โฟกัสโลกรอบสัปดาห์ : ส่องกฎหมายสมรสเท่าเทียมทั่วโลก

โฟกัสโลกรอบสัปดาห์ : ส่องกฎหมายสมรสเท่าเทียมทั่วโลก

กฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือกฎหมายแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเหมือนคู่รักชายหญิง เริ่มมีกฎหมายครั้งแรกเมื่อปี 2000 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก่อนที่หลายๆชาติจะทยอยออกกฎหมายสมรสของคนเพศเดียวกันมาเรื่อยๆ จนในปัจจุบันมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้วใน 31 ประเทศและดินแดนทั่วโลก ประกอบไปด้วย เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม แคนาดา สเปน แอฟริกาใต้ นอร์เวย์ สวีเดน อาร์เจนตินา ไอซ์แลนด์ โปรตุเกส เม็กซิโก เดนมาร์ก บราซิล สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ อุรุกวัย ลักเซมเบิร์ก สหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ โคลอมเบีย ออสเตรเลีย มอลตา เยอรมนี ออสเตรีย เอกวาดอร์ ไต้หวัน คอสตาริกา ชิลี และล่าสุดประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เนเธอร์แลนด์ ประเทศแรกในโลก

เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2000 เนเธอร์แลนด์กลายเป็นประเทศแรกในโลก ที่ทำให้การแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันถูกต้องตามกฎหมาย โดยรัฐสภาเนเธอร์แลนด์โหวตผ่านกฎหมายด้วยคะแนน 3 ต่อ 1 เสียง สาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวคืออนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงาน หย่าร้างและรับเลี้ยงบุตรได้ กระบวนการทางกฎหมายดังกล่าวได้แก้ไขกฎหมายสมรสที่มีอยู่แล้วเพียงประโยคเดียวเท่านั้นคือ “การแต่งงานสามารถทำได้ระหว่างคนสองคนที่มีเพศแตกต่างกันหรือเพศเดียวกัน”

คนกลุ่มเดียวที่คัดค้านในรัฐสภาเนเธอร์แลนด์มาจากพรรคประชาธิปไตยคริสเตียน ซึ่งในขณะนั้นไม่ได้ร่วมกับรัฐบาลผสม หลังจากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ กลุ่มคริสตจักรโปรเตสแตนต์ในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีอยู่ราว 12% ของประชากรในประเทศทั้งหมดประกาศว่า คริสต์ศาสนิกชนสามารถเลือกได้ว่าจะจัดงานแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันหรือไม่ และแม้ว่ากลุ่มชาวมุสลิม และกลุ่มคริสเตียนหัวอนุรักษนิยมจะยังคงต่อต้านกฎหมายต่อไป แต่กฎหมายสมรสของคู่รักเพศเดียวกันก็ได้รับการยอมรับในสังคมเนเธอร์แลนด์เป็นวงกว้าง

สวิตเซอร์แลนด์ สมรสเท่าเทียมประเทศล่าสุด

กฎหมายสมรสของคู่รักเพศเดียวกันในสวิตเซอร์แลนด์จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2022 เป็นต้นไป โดยรัฐสภาสวิตเซอร์แลนด์ได้ผ่านกฎหมายเปิดทางให้มีการแต่งงานของคนเพศเดียวกันได้เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2020 กฎหมายดังกล่าวผ่านการลงประชามติเมื่อวันที่ 26 กันยายน ปี 2021 โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 64.1% จึงทำให้กฎหมายดังกล่าวอนุมัติใช้ต่อไป ส่วนคู่รักเพศเดียวกันที่แต่งงานในต่างประเทศได้รับการยอมรับทางกฎหมายของสวิตเซอร์แลนด์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2022
ทั้งนี้สวิตเซอร์แลนด์อนุญาตให้จดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตกันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี 2007 แล้ว หลังจากผ่านการลงประชามติเมื่อปี 2005 การจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตได้รับสิทธิเหมือนการแต่งงานเกือบทั้งหมด แต่ก็ไม่ทั้งหมด ก่อนที่จะมีการปรับแก้กฎหมาย กระทั่งได้มีการผ่านกฎหมายสมรสของคู่รักเพศเดียวกันซึ่งจะมีสิทธิเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิง โดยที่จะมีผลในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้

Advertisement

ไต้หวัน ที่แรกในเอเชีย

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2019 สภานิติบัญญัติของไต้หวันผ่านกฎหมายอนุญาตให้การแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันถูกกฎหมายและทำให้ไต้หวัน เป็นที่แรกในเอเชียที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ การลงคะแนนเสียงในสภาไต้หวันเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2017 ที่ยกเลิกกฎหมายที่ระบุไว้ว่า การแต่งงานเกิดขึ้นระหว่างผู้ชายและผู้หญิง ทั้งนี้ศาลให้เวลาสภานิติบัญญัติจนถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2019 เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายการแต่งงานของไต้หวันเพื่อรองรับคู่รักเพศเดียวกัน

ญี่ปุ่น ชาติที่น่าจับตามอง

จากการรายงานล่าสุดของเว็บไซต์อาซาฮี ชิมบุนระบุว่า คู่รักเพศเดียวกันจะได้รับการยอมรับทางกฎหมายอย่างเป็นทางการที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังจากที่สภาเมืองออกร่างพระราชบัญญัติแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยทางการท้องถิ่นโตเกียวจะเริ่มออกใบรับรองการเป็นคู่ชีวิตให้กับคู่รักเพศเดียวกันตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป และสามารถยื่นเรื่องขอใบรับรองได้ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคมนี้ ผู้ยื่นขอใบรับรองคู่ชีวิตต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่จำเป็นต้องเป็นคนสัญชาติญี่ปุ่น เพียงแค่ต้องอยู่อาศัย ทำงาน หรือเรียนในโตเกียว
อย่างไรก็ตามรัฐบาลกลางของญี่ปุ่นยังไม่ยอมรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน แม้ว่าในหลายจังหวัดจะเริ่มออกใบรับรองคู่รักเพศเดียวกันที่ไม่มีผลทางกฎหมายแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ผู้ที่มีใบรับรองคู่ชีวิตสามารถใช้ใบรับรองในการสมัครเพื่อย้ายเข้าไปอยู่ในอพาร์ตเมนต์ของรัฐบาลท้องถิ่นโตเกียวได้

ความสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียม

ความเท่าเทียมเป็นเหตุผลสำคัญที่ว่าทำไมกฎหมายควรอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานได้ และกล่าวโดยทั่วไปคือ การแต่งงานควรที่จะทำได้ไม่ว่าจะมีเพศใดก็ตาม
องค์กรเครือข่ายความเท่าเทียมของสก็อตแลนด์ระบุว่า จากการสำรวจผู้มีความหลากหลายทางเพศ 427 คนพบว่า 85% ระบุว่า จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย 53% บอกว่าการดำเนินการการเปลี่ยนแปลงนี้ควรมาเป็นลำดับแรกๆ และอีก 32% มองว่า ควรให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงกฎหมายมากกว่านี้
หากคู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ตามกฎหมาย พวกเขาจะได้สิทธิตามกฎหมายจากคู่สมรสเหมือนคู่สมรสต่างเพศ เช่น การเบิกค่ารักษาพยาบาล หรือหากเสียชีวิตจะคู่สมรสก็จะเป็นผู้รับมรดกในลำดับแรกเหมือนคู่สามีภรรยาอื่นๆ นอกจากนี้การแต่งงานกันตามกฎหมายช่วยให้ครอบครัวหรือญาติรู้สึกว่า ความรักของพวกเขาเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่แค่เพื่อนที่อาศัยอยู่ร่วมกันเท่านั้น

ทั้งนี้จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อกฎหมายสมรสของคนเพศเดียวกันทั่วโลกพบว่า ในประเทศที่มีกฎหมายดังกล่าว ประชาชนในเกือบทุกประเทศล้วนสนับสนุนกฎหมายนี้มากกว่าครึ่ง ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่ยังไม่มีกฎหมายดังกล่าวหรือความรักของคนเพศเดียวกันเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ประชาชนมากกว่าครึ่งก็ยังต่อต้านกฎหมายนี้ อย่างไรก็ตามมีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกเท่านั้น ที่ไม่มีกฎหมายสมรสของคนเพศเดียวกัน แต่ประชาชนกว่าครึ่งสนับสนุน หนึ่งในนั้นก็คือ ประเทศไทย โดยจากข้อมูลของนิด้าโพลที่ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเมื่อปี 2015 เปิดเผยว่า ประชาชนมากถึง 59% สนับสนุนกฎหมายดังกล่าว 35% ไม่สนับสนุน และอีก 6% เฉยๆ

ในอนาคตอันใกล้นี้ไทยอาจมีกฎหมายสมรสของคู่รักเพศเดียวกันที่ได้รับสิทธิเหมือนคู่สมรสชายหญิงอื่น หากร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านการพิจารณาจากสมาชิกวุฒิสภา และยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก่อนจะทูลเกล้าให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป หากกฎหมายดังกล่าวมีการบังคับใช้ในไทยจะทำให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ตามกฎหมายและพวกเขาจะได้สิทธิเหมือนคู่สมรสชายหญิงอย่างที่ควรจะเป็น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image