ไทยกับสหประชาชาติ : 75 ปีแห่งความร่วมมือ

ไทยกับสหประชาชาติ : 75 ปีแห่งความร่วมมือ

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (ไอเอสซี) ร่วมกับ สมาคมสหประชาชาติแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อเรื่อง “ไทยกับสหประชาชาติ: 75 ปีแห่งความร่วมมือ” เนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปีการเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติของไทย โดยมีนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่เคยได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) พลเอกเจิดวุธ คราประยูร อดีตผู้บัญชาการวิทยาลัยเสนาธิการทหาร ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และนพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสิรฐ รองประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ร่วมบรรยายและบอกเล่าเรื่องราวบทบาทของไทยในเวทีสหประชาชาติตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รวมถึงบทบาทของไทยในด้านต่างๆ บนเวทีโลกในอนาคต โดยมีนายอนุสนธิ์ ชินวรรโณ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินรายการ
ดร.มนัสพาสน์ ชูโต นายกสมาคมสหประชาชาติแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานสัมมนาในครั้งนี้ว่า งานสัมมนาไทยกับสหประชาชาติ 75 ปีแห่งความร่วมมือจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงความสำคัญที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติเมื่อ 75 ปีที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นช่วงที่โลกร่วมกันสร้างประชาคมโลกขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกชาติแรกๆ ที่ได้แสดงบทบาทในการสร้างสังคมโลกแห่งสันติสุขขึ้นจากซากปรักหักพังของสงคราม 75 ปีที่ผ่านมาไทยได้ทำหน้าทีในฐานะสมาชิกด้วยการขับเคลื่อนกิจกรรมในทางสร้างสรรค์ตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติและข้อมติต่างๆ ที่มีขึ้นตามพลวัติระหว่างประเทศ บทบาทของไทยเป็นที่ยอมรับในทั่วโลก เช่นในบริบทการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไทยได้พัฒนาประเทศอย่างเหมาะสมกับรายได้ ทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่ และช่วยให้คนไทยได้รับการศึกษาและการทำงาน พร้อมด้วยการสาธารณสุขที่ดีและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

การทูตพหุภาคี อดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ท่านทูตสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว – การทูตมีหลายรูปแบบ ทั้งการทูตพหุภาคี การทูตทวิภาคี การทูตวัฒนธรรม การทูตสาธารณะและการทูตเศรษฐกิจ และมิติต่างๆ ของการทูตมีความส่งเสริมกันหมด เป็นเหมือนกล่องเครื่องมือสำคัญของการทูตไทย เมื่อพูดถึงการทูตพหุภาคี เวทีที่สำคัญคือสหประชาชาติและเวทีในระดับภูมิภาค การทูตพหุภาคีที่ความสำคัญคือ ต้องมีเอกภาพ กล่าวคือต้องสอดคล้องกันในทุกเวทีเพื่อให้บทบาทของเราเด่นชัด เมื่อเราได้อยู่บนเวทีสำคัญแล้ว เราจำเป็นต้องแสดงจุดยืน ตัดสินใจ ต้องชั่งผลประโยชน์ และสิ่งที่สำคัญคือต้องยึดหลักการโดยต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์ นอกจากนี้ไทยสามารถแสดงบทบาทได้โดดเด่นแม้จะเป็นประเทศขนาดเล็ก
ท่านทูตสีหศักดิ์ได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่แสดงถึงบทบาทการทูตพหุพาคีของไทย เช่น เหตุการณ์ที่กัมพูชาในช่วงสงครามเย็นที่ภูมิภาคนี้แบ่งเป็นฝั่งนิยมคอมมิวนิสต์กับไม่นิยมคอมมิวนิสต์ ในขณะนั้นอาเซียนมี 5 ประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนได้รับชัยชนะและส่งทหารเข้ายึดกัมพูชา ไทยก็ห่วงกังวลว่าจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย แต่ด้วยวิธีทางการทูต ไทยได้ขอความช่วยเหลือจากมิตรประเทศ อาเซียนได้นำดังกล่าวเสนอต่อองค์การสหประชาชาติและประณามให้เวียดนามถอยทัพออกไป ขณะเดียวกันไทยได้ดำเนินการทูตทวิภาคีควบคู่ไปด้วย เพื่อให้มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา – จีนสนับสนุนความมั่นคงของไทย สุดท้ายไทยประสบความสำเร็จในการกดดันเวียดนามออกจากกัมพูชา ต่อมาเวียดนามได้เจรจากับอาเซียนและได้ลงนามสันติภาพที่กรุงปารีสของฝรั่งเศส ก่อนที่ยูเอ็นจะเข้ามาควบคุมดูแล และสุดท้ายกัมพูชาก็ได้จัดการเลือกตั้ง
เรื่องที่ 2 คือช่วงที่ไทยได้เป็นคณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็นในปี 1986-1987 ในเดือนเมษายน ปี 1986 สหรัฐส่งฝูงเครื่องบินรบไปโจมตีลิเบีย เพื่อเป็นการตอบโต้ที่ลิเบียสนับสนุนก่อการร้าย เหตุดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายหนัก โดยเฉพาะการโจมตีที่พักของมูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำของลิเบียในขณะนั้น ส่งผลให้กลุ่มประเทศอาหรับเสนอข้อมติเข้ายูเอ็นเพื่อประณามการกระทำของสหรัฐ เพราะการโจมตีดังกล่าวไม่ได้รับอาณัติจากยูเอ็น สหรัฐพยายามขัดขวางข้อมติ ส่วนไทยที่อยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงก็ได้รับแรงกดดันพอสมควร และหลังจากพิจารณาตามหลักการแล้วก็ทำตามข้อมติของอาหรับ การตัดสินใจดังกล่าวทำให้สหรัฐไม่พอใจ อย่างไรก็ตามเราต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์และยึดหลักการที่คิดว่าถูกต้องถึงแม้จะมีผลกระทบในความสำคัญแบบทวิภาคี
อีกเหตุการณ์หนึ่งคือ เมื่อได้เป็นหนึ่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น เรื่องสิทธิมนุษยชนกลายเป็นหนึ่งในการดำเนินการเมืองระหว่างประเทศ จึงได้หารือกับคณะทำงานว่าจะหาจุดร่วมระหว่างประเทศสมาชิกได้ไหม จึงมีการร่างข้อมติเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ขาดพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน สุดท้ายข้อมติดังกล่าวได้นำเข้าพิจารณาและมีการอภิปรายทุกสองปี 3 เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราใช้การทูตพหุภาคี ทวิภาคี การทูตระดับภูมิภาคมาสนับสนุนกัน เราสามารถดำเนินการเป็นผลสำเร็จได้ ถ้าเราเป็นสะพานเชื่อมที่ดีก็สามารถมีบทบาทสำคัญได้ ปัจจุบันเชื่อว่าการทูตพหุภาคีโดดเด่นขึ้น เห็นได้จากปัญหาระดับโลกเช่น โรคระบาด สิ่งสำคัญของการทูตพหุภาคีคือ พหุภาคีนิยม ซึ่งหมายถึงการเป็นประชาคมเดียวกันและเปรียบเหมือนระเบียบของโลก โดยมียูเอ็นเป็นเสาหลัก
ขณะนี้การทูตพหุภาคีกำลังเจอความท้าทาย วิกฤตแรกคือวิกฤตความชอบธรรม 2.กระแสต่อต้านโลกาภิวัติ 3.การแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์ 4.ความท้าทายที่เกิดจากความท้าทายระดับโลกที่มีมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เรื่องเหล่านี้มีผลต่อความเข้มแข็งของระบบพหุภาคี เราจะแก้ไขปัญหานี้หรือจะปฏิรูปยูเอ็นได้อย่างไร ปัญหาคือการเมืองระหว่างประเทศทำให้ปฏิรูปยูเอ็นไม่ได้ เช่น เมื่อญี่ปุ่นจะเข้ามาจีนก็จะคัดค้าน คิดว่าในอนาคต ไทยต้องเตรียมความพร้อมด้านคน ต้องสร้างคนที่มีทักษะการทูตพหุภาคี รวมถึงสนับสนุนคนไทยให้เป็นหัวหน้าองค์กรระหว่างประเทศ ต่อมาคือความพร้อมด้านการแสดงบทบาทและการหาเอกลักษณ์ของไทย

บทบาทของไทยในสหประชาชาติ ทั้งในการรักษาสันติภาพ การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการพัฒนาระบบสาธารณสุข

Advertisement

พลเอก เจิดวุธ คราประยูร – ตลอด 75 ปีที่ผ่านมา ไทยมีความมุ่งมั่นในการรักษาสันติภาพและความมั่นคง ตลอดจนระเบียบระหว่างประเทศ เริ่มต้นที่ยุคแรกในปี 1945-1922 ไทยได้เป็นสมาชิกในปี 1946 มีความพยายามรักษาสันติภาพโดยอาศัยกฎบัตรยูเอ็น ไทยเริ่มปฏิบัติภารกิจครั้งแรกในปี 1950 ในภารกิจคาบสมุทรเกาหลีภายใต้กองกำลังของสหประชาชาติ ภารกิจที่ 2 ในช่วงปี 1989-1990 ที่ประเทศนามิเบีย ต่อมาในปี 1990 สหรัฐและชาติตะวันตกพยายามทำ new world order และบังคับให้เกิดสันติ ยุคต่อมาคือปี 1992-ปัจจุบัน เจอความขัดแย้งที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ความขัดแย้งในรัฐ การฆ่าล้างเผาพันธุ์ โดยไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำภารกิจ 22 ภารกิจทั่วโลก ต่อมาในปี 2006 ไทยได้จัดตั้งศูนย์สันติภาพ และในปี 2012 ไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการประสานงานด้านการเข้าร่วมในการปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ปัจจุบันไทยมีเจ้าหน้าที่อยู่เกาหลีใต้ นิวยอร์ก ปากีสถาน และซูดานใต้ ตลอด 75 ปีไทยทำภารกิจมากกว่า 24 ภารกิจ และส่งเจ้าหน้าที่ไปกว่า 27,000 นาย

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล – จุดเริ่มต้นของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 1988 และพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงคือ ต้องการแก้ปัญหาการปลูกฝิ่น เราได้เข้าไปแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ จุดประสงค์ของโครงการคือ การสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ โดยเริ่มจากจ้างชาวบ้านปลูกป่า ส่งเสริมการปลูกแมคคาเดเมีย และทำงานหัตถกรรม ต่อมาสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมของสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอดีซี) ได้เชิญไปทำเรื่องการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาการปลูกพืชเสพติด โดยนำโมเดลในไทยไปใช้ในเมียนมา และอัฟกานิสถานที่มีการปลูกฝิ่น นอกจากนี้ได้เป็นตัวแทนไทยในการประชุมยูเอ็นที่กรุงเวียนนาของออสเตรีย และปัจจุบันได้ทำงานกับยูเอ็นดีพี ซึ่งทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาศักยภาพของเยาวชน

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสิรฐ – ในปี 1997 มีโอกาสได้ไปประชุมสมัชชาอนามัยโลก ซึ่งมีการเสนอที่จะตัดงบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลงครึ่งหนึ่ง จากเหตุการณ์นั้นพบว่า การทูตมีความสำคัญ เพราะการทูตที่เข้มแข็งของไทย จึงทำให้สามารถต่อรองจนสุดท้ายถูกตัดงบเพียง 7-8% กรณีต่อมาพบว่า องค์การอนามัยโลกและทีมกฎหมายเข้าข้างประเทศใหญ่อย่างสหรัฐ แต่ต่อมาหลายประเทศประท้วงที่สหรัฐได้ประโยชน์ โดยคิวบาได้คัดค้านผลการตัดสิน จนสุดท้ายก็ชนะ ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าในการไปประชุมระหว่างประเทศเราต้องศึกษาข้อบังคับอย่างละเอียดมิเช่นนั้นเราจะเสียเปรียบ ส่งผลให้ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีการสอนเรื่องการทูตด้านสาธารณสุข

ทั้งหมดนี้เป็นมุมมองของผู้ที่ทำงานจริงซึ่งช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการทูตในกรอบพหุภาคี และการมีปฏิสัมพันธ์ของไทยในเวทีสหประชาชาชาติที่น่าสนใจตลอด 75 ปีที่ผ่านมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image