โกลบอลโฟกัส : โนเบลสันติภาพ ของ2นักสู้บนเส้นทางสื่อ

ภาพ เอพี

โนเบลสันติภาพ ของ2นักสู้บนเส้นทางสื่อ

เบริท รีส-แอนเดอร์เสน ประธานคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์ ประกาศเมื่อ 8 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า คณะกรรมการฯ เลือกที่จะมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2021 ให้กับ ผู้สื่อข่าว 2 คน “มาเรีย เรสซา” จากฟิลิปปินส์ กับ “ดมิตรี มูราตอฟ” จากรัสเซีย
เหตุผลก็คือ เพื่อเป็นการเชิดชู สดุดี “การต่อสู้” เพื่อปกปักรักษา “สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก” ที่คนทั้งสองได้แสดงออกมาอย่างมุ่งมั่นและเด็ดเดี่ยว ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมในแวดวงสื่อที่เปลี่ยนแปลงผันแปรไปในทางที่เป็นปฏิปักษ์ เข้มข้นมากขึ้นทุกที
ภาวะเบ่งบานของนักการเมือง ผู้นำทางการเมืองที่ยึดถือลัทธิอำนาจนิยม, การแพร่กระจายแบบไร้ขีดจำกัดของ “เฟคนิวส์” เพื่อบิดเบือนและก่อรูปมติมหาชนเชิงลบ ความแตกแยกในสังคมและประเทศชาติ คือรูปธรรมของปฏิปักษ์ที่ว่านั้น
รีส-แอนเดอร์เสน บอกว่า ในทัศนะของคณะกรรมการฯ “เสรีภาพในการแสดงออก” คือเงื่อนไขสำคัญที่จะนำไปสู่ “ประชาธิปไตยและสันติภาพที่ยั่งยืน”
เธอย้ำว่า
“โดยการมอบรางวัลสันติภาพให้กับผู้สื่อข่าวที่กล้าหาญและโดดเด่นอย่างยิ่ง 2 คน ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วอย่างกระจ่างชัดด้วยสัมมาชีพของพวกเขาว่า การเป็น ‘ผู้สื่อข่าว’ นั้นมีความหมายอย่างไร
และ ทำอย่างไรจึงสามารถจะแสดงออกได้อย่างเสรี ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ยากลำบากและทำลายล้างถึงขีดสุด”
ทำให้คนอย่าง มาเรีย เรสซา และ ดมิตรี มูราตอฟ เปลี่ยนสภาพเป็นสัญลักษณ์ประการหนึ่งไป
“พวกเขาคือตัวแทนของผู้สื่อข่าวทั้งมวล ผู้ซึ่งยืนหยัดเพื่ออุดมการนี้ในโลกที่ประชาธิปไตย และเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชน กำลังเผชิญกับเงื่อนไขที่เป็นปฏิปักษ์มากขึ้นทุกที”

******

ดมิตรี มูราตอฟ วัย 59 ปี ร่วมก่อตั้ง “โนวายา กาเซตา” หนังสือพิมพ์อิสระขึ้นเมื่อปี 1993 หนังสือพิมพ์ที่เขาดำรงตำแหน่งเป็น บรรณาธิการบริหาร มาจนถึงทุกวันนี้
หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์เล่มนี้ขึ้นมา ก็คือ “มิคาอิล กอร์บาชอฟ” ผู้นำคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต ที่ได้รับเลือกให้ได้รับรางวัล โนเบล สันติภาพ เมื่อปี 1990 จากการทำงานหนักเพื่อยุติ “สงครามเย็น” สานสัมพันธ์และภราดรภาพระหว่าง 2 โลกขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
กอร์บาชอฟ เจียดเงินรางวัลในครั้งนั้นมาใช้เป็นทุนเพื่อก่อตั้ง โนวายา กาเซตา นี้ร่วมกับ มูราตอฟ และพวก
เขาเลือกไม่ผิด คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์ ลงความเห็นไว้ว่า
หลายทศวรรษหลังจากการก่อตั้ง โนวายา กาเซตา “ได้ปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการพูดในรัสเซียไว้ตลอดมา ภายในเงื่อนไขที่ยิ่งนานยิ่งท้าทายมากขึ้นตามลำดับ”
สื่อที่เป็นอิสระในรัสเซีย เผชิญกับการกวาดล้างสารพัดรูปแบบมากขึ้นเรื่อย เมื่อ วลาดิมีร์ ปูติน พยายามกระชับอำนาจ ด้วยการบดขยี้ฝ่ายตรงกันข้าม ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองฝ่ายค้าน, นักเคลื่อนไหว, นักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน และภาคประชาสังคมโดยรวม
ยิ่งใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ในปี 2024 มากขึ้นเท่าใด การแทรกแซง รังควาน ยิ่งถี่ยิบมากขึ้นเท่านั้น
สื่ออิสระในรัสเซีย มักถูกป้ายสีว่าเป็น “ตัวแทนของต่างชาติ” ที่เป็นข้ออ้างสำคัญในการก่อกวนรังควาน พยายามทุกวิถีทางเพื่อคุกคามความอยู่รอดของสื่อ ผู้สื่อข่าวของสื่อเหล่านี้มักถูกก่อกวน จับกุมคุมขัง
เพื่อเอาชีวิตรอด บางคนถึงกับจำเป็นต้องหลบหนีออกนอกประเทศ
ข้อมูลของ คณะกรรมการเพื่อคุ้มครองผู้สื่อข่าว (ซีพีเจ) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่า ในช่วง 10 ปีหลังสุด คนในแวดวงสื่อในฟิลิปปินส์ ถูกสังหารไปแล้วถึง 17 ราย ในรัสเซีย ยิ่งรุนแรงกว่า ผู้สื่อข่าวที่นั่นถูกฆาตกรรมอย่างอำมหิตมากถึง 23 รายในช่วงเดียวกัน
นับตั้งแต่ก่อตั้งเรื่อยมา มีผู้สื่อข่าวของ โนวายา กาเซตา ถูกฆ่าตายไปแล้วถึง 6 ราย รวมทั้ง แอนนา โพลิทคอฟสกายา ที่รายงานสภาพการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เธอพบเห็นในแคว้นเชชเนีย ออกมาอย่างไม่พรั่นพรึง
โพลิทคอฟสกายา ถูกยิงเสียชีวิตคาที่บริเวณหน้าอพาร์ตเมนท์ที่พัก ในปี 2006
แต่หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ยังคงเดินหน้าคุ้ยเขี่ยคอร์รัปชัน, เปิดโปงกลโกงทางการเมือง, การใช้อำนาจอย่างเกินเหตุและด้วยความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรื่อยไปจนถึงพฤติกรรมของทหารในกองทัพในที่ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมทั้ง การปรากฏ “ทหารรับจ้างรัสเซีย” ขึ้นทั้งในซีเรีย แอฟริกา และอื่นๆ ต่อไป
เมื่อปี 2018 เดนิส โครอทคอฟ ผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนของ โนวายา กาเซตา ตีพิมพ์ผลงานเปิดโปงพฤติกรรมของ “เยฟเกนี โปรโกซิน” เจ้าพ่อผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจการเมืองภายใต้ระบบ “อุปถัมภ์” ของรัสเซีย
เช้าวันหนึ่ง ไม่กี่วันให้หลัง ตะกร้าใบหนึ่งถูกส่งมาถึงสำนักงานหนังสือพิมพ์ ภายในบรรจุ หัวแกะที่ถูกเชือดจนหลุดขาดจากลำตัว เลือดคล้ำเกรอะกรัง
สิ่งที่ส่งมาด้วยคือ “หรีดงานศพ” และข้อความ
“แด่บรรณาธิการ โนวายา กาเซตา ขอแสดงความยินดีกับคุณ และ โครอทคอฟ”

******

Advertisement

มาเรีย เรสซา อายุ 58 ปี ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าว “แรพเพลอร์” เมื่อปี 2011 หลังผ่านการเป็น “ผู้สื่อข่าวประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ของ ซีเอ็นเอ็น มานานถึง 20 ปี
เธอทำหน้าที่เป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของแรพเพลอร์ พร้อมๆ กับนำเสนองานเขียนแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง
ฟิลิปปินส์ ภายใต้การนำของนักการเมืองประชานิยม-อำนาจนิยมอย่าง โรดริโก ดูแตร์เต เลือก เรสซา กับ แรพเพลอร์ เป็นเป้า ซ้ำแล้วซ้ำอีก ต่อเนื่องยาวนาน
เหตุเพราะเธอและองค์กรสื่อของเธอ เผยแพร่ เปิดโปง พฤติกรรมรุนแรงละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่รัฐในการปราบปรามยาเสพติดอย่างไม่หยุดยั้ง
การตกเป็นเป้าที่ว่า อย่างเบาะๆ คือการส่งข้อความผ่านและเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ ด่าทอ ป้ายสี ก่อกวนรังควาน เรื่อยไปจนถึงขนานหนักก็คือ การฟ้องร้องดำเนินคดี
ตอนที่การรังควานผ่านสื่อสังคมออนไลน์พุ่งขึ้นถึงขีดสุด เธอเคยได้รับ “สารแสดงความชิงชัง” มหาศาล เฉลี่ยแล้ว 90 ข้อความต่อชั่วโมง!
ไม่น่าเชื่อว่า ผู้หญิงตัวเล็กๆ ดูบอบบาง สวมแว่นตาวงรีไร้กรอบ คนนี้จะมีหมายจับติดตัวถึง 10 หมาย ในช่วงระยะเวลาแค่เพียงไม่ถึง 2 ปี
ปีสองปีที่ผ่านมา เรสซา เดินเข้าๆออกๆศาลในหลายสถานที่ในฟิลิปปินส์เป็นว่าเล่น ต่อสู้กับคดีสารพัดถึง 9 คดี ตั้งแต่ที่ถูกกล่าวหาว่า “ใส่ความหมิ่นประมาท” เรื่อยไปจนถึงคดีหลบเลี่ยงภาษี
ตลอดเวลาดังกล่าว เธอยังคงความเด็ดเดี่ยว มั่นคง ต่อสู้อย่างแน่วแน่ภายใต้หลักเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในการนำเสนอความเป็นจริง
ปี 2018 นิตยสารไทม์ ยกย่องให้เธอเป็น “บุคคลแห่งปี”
มิถุนายน ปี 2020 เธอถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง ฐานหมิ่นประมาทบนโลกออนไลน์ ตามกฎหมาย “ไซเบอร์ไลเบิล” เรสซายื่นอุทธรณ์
มาเรีย เรสซา ยืนยันว่า คดีของเธอ ไม่เกี่ยวกับแรพเพลอร์เพียงลำพัง แต่ผูกพันถึงชาวฟิลิปปินส์ทุกคน
“เพราะเสรีภาพของสื่อคือรากฐานของสิทธิทุกอย่าง ทุกประการที่พวกเราทุกคนมี ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของฟิลิปปินส์”
เรสซา กับ แรพเพลอร์ เป็นหัวหอกในการตรวจสอบ บันทึกเหตุการณ์และตั้งคำถามเกี่ยวกับ การ “สังหารนอกกระบวนการยุติธรรม” ที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ภายใต้นโยบาย “สงครามกับยาเสพติด”
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา อัยการสูงสุดของ “ศาลอาญาระหว่างประเทศ” (ไอซีซี) แถลงถึงการเริ่มการกระบวนการสอบสวนต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในฟิลิปปินส์ อันเนื่องมาจาก สงครามกับยาเสพติด นี้
เพราะเชื่อว่ามี “การโจมตีต่อพลเรือนอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ” เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์

******

ที่สำนักงานใหญ่ของ ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (อาร์เอสเอฟ) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส คริสตอฟ เดลัวร์ เลขาธิการอาร์เอสเอฟ บอกว่า การได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพของผู้สื่อข่าวทั้งสอง ให้ความรู้สึก “ยินดี” และ “เร่งด่วน” ขึ้นพร้อมๆ กัน
“ยินดี” เพราะเชื่อว่ารางวัลนี้คือการแสดงความชื่นชมเป็นพิเศษ ต่อผู้สื่อข่าวทุกคนที่กำลัง “เสี่ยง” อยู่ในหลายที่หลายประเทศทั่วโลก ในอันที่ปกปักรักษาเสรีภาพของข้อมูลข่าวสารเอาไว้
“เร่งด่วน” เพราะเชื่อว่า ทศวรรษนี้คือทศวรรษชี้เป็นชี้ตายสำหรับสื่อมวลชน
เพราะสื่อมวลชนกำลังตกอยู่ในอันตราย อยู่ภายใต้การคุกคาม และกำลังอ่อนแอลงเรื่อยๆ
พร้อมๆ กับที่ ประชาธิบไตยก็อ่อนแอลง ด้วย ข้อมูลข่าวสารผิดๆ คำเล่าลือและ เฮท สปีช ทั้งหลาย!
รางวัลโนเบลสันติภาพของผู้สื่อข่าวทั้งสองนี้ คือสัญญาณเตือนให้ช่วยกัน ปกป้องสื่อมวลชนในทุกแห่งหน เดอลัวร์ เชื่ออย่างนั้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image