โกลบอลโฟกัส : โศกนาฏกรรมที่พรมแดน กลับก็ไม่ได้ ไปก็ไม่ถึง!

ภาพเอพี

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : โศกนาฏกรรมที่พรมแดน กลับก็ไม่ได้ ไปก็ไม่ถึง!

ไม่ใช่เรื่องยากที่จะมองหาจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมสักเรื่อง แต่ที่ยากเย็นกว่า และน่าเศร้าอย่างยิ่งก็คือ โศกนาฏกรรม บางเรื่องดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด

กรณีผู้อพยพที่บริเวณพรมแดนด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเบลารุสกับโปแลนด์ เป็นโศกนาฏกรรมประการหนึ่ง ซึ่งไม่มีใครรู้ว่า จะยุติลงอย่างไรและเมื่อใด

จะมีคนอีกกี่มากน้อยสังเวยชีวิตตัวเองให้กับโศกนาฏกรรมครั้งนี้อีกหรือไม่?

แต่หลายคนปักใจเชื่อว่า จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในการเลือกตั้งทั่วไปในเบลารุสเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา

Advertisement

อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ประธานาธิบดีอำนาจนิยมของเบลารุส ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ท่ามกลางความกังขาของผู้คนในประเทศ ที่ก่อหวอดประท้วง ต่อต้านการกลับมามีอำนาจใหม่อีกครั้งแบบน่าเคลือบแคลงของผู้นำรายนี้

ลูคาเชนโก ใช้ “ไม้แข็ง” กำราบผู้ชุมนุมประท้วงผลการเลือกตั้ง กวาดจับขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยเข้าคุกไปมากกว่า 35,000 คน

สหภาพยุโรป (อียู) ลงโทษ ผู้นำและรัฐบาลเบลารุสสืบเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อกดดันให้ รัฐบาลกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย ยอมรับฟังเสียงทักท้วงของประชาชน

Advertisement

ไม่นานหลังจากนั้น เกิดเส้นทางประหลาดเส้นทางหนึ่งขึ้น รู้จักกันทั่วไปในหมู่ผู้อพยพ ผู้พลัดถิ่น ผู้ที่ต้องการหลบหนีจากสงคราม ความขัดแย้ง ความยากลำบากในดินแดนบ้านเกิดในชื่อ “เบลารุส รูท”

ข่าวเล่าลือสะพัดว่า “เบลารุส รูท” คือเส้นทางสำหรับอพยพเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ภายในสหภาพยุโรป (อียู) ที่สะดวกสบายที่สุด ไม่จำเป็นต้องรอนแรมเป็นแรมเดือนข้ามนานาประเทศอีกต่อไป

เพียงขึ้นเครื่องบินพาณิชย์ เดินทางจากตะวันออกกลาง มายังกรุงมินสก์ เมืองหลวงของเบรารุสได้ ก็จะสามารถ “ลักลอบ” ข้ามแดนผ่านเข้าสู่ โปแลนด์ ด่านหน้าของอียูได้โดยง่าย เพื่อขอลี้ภัยไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งในอียูที่ต้องการ

โดยเฉพาะเยอรมนีประเทศที่เป็น “ดินแดนแห่งความฝัน” ของผู้อพยพจากตะวันออกกลาง

ข่าวสะพัดที่ว่า คือที่มาของผู้อพยพจำนวนมากแห่แหนเดินทางเข้าสู่กรุงมินสก์ ที่พร้อมเปิดรับโดยยินดีประทับตราวีซา “ท่องเที่ยว” ให้กับคนเหล่านี้

จากร้อย เป็นพัน แล้วก็กลายเป็นหมื่นคน นัก “ท่องเที่ยว” เหล่านี้หลั่งไหลกันมาจาก อิรักบ้าง, ซีเรียบ้าง, ที่เป็นอัฟกานิสถานก็มีไม่น้อย

ตัวเลขที่ประเมินล่าสุดเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาก็คือ มีผู้อพยพทำนองนี้อยู่ในกรุงมินสก์ระหว่าง 15,000 คนจนถึง 20,000 คน ส่วนใหญ่มาจากอิรักและซีเรีย

พวกเขาเดินทางมาจากแบกแดด, อิสตันบุล, ดูไบ และดามัสกัส ด้วยเที่ยวบินพาณิชย์ที่มีกว่า 50 เที่ยวต่อสัปดาห์

ผู้อพยพเหล่านี้ คราคร่ำอยู่ในบริเวณใจกลางกรุงมินสก์ โดยเฉพาะสถานที่พบปะที่เป็นเหมือนศูนย์กลางอย่าง แกลเลอเรีย ช็อปปิง มอลล์

จนชาวเบลารุสบางคน เรียกย่านนี้ง่ายๆ ว่า “ลิตเติล แบกแดด”!

******

“เบลารุส รูท” แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว หลายคนเก็บกวาดเงินออมตลอดทั้งชีวิต อีกบางคนออกปากหยิบยืม สมทบกับการขายข้าวของประดามี เพื่อเดินทางไปบนเส้นทางที่ใฝ่ฝันนี้ ด้วยหวังว่าสักวันคงมีชีวิตที่ดีกว่าจมปลักอยู่กับความตายรอบตัว

หลังจากชำระเงินราว 3,500 ดอลลาร์ หรือราว 110,000 บาท สำหรับเป็นค่าเครื่องบิน ค่าวีซ่าท่องเที่ยว ซึ่งปกติแล้วมักอยู่ได้เพียง 2-3 วัน กับค่าโรงแรมที่พัก 2-3 คืนเช่นเดียวกัน หลายคนก็อยู่ในสภาพหมดเนื้อหมดตัว

มีบ้างอีกบางคนที่ยังมีหลงเหลือติดกระเป๋าอีกเล็กน้อย สำหรับไว้ “ติดสินบน” ตามรายทาง

จากกรุงมินสก์ เยื้องลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 250 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ เรียกว่า ป่า บีอัลโลวีซา เป็นป่าทึบสวยงามและโหดร้ายตามธรรมชาติ ที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติของยูเนสโก
สวยงามด้วยความเขียวขจีและความรกร้าง โหดร้ายด้วยธรรมชาติของป่าผสมผสานกับความหนาวเย็นของภูมิอากาศ อุณหภูมิยามค่ำคืน ลดลงต่ำกว่าศูนย์องศาเซลเซียสไปมาก มากพอที่จะทำให้ผู้คนหนาวเย็นจนแข็งตายได้โดยง่าย โดยเฉพาะในหน้าหนาว

ด้านหนึ่งของป่า คือพรมแดนของประเทศโปแลนด์ ด่านหน้าของสหภาพยุโรปที่ทุกคนใฝ่ฝันถึง

เมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมา ผู้อพยพจากตะวันออกลางไปชุมนุมกันอยู่ในพื้นที่ป่าแห่งนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รอคอยจังหวะ รอเวลา รอนักค้ามนุษย์นำทางลักลอบเข้าอียู อย่างที่ใฝ่ฝันเอาไว้

อียู เชื่อว่านี่คือการกระทำโดยเจตนาเพื่อตอบโต้การแซงก์ชันเบลารุสก่อนหน้านี้ โดยอาศัยผู้อพยพเป็นเครื่องมือ อย่างไร้สำนึก ไร้มนุษยธรรม

ทางการโปแลนด์ ตอบโต้สิ่งที่เรียกว่าเป็น “วิธีการไร้มนุษยธรรมของแก๊งค้ามนุษย์” ด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินตลอดแนวชายแดน และประกาศเขต “เอ็กซ์คลูชัน โซน” เขตพิเศษกว้าง 3 กิโลเมตร ขนานไปกับแนวชายแดนตลอดพื้นที่ป่า ส่งกำลังทหาร 13,000 นายเข้าไปประจำในพื้นที่ดังกล่าวเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

มีการเสริมกำลังทหารขึ้นอีกระลอกเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนนี้

ภารกิจก็คือ ผลักดันผู้อพยพทุกคนที่ข้ามแดน ข้ามรั้วลวดหนามกั้นเขตแดนเข้ามา กลับออกไปยังเบลารุส!

ภายใน “เอ็กซ์คลูชัน โซน” ที่ว่านี้เอง ที่ผู้อพยพทุกคนที่ดิ้นรนกระเสือกกระสนมาไกลมากได้ตระหนักว่า “เบลารุส รูท” ไม่ได้มีอยู่จริง

******

ยูเซฟ (นามสมมุติ) ครูวัย 48 ปี เดินทางไกลมาจากดามัสกัส ในห้วงคำนึงเต็มเปี่ยมด้วยความหวังถึงชีวิตที่ดีกว่า ไม่เพียงสำหรับตนเอง แต่สำหรับ ภรรยาและลูกอีก 2 คนที่ทิ้งไว้ในซีเรีย

เขามาถึงมินสก์ เมื่อเดือนตุลาคม กับเพื่อนๆ อีก 4 คน ผ่านกรุงเบรุต เมืองหลวงของเลบานอน ทั้งกลุ่มพบว่า การเดินทางถึงแนวชายแดนโปแลนด์ ง่ายกว่าที่คาดไว้มาก

แต่ความยากลำบากครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นเอง

ในป่า บีอัลโลวีซา พวกเขาพบกับทหารรักษาชายแดนเบลารุสกลุ่มใหญ่ ทุกคนแสดงท่าทีก้าวร้าว ตะลุยไล่ตีพวกเขากระเจิดกระเจิงแบบไม่ปรานีปราศรัย ทั้งผลัก ทั้งดัน บีบบังคับให้พวกเขาและผู้อพยพกลุ่มอื่นๆ มุ่งหน้าสู่รั้วลวดหนามที่ขึงตรึงเป็นแนวป้องกันเขตแดนโปแลนด์

“พวกมันตีเราไม่ยั้ง เพื่อนผมถึงจมูกหัก กวาดเอาเงินทั้งหมดที่เรามี พาสปอร์ต เอาไปทุกอย่างจนหมด”

ทุกคนกระจัดพลัดพราย ยูเซฟ พบกับผู้อพยพคนอื่นๆ ถึงได้รู้ว่า พวกเขากำลังอยู่ใน เอ็กซ์คลูชัน โซน พร้อมที่จะถูกผลักดันกลับได้ในทุกวินาที

ในสภาพหลงเหลือแต่ตัวเปล่าๆ อาศัยผลไม้ประดามีและน้ำลำธารในป่าประทังชีวิต ยูเซฟ เดินทางร่วมกับเด็กหนุ่มซีเรียวัย 22 ปีรายหนึ่ง พยายามผลักดันซึ่งกันและกันให้เคลื่อนไหวไม่หยุดหย่อน ก่อนที่แข็งตายเพราะความหนาวเหน็บ

“เราไม่รู้สึกตัวหรอกว่าเราเดินอยู่ แต่เราต้องเดิน นั่งเมื่อไหร่ ตายเมื่อนั้น”

เขาพยายามกลับเข้าเบลารุส 3 ครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว ทุกครั้งต้องกลับเข้ามาในป่าในสภาพบอบช้ำหนักมากขึ้นทุกครั้งไป เพราะเจ้าหน้าที่ชายแดนเบลารุส ระดมกระบองใส่ขาและแข้งของพวกเขาไม่ยั้ง ยืนกรานว่าพวกเขาต้องข้ามแดนสู่โปแลนด์

“พวกเขาไม่สนใจหรอกว่าคุณจะตายหรือเปล่า”

หลังจากทนทุกข์ทรมานในป่าอีก 5 วัน ตำรวจโปแลนด์ 2 นายพบเขาเข้าในลักษณะกระปรกกระเปรี้ย ไข้ขึ้น หน้ามืดเพราะความดันพุ่งสูง

หลายวันในโรงพยาบาล ฮัจนอฟก้า เมืองชายแดนตะวันออกของโปแลนด์ อาการเขาดีขึ้นเรื่อยๆ แต่หัวใจยังหนักอึ้ง สมองยังมึนงง ความฝันสลายมลายไปหมดสิ้น

“ตอนนี้แค่อยากกลับซีเรีย” เขาบอกน้ำตาคลอหน่วย “ไปสนามบินแล้วกลับบ้าน”

******

นายแพทย์ อาร์ซาลัน อัซซาดิน แพทย์ชาวโปแลนด์เชื้อสายเคิร์ด ในโรงพยาบาลของเมือง บีลสก์ พอดลาสกี้ พยายามให้ความช่วยเหลือผู้อพยพให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

เขาอธิบายว่า คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกหลอกให้เข้ามา “ติดกับมรณะ” จะขยับเดินหน้าก็ไม่ได้ จะถอยกลับก็เต็มไปด้วยอันตราย พวกเขามักได้รับคำบอกว่า อีกไม่กี่ชั่วโมงก็ถึงเยอรมนี

ทำให้ทุกคนตกอยู่ในสภาพไม่มีการเตรียมพร้อมใดๆ เมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ในป่าทึบหลายวันหรือหลายสัปดาห์

ว่ากันว่า มีผู้เสียชีวิตอยู่ในพื้นที่ป่าชายแดนแห่งนี้แล้ว 10 ราย แต่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งหลายเชื่อว่า ยอดเสียชีวิตจริงๆ มีมากมายกว่านั้นมาก

เพาลีนา บาวนิก แพทย์หญิงอีกคน เพิ่งพบ ผู้หญิงตั้งครรภ์ 2 คนถูกเจ้าหน้าที่เบลารุสทุบตี ขับไล่บังคับให้ปีนข้ามลวดหนามเข้ามาในโปแลนด์

น่าเศร้าที่สุดท้ายทั้งสองรายสูญเสียลูกในท้องไปจากเหตุการณ์ครั้งนี้

ทั้งอัซซาดิน และ บาวนิก พยายามยื้อคนไข้พวกเขาอยู่ในโรงพยาบาลให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ เพราะรู้ดีว่า ทันทีที่หาย คนเหล่านี้จะถูกผลักดันกลับไปเผชิญการทารุณกรรมจากเจ้าหน้าที่ชายแดนเบลารุสอีกครั้ง
ที่แย่ยิ่งกว่าก็คือ พวกเขาไม่สามารถช่วยเหลือให้คนเหล่านี้เดินทางต่อไปตามเส้นทางแห่งความฝันของพวกเขาทุกคนเช่นเดียวกัน

ไปต่อก็ไม่ได้ กลับก็ไม่ได้อีกเช่นเดียวกัน

ยูเซฟ บอกว่า ถ้ารู้ว่าความจริงเป็นเช่นนี้ หัวเด็ดตีนขาด เขาไม่มีวันเดินทางมาแน่นอน

” ช่วยบอกทุกคนที่อยากมาว่า อย่ามา! โดยเฉพาะตอนนี้หนาวแล้ว จะยิ่งแย่หนัก

“หลายคนกำลังตายอยู่ในป่านั่น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image