คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : นิทรรศการฮิตเลอร์ ที่หลุมหลบภัย ‘เบอร์ลิน’

REUTERS/Fabrizio Bensch

กว่า 70 ปี นับตั้งแต่ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” อดีตผู้นำเผด็จการนาซีเยอรมันฆ่าตัวตายภายในหลุมหลบภัยก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้เวลาของการนำเรื่องราวชีวิตของฮิตเลอร์ฟื้นกลับมาอีกครั้งในกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของประเทศเยอรมนี

ดินแดนที่เรื่องของ “ฮิตเลอร์” เป็นเรื่องต้องห้ามมานานหลายสิบปี

เรื่องราวของฮิตเลอร์ ถูกนำกลับมาในรูปแบบของนิทรรศการ ที่ใช้ชื่อว่า “ฮิตเลอร์ เกิดขึ้นได้อย่างไร” ซึ่งจัดขึ้นที่หลุมหลบภัยแห่งหนึ่ง ในกรุงเบอร์ลิน แต่เป็นหลุมหลบภัยของคนทั่วไปที่ใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จะอยู่ใกล้กับหลุมหลบภัยที่ฮิตเลอร์เคยใช้ชีวิตอยู่ ซึ่งหลุมหลบภัยของฮิตเลอร์นั้น ไม่ได้เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าไปได้ชมกัน

แต่ก็ได้มีการจำลอง ชีวิตของฮิตเลอร์มาไว้ภายในงานนิทรรศการที่หลุมหลบภัยแห่งนี้ ตั้งแต่ชีวิตวัยเด็กที่ประเทศออสเตรีย ไปจนถึงช่วงเวลาของการเป็นทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จนก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำเผด็จการ

Advertisement

และช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตที่ต้องอยู่ภายในหลุมหลบภัย รวมไปถึงห้องที่ฮิตเลอร์ฆ่าตัวตายในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ.1945

REUTERS/Fabrizio Bensch

วีแลนด์ กีเบล ผู้จัดงานนิทรรศการ วัย 67 ปี บอกว่า เขาถูกกล่าวหาว่าเป็น “ฮิตเลอร์ ดิสนีย์” ที่เพียงแค่นำห้องต่างๆ มาจัดแสดง แต่กีเบลบอกว่า นิทรรศการของเขาจะมุ่งเน้นไปที่การก่ออาชญากรรมในสมัยของฮิตเลอร์ และห้องจัดแสดงนี้ก็เป็นที่ที่อาชญากรรมสิ้นสุดลง

กีเบลบอกว่า เขาเคยถูกถามว่า “สงครามโลกครั้งที่ 2 และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งงานนิทรรศการนี้ พยายามจะตอบคำถามเหล่านี้”

Advertisement
REUTERS/Fabrizio Bensch

กีเบลกล่าวถึงที่มาของการที่ชาวเยอรมันหันไปร่วมกับนาซีว่า “หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวเยอรมันจำนวนมากรู้สึกขายหน้าจากสนธิสัญญาแวร์ซาย” ซึ่งหมายถึงสนธิสัญญาแวร์ซาย ที่ลงนามในปี 1919 กำหนดให้เยอรมนีต้องยินยอมรับผิดในฐานะผู้ก่อสงครามแต่เพียงผู้เดียวและต้องจ่ายเงินชดเชยจำนวนมหาศาล

REUTERS/Fabrizio Bensch

“ขณะเดียวกัน ก็เริ่มเกิดพวกต่อต้านยิวขึ้นในยุโรป ไม่เฉพาะในเยอรมนีเท่านั้น และฮิตเลอร์ก็ได้เริ่มสร้างความเกลียดชังยิวขึ้น แล้วฮิตเลอร์ก็ใช้สองเรื่องนี้ มาเป็นตัวขับเคลื่อนผู้คน พร้อมกับให้คำมั่นว่า เยอรมนีจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ทำให้ชาวเยอรมันหลายคนยอมทำตามที่ฮิตเลอร์สั่ง”

นิทรรศการฮิตเลอร์นี้ จึงน่าจะพอตอบคำถามบางคำถามได้ว่า เหตุใด “ฮิตเลอร์” จึงกลายเป็นอดีตอันแสนโหดร้ายของเยอรมนี

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image