ที่มา | นสพ.มติชน รายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | ศุภวิชญ์ เจียรรุ่งแสง |
เผยแพร่ |
โฟกัสโลกรอบสัปดาห์: เลือกตั้งแดนผู้ดี-น้ำหอม สะท้อนเทรนด์ทั่วโลก คนเหม็นเบื่อรัฐบาล
จบไปแล้วกับการเลือกตั้งอังกฤษและฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นในช่วงติดๆ กันแถมเป็นไปอย่างเข้มข้นทั้งคู่ กับชัยชนะของพรรคแรงงานของอังกฤษ และกลุ่มแนวร่วมฝ่ายซ้ายอย่าง New Popular Front (NFP) ของฝรั่งเศสที่สามารถคว่ำกระแสร้อนแรงของฝ่ายขวาอย่าง พรรคแนชั่นแนลแรลลี (อาร์เอ็น) ได้สำเร็จ หากดูผิวเผินคงคิดว่าการเลือกตั้งทั้งสองสนามมีความคล้ายกัน แต่แท้จริงแล้วมันมีความแตกต่าง ซึ่งเราจะมาเจาะลึกกันในวันนี้
หากมองย้อนกลับไปไม่นานคงพอรู้ว่ากระแสฝ่ายขวากำลังมาแรงมากในทั่วโลก รวมถึงยุโรปที่ส่งผลชัดเจนในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปที่ฝ่ายขวากวาดชัยชนะไปอย่างถล่มทลาย การเลือกตั้งรัฐสภาของฝรั่งเศสในรอบแรกเป็นชัยชนะของพรรคเนชั่นแนลแรลลี(อาร์เอ็น) ของ นางมารีน เลอเปน และ นายจอร์แดน บาร์เดลลา จนทำให้พวกเขาเริ่มคิดถึงการคว้าเสียงข้างมากในสภาแบบเบ็ดเสร็จ เพราะชาวฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อยชื่นชอบนโยบายกีดกันผู้อพยพของพรรค รวมถึงมีการปรับภาพลักษณ์ของพรรคให้มีความสุดโต่งน้อยลง และลดท่าทีที่จะนำฝรั่งเศสออกจากสหภาพยุโรป (อียู) รวมถึงยกเลิกนโยบายที่จะหันไปกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซีย แต่สิ่งที่รอคอยพวกเขาอยู่กลับเป็นความผิดหวังในการเลือกตั้งรอบ 2 เพราะกลุ่มแนวร่วม NFP ฝ่ายซ้ายกวาดเก้าอี้ในสภาได้มากที่สุด ตามด้วยกลุ่มแนวร่วมสายกลางของ ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญมาจากการที่กลุ่มแนวร่วมสายกลางและซ้ายตกลงที่จะถอนผู้สมัครจำนวนมากจากการเลือกตั้งรอบ 2 เพื่อไม่ให้ตัดคะแนนกันเองในการต่อสู้กับพรรคอาร์เอ็น ซึ่งการผนึกกำลังกันต่อกรกับพรรคอาร์เอ็นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรคฝ่ายขวาไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้
แน่นอนว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้ย่อมเป็นความผิดหวังครั้งใหญ่ของนางเลอเปน แต่การที่ไม่มีฝ่ายไหนสามารถคว้าเสียงข้างมากในสภาไปครองได้ก็ยิ่งทำให้การเมืองฝรั่งเศสมีความไม่มั่นคง และอาจกระทบต่อบทบาทของฝรั่งเศสในอียู หรือในองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ด้วย ซึ่งก็ต้องจับตาต่อไปว่ารัฐบาลชุดใหม่ของฝรั่งเศสจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะฝรั่งเศสไม่เคยเจอกับสภาแขวนมาก่อน ทำให้การเมืองของฝรั่งเศสวุ่นวายมากในเวลานี้
ตัดภาพมาที่การเลือกตั้งอังกฤษ ที่พรรคแรงงานของ นายเคียร์ สตาร์เมอร์ ฝ่ายกลางซ้ายสามารถกวาดที่นั่งในสภาสามัญ หรือ สภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษไปได้มากถึง 412 ที่นั่งจากทั้งหมด 650 ที่นั่ง ขณะที่พรรคอนุรักษนิยมได้ที่นั่งไปเพียง 121 ที่นั่ง ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ 190 ปีของพรรค จนทำให้ นายริชี ซูแน็ก ต้องประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่ถือเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของพรรคแรงงาน แต่หากมองดูดีๆ จะพบว่าโมเมนตัมที่ผลักดันให้พรรคแรงงานเข้าเส้นชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้มาจากความไม่พอใจต่อพรรคอนุรักษนิยมที่เป็นพรรครัฐบาลของอังกฤษมาตั้งแต่ปี 2010 ทำให้ชาวอังกฤษแห่เทคะแนนให้กับพรรคแรงงาน ขณะที่พรรคอนุรักษนิยมของนายซูแน็กที่เป็นพรรคฝ่ายขวาถูกพรรคปฏิรูปแรงงานสหราชอาณาจักรของ นายไนเจล ฟาราจ ที่เป็นพรรคฝ่ายขวาเหมือนกันแย่งคะแนน
การเลือกตั้งทั้งสองสนามไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงการกลับคืนของกระแสฝ่ายซ้ายหรือการชะลอกระแสความนิยมฝ่ายขวาลง แต่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลชุดเดิม และความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยไม่ได้สนใจเรื่องจุดยืนทางการเมือง พวกเขาแค่ต้องการคนที่จะเข้ามาแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่พุ่งสูงจนรัดตัว และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพวกเขาเท่านั้น โดยเฉพาะอังกฤษที่เผชิญกับความวุ่นวายมานานหลายปีหลังจากถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ เบร็กซิท นายซาดิค ข่าน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน กล่าวเมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมาว่า เบร็กซิททำให้ขนาดเศรษฐกิจของอังกฤษหดตัวไปแล้ว 6% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายต่อไปอยู่ที่ 1.78 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มหดตัวลงไปมากถึง 10% ในปี 2035

เทรนด์ดังกล่าวไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในทวีปยุโรปเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดขึ้นในประเทศอิหร่านที่มีผู้นำสายแข็ง หัวอนุรักษนิยมมาโดยตลอด แต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม นายมาซูด เปเซซเคียน ศัลยแพทย์หัวใจวัย 69 ปี ผู้เป็นนักการเมืองสายปฏิรูปสามารถเอาชนะผู้สมัครสายแข็งที่มี อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านให้การสนับสนุน เพราะชาวอิหร่านเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจมานานหลายปี รวมถึงไม่พอใจกับการกดขี่ทางสังคมและต้องการความเปลี่ยนแปลงในชีวิต นายเปเซซเคียนให้คำมั่นว่าจะปรับนโยบายต่างประเทศและลดความตึงเครียดกับชาติมหาอำนาจ เพื่อหวังว่าจะช่วยให้สหรัฐลดการคว่ำบาตรต่ออิหร่านได้ หลังเศรษฐกิจของอิหร่านเลวร้ายลงอย่างมากจากการคว่ำบาตรของสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องดูกันต่อไปว่าเปเซซเคียนจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอิหร่านได้มากน้อยเพียงใด เพราะกลุ่มผู้มีอำนาจในอิหร่านรวมถึงผู้นำสูงสุดที่มีอำนาจตัดสินชี้ขาดในนโยบายสำคัญๆ ของประเทศเป็นพวกสายแข็ง ทำให้ที่สุดแล้วเปเซซเคียนอาจต้องเดินตามนโยบายที่ผู้นำสูงสุดวางไว้
สำหรับสังเวียนเลือกตั้งที่น่าจับตาที่สุดในปีนี้ ย่อมไม่พ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ทั้งโลกกำลังลุ้นกันตัวโก่งว่าจะออกมาในทิศทางใด ในศึกรีแมตช์ดวลเดือดระหว่าง “โจ ไบเดน” กับ “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่ต่างเป็นผู้สมัครที่มีจุดอ่อนที่อเมริกันชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งต่างส่ายหน้าด้วยกันทั้งคู่ จากนี้ต้องรอดูกันว่าที่สุดผลจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะย่อมส่งผลต่อโลกอย่างเลี่ยงไม่พ้น