ที่มา | นสพ.มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | ปิยมิตร ปัญญา [email protected] |
เผยแพร่ |
คอลัมน์โกลบอลโฟกัส : “ความตกลงกลาสโกว์” สำเร็จหรือล้มเหลว?
การประชุมสุดยอดของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ ค็อป26 ที่เมืองกลาสโกว์ของสก็อตแลนด์ ใช้เวลาเตรียมการนานถึงร่วม 2 ปี
ตัวแทนของชาติสมาชิกเกือบ 200 ประเทศ เจรจาต่อรองกันอย่างหนักหน่วง เข้มข้นตลอด 13 วัน ยังไม่สามารถ “จบดีล” ได้ ต้องยืดเยื้อข้ามกำหนดเวลาปิดประชุมออกไปไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง
ผลลัพธ์ที่ได้คือสิ่งที่เรียกกันว่า “กลาสโกว์ ไคลเมท แพคท์” หรือ “ความตกลงด้านภูมิอากาศแห่งกลาสโกว์”
คำถามก็คือ “กลาสโกว์ แพคท์” นี้ สามารถช่วย “เซฟ” โลกใบนี้ไว้ได้หรือไม่
คำตอบสั้นๆ ก็คือ “ไม่” แต่จริงๆ แล้ว ก็มีน้อยคนมากที่คาดหวังว่า ค็อป26 นี้จะส่งผลให้เกิดความตกลงยิ่งใหญ่ในระดับที่ทำให้โลกอยู่รอดปลอดภัยได้อย่างแน่นอนแล้ว
เป้าหมายของการประชุมครั้งนี้ คือการพยายามกระตุ้น เร่งเร้า และหากลไกเพื่อขับเคลื่อนนานาประเทศเหล่านั้นให้ก้าวรุดหน้าไปสู่จุด ซึ่งยังคงมีเวลาเหลือที่จะเป็นไปได้ในการ “ปลดชนวน” ภาวะโกลร้อน
เป็นการเจรจาต่อรองเพื่อ “ทำข้อตกลงสุดท้าย” ที่ค้างคา คาราคาซังมาจากการประชุม “ค็อป21” ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี 2015 ซึ่งถือเป็นการประชุมที่คืบหน้าที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่โลกเคยทำได้ เมื่อ 6 ปีก่อน
รวมทั้งใช้ความตกลงปารีส เป็นพื้นฐานในการขยับก้าวไปข้างหน้าให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้มากที่สุด ดึงเอาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกลงมาให้อยู่ระดับไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนหน้ายุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
เพื่อไม่ให้ปรากฏการณ์ “โลกร้อน” ลุกลามขยายตัวกลายเป็นภัยคุกคามต่ออารยธรรมมนุษย์บนโลกนี้ไปทั้งหมด
ความพยายามดังกล่าว ประสบความสำเร็จในบางประเด็น ล้มเหลวในอีกบางประเด็น
ในขณะเดียวกัน ประเด็นที่สามารถเจรจาตกลงกันได้สำเร็จบางประเด็น ก็ยังคงความคลุมเครือเอาไว้ ในขณะที่อีกบางประเด็นยังต้องรอ “พิสูจน์” ด้วยการกระทำ ว่านานาชาติจริงจังกับคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้หรือไม่
ความสำเร็จที่ได้ในการประชุมครั้งที่ 26 ที่กลาสโกว์จึงเป็นเพียงครึ่งๆ กลางๆ ไม่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จอย่างน่าทึ่ง
บทสรุปที่ดีที่สุดสำหรับ “กลาสโกว์ แพคท์” ก็คือ คำกล่าวของ อาลก ชาร์มา ประธานการประชุมหนนี้
“ผมคิดว่า เราสามารถบอกอย่างน่าเชื่อถือได้ว่า เรายังสามารถคงเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส เอาไว้ให้เอื้อมถึงได้” แต่ขยายความเอาไว้ต่อว่า
“แต่ชีพจรของการคงอยู่ที่ว่านี้อ่อนแออย่างยิ่งแล้ว และเราจะอยู่รอดได้ก็ต่อเมื่อสามารถรักษาสัญญาที่ให้เอาไว้ให้ได้เท่านั้น”
******
ความสำเร็จหนึ่งที่น่าสนในของการเจรจาที่กลาสโกว์ ก็คือ นี่เป็นเวทีเจรจาครั้งแรกสุด ที่ลงเอยด้วยการบรรจุเอาถ้อยคำซึ่งเรียกร้องให้บรรดานานาประเทศ ลดการพึ่งพาถ่านหิน และลดการสนับสนุนต่อเชื้อเพลิงฟอสซิลลง
ทั้งสองอย่างนั้นนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า เป็นตัวเร่ง ตัวผลักดันหลักให้เกิดภาวะโลกร้อนจากฝีมือของมนุษย์ขึ้นมามากที่สุด
ความตกลงกลาสโกว์ เดิมที เรียกร้องให้ผู้ที่ร่วมลงนามในความตกลงนี้ค่อยๆ ลดการใช้พลังงานถ่านหินลง จนยุติในที่สุด คำที่ใช้ในแถลงการณ์ความตกลงตามนัยยะก็คือ “เฟสเอาท์” (phase out)
แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าที่จะมีการประกาศความตกลง อินเดีย ชาติที่ใช้ถ่านหินมากที่สุดในโลกชาติหนึ่ง รวมทั้งยังอยู่ระหว่างการขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ร่วมกับชาติที่ต้องพึ่งพาถ่านหิน อีกบางประเทศอย่างเช่น จีน แสดงท่าทีคัดค้านประเด็นนี้อย่างแข็งขัน
อินเดีย เสนอให้ใช้คำว่า “เฟสดาวน์” (phase down) แทนที่ เพื่อแสดงนัยเพียงว่า จะมีการลดการใช้ถ่านหินลง แต่จะไม่ลดลงถึงระดับยุติเด็ดขาดแต่อย่างใด
สุดท้ายแล้ว ตัวแทนเจรจาของนานาชาติที่ผิดหวังอยู่บ้าง ก็ยังคงยินยอมตามให้แก้ไขถ้อยคำดังกล่าว เช่นเดียวกับการเพิ่มคำว่า “ที่ไม่มีประสิทธิภาพ” ลงไปในวลี “ให้ลดระดับการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล” จนกลายเป็น “ให้ลดระดับการอุดหนุนที่ไร้ประสิทธิภาพต่อเชื้อเพลิงจากฟอสซิลลง” ในที่สุด
ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของการเจรจาในการประชุมครั้งต่อไป ที่อียิปต์จะเป็นเจ้าภาพ
ว่าจะให้นิยามคำ “ที่ไร้ประสิทธิภาพ” และ “เฟสดาวน์” ว่าคืออย่างไรกัน
******
ที่ประชุมกลาสโกว์ ยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า บรรดาพันธะกรณีที่ประเทศทั้งหลายประกาศเป็นคำสัญญาว่าจะปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเวทีประชุมค็อป 26 นั้น ยังห่างไกลจากระดับที่เพียงพอต่อการแน่ใจได้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม
ประเทศส่วนใหญ่ พยายาม “ปรับปรุง” พันธะสัญญาของตนในการประชุมครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา และ จีน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น 2 ชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก หรือ 27 ชาติสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) ก็ตามที
บางประเทศ อย่างเช่นอินเดีย ประกาศมาตรการเพิ่มเติมในที่ประชุม ในขณะที่บังเกิดมี “ความตกลงคู่ขนาน” ขึ้นระหว่างการประชุม โดยการผลักดันของ อังกฤษ ที่เป็นเจ้าภาพ ส่งผลให้เกิดดีล สำคัญอย่างเช่น การประกาศยุติการตัดไม้ทำลายป่า, การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า, การดำเนินความพยายามเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง 30 เปอร์เซ็นต์ และการดำเนินการเพื่อเปิดทางให้มีการลงทุนเพื่อต่อต้านภาวะโลกร้อนของภาคธุรกิจเอกชนเป็นต้น
แต่ นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเมินแล้วบอกว่า ตามคำสัญญาที่ทุกประเทศให้ไว้นั้น จะทำให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 2.4 องศาเซลเซียส
โดยมีข้อแม้ด้วยว่า ทุกประเทศที่ให้สัญญา ดำเนินการตามพันธะของตนอย่างเคร่งครัด ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนว่าเป็นเช่นนั้น
เพราะการประกาศเป้าหมายของแต่ละประเทศ ทำให้ผลรวมผิดไปจากเป้าหมายไปไกลมากเช่นนี้ ทำให้ที่ประชุมจำเป็นต้องหากลไก เพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อแต่ละประเทศมากขึ้นในอนาคตอันใกล้
ที่ประชุมแก้ปัญหานี้ด้วยการกำหนดให้รัฐบาลของแต่ละประเทศ ปรับปรุงพันธะสัญญาว่าด้วยการกำหนดเป้าหมายลดภาวะโลกร้อนของตนเสียใหม่ให้ดีขึ้น “ภายในสิ้นปีหน้า” นี้ แทนที่จะเป็น “ทุกๆ 5ปี” เหมือนอย่างที่กำหนดไว้ในความตกลงปารีส
ความล้มเหลวที่จะกำหนด และดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าลดภาวะโลกร้อนดังกล่าวจะส่งผลร้ายแรงต่อมนุษยชาติ
นักวิทยาศาสตร์ ชี้ว่า หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นจนถึงระดับเป็นอันตราย ก่อให้เกิดภาวะแล้งเข็ญ, พายุใหญ่ที่ร้ายแรง คลื่นความร้อน และ ไฟป่า
ทั้งหมดจะรุนแรงและถี่ยิบขึ้นมากกว่าที่โลกเผชิญอยู่ในเวลานี้มาก
******
ความตกลงกลาสโกว์ ยังคงล้มเหลวในอันที่จะทำให้ข้อเรียกร้องของบรรดาประเทศกำลังพัฒนา ที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยมาก แต่ต้องแบกรับภาระในระดับหายนะ อันเนื่องมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ ให้ประเทศมั่งคั่งเหล่านั้น “รับผิดชอบ” ในการกระทำของตน เกิดเป็นความจริงขึ้นมา
เท่าที่ข้อตกลงกลาสโกว์ ทำได้ก็คือ “เรียกร้องให้บรรดาภาคีที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ให้ อย่างน้อยที่สุดเพิ่มความพยายามร่วมกันในการจัดหาเงินทุนสภาพภูมิอากาศเป็นสองเท่า สำหรับให้ภาคีที่เป็นชาติกำลังพัฒนาใช้ในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระหว่างปี 2019-2025”
ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่ไม่เลวเลยทีเดียวแม้จะยังอยู่ห่างจากความต้องการของชาติกำลังพัฒนาอยู่อีกไกลมากก็ตาม
ความตกลงกลาสโกว์ ยังเป็นความตกลงครั้งแรกสุด ที่มีการพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า “ความสูญเสียและความเสียหาย” ที่บางประเทศกำลังเผชิญอยู่อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และได้เรียกร้องมาเป็นเวลานานปี ให้มีการจ่ายเงินชดเชยกรณีนี้
แต่กล่าวจนถึงที่สุดแล้ว ภายใต้ความตกลงกลาสโกว์ ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า การที่ชาติกำลังพัฒนา “ตกลงที่จะเปิดเจรจาหารือ” ต่อเนื่องต่อไปในประเด็นนี้เท่านั้น
ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่า การเจรจาที่ว่านั้น จะนำไปสู่อะไร!
สิ่งที่เป็นรูปธรรมชัดเจนกว่า ก็คือการกำหนดกฏเกณฑ์สำคัญ ที่จะช่วยทำให้ “ตลาดคาร์บอนเครดิต” เกิดและเบ่งบานได้ในอนาคต
ที่ประชุมตกลงกันได้เรื่อง “ภาษี” ของการซื้อขายคาร์บอนเครดิต หลังจากที่ขัดแย้งกันมานาน โดยให้ตกลงเก็บภาษีคาร์บอน เพื่อนำไปสมทบกองทุนเพื่อการปรับตัวของประเทศกำลังพัฒนาต่อไป ยกเว้นในกรณีที่เป็นการซื้อขายเครดิตระหว่างรัฐต่อรัฐแบบทวิภาคี
นอกจากนั้นยังตกลงกันได้ในเรื่อง “การนับคาร์บอนเครดิต” ด้วยการตกลงตามข้อเสนอของญี่ปุ่น ที่ให้ชาติมั่งคั่งที่เป็น “ผู้ซื้อ” นับคาร์บอนเครดิตเป็นของตนเอง ในขณะที่ชาติผู้ขาย ต้องปรับลดคาร์บอนเครดิตในส่วนของตนเอง
เพื่อป้องกันการนับซ้ำ ที่จะส่งผลให้เกิดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แท้จริงรุนแรงมากขึ้น
ว่ากันว่า เพียงแค่ตกลงกันได้ในเรื่องนี้ ก็อาจทำให้เกิดตลาดคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศขึ้นมาและเบ่งบานกลายเป็นตลาดมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ในอีกไม่ช้าไม่นาน