่อวันที่ 7 กันยายน หลังจากสหรัฐอเมริกา ถอนกำลังออกจากประเทศไปอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 1 สัปดาห์

ในบรรดาผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง 33 คนในเบื้องต้น ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกลุ่มทาลิบัน ที่สู้รบกับกองทัพสหรัฐตลอดช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา และ อัคฮุนด์ ก็เป็นสมาชิกระดับสูงใกล้ชิดกับผู้ก่อตั้ง รวมถึงผู้นำกลุ่มทาลิบันในปัจจุบัน

การได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพราะประสบการณ์ในฐานะประธาน “เรห์บารี ชูรา” หรือ “เกตตา ชูรา” สภาผู้นำกลุ่มทาลิบัน อันทรงอิทธิพลที่มีหน้าที่ตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆของกลุ่มทาลิบัน หรือเปรียบได้กับ “คณะรัฐมนตรี” ก็ว่าได้

อัคฮุนด์ ยังมีประสบการณ์ในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ และรองนายกรัฐมนตรี ในยุคที่กลุ่มทาลิบันปกครองอัฟกานิสถานในช่วงปี 1996-2001 ด้วย และนั่นทำให้ “มุลลาห์ ไฮบาตุลลาห์ อัคฮุนซาดา” ผู้นำทาลิบันคนปัจจุบันเสนอชื่ออัคฮุนด์ เป็นผู้นำอัฟกานิสถานคนใหม่ ด้วยตัวเอง

Advertisement

อัคฮุนด์ เกิดในเมืองกันดาฮาร์ จุดกำเนิดของทาลิบัน เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มทาลิบัน ทำงานในฐานะที่ปรึกษาใกล้ชิดกับมุลลาห์ โอมาร์ อดีตผู้นำทาลิบันผู้ล่วงลับ

อัคฮุนด์ เป็นบุคคลที่มีรายชื่อยู่ในบัญชีผู้ก่อการร้ายขององค์การสหประชาชาติ มีบทบาทสำคัญในปฏิบัติการทำลายพระพุทธรูปแห่งบามียัน พระพุทธรูปขนาดยักษ์ ที่แกะสลักจากหินผาอายุเก่าแก่นับพันปี ในเมืองบามียัน ตอนกลางของประเทศอัฟกานิสถาน ไปเมื่อปี 2001 ด้วย นับเป็นความสูญเสียทางโบราณคดีครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลก

ผู้สังเกตการณ์ระบุว่า อัคฮุนด์ ผู้ที่มีอายุราว 60 ปีหรือมากกว่า เป็นบุคคลในสายการเมือง มีอิทธิพลทั้งฝ่ายปกครองและสามารถสั่งการกำลังพลรบได้ด้วย

Advertisement

ผู้นำทาลิบันเคยกล่าวถึง อัคฮุนด์ เอาไว้ด้วยว่า “มุลลาห์ อัคฮุนด์ ทำงานในฐานะประธานราห์บารี ชูรา เป็นเวลา 20 ปี เขามีชื่อเสียงในแง่ดี เป็นผู้นำในแนวทางศาสนามากกว่าการมีภูมิหลังทางการทหาร และเป็นที่รู้จักถึงลักษณะนิสัยและความศรัทธา”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image