‘อแมนดา มิลลิ่ง’ กับภารกิจกระชับสัมพันธ์ ไทย-สหราชอาณาจักร

‘อแมนดา มิลลิ่ง’ กับภารกิจกระชับสัมพันธ์ ไทย-สหราชอาณาจักร

หมายเหตุ “มติชน” – นางอแมนดา มิลลิ่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศและการพัฒนาของสหราชอาณาจักร ฝ่ายกิจการเอเชีย มีโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 11-14 มกราคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเยือนประเทศในแถบอาเซียน โดยมีเป้าหมายหลักในการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทีมข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์มติชน มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตอังกฤษ ถนนเจริญกรุง ถึงภาพรวมของการเดินทางครั้งนี้ รวมถึงมุมมองด้านต่างๆ ที่น่าสนใจ

จุดประสงค์ของการเยือนไทยในครั้งนี้

ย้อนกลับไปเมื่อปีต้นปีที่แล้วสหราชอาณาจักรได้เผยแพร่แผนการดำเนินนโยบายในด้านการต่างประเทศ กลาโหม ความมั่นคงและการพัฒนา (Integrated Review) ซึ่งมีทุกมิติเช่น ในด้านการทูต ความมั่นคง การค้า ความสัมพันธ์ด้านเทคโนโลยี และหัวใจสำคัญของแผนนั้นคือนโยบายเข้าหาภูมิภาคอินโดแปซิฟิก (Indo-Pacific Tilt) และปีที่แล้วเราได้ตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่อยากทำให้สำเร็จไว้หลายอย่าง และหนึ่งในหลายอย่างที่เราทำสำเร็จคือ การได้สถานะประเทศคู่เจรจาอาเซียน หากยังจำกันได้ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหราชอาณาจักร ได้เดินทางมาประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเยือนประเทศในแถบอาเซียน นี่เป็นตัวอย่างที่สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงพันธะในความสัมพันธ์แบบทวิภาคีของเรา และขณะนี้ดิฉันก็ได้มาประเทศไทยในเดือนมกราคม 2565 เพื่อสานต่อการเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบทวิภาคีนั้น ดิฉันรู้สึกตื่นเต้นที่ได้มาเยือนที่นี่ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในด้านต่างๆ ทั้งความสัมพันธ์ด้านการค้าและเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง และความสัมพันธ์ระดับภูมิภาค นอกจากนี้เรายังได้สถานะประเทศคู่เจรจาด้วย และมีอีกหลายเรื่องที่อยากทำงานร่วมกับไทยอย่างใกล้ชิดมากขึ้น อย่างที่เคยกล่าวถึงก่อนหน้านี้ทั้งเรื่องการค้าการลงทุน เทคโนโลยี ไซเบอร์ การประชุม COP26 เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เทคโนโลยีสีเขียว และนี่เป็นโอกาสที่ดีมากๆ ที่ได้พบปะพูดคุยกับผู้คนจากหลายภาคส่วน ได้หารือกับคณะรัฐมนตรี ทั้งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ สื่อมวลชน กลุ่มนักเคลื่อนไหว และกลุ่มคนอื่นๆ

Advertisement

คิดเห็นอย่างไรกับสถานการณ์ทางการเมืองและประเด็นสิทธิมนุษยชนของไทยในปัจจุบัน

สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และ เสรีภาพในการพูดและการแสดงความคิดเห็น เป็นค่านิยมหลักของสหราชอาณาจักร และในสัปดาห์นี้ดิฉันได้เดินทางเยือนหลายที่ ได้เจอผู้คนมากมาย ทั้งนักวิชาการ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและทนาย และดิฉันก็ได้เสนออะไรหลายๆ อย่างไป ดิฉันได้พูดคุยกับผู้คนหลายกลุ่มเพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ในไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการเข้าไปพูดคุยกับนักต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ในมุมมองของดิฉัน ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ นี่เป็นสิ่งที่สหราชอาณาจักรให้ความสำคัญอย่างมากและเราเน้นย้ำถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยและเสรีภาพในการพูดอยู่เสมอ

เมื่ออังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ความสัมพันธ์ไทย-อังกฤษ จะเป็นเช่นเดิมหรือไม่ เบร็กซิททำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการค้าระหว่างสองประเทศหรือไม่ และสหราชอาณาจักรจะทำอย่างไรเพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติดีขึ้น

Advertisement

เราออกจากสหภาพยุโรป (อียู) เราจึงสร้างนโยบาย Global Britain จากที่ก่อนหน้านี้ได้บอกว่าแผนการดำเนินนโยบาย Integrated Review ที่เผยแพร่เมื่อปีก่อน ซึ่งมุ่งเน้นในเรื่องนโยบายอินโดแปซิฟิก และนี่ทำให้เราสามารถสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ได้ และยังกระชับความสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับไทยมากยิ่งขึ้นด้วย สำหรับในประเด็นการค้าและการลงทุน เราจะหารือกันว่าจะทำอย่างไรให้ความสัมพันธ์ของเราแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไปอีก และมีหลายอย่างในภูมิภาคนี้ที่เราเห็นว่าสามารถใช้ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าได้ เมื่อปีที่แล้วเราได้สถานะคู่เจรจาอาเซียน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรากำลังทำอยู่ในขณะนี้เป็นการมองหาโอกาสจากการที่เราออกจากอียูและการสานสัมพันธ์กับโลก สหราชอาณาจักรกับไทยมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในเรื่องความสัมพันธ์ทางการค้า และส่งเสริมนโยบาย Global Britain และเรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ในปีนี้เราจะมีจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้การค้าขายระหว่างกันแข็งแกร่งขึ้น

สำหรับสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19ในไทยขณะนี้ คิดว่ามีมาตรการใดของสหราชอาณาจักรที่สามารถนำมาปรับใช้ได้บ้าง

อย่างแรกที่ต้องบอกเลยคือโควิด-19 เป็นการแพร่ระบาดระดับโลก ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงเราทุกคน ดิฉันคงจะไม่ไปแนะนำรัฐบาลไทยว่าต้องทำเช่นไร หรือออกมาตรการใดเพื่อรับมือกับโควิด-19 แต่คิดว่าเราควรจะทำงานร่วมกันในหลายเรื่องตั้งแต่เรื่องวัคซีนโควิดไปจนถึงการเตรียมรับมือโควิดต่างๆ และในวันที่ 14 มกราคม จะพบกับบริษัทสยามไบโอไซแอนซ์ซึ่งผลิตวัคซีนให้กับทั้งภูมิภาคนี้ ดิฉันคิดว่าการที่เราจะผ่านการระบาดนี้ไปได้ สหราชอาณาจักรและไทยต้องร่วมมือกันเพื่อจัดการโควิด ด้วยการใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น การพัฒนายาด้านจีโนมิกส์ และการพัฒนาการตรวจโควิดแบบใหม่ และเมื่อปีก่อนเราได้บริจาควัคซีนโควิดกับไทยด้วย ดิฉันคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือเรามีการสาธารณสุขที่เหมาะสมและและมีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นในด้านสาธารณสุข

สุดท้ายนี้อยากกล่าวอะไรกับคนไทย

อย่างแรกคือรู้สึกตื่นเต้นอย่างมากกับการเดินทางครั้งแรกของปี 2565 ที่ได้มาประเทศไทย แต่อยู่ได้ไม่นานนักและอยากอยู่ให้นานกว่านี้ ตลอดเวลาที่ได้อยู่ในประเทศไทย แม้เป็นช่วงเวลาเพียงไม่กี่วันก็ตาม แต่มันยอดเยี่ยมมาก ได้พบปะกับองค์กรต่าง และผู้คนมากหน้าหลายตา ไทยเป็นประเทศที่สวยงาม และกรุงเทพก็เป็นเมืองที่ยอดเยี่ยมมากๆ และมีสิ่งหนึ่งที่เรารอคอยมากๆคือ ช่วงหลังโควิด-19 ดิฉันรู้ว่าชาวอังกฤษชอบมาเที่ยวไทย เพราะได้สัมผัสกับประสบการณ์อาหาร ความมีน้ำใจของคนไทย ความร่ำรวยทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และดิฉันรู้ว่าทุกคนอยากกลับมามากๆ และแน่นอนตัวดิฉันเองก็อยากกลับมาเหมือนกัน ดิฉันรู้สึกขอบคุณในความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่ได้รับในช่วงไม่กี่วันมานี้ี่สำคัญคือเรามุ่งเน้นที่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศไทยให้แนบแน่นยิ่งขึ้น และในปีนี้จะมีการร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดประชุมกับนายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศของไทย ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีที่จะมีขึ้นที่กรุงลอนดอนของอังกฤษ โดยเราจะหารือเกี่ยวกับแนวทางในการกระชับความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ที่สำคัญซึ่งได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image