คอลัมน์ วิเทศวิถี : เอกภาพของอาเซียน

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน(เอเอ็มเอ็ม) ครั้งที่ 50 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ได้สะท้อนให้เห็นถึงท่าทีที่ดีของอาเซียนที่มีจุดยืนร่วมกันในประเด็นที่เป็นปัญหาร้อนแรงของโลกและของภูมิภาคอย่างความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี

การที่ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้มีแถลงการณ์แยกว่าด้วยกรณีความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีเป็นการเฉพาะชนิดที่ทำเอาผู้สื่อข่าวที่ไปทำข่าวการประชุมตกใจกันเป็นทิวแถวเพราะไม่ได้ระแคะระคายมาก่อนหน้านี้ว่าที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกำลังหารือกันเพื่อจะออกแถลงการณ์ดังกล่าว แถมยังสามารถออกแถลงการณ์ฉบับนี้ได้รวดเร็วกว่าเอกสารแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุม ไม่เพียงแต่ทำให้เสียงของอาเซียนในประเด็นความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีดังฟังชัด แต่เอกสารดังกล่าวยังออกมาในเวลาที่ถูกต้องและเหมาะสม

ประเด็นความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีอันเนื่องมาจากการที่เกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป(ไอซีบีเอ็ม)ถึง 2 ครั้งก่อนที่การประชุมเอเอ็มเอ็มจะเริ่มขึ้น บวกกับการที่รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือได้เดินทางมาร่วมประชุมเวทีการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก(เออาร์เอฟ)ด้วย เพราะเป็นเวทีหารือด้านการเมืองและความมั่นคงหนึ่งเดียวที่เกาหลีเหนือเป็นสมาชิก ทำให้เวทีเอเอ็มเอ็มและการประชุมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามมาถูกปกคลุมด้วยเมฆหมอกที่พัดโหมแรงมาจากคาบสมุทรเกาหลีอย่างเลี่ยงไม่พ้น

ถึงขนาดที่ต้องบอกว่าการเผชิญหน้ากันเป็นครั้งแรกระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐและเกาหลีเหนือ รวมถึงการพบปะหารือระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศจีนและเกาหลีเหนือ และการพบปะกันเพียงช่วงสั้นๆ ระหว่างการประชุมของรัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ดูจะได้รับความสนใจและกลายเป็นข่าวใหญ่มากกว่าเนื้อหาสาระของการประชุมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเสียด้วยซ้ำ

Advertisement

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องบอกว่าอาเซียนสามารถบริหารโอกาสบนความสนใจดังกล่าวได้ดี แม้ที่สุดแล้วสื่อกระแสหลักจะมุ่งนำเสนอความขัดแย้งและการเผชิญหน้ามากกว่าก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะน้อยจะมาก ท่าทีต่อกรณีความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีของอาเซียนที่เกิดขึ้นในช่วงต้นของการประชุม และถูกย้ำถึงในเอกสารอื่นๆ ของอาเซียนที่เผยแพร่ตามมา เป็นท่าทีที่ทำให้เห็นว่าอาเซียนสามารถมีฉันทามติและแสดงจุดยืนร่วมกันในประเด็นที่ถือเป็นความท้าทายสำคัญบนเวทีโลกในขณะนี้ได้

แม้ว่าในการประชุมเดียวกันนี้ ปัญหาเดิมๆ ที่เกิดขึ้นในเวทีการประชุมเอเอ็มเอ็มทุกครั้งต่อกรณีทะเลจีนใต้เกี่ยวกับการเลือกใช้ถ้อยคำที่ปรากฎในแถลงการณ์ของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน จะยังคงเป็นปัญหาที่กินเวลาในการหารือพูดคุยเพื่อหาถ้อยคำที่ทุกฝ่ายยอมรับได้อยู่เช่นเดิม จากความต้องการของบางประเทศที่มีการอ้างสิทธิทับซ้อนกับจีนในทะเลจีนใต้ที่อยากให้ใช้อาเซียนเป็นหลังพิงในการตำหนิติเตียนการกระทำของจีน จนทำให้มีการเขียนข่าวกันไปว่าเอกสารดังกล่าวประสบปัญหาทำให้ไม่สามารถออกได้ทันเวลาเมื่อการประชุมจบลง

อย่างไรก็ดีผู้ที่ติดตามทำข่าวอาเซียนมานานปีจะทราบดีว่า การออกเอกสารหลังการประชุมจบทันทีเป็นเรื่องที่แทบไม่เคยเกิดขึ้น บางครั้งบางคราเอกสารดังว่าเพิ่งเผยแพร่ได้เมื่อผู้เข้าร่วมประชุมเดินทางกลับประเทศแล้วก็มี ดังนั้นประเด็นนี้จึงไม่ถือเป็นสิ่งแปลกใหม่หรือกระทั่งจะเรียกว่าเป็นปัญหาใหญ่ได้

Advertisement

ในทางตรงกันข้าม การที่ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน ได้ให้การรับรองแนวทางประมวลการจัดทำการปฎิบัติในทะเลจีนใต้ แต่จะให้มีการประกาศการเริ่มเจรจาเพื่อจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้(ซีโอซี)ในการประชุมผู้นำอาเซียนปลายปีนี้ กลับเป็นพัฒนาการทางบวกที่น่ายินดี

ที่ว่ามาทั้งหมดไม่ได้บอกว่าอาเซียนมีแต่เรื่องสวยหรูดูดี แต่อย่างน้อยสิ่งที่เกิดขึ้นก็สะท้อนให้เห็นว่า ถึงชาติสมาชิกอาเซียนจะยังคงยึดมั่นในผลประโยชน์แห่งชาติของตนเป็นตัวตั้ง แต่อย่างน้อยสมาชิกอาเซียนก็รู้ว่าผลประโยชน์ร่วมกันมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า

ท่ามกลางแรงกดดันบีบคั้นจากชาติมหาอำนาจต่างๆ ที่ต้องการยื้อยุดฉุดอาเซียนให้เดินไปตามทิศทางที่ต้องการ เอกภาพของอาเซียนไม่เพียงแต่มีความสำคัญ แต่ยังจะเป็นพลังแห่งความอยู่รอดของอาเซียนต่อไปในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image