ที่มา | นสพ.มติชน รายวัน |
---|---|
เผยแพร่ |
‘บัวแก้ว’ กับภารกิจส่งเสริม ซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปสู่โลก
ซอฟต์พาวเวอร์อาจเป็นคำที่ได้ยินกันบ่อยขึ้นในยุค รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะหนึ่งในนโยบายหลักที่รัฐบาลส่งเสริม แต่ก่อนหน้าที่ใครต่อใครจะพูดถึงคำนี้ งานเกี่ยวกับการส่งเสริมความนิยมไทยในเวทีโลก ก็ถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) มาอย่างยาวนาน

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ กล่าวว่า ตามแนวทางของรัฐบาลและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ มันสามารถมองซอฟต์พาวเวอร์ได้เป็นสามขั้น หนึ่งคือการพัฒนาคนผ่านการบ่มเพาะพัฒนาศักยภาพต่างๆ สองคือการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ 11 สาขา สามคือทำอย่างไรให้ทำอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของไทยไปสู่โลก ซึ่งบทบาทของ กต.จะอยู่ในขั้นตอนนี้ โดยชัดเจนมากว่าเน้นไปที่มิติเศรษฐกิจ ในสามขั้นตอนทั้งหมดนี้ก็คือนำซอฟต์พาวเวอร์ออกไปสู่ระดับโลก ต่อยอดความนิยมไทยในต่างประเทศ เอาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกลับเข้ามาให้ไทย และเสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทยให้เข้มแข็ง
อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์มันไม่ใช่แค่ทำกันภายในกระทรวงเท่านั้น แต่มันต้องบวกสถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ รวมถึงหน่วยงานที่อยู่ในภาคีของเรา ซึ่งนำอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และสาขาต่างๆ ไปเผยแพร่ต่อยอดในต่างประเทศ


เรื่องที่ กต.ได้ดำเนินการเพื่อส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของไทย อาจแบ่งได้เป็น 5 ด้าน เริ่มจากกีฬาคือ มวยไทย กต.มีโครงการเผยแพร่มวยไทยในต่างประเทศผ่านกิจกรรมของกรมสารนิเทศ สถานทูตและสถานกงสุลใหญ่มาตั้งแต่ปี 2555 และในปี 2566 มีการดำเนินการไปแล้วใน 16 ประเทศ ซึ่งไฮไลต์ที่สำคัญเช่นโครงการมวยไทยเชื่อมความสัมพันธ์การทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียในปี 2566 โดยได้จัดส่งคณะไปแลกเปลี่ยนฝึกและสอนมวยไทย นอกจากนี้ยังมีการบูรณาการร่วมของสถานทูตไทย 4 แห่งในลาตินอเมริกา ประกอบด้วย บราซิล ชิลี เปรู และเม็กซิโก ให้ครูมวยไทยไปสอนมวยไทยให้ชาวต่างชาติ กลุ่มเยาวชน กลุ่มเปราะบาง เรายังทำงานร่วมกับการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และองค์กรพันธมิตรในการขับเคลื่อนโครงการมวยไทยซอฟต์พาวเวอร์ของกกท. ที่จะนำคณะไปแข็งขันยูโรเปียนเกมส์ 2023 ที่โปแลนด์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการบรรจุมวยไทยไว้ในการแข่งขัน และการจัดกิจกรรมโรดโชว์มวยไทยในยุโรป สหราชอาณาจักร และจีน เป็นต้น

เรื่องที่สองคือ เรื่องละคร ภาพยนตร์ และซีรีส์ ซึ่งเราทำงานร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงพาณิชย์ โดยบทบาทของ กต.คือการชี้เป้าตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เราได้นำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพทั้งในด้านการให้บริการถ่ายทำภาพยนต์ การบริการหลังการการถ่ายทำ และการดึงกองถ่ายจากต่างประเทศมาไทย จากการเข้าร่วมในเดือนเมษายนปีนี้ คาดว่าจะดึงดูดการลงทุนได้กว่า 2,468 ล้านบาท การเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเรดซี ซึ่งเป็นการบุกตลาดกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) ที่ซาอุดีอาระเบียเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว มูลค่าการลงทุนที่นำเข้ามาก็ประมาณ 630 กว่าล้านบาท และจะทำต่อเนื่องให้ใหญ่ขึ้นในปีต่อๆ ไป ทั้งยังมีแผนนำผู้ประกอบการคอนเทนต์ “Y” บุกตลาดลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง

เรื่องที่สามคือ ดนตรี ที่เราได้ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ในการส่งศิลปินหน้าใหม่ที่มีศักยภาพเข้าร่วมเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ และเทศกาลไทยที่สถานทูตและสถานกงสุลใหญ่จัดขึ้น ซึ่งในปีนี้วางแผนส่งศิลปินเข้าร่วมเทศกาลไทยอย่างน้อย 7 แห่ง รวมถึงส่งเสริม T-Pop ในตลาดที่มีศักยภาพ

ด้านที่สี่คือ การออกแบบและแฟชั่น กต. ร่วมมือกับ CEA สนับสนุนให้นักออกแบบสร้างสรรค์รุ่นใหม่เข้าถึงแหล่งตลาดในต่างประเทศผ่านการออกคูหาในเทศกาลไทยในหลายประเทศ สุดท้ายด้านที่ 5 คือ การจัดเทศกาลต่างๆ ทั้งการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การจัดงานสงกรานต์ในประเทศไทยด้วยการจัดกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายและชุมชนไทยในต่างประเทศ ขณะเดียวกันสถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยกว่า 44 แห่งทั่วโลก ได้จัดงานเทศกาลไทยเพื่อรักษาและยกระดับความนิยมไทย สินค้าและบริการไทย ซึ่งในหลายประเทศได้กลายเป็นกิจกรรมประจำปีที่คนในท้องถิ่นเฝ้ารอ นอกจากนี้ เรายังได้ร่วมวางแผนและประชาสัมพันธ์งาน SPLASH -The New Creative Culture Power (Soft Power Forum) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 28-30 มิถุนายนนี้ ไปยังกลุ่มเป้าหมายประเทศต่างๆ อีกด้วย
ซอฟต์พาวเวอร์เป็นเรื่องสำคัญที่ กต.ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องภายใต้ชื่อเรียกว่า “การทูตวัฒนธรรม” เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์และความนิยมไทย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเรา แต่มันไม่เคยมีการแบ่งออกมาเป็น 11 สาขา ไม่เคยมีการทำงานแบบบูรณาการอยู่ใต้ร่มเดียวกันเหมือนกับที่รัฐบาลนี้ทำ พอเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลทุกคนก็ร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งถือเป็นข้อดี

