โกลบอลโฟกัส : ภารกิจ 62 ล้านล้าน ของภูมิภาคอาเซียน

ภารกิจ 62 ล้านล้าน ของภูมิภาคอาเซียน

เมื่อปี 2015 ชาติใน สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ลงนามร่วมอยู่ใน “ความตกลงปารีส” ซึ่งทำขึ้นตามกรอบ“อนุสัญญา” ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่เรียกว่า อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ยูเอ็นเอฟซีซีซี)
เป้าหมายสำคัญที่เป็นรูปธรรมตามความตกลงดังกล่าวก็คือ การจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ให้อุณหภูมิของโลกโดยเฉลี่ยแล้วเพิ่มขึ้นต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิเฉลี่ยก่อนหน้ายุคอุตสาหกรรม ภายในสิ้นศตวรรษนี้
โดยจะดีที่สุดถ้าหากการเพิ่มดังกล่าว เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส!
เพื่อให้สามารถบรรลุผลลัพธ์ดังกล่าว บรรดารัฐบาลของประเทศต่างๆ รวมไปถึงบริษัทธุรกิจทั้งหลาย จำเป็นต้องบรรลุถึง ภาวะ “เน็ต-ซีโร” คือ ภาวะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ที่จะถึงนี้
ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างยิ่ง ทั้งยังต้องดำเนินการอย่างทั่วถึงและเป็นระบบ ตลอดตั้งแต่ต้นจนถึงปลายทางของห่วงโซ่อุปทาน หรือ ซัพพลายเชน ทั้งหลาย
อาเซียนเราจะทำได้หรือไม่? และจะดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร?
รายงานที่น่าสนใจฉบับหนึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อ 29 กันยายนนี้ เป็นรายงานชื่อ “อาเซียน กรีน อีโคโนมี: ออพโพจูนิตีส์ ออน เดอะ โรด ทู เน็ตซีโร” จัดทำโดย เบน แอนด์ คอมปะนี บริษัทที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการ, ไมโครซอฟท์ และ เทมาเส็ก กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของสิงคโปร์
รายงานดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า การบรรลุเป้าหมาย เน็ตซีโร นั้นไม่ได้เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงแนวทางทางเศรษฐกิจไปสู่แนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ “สะอาด” มากขึ้นกว่าที่ผ่านมาเท่านั้น
ยังจำเป็นต้องดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ลง เพื่อให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ยังคง “ขีดความสามารถในการแข่งขัน” ต่อไปได้
บทสรุปของรายงานดังกล่าว ไม่เพียงบอกเราว่า เราสมควรดำเนินการอย่างไร ในขอบเขตใด เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
ยังประเมินเอาไว้ด้วยว่า ในช่วง 10 ปีนับจากนี้ ชาติในอาเซียนจำเป็นต้องลงทุนมหาศาลถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 62 ล้านล้านบาท เพื่อการนี้
ไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะไม่เพียงแต่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีสได้เท่านั้น
ยังจะส่งผลเสียหายในทางเศรษฐกิจต่อแต่ละประเทศอย่างใหญ่หลวงอีกด้วย

******

รายงานชิ้นนี้ ระบุเอาไว้ว่าในการดำเนินการเพื่อบรรลุถึงเน็ตซีโร อาเซียน จำเป็นต้องมุ่งเน้นไปใน 3 ด้านสำคัญ ที่ประกอบด้วยดังนี้
ด้านหนึ่งคือการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานและการคมนาคมขนส่ง จากเชื้อเพลิงฟอสซิล ไปเป็นพลังงานสะอาด
ถัดมาคือ การให้คุณค่าและให้ความสำคัญต่อธรรมชาติ, สุดท้ายคือ การทำให้การทำเกษตรกรรมและการผลิตอาหารในภูมิภาค “มีประสิทธิภาพมากขึ้น” ปล่อยก๊าซเรือนกระตกลดลง และ ก่อความเสียหายให้กับสภาวะแวดล้อมให้น้อยลง
การดำเนินการทั้ง 3 ประการเหล่านั้นจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เกิดจากการเผาผลาญพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลลงราว 90 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับช่วยลดความเสียหายของสิ่งแวดล้อมจากการทำลายป่าและไฟป่า รวมถึงการทำเกษตรกรรมที่ไม่มีประสิทธิภาพทั้งหลายที่ผ่านมา
ที่สำคัญที่สุดก็คือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อุปทานสินค้าหลายอย่างมาก อาทิ ยาง, ข้าว, น้ำมันปาล์ม เรื่อยไปจนถึงสินค้าเพื่อการผลิตอย่างเช่น เซมิคอนดัคเตอร์
ห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเหล่านี้ ไม่ได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่ในเวลานี้ ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ออกสู่บรรยากาศเป็นจำนวนมาก ทำให้โลกร้อนขึ้นและส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศมากขึ้น
สภาพการณ์เช่นนั้นไม่ได้ทำให้ ประเทศในภูมิภาคหรือบริษัทต่างๆ ในภูมิภาคอยู่ในสถานะได้เปรียบ ตรงกันข้ามกลับตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบในโลกของการแข่งขัน
เพราะผู้บริโภคทั่วโลก จะยิ่งเรียกร้องต้องการให้บรรดาบริษัทที่พวกเขาเกี่ยวเนื่องด้วย ดำเนินการให้สอดคล้องกับบรรดาเป้าหมายในความตกลงปารีส มากขึ้นเรื่อยๆ
สาทิศ สังการ ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ ระบุเอาไว้ว่า
“ในขณะที่ศักยภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอยู่สูงมาก แต่ทั้งภูมิภาคกำลังเสี่ยงที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง หากเราไม่เริ่มดำเนินการเสียตั้งแต่ตอนนี้”
ที่สำคัญก็คือ หากเราเริ่มต้นเสียตั้งแต่ตอนนี้ ไม่เพียงจะช่วยให้เราก้าวสู่เป้าหมายภายใต้ความตกลงปารีสได้มากขึ้นและง่ายขึ้นเท่านั้น
แต่ยังสร้าง “โอกาส” ทางเศรษฐกิจให้กับทั้งภูมิภาคได้ ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ด้วยอีกต่างหาก
เพราะการดำเนินการเรื่องนี้ ก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ขึ้นมากมาย คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงระหว่าง 6-8 เปอร์เซ็นต์ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของภูมิภาคได้ภายในปี 2030 นี้

******

Advertisement

การลงทุนสำคัญส่วนหนึ่งของเรื่องนี้ก็คือการลงทุนเพื่อเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน จากที่เคยพึ่งพา เชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นหลัก มาเป็นพลังงานทางเลือกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น พลังงานแสงแดด, ลม, น้ำ, รวมทั้งความร้อนจากใต้พิภพ
เปลี่ยนจากการใช้น้ำมันเป็นไฟฟ้า พัฒนาระบบพลังงานให้คุ้มประโยชน์มากที่สุด สร้างระบบคมนาคมขนส่งสีเขียว พัฒนาเทคโนโลยี “คาร์บอน แคปเจอร์” และการใช้พลังงานไฮโดรเจนเป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้พลังงาน ถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับภูมิภาคที่มีประชากรรวมกันมากกว่า 600 ล้านคน ที่มีความต้องการใช้พลังงานรวมกันมหาศาล
เฉพาะปีนี้ คาดกันว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีความต้องการบริโภคไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5.4 เปอร์เซ็นต์ เป็นสัดส่วนการขยายตัวของความต้องการที่สูงที่สุดในโลก
แม้เราจะเชื่อว่า การลงทุนมหาศาล 2 ล้านล้านดอลลาร์ สามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ ก็ยังมีคำถามสำคัญตามมาอีกด้วยว่า เงินลงทุนจำนวนดังกล่าวนี้จะมาจากไหน?
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงถึงว่า ทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน ถูกโรคระบาดใหญ่ โควิด-19 เล่นงานสาหัสสากรรจ์อย่างยิ่งในขวบปีที่ผ่านมา
และแม้แต่ในรายงานชิ้นนี้ ยังระบุด้วยว่า อาเซียน ลงทุนเพื่อความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในปี 2020 เพียงแต่ 9,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้นในปี 2020

******

เดล ฮาร์ดแคสเซิส นักวิชาการจากศูนย์เพื่อนวัตกรรมยั่งยืนแห่งโลก ที่เป็นผู้อำนวยการร่วมและเป็นหุ้นส่วนของ เบน แอนด์ คอมปะนี บอกเอาไว้ว่า ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ประเมินเอาไว้ว่า ราว 40 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุนก้อนโตเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว จำเป็นต้องมาจากภาคเอกชน
“ในจำนวนเงินลงทุน 2 ล้านล้านดอลลาร์ที่ต้องลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กว่าครึ่ง เป็นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมส่วนที่เคยดึงดูดนักลงทุนเอกชนมาในอดีต ตัวอย่างเช่น ด้านพลังงานทางเลือก, ด้านการก่อสร้างและอาคารบ้านเรือนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, ด้านระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้า และอื่นๆ ทำนองนี้” ฮาร์ดแคสเซิลระบุ
ในส่วนที่นอกเหนือจากนั้น ภูมิภาคอาเซียนยังจำเป็นต้องลงทุนเพื่อ ปกป้องรักษา พื้นที่ป่าฝนเมืองร้อน, ป่าพรุ และ ป่าชายเลน ทั้งหลายเอาไว้ เพื่อดูดซับคาร์บอนมหาศาลจากบรรยากาศ และเป็นตัวยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่สำคัญ
เฉพาะส่วนที่เป็น “ต้นทุนธรรมชาติ” เหล่านี้ ก็สามารถเก็บกัก คาร์บอน ได้นับเป็นหลายพันล้านตัน ถือเป็นแหล่งสำคัญทรงคุณค่าสำหรับประเทศทั้งหลายที่เป็นเจ้าของและลงทุนเพื่อการคุ้มครองสิ่งเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไปอย่าง
ยั่งยืน ในขณะที่ดำเนินการอย่างอื่นเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกพร้อมกันไปด้วย
ที่สำคัญก็คือ การดำเนินการเรื่องนี้จะช่วยสร้าง “ตลาดคาร์บอน” ที่มีมูลค่า “หลายพันล้านดอลลาร์” ขึ้นมาอีกด้วย
บทสรุปที่สำคัญของรายงานชิ้นนี้ จบลงตรงที่ผู้เขียนชี้ชัดเจนเอาไว้ว่า ความล้มเหลวในการดำเนินการเรื่องนี้ มีแต่จะกระพือให้ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก รุนแรงมากยิ่งขึ้น
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศดังกล่าวต่อบรรดาประเทศทั้งหลายในภูมิภาคนี้ก็จะรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย
ไม่ว่าจะเป็น พายุที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น, ภาวะน้ำท่วม, ภาวะแล้งจัดและการเกิดไฟป่า รวมไปถึงปัญหาสารพัดที่จะเกิดขึ้นจากภาวะระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น
ความล้มเหลวในเรื่องนี้ จึงไม่ต่างแต่อย่างใดกับการทำร้ายตนเองสาหัสขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image