‘สหรัฐอเมริกา’ กับผลกระทบต่อสังคมหลังเปิดเสรีกัญชา

‘สหรัฐอเมริกา’ กับผลกระทบต่อสังคมหลังเปิดเสรีกัญชา

ประเทศไทยกลายเป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่มีการออกกฎหมายปลดล็อกให้กับพืชกัญชา ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้เกิดข้อกังวลตามมาว่าหลังจากนี้จะเกิดผลกระทบอะไรกับสังคมขึ้นบ้าง

คำถามนี้พอจะมีตัวอย่างให้เห็นอยู่บ้างจากหลายๆ ประเทศที่เกิดเสรีกัญชาไปก่อนหน้าไทย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ที่มีกฎหมายเปิดเสรีกัญชาตั้งแต่ปี 1996 หรือเมื่อ 26 ปีก่อน เปิดทางให้ประชากรชาวอเมริกา 74% สามารถเข้าถึงกัญชาอย่างถูกกฎหมายได้ในรูปแบบที่แตกต่างกันไปได้

ภาพ AP

กัญชาในสหรัฐอเมริกา

ในสหรัฐอเมริกามี 37 รัฐที่เปิดทางให้ชาวอเมริกันที่มีอาการป่วยบางอย่างสามารถใช้กัญชาได้ตามใบสั่งยาจากแพทย์ ในจำนวนนี้ 18 รัฐ เปิดทางให้ชาวอเมริกัน อายุ 21 ปีขึ้นไปสามารถครอบครองและใช้ “เพื่อสันทนาการ” ได้ แต่ยังคงมีข้อจำกัดเรื่องปริมาณ และการใช้ในที่สาธารณะที่แตกต่างกันไป

Advertisement

การเปิดเสรีดังกล่าวส่งผลให้เกิด “ร้านขายยา” ที่ขออนุญาตขายสินค้ากัญชาผุดขึ้นหลายพันแห่ง ซึ่งสินค้าดังกล่าวรวมไปถึง “ช่อดอกแห้ง” ที่สามารถนำมาใช้สูบได้, ขนมและเครื่องดื่มที่ผสมกัญชา รวมไปถึง น้ำยาสำหรับบุหรี่ไฟฟ้าที่ผสมกัญชาด้วย

ประโยชน์ของกัญชา

ในแง่การแพทย์แล้วผลวิจัยยืนยันชัดเจนว่า “กัญชา” มีประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น การลดปวดเรื้อรัง, ลดอาการการสั่นของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้ออ่อนแรง และยังลดอาการคลื่นไส้จากการทำคีโมรักษามะเร็งด้วย

ข้อดีอีกส่วนเกิดจากการสร้างรายได้ให้ภาครัฐ โดยข้อมูลจากสถาบันนโยบายเก็บภาษีและเศรษฐศาสตร์ สหรัฐพบว่า “อุตสาหกรรมกัญชา” ในสหรัฐสามารถสร้างรายได้จากภาษี ถึงกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 383,600 ล้านบาทแล้วนับตั้งแต่ปี 2014 ถึงปี 2021

ขณะที่ธุรกิจกัญชาในปี 2022 ถูกคาดการณ์ไว้ว่าจะมีมูลค่ามากถึง 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.1 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ธุรกิจกัญชายังสามารถสร้างงานได้มากถึง 428,000 ตำแหน่งนับจนถึงเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ภาพ Reuters

อาชญากรรมจากกัญชา

ในแง่ของ “อัตราการเกิดอาชญากรรม” ไม่น่าแปลกใจที่จะมีจำนวนลดลงอย่างชัดเจน เหตุผลเพราะในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่มีการจับกุมในสหรัฐอเมริกา “ครึ่งหนึ่ง” เป็นอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับ “กัญชา”

อย่างไรก็ตาม การขาย “กัญชาเถื่อน” นอกร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตยัง “ไม่ลดลง” เนื่องจากกัญชาใน “ตลาดมืด” นั้นมีราคาย่อมเยากว่า ขณะที่ในรัฐโคโลราโด แก๊งอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการขายกัญชาผิดกฎหมายก็เพิ่มจำนวนขึ้นจาก 31 คดีในปี 2012 เป็น 119 คดี ในปี 2017 ก่อนที่จะค่อยๆ ลดลงมาเหลือ 34 คดีในปี 2019

พฤติกรรมการใช้กัญชา

ก่อนหน้าที่จะมีการเปิดเสรีกัญชาในหลายๆ รัฐ มีการแสดงความเป็นห่วงว่าจะทำให้กลุ่มคนอยากรู้อยากลองเข้ามาใช้กัญชามากขึ้น แต่ข้อมูลที่น่าแปลกก็คือ กลุ่มคนสูบกัญชาอยู่ก่อนแล้วกลับมีความถี่ในการสูบเพิ่มสูงขึ้นด้วย

ภาพ Reuters

การสำรวจประจำปีของรัฐบาลสหรัฐพบว่า เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา เปอร์เซ็นต์ผู้สูบกัญชาอายุมากกว่า 26 ปีที่ใช้กัญชาในช่วงเดือนที่ผ่านมา และกลุ่มคนที่ใช้ทุกวันหรือเกือบทุกวันเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ด้านรัฐโคโลราโด รัฐแรกที่มีการห้ามใช้กัญชาเพื่อสันทนาการพบว่า 15% ของผู้ที่มีอายุ 18-25 ปีบริโภคกัญชาทุกวัน สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศถึง 2 เท่า ขณะที่รายงานอีกฉบับพบว่า ผู้ใช้กัญชาในรัฐโคโลราโด ในปี 2019 สัดส่วนมากถึง 48% ที่ใช้กัญชาทุกวันหรือเกือบทุกวัน สูงขึ้นจาก 44% ในปี 2014

ขณะที่ในประเทศแคนดาดา ที่ออกกฎหมายเปิดเสรีกัญชาเพื่อสันทนาการ ไปเมื่อปี 2018 ก็มีแนวโน้มแบบเดียวกันคือนับจนถึงสิ้นปี 2020 มีประชากร 20% ที่ใช้กัญชาในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เทียบกับก่อนออกกฎหมายที่มีจำนวนเพียง 14% เท่านั้น ขณะที่สัดส่วนประชากรที่ใช้ทุกวันหรือเกือบทุกวันก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

ความปลอดภัยบนท้องถนน

กลุ่มที่เสนอกฎหมายกัญชามองว่ากัญชาถูกกฎหมายจะช่วย “เพิ่มความปลอดภัย” ให้มากขึ้นเนื่องจากคนจะเลือกใช้กัญชาแทนที่การดื่มแอลกอฮอล์ ที่ถูกมองว่าทำให้ความสามารถในการขับรถลดลงมากกว่า

แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อสถิติพบว่าหลังกัญชาถูกกฎหมาย คนกลับใช้กัญชาร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ขณะที่ในแคนาดา เมื่อปี 2019 หรือ 1 ปี หลังการเปิดเสรีกัญชา คดีเมายาแล้วขับรถเพิ่มขึ้น 43% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่คดีเมาแล้วขับโดยรวมเพิ่มขึ้นอีก 19%

ภาพ AP

ผลเสียด้านสุขภาพ

“ผลเสียด้านสุขภาพ” จากการสูบกัญชาที่นอกเหนือจากภาวะ “เสพติด” แล้ว ก็ยังอาจเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ส่งผลกระทบกับอาการหอบหืด การทำงานของปอด กระทบกับระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดหัวใจวาย เส้นเลือดในสมองแตก เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคจิตเภท และอาการทางจิตอื่นๆ เช่น ภาวะวิตกกังวล หรืออาการซึมเศร้าได้ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบกับทารกในครรภ์ทำให้น้ำหนักตัวหลังคลอดน้อยกว่าปกติด้วย

ในแง่ของระบบสาธารณสุขระดับชาติเองก็เห็นสัญญาณเปลี่ยนแปลงหลังการผ่านกฎหมายกัญชาในหลายๆ รัฐด้วย เช่น ผลการศึกษาเมื่อปี 2020 พบว่า ผู้ที่อยู่ในวัย 12-17 ปีในสหรัฐอเมริกาที่มีอาการเสพติดกัญชามีจำนวนเพิ่มขึ้นในรัฐที่เปิดทางให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการมากกว่ารัฐที่ไม่ให้ใช้ถึง 25%

ภาพ Reuters

นอกจากนี้สถิติยังพบว่าอาการอาเจียนเรื้อรัง (CVD) ไม่ทราบสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชาทุกวันเพิ่มขึ้นถึง 60% จากปี 2005 ถึง 2014 นอกจากนี้ยังพบเหตุเด็กอายุ 0-9 ปีที่เผลอกินสินค้ากัญชาเข้าไปจนต้องส่งโรงพยาบาลจำนวนมากถึง 4,172 ราย ในปี 2017-2019 และพบมากในรัฐที่ห้ามใช้เพื่อสันทนาการด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อดีในแง่สาธารณสุขก็มี นั่นก็คือจำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ใช้น้ำยากัญชาผิดกฎหมาย และปนเปื้อนจนได้รับบาดเจ็บที่ปอดนั้นลดจำนวนลงอย่างมีนัยสำคัญ

นั่นก็คือกรณีตัวอย่างบางส่วนที่หวังว่าภาครัฐจะนำไปปรับใช้ในการพิจารณากฎหมายลูกที่จะมีตามมาเพื่อป้องกันผลเสียที่อาจเกิดขึ้นในแบบเดียวกัน และไม่ต้องใช้ประเทศไทยเป็น “ห้องทดลอง” นานเกินความจำเป็น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image