โกลบอลโฟกัส : เบื้องหลัง “โอเปคพลัส” ไม่เพิ่มผลผลิตน้ำมัน

ภาพรอยเตอร์

คอลัมน์โกลบอลโฟกัส : เบื้องหลัง”โอเปคพลัส” ไม่เพิ่มผลผลิตน้ำมัน

สหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โจเซฟ ไบเดน เป็นกังวลกับราคาน้ำมันอย่างหนัก

ในทางหนึ่งเนื่องจาก ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูงอย่างเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันหน้าปั้มในสหรัฐอเมริกาถีบตัวสูงขึ้นอย่างน่าใจหาย

ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ขายอยู่ตามปั้มน้ำมันทั่วไปในสหรัฐอเมริกา ที่ต่ำสุดอยู่ที่ระดับเกินกว่า 3 ดอลลาร์ต่อแกลลอน ซึ่งเป็นระดับราคาที่ใกล้เคียงกับราคาน้ำมันในประเทศไทย แต่ในบางรัฐ ราคาน้ำมันหน้าปั้ม สูงถึง กว่า 6 ดอลลาร์ต่อแกลลอน

ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาวะเงินเฟ้อในประเทศ กระเทือนไปถึงสภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

Advertisement

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการบริหารประเทศของ โจ ไบเดน และพรรคเดโมแครต

ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมกันไม่ได้ โดยเฉพาะในปีแห่งการเลือกตั้ง ที่กำหนดจะมาถึงในปีหน้านี้

ไบเดน พยายามส่งสัญญาณไปยัง กลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตน้ำมัน อย่างกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (โอเปค) กับประเทศผู้ผลิตนอกกลุ่ม รวม 38 ประเทศ ที่เรียกตัวเองว่า “โอเปคพลัส” ขอให้เพิ่มผลผลิตน้ำมันเข้าสู่ตลาดมาอย่างน้อย 2 ครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

Advertisement

เหตุผลก็คือ ความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นแล้วตามความรุดหน้าของเศรษฐกิจในหลายประเทศ ในขณะที่วัคซีน ทำให้การคุกคามจากโควิดต่อเศรษฐกิจลดน้อยลงไปมากแล้วเช่นกัน

โอเปคพลัส ยังเฉย ยืนกรานที่จะค่อยๆ เพิ่มผลผลิตเป็นรายเดือนที่ระดับ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ในทุกๆ เดือน ตามที่เคยตกลงกันไว้ต่อไป

เหตุผลที่ประกาศอย่างเป็นทางการก็คือ ต้องการให้แน่ใจจริงๆ ว่า ปริมาณน้ำมันดิบที่เคยล้นตลาดมาในช่วงวิกฤตโควิด ตั้งแต่ต้นปี 2020 เรื่อยมา หมดจากตลาดแล้วจริงๆ

โอเปคพลัสเกรงว่า หากเพิ่มผลผลิตเกินจากที่เคยวิเคราะห์กันไว้ น้ำมันดิบอาจล้นตลาดอีกครั้ง ในขณะที่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า การคุกคามจากโควิดไม่มีผลใดๆ ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้วจริงๆ

เมื่อเป็นเช่นนั้น การทำศึกในตลาดระดับโลก เพื่อควบคุมระดับราคาน้ำมันระหว่างสหรัฐอเมริกากับโอเปคพลัสก็เกิดขึ้นอย่างช่วยไม่ได้

ไบเดน สั่งการให้ปล่อยน้ำมันดิบสำรองจาก คลังปิโตรเลียมสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (เอสพีอาร์) ออกมาระลอกแรก 32 ล้านบาร์เรล และ จะมีการปล่อยระลอกที่ 2 ในวันที่ 17 ธันวาคมนี้เป็นอย่างช้า

ในขณะที่อีกหลายประเทศ ที่เป็นชาติบริโภคน้ำมันอันดับต้นๆ ของโลก ก็เตรียมพร้อม ดำเนินการสอดประสาน ปล่อยน้ำมันสำรองจากเอสพีอาร์ของตนออกสู่ตลาดเช่นเดียวกัน

สถานการณ์อาจไม่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ หาก โอเปคพลัส ตัดสินใจดำเนินการตามข้อเสนอของไบเดนก่อนหน้านี้

ทำไม โอเปคพลัส ถึงไม่เมินเฉยกับคำขอดังกล่าว?

******

อันที่จริง ไม่เพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้น หากแต่ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ก็ออกมาเรียกร้องให้ โอเปคพลัส “เพิ่มผลผลิตเพื่อให้ราคาน้ำมันลดต่ำลง” ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อย่างน้อยที่สุดก็สะท้อนความชอบธรรมในข้อเรียกร้องของประเทศที่บริโภคน้ำมันเป็นอันดับ 2 ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาอยู่ไม่น้อย

ข้อเท็จจริงจากองค์การบริหารข้อมูลพลังงานแห่งสหรัฐอเมริกา (อีไอเอ) ก็คือ ในปี 2020 ทั่วโลก บริโภคน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยราว 92.42 ล้านบาร์เรลต่อวัน

การบริโภคดังกล่าวเพิ่มขึ้นในปีนี้มาอยู่ที่ระดับ 97.53 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปีนี้ อีไอเอ ระบุ และคาดการณ์ไว้ด้วยว่า ในปี 2022 ที่กำลังจะมาถึงอยู่รอมร่อ ตัวเลขการบริโภคน้ำมันดิบทั่วโลก จะเพิ่มเป็น 100.88 ล้านบาร์เรลต่อวัน

สัดส่วนการเพิ่มผลผลิตที่ระดับ 400,000 บาร์เรลต่อวันทุกเดือน ไม่เพียงพออย่างชัดเจน

คำถามที่น่าสนใจก็คือ โอเปคพลัส ไม่ได้ตระหนักถึงตัวเลขและข้อเท็จจริงที่ว่านี้หรืออย่างไร?

หรือรับรู้ แต่ไม่สนใจ หวังแต่จะพยายามดึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกให้อยู่ในระดับสูงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้?

คำตอบก็คือ ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น

เหตุผลก็คือ ราคาน้ำมันดิบที่สูงเกินไป ไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งนั้น รวมทั้งชาติสมาชิกโอเปคพลัสด้วยเช่นเดียวกัน

ราคาน้ำมันยิ่งแพง ยิ่งเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจที่กำลังจะฟื้นตัวทั่วโลก ยิ่งเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดช้าเท่าใด ยิ่งไม่เป็นผลดีมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

เศรษฐกิจยิ่งฟุบ การบริโภคน้ำมันยิ่งน้อย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั้งหลาย

ถ้าเป็นเช่นนั้น ทำไม โอเปคพลัส ถึงไม่ยอมผลิตน้ำมันดิบเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น?

นักวิเคราะห์บางคนบอกว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะ โอเปคพลัส ไม่อยู่ในสถานะที่จะเพิ่มผลผลิตได้นั่นเอง

******

กลุ่ม โอเปคพลัส มีชาติสมาชิกอยู่ถึง 38 ประเทศก็จริง แต่ผู้ผลิตรายใหญ่ของกลุ่ม จำกัดอยู่เพียงไม่กี่ประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นสมาชิกสำคัญในกลุ่มโอเปค อีกส่วนหนึ่งก็คือ รัสเซีย ซึ่งถือกันว่าเป็นผู้ผลิตน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกกลุ่มโอเปค

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่ง หันไปตรวจสอบข้อเท็จจริงจากฝั่งผู้ผลิต แล้วฟันธงว่า ถึงแม้ โอเปคพลัส เห็นด้วยและต้องการเพิ่มผลผลิตน้ำมันให้มากขึ้นตามที่ประเทศผู้บริโภครายใหญ่ๆ ของโลกเรียกร้องและแสดงออกมาให้เห็น

โอเปคพลัสก็ ไม่สามารถจะเพิ่มผลผลิตที่ว่านั้นได้!

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความสามารถในการปั้มน้ำมันออกมาจากแหล่งเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดของโอเปคพลัส ลดน้อยถอยลงตามลำดับ

ลดลงจนไม่สามารถทำตามคำขอได้แม้อยากจะทำ

เหตุผลสำคัญอยู่ที่ กำลังการผลิตสำรอง ที่กลุ่มโอเปคพลัสมีอยู่แต่ลดน้อยลงนั้น กระจุกตัวอยู่แค่กับชาติผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ในกลุ่มโอเปคเพียงไม่กี่ชาติเท่านั้น

แม้แต่ผู้ผลิตรายใหญ่อย่างรัสเซียเอง ก็เผชิญกับปัญหายุ่งยากในการผลิตน้ำมันเพิ่มมากขึ้น เพราะแหล่งน้ำมันที่หลงเหลืออยู่ สำหรับ “เพิ่มกำลังการผลิต” นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นแหล่งน้ำมันที่ยากต่อการผลิต และไม่เพียงต้องลงทุนเพิ่มในแง่เครื่องจักรเท่านั้น ยังต้องอาศัยการลงทุนในเชิงเทคโนโลยีอีกส่วนหนึ่งด้วย

เช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นสมาชิกของโอเปคพลัส ก็ตกอยู่ในสภาพต้องดิ้นรนเพื่อปั้มน้ำมันจากใต้ดินขึ้นมาให้ได้ครบถ้วนตามโควต้าการผลิตที่ประเทศตนได้รับมานานหลายเดือนแล้ว

โอเปคพลัส โดยรวมถึงได้ตกอยู่ในสภาพ ผลิตน้ำมันดิบไม่ได้ตามโควต้าที่ได้รับ สืบเนื่องจากไม่มีศักยภาพสำรอง และไม่มีการลงทุนเพิ่มในอุตสาหกรรมน้ำมันมานาน

การลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมัน ไม่ว่าในเชิงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี รวมทั้งการสำรวจหาแหล่งน้ำมันใหม่ๆ ไม่มีมานับตั้งแต่ปี 2015 แล้ว

ข้อมูลของนักวิเคราะห์บางรายถึงกับระบุว่า กำลังการผลิตสำรองของโอเปคพลัส จริงๆแล้ว อยู่ต่ำกว่าระดับที่ทางการของแต่ละประเทศยอมรับด้วยซ้ำไป

ถามว่าทำไม ถึงไม่ปล่อยให้ประเทศที่มีกำลังการผลิตสำรองอยู่ในเวลานี้ ผลิตน้ำมันป้อนตลาดเพิ่มมากขึ้น?

คำตอบก็คือ ยักษ์ใหญ่หลายประเทศในตะวันออกกลางก็ต้องการเช่นนั้น แต่การทำเช่นนั้นก็มีค่าเท่ากับการยอมรับความจริงที่ว่า

ต่อไปนี้ ไม่มี “โอเปคพลัส” อีกต่อไปแล้ว!

******

ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ยอมรับไว้เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ว่า กำลังการผลิตสำรองของอุตสาหกรรมน้ำมัน กำลังลดลงมากขึ้นตามลำดับ เน้นให้เห็นความจำเป็นในการลงทุนเพิ่ม เพื่อให้อุตสาหกรรมสามารถตอบสนองความต้องการได้เพียงพอ

รายงานของไออีเอ เมื่อเดือนตุลาคมระบุเอาไว้ว่า เมื่อประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เพิ่มกำลังการผลิตขึ้น เพื่อป้อนน้ำมันเข้าสู่ตลาดมากขึ้น กำลังการผลิตสำรอง ก็ลดลงตามลำดับ

ตัวเลขของ ไออีเอ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ กำลังการผลิตสำรองของชาติผู้ผลิตน้ำมัน อยู่ที่ประมาณ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่พอถึงไตรมาสที่ 2 ของปี ศักยภาพการผลิตสำรองดังกล่าวลดมาลงมากกว่าครึ่ง เหลือเพียง 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน เท่านั้นเอง

อามิน นัสเซอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอารัมโก ยักษ์ใหญ่ในวงการน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย แสดงความวิตกเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า

ศักยภาพการผลิตสำรองของอุตสาหกรรมน้ำมัน ปัจจุบันนี้หลงเหลืออยู่ที่ 3-4 ล้านบาร์เรลต่อวัน อาจช่วยให้ตลาดคลายความอึดอัดด้านราคาขึ้นมาอยู่บ้าง

“แต่ที่ผมเป็นกังวลก็คือ 3-4 ล้านบาร์เรลที่ว่านั้นอาจหายไปจนหมด โดยเฉพาะเมื่อถึงปีหน้า ที่คาดกันว่า ความต้องการน้ำมันจะเพิ่มมากขึ้น”

ถามว่าทำไม ถึงไม่มีการลงทุนเพิ่มในอุตสาหกรรมน้ำมันมานานปีดีดัก จนกลายเป็นปัญหาเช่นนี้

คำตอบก็คือ ทุกคนเชื่อว่าโลกกำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานทางเลือกอย่างอื่นที่ไม่ใช่น้ำมันดิบในเร็ววัน

รายงานของ ไออีเอ เองสรุปไว้ชัดเจนเมื่อต้นปี 2021 นี้ว่า

การลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมัน ไม่จำเป็นต้องมีอีกแล้ว ตั้งแต่ปี 2021 นี้เป็นต้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image