คอลัมน์ไฮไลต์โลก: ลดชม.ทำงานแล้วงานมีประสิทธิผล?

เป็นหนึ่งในประเด็นที่มีความกังขามานานแล้วว่า การทำงานมากชั่วโมงของมนุษย์เงินเดือน จะทำให้ได้งานมากและมีประสิทธิภาพจริงหรือ? ในมุมของนายจ้างส่วนใหญ่ก็คงจะคิดและอยากให้เป็นอย่างนั้น ซึ่งย่อมสวนทางกับคนทำงานที่คิดว่าหากบริหารจัดการฟันเฟืองทั้งระบบให้ดี งานย่อมออกมามีคุณภาพ

ตอนนี้ที่สวีเดนก็มีโครงการนำร่องทดลองลดชั่วโมงทำงานลงจากปกติวันละ 8 ชั่วโมง เหลือวันละ 6 ชั่วโมง ซึ่งกลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดนี้ก็บอกว่าแนวทางนี้ช่วยส่งเสริมทั้งด้านผลิตภาพและแรงจูงใจในการทำงาน แต่ก็มีอีกฝ่ายที่กำลังติดตามผลว่าแนวทางนี้จะ “วิน-วิน” คือได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างหรือไม่

หนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมโครงการนำร่องนี้คือ สถานดูแลผู้ป่วยสวาร์เทดาเลนส์ ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองโกเธนเบิร์ก เมืองใหญ่อันดับ 2 ของสวีเดน ที่มีอัตราการลางานสูงสุดของประเทศ ที่นายอาร์ทูโร เปเรซ เจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วยซึ่งทำงานที่นี่มานานเกือบ 20 ปี บอกว่า ชีวิตของเขามาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อปีที่แล้วเมื่อเขาตัดสินใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการลดชั่วโมงทำงานขององค์กร เปเรซบอกว่าเขารู้สึกว่าตัวเองไม่เครียดเหมือนเมื่อก่อน เขายังได้เจอเพื่อนร่วมงานใหม่และช่วยกันวางแผนการทำงานที่ดีขึ้น จนรู้สึกว่าตอนนี้ตัวเองสนุกกับการทำงานมากขึ้น และจากการที่ตัวเองเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว มีลูกเล็กๆต้องดูแล ชั่วโมงทำงานที่ลดลงทำให้เขามีเวลาดูแลลูกมากขึ้น ไม่ต้องรู้สึกกดดันเหมือนเมื่อก่อน และทำหน้าที่”พ่อ” พร้อมกับหน้าที่ “ดูแลผู้ป่วย” ได้ดีขึ้น

โมนิกา แอกซ์ฮีด ผู้อำนวยการสถานดูแลผู้ป่วยสวาร์เทดาเลนส์ บอกว่า บรรยากาศการทำงานในองค์กรผ่อนคลายขึ้น ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่เคร่งเครียดกันมาก การลดชั่วโมงทำงานแม้จะทำให้ต้องว่าจ้างเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ถือเป็นการสร้างงาน และทำให้การขาดงานของสต๊าฟที่ศูนย์ลดลงด้วย

Advertisement

ประเด็นนี้ยังเป็นเผือกร้อนทางการเมืองที่กำลังมีการถกเถียงกันว่าสมควรจะลดชั่วโมงทำงานลงหรือไม่ โดยนางมาเรีย ไรเดน รองนายกเทศมนตรีเมืองโกเธนเบิร์ก ได้ออกมาคัดค้านการต่ออายุโครงการนี้ที่สถานดูแลผู้ป่วยสวาร์เตดาเลนส์ซึ่งกำลังจะหมดอายุลงในสิ้นฤดูหนาว โดยไรเดนแย้งว่า “เรารับผิดชอบลูกจ้างอยู่ 53,000 คน หากปล่อยให้ลูกจ้างทั้งหมดทำงานวันละ 6 ชั่วโมง แต่ได้รับเงินค่าจ้าง 8 ชั่วโมง…คุณลองไปคิดคำนวนดู” ไรเดอร์ยังย้ำอีกว่า มีความท้าทายที่ยิ่งใหญ่มากรออยู่ข้างหน้าในการที่จะต้องรับบุคลากรเพิ่ม หากต้องจ่ายเงินให้กับคนที่ไม่ทำงาน เราก็จะไม่มีเงินมาจ้างคนใหม่

ส่วน แดเนียล เบิร์นมาร์ หัวหน้าพรรคฝ่ายซ้ายที่ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา แม้จะยอมรับว่าต้นทุนการทำงานจะต้องเพิ่มสูงขึ้นจากการลดชั่วโมงทำงานลง แต่เขาแย้งว่าจะเห็นผลดีจากโครงการนี้ในระยะยาว โดยจะต้องดูเศรษฐกิจกันในภาพรวม ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น อัตราการขาดงานจะลดลง และจะทำให้ได้งานที่มีคุณภาพมากขึ้น

ก็เป็นมุมมองของแต่ละฝ่ายที่มองเห็นข้อดีข้อเสียต่างกันไป แต่ทุกสิ่งหากทำให้เกิดดุลยภาพได้ น่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image