คอลัมน์ วิเทศวิถี : เนื้อหอม

หลายคนอาจสงสัยและประหลาดใจที่ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีรัฐมนตรีต่างประเทศของมหาอำนาจอย่างจีน สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และออสเตรเลีย ตบเท้าเดินทางเยือนไทยแบบหัวกระไดไม่แห้ง หลังจากที่ในสภาพการณ์ปกติ คนทั่วไปจะคิดว่ารัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจะไม่เป็นที่ยอมรับจากโลกตะวันตก ซึ่งหมายความว่าจะไม่คบค้าสมาคมหรือพบปะในระดับทวิภาคีกันเท่าใดนัก ยิ่งเป็นการ “เดินทางเยือนอย่างเป็นทางการ” แบบที่เกิดขึ้นนี้ยิ่งไม่ต้องพูดถึง

ในบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศที่มาเยือนไทยทั้งหมด นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ดูจะเป็นผู้ที่สร้างความตื่นตะลึงให้กับบรรดาผู้เชิดชูประชาธิปไตยมากที่สุด เพราะการเยือนของนายทิลเลอร์สันเป็นเครื่องยืนยันได้ดีที่สุดว่า“ลมตะวันตก”กำลังพัดเปลี่ยนทิศ

ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ไม่ให้ความสำคัญกับการเยือนของนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย หรือนางจูลี บิชอป รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย เพราะการเยือนในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศจะอย่างไรก็ย่อมมีความสำคัญด้วยกันทั้งสิ้น แต่จีน รัสเซีย และออสเตรเลีย มีท่าทีเป็นบวกและมีความสัมพันธ์กับไทยอย่างใกล้ชิดอยู่แล้วในช่วงที่ผ่านมา

ในส่วนของจีน ความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างรัฐบาลไทยภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหลายเรื่องว่าเราดูจะยอมจีนมากไปเสียด้วยซ้ำ ขณะที่รัสเซีย พล.อ.ประยุทธ์ก็เพิ่งเดินทางไปเยือนอย่างเป็นทางการและพบปะหารือกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ไปเมื่อปีที่ผ่านมา และสำหรับออสเตรเลียแม้ในช่วงหลังการปฏิวัติจะมีท่าทีแข็งกร้าวกับไทย แต่ที่สุดแล้วก็หันกลับมามีความสัมพันธ์และความร่วมมือกันแบบปกติ การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนางบิชอปครั้งล่าสุดนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ในรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์เสียด้วยซ้ำ

Advertisement

ทั้งหมดนี้ต่างกับสหรัฐ ซึ่งในยุคของรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา ท่าทีที่มีต่อไทยแม้จะดีขึ้นมากในช่วงหลัง และมีการพบปะพูดคุยในระดับต่างๆ แทบจะเรียกได้ว่าไม่ต่างจากปกติ แต่สำหรับการเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐต้องบอกว่าเกินจินตนาการ อย่างไรก็ดีภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งสหรัฐประกาศจุดยืนชัดว่าจะไม่ยึดถือแนวปฏิบัติหรือเชิดชูค่านิยมแบบดั้งเดิม ท่าทีที่มีต่อไทยก็เปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

นัยสำคัญในการเยือนของนายทิลเลอร์สันอยู่ที่การจับมือไทยให้อุ่น หลังจากในช่วงที่ผ่านมาสหรัฐละเลยและไม่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับไทยอย่างเปิดเผยเต็มรูปแบบ จะด้วยข้อจำกัดจากรัฐบาลทหารหรือค่านิยมที่มี ซึ่งสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไปในยุคนี้

การเยือนครั้งนี้ยังเป็นการมาให้ความมั่นใจว่า คำเชิญจากประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะให้พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการนั้นยังคงอยู่ เพียงแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปในรายละเอียดต่างๆ รวมถึงกำหนดเวลาที่ชัดเจน แต่ที่แน่นอนคือการเยือนดังว่าน่าจะเกิดขึ้นภายในปีนี้

Advertisement

ไม่มีคำถามเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือประชาธิปไตยใดๆ เพียงแต่สอบถามว่าไทยจะมีการเลือกตั้งตามที่ประกาศไว้เท่านั้น ซึ่งเป็นคำถามชนิดที่สหรัฐแทบไม่ได้อยากฟังคำอธิบายเสียด้วยซ้ำ แต่ข่าวที่ปรากฎตามมาคือการที่สหรัฐอนุมัติการขายอาวุธให้กับไทย

ทั้งหมดทั้งปวงนี้แสดงให้เห็นว่า แม้จะเกิดปัญหามากมายขึ้นในไทย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าไทยยังเป็นผู้เล่นหลักที่มีบทบาทและความสำคัญในเวทีระหว่างประเทศในหลายๆ ประเด็น ยิ่งในสภาวะที่เกิดปัญหาขึ้นในภูมิภาค อาทิ การแผ่ขยายของกองกำลังรัฐอิสลามในฟิลิปปินส์ และความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี การปล่อยให้ไทยไปยึดโยงกับจีนหรือรัสเซียเป็นความเสี่ยงที่สหรัฐไม่อาจรับได้ เช่นเดียวกับที่ไทยจะหันไปพึ่งพาอาวุธยุทโธปรกรณ์จากจีนเพียงถ่ายเดียว

ที่สุดแล้วปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า ในโลกยุคปัจจุบัน สิ่งที่มีน้ำหนักมากที่สุดคือ “ผลประโยชน์” นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image