โฟกัสโลกรอบสัปดาห์ : ‘วัดพระรามอโยธยา’ ปมขัดแย้ง 2 ศาสนา สู่นัยทางการเมืองอินเดีย

AP

โฟกัสโลกรอบสัปดาห์: ‘วัดพระรามอโยธยา’ ปมขัดแย้ง 2 ศาสนา สู่นัยทางการเมืองอินเดีย

เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูนับหลายพันคนได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานการเปิด “วัดพระรามอโยธยา” ในเมืองอโยธยา รัฐอุตตรประเทศของอินเดีย โดยมีนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย เป็นประธานในพิธี วัดดังกล่าวเป็นโบสถ์พราหมณ์ที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่พระราม เทพที่ได้รับการเคารพนับถือมากที่สุดในศาสนาฮินดู อย่างไรก็ตาม ประวัติที่มาของวัดแห่งนี้กลับเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางศาสนา ความเชื่อ และนัยทางการเมือง ก่อนหน้าที่การเลือกตั้งทั่วไปของอินเดียจะมีขึ้นภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ที่นายกรัฐมนตรีโมดีของอินเดียหวังที่จะสร้างประวัติศาสตร์ ด้วยการชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน นับตั้งแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งในปี 2014

ที่ดินพิพาท รอยร้าว ‘ฮินดู-อิสลาม’ สู่จุดแตกหักนองเลือด

มหากาพย์ รามายณะ ของอินเดีย หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ รามเกียรติ์ ได้ระบุว่าเมืองอโยธยา ในรัฐอุตตรประเทศ ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย เป็นสถานที่ประสูติของพระราม ปัญหาความขัดแย้งระหว่างศาสนาฮินดูและอิสลามเกี่ยวกับวัดแห่งนี้เริ่มขึ้นเมื่อจักรพรรดิบาบูร์ จักรพรรดิองค์แรกของจักรวรรดิโมกุล ที่นับถือศาสนาอิสลามได้เข้ารุกรานเมืองอโยธยาและรื้อถอนวัดพระรามที่ตั้งอยู่ก่อนหน้า และสร้างมัสยิดบาบรีขึ้นแทนที่วัดดังกล่าว ในปี 1528 ในจุดที่ชาวฮินดูเชื่อว่าเป็นตำแหน่งที่ประสูติของพระรามเมื่อกว่า 7,000 ปีก่อน ต่อมาในเดือนธันวาคม 1949 ทางการอินเดียได้เข้ายึดมัสยิดดังกล่าวหลังนักเคลื่อนไหวชาวฮินดูได้นำเทวรูปของพระรามไปตั้งอยู่ภายในมัสยิดบาบรี ต่อมา ศาลอินเดียได้มีคำสั่งห้ามไม่ให้เคลื่อนย้ายเทวรูปพระรามดังกล่าว ทำให้มัสยิดบาบรีไม่สามารถใช้ประกอบพิธีในศาสนาอิสลามได้อีกต่อไป

Advertisement

ทั้งกลุ่มชาวฮินดูและอิสลามต่างฝ่ายต่างยื่นการอ้างสิทธิเป็นเจ้าของมัสยิดและที่ดินที่ตั้งของมัสยิดดังกล่าว และศาลสูงสุดของอินเดียได้ตัดสินให้มีการรักษาสถานะเดิมของมัสยิดบาบรีไปก่อนในปี 1989 กลุ่มของทั้งสองศาสนาพยายามที่จะคลี่คลายข้อพิพาทระหว่างกันโดยใช้การเจรจาพูดคุย แต่ความพยายามกลับไม่เป็นผล ในปี 1990 พรรคภารติยะชนตะ (BJP) พรรคชาตินิยมฮินดูของนายโมดี ได้เริ่มการรณรงค์ทั่วประเทศให้มีการสร้างวัดพระรามของฮินดูขึ้นอีกครั้ง

นายลัล กฤษณะ อัดวานี (Lal Krishna Advani) ประธานของพรรค BJP ในขณะนั้นได้ลงทุนขึ้นท้ายรถบรรทุกที่ตกแต่งให้มีลักษณะคล้ายกับรถม้าโบราณเพื่อรณรงค์ทั่วประเทศ ปลุกกระแสชาวฮินดูขึ้นมา และส่งให้พรรคก้าวขึ้นมามีบทบาทในสนามการเมืองอินเดียมากขึ้น แต่ก็ได้สร้างรอยร้าวที่ลึกขึ้นระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมในอินเดีย

การรณรงค์ของพรรค BJP ได้พุ่งแตะจุดเดือดในวันที่ 6 ธันวาคม 1992 เมื่อกลุ่มผู้ประท้วงชาวฮินดูได้บุกเข้าไปในมัสยิดบาบรี พร้อมกับใช้ขวานและค้อนทุบทำลายโดมของมัสยิดดังกล่าวจนพังเสียหายทั้งหลัง ปลุกให้เกิดการจลาจลระหว่าง 2 ศาสนาในหลายพื้นที่ทั่วอินเดีย จนมีผู้เสียชีวิตราว 2,000 คน โดยจำนวนดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ถือเป็นเหตุจลาจลทางศาสนาที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์อินเดีย นับตั้งแต่ที่อินเดียประกาศเอกราชจากอังกฤษ

Advertisement

การต่อสู้ทางกฎหมายระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมได้ยุติลงในปี 2019 หลังศาลสูงสุดของอินเดียได้มอบที่ดินผืนดังกล่าวให้แก่ชาวฮินดูและจัดสรรที่ดินอีกผืนให้แก่ชาวมุสลิมเพื่อก่อสร้างมัสยิดแห่งใหม่ วัดพระรามอโยธยา จึงเริ่มการก่อสร้างในปี 2020 โดยมีนายกรัฐมนตรีโมดีเป็นผู้วางศิลาฤกษ์ วัดแห่งนี้มีขนาดราว 18.2 ไร่ ในที่ดินขนาดทั้งสิ้น 177 ไร่ มีมูลค่าในการก่อสร้างราว 217 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเป็นเงินไทยราว 7,730 ล้านบาท โดยเงินจำนวนดังกล่าวได้มาจากการบริจาค วัดแห่งนี้มีขนาดความสูงเทียบเท่ากับตึก 3 ชั้น ถูกสร้างด้วยหินทรายสีชมพู แกะสลักด้วยลวดลายสลับซับซ้อน และจะมีประตูทั้งสิ้น 46 บาน ในจำนวนดังกล่าว 42 บานจะตกแต่งด้วยทอง รวมถึงภายในวัดจะมีรูปปั้นพระรามที่ทำจากหินสีดำขนาดความสูง 130 เซนติเมตรอีกด้วย

วัดใหม่กับวาระซ่อนเร้นทางการเมือง

พิธีเปิดในวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา เป็นไปอย่างยิ่งใหญ่ และมีผู้คนเกือบ 7,500 คน ตั้งแต่นักการเมืองขาใหญ่ นักธุรกิจผู้ร่ำรวย และดาราคนดัง ร่วมพิธีเปิดที่บริเวณด้านนอกของวัด พรรค BJP ของนายโมดีและกลุ่มชาตินิยมฮินดูอื่นๆ พยายามฉายภาพการเปิดวัดพระรามอโยธยาให้เป็นศูนย์กลางของวิสัยทัศน์ในการฟื้นคืนความภาคภูมิใจของชาวฮินดู ที่พวกเขามองว่าหายไปในช่วงที่จักรวรรดิโมกุลและช่วงที่อินเดียอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ เมืองอโยธยาก็มีการพัฒนาปรับปรุงเมืองครั้งใหญ่ก่อนหน้าพิธีเปิด มีการขยายถนนที่นำทางไปสู่วัดดังกล่าว มีการสร้างสนามบิน สถานีรถไฟ และโรงแรมแห่งใหม่เพื่อรองรับผู้แสวงบุญที่จะหลั่งไหลกันมาที่วัดแห่งนี้

Press Information Bureau via AP

ด้านรัฐบาลของนายโมดีพยายามทำให้พิธีเปิดดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ มีการตั้งจอยักษ์ฉายพิธีเปิดทั่วประเทศ ติดธงสีเหลืองอมส้ม (Saffron) ซึ่งเป็นสีของศาสนาฮินดู ตามท้องถนนทั่วอินเดีย สถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ถ่ายทอดสดเกาะติดพิธีดังกล่าว และตลาดหุ้นอินเดียปิดทำการในวันงานอีกด้วย

นักวิเคราะห์และนักวิจารณ์มองว่าความพยายามทั้งหมดนี้ มีขึ้นเพื่อหวังจะช่วยส่งให้นายโมดีชนะการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอินเดียต่อเป็นสมัยที่ 3 และพิธีเปิดวัดพระรามอโยธยา ทั้งที่ยังสร้างไม่เสร็จจะช่วยปลุกคะแนนความนิยมให้แก่นายโมดีในหมู่ชาวฮินดูและถือเป็นการเริ่มต้นการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งในประเทศอินเดียที่ประชาชน 80% เป็นชาวฮินดู

นิลันจัน มุกโภทัย ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับชาตินิยมฮินดูและผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีโมดีของอินเดีย กล่าวว่า “นายกรัฐมนตรีอินเดียคนก่อนหน้าโมดีเคยไปวัดอื่นๆ มาก่อน แต่พวกเขาไปในฐานะผู้นับถือศาสนา แต่นี่เป็นครั้งแรกที่โมดีไปวัดในฐานะคนประกอบพิธีทางศาสนา”

นอกจากนั้นแล้ว แม้ชาวอินเดียจำนวนมากต่างออกมาแสดงความดีใจกับการเปิดวัดพระรามอโยธยาและคาดว่าจะมีชาวฮินดูมากถึง 150,000 คนเดินทางมาที่วัดแห่งนี้ต่อวัน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะยินดีกับพิธีเปิดวัดพระรามอโยธยา เช่น หน่วยงานหลักด้านศาสนาฮินดู 4 แห่ง ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในพิธีเปิด โดยให้เหตุผลว่าการเปิดวัดที่ยังสร้างไม่เสร็จ ขัดกับหลักพระคัมภีร์ฮินดู และบอกว่าโมดีไม่ได้เป็นผู้นำทางศาสนา ทำให้เขาไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้นำพิธีเปิดได้ ขณะที่บรรดาผู้นำพรรคฝ่ายค้านหลักของพรรครัฐบาลอย่าง BJP บอยคอตพิธีเปิดเมื่อวันที่ 22 มกราคม และหลายคนกล่าวหาโมดีว่านำพิธีเปิดวัดพระรามอโยธยามาเรียกคะแนนเสียงทางการเมืองในอินเดียที่ระบุตามรัฐธรรมนูญว่าเป็นประเทศฆราวาส

สำหรับชาวมุสลิมแล้ว พิธีเปิดของวัดพระรามอโยธยาได้ปลุกความกังวลและความทรงจำที่แสนเจ็บปวดให้กลับมาอีกครั้ง ประเทศเพื่อนบ้านของอินเดียอย่าง ปากีสถาน ที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ให้ความเห็นว่าการสร้างวัดในจุดที่มัสยิดเคยถูกทำลายยังคงเป็นรอยด่างพร้อยบนความเป็นประชาธิปไตยของอินเดีย กระทรวงต่างประเทศปากีสถานระบุในแถลงการณ์ว่า มีมัสยิดในอินเดียจำนวนมากขึ้นที่กำลังเจอกับภัยคุกคามที่คล้ายคลึงกันว่าจะเกิดการดูหมิ่นและถูกทำลาย หลังจากที่กลุ่มชาตินิยมฮินดูได้ยื่นฟ้องต่อศาลอินเดียเพื่อหวังที่จะเข้ามามีสิทธิเป็นเจ้าของมัสยิดโบราณหลายร้อยแห่งในอินเดีย รวมถึงข้อพิพาทที่กลุ่มชาวฮินดูอ้างว่ามีมัสยิดโบราณอย่างน้อย 3 แห่งทางตอนเหนือของอินเดีย สร้างบนพื้นที่ที่เคยเป็นโบสถ์พราหมณ์ในอดีต

ด้านกระทรวงต่างประเทศปากีสถานยังเรียกร้องให้ประชาคมโลกช่วยกันรักษาโบราณสถานของศาสนาอิสลามในประเทศอินเดียจาก “กลุ่มหัวรุนแรง” และทำให้มั่นใจว่าจะมีการปกป้องสิทธิของชาวอิสลาม ที่เป็นประชากรส่วนน้อยในอินเดีย

ทุกคนคงทราบดีว่าประเด็นทางศาสนาถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องระมัดระวังมาก แต่ความขัดแย้งก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ท่ามกลางความหลากหลายทางศาสนา หากทุกฝ่ายสามารถหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและแก้ปัญหาด้วยการเจรจาพูดคุยให้สำเร็จ การนองเลือดอย่างเช่นในปี 1992 อาจไม่เกิดขึ้นซ้ำรอยและทุกฝ่ายคงอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image