คอลัมน์ People In Focus: ไอชา มาลิค ผู้พิพากษาหญิงผู้ทำลายเพดานแก้ว

คอลัมน์ People In Focus: ไอชา มาลิค ผู้พิพากษาหญิงผู้ทำลายเพดานแก้ว

ไอชา มาลิค ผู้พิพากษาหญิงชาวปากีสถาน วัย 55 ปี ได้รับการแต่งตั้งให้ให้นั่งร่วมกับผู้พิพากษาชายอีก 16 คนในฐานะผู้พิพากษาศาลสูงสุดของประเทศปากีสถาน

สร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้หญิงคนแรกที่ก้าวมาได้ถึงจุดนี้ได้ โดยเฉพาะในประเทศที่มีผู้พิพากษาหญิงเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้พิพากษาศาลสูงทั้งประเทศ ขณะที่การแต่งตั้งครั้งนี้ถูกมองว่าอาจปูทางไปสู่การแต่งตั้งประธานศาลสูงสุดที่เป็นผู้หญิงคนแรกของประเทศด้วย

ผู้พิพากษามาลิค มีประสบการณ์การเรียนและใช้ชีวิตในชาติตะวันตก โดยเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานที่โรงเรียนในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส, ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

มาลิค เรียนระดับอุดมศึกษาในวิทยาลัยกฎหมายปากีสถาน รวมถึงจบการศึกษาจาก “มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด” มหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกา

Advertisement

หลังเรียนจบ มาลิคทำงานในบริษัทกฎหมายหลายแห่ง และมีผลงานหนังสือเกี่ยวกับการค้าการเงิน, ประเด็นความเป็นอิสระในการพิจารณาคดี และกฎหมายในปากีสถาน

ขณะที่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มาลิคทำงานเป็นผู้พิพากษาศาลสูงในเมืองละฮอร์ เมืองทางตะวันออกของประเทศปากีสถาน มีส่วนในการตัดสินในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญครั้งสำคัญๆหลายเรื่อง

ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้ อนุญาโตตุลาการนานาชาติในปากีสถาน, การต้องชี้แจงทรัพย์สินก่อนการลงสมัครรับเลือกตั้ง และที่สำคัญที่สุดคือ การประกาศห้ามวิธี “ตรวจสอบความบริสุทธิ์” ของผู้หญิงที่เป็นเหยื่อข่มขืน โดยมาลิค ระบุไว้ในคำตัดสินความยาว 30 หน้าว่า วิธีการดังกล่าวเป็นการเหยียดหยามเกียรติและศักดิ์ศรีประชาชน ที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองเอาไว้

การแต่งตั้งมาลิค ซึ่งเคยแพ้โหวตในการแต่งตั้งเมื่อปีก่อนมาแล้ว มีการถกเถียงกันอย่างหนักยาวนานนับเดือนเนื่องจาก เธอเป็นผู้พิพากษาที่มีอาวุโส ลำดับที่ 4 ในบรรดาผู้พิพากษาในเมืองละฮอร์ทั้งหมด แต่ในที่สุด มาลิค ก็ได้รับคะแนนโหวตจากคณะกรรมาธิการไปด้วยคะแนน 5-4 เสียง

การแต่งตั้ง ไอชา มาลิค ได้รับเสียงชื่นชมจากนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและบรรดานักกฎหมายจำนวนมาก ที่มองว่าเป็นย่างก้าวสำคัญของวงการกฎหมายปากีสถาน ประเทศที่มีสังคมชายเป็นใหญ่ ขณะที่กฎหมายไม่คุ้มครองผู้หญิงมากพอ

การสร้างประวัติศาสตร์ครั้งนี้ของมาลิค ถูกมองว่าเป็นการทำลายกำแพงในระบบยุติธรรมปากีสถาน เปิดทางให้ผู้หญิงกล้าที่จะก้าวมามีบทบาทในวงการกฎหมายมากขึ้น

และเป็นย่างก้าวที่สำคัญของระบบยุติธรรมในประเทศที่ตัดสินคดีต่างๆอย่าง “เข้าใจผู้หญิง” มากยิ่งขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image