คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : “โรเบิร์ต อี. ลี”กับชาร์ล็อตส์วิลล์

เหตุการณ์ที่ชาร์ล็อตส์วิลล์ รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงพลวัตทางสังคมที่ชัดเจนที่สุดของสังคมอเมริกันในยุคนี้

ทางหนึ่งนั้นแสดงให้เห็นว่า การแตกแยกทางความคิดที่ต่างกันสุดขั้วนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในแวดวงทางการเมืองเท่านั้น หากแต่ยังลงลึกไปจนถึงกลุ่มก้อนทางสังคมที่ยิ่งนับวันยิ่งแหลมคมและไม่ลดราวาศอกซึ่งกันและกันมากขึ้นทุกที

เหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุม 2 กลุ่มที่ลงเอยด้วยการใช้รถยนต์เป็นอาวุธ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และอีกหลายคนได้รับบาดเจ็บนั้น เริ่มต้นขึ้นจากเหตุการณ์ในระดับ “ปรากฏการณ์” ที่ไม่เคยพบเห็นกันมาหลายสิบปีมาแล้วในสหรัฐอเมริกา นั่นคือ การนัดชุมนุมครั้งใหญ่ของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองปีกขวาแบบ “สุดโต่ง” ทั้งหลาย ในวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ “ลีปาร์ก” สวนสาธารณะประจำเมือง ที่ถูกตั้งชื่อตามชื่อของ โรเบิร์ต อี. ลี นายพลคนสำคัญที่สุดของกองทัพสมาพันธรัฐฝ่ายใต้ ในช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกัน โดยมีอนุสาวรีย์ของนายพลลีตระหง่านอยู่กลางสวนสาธารณะแห่งนั้น

การชุมนุมกันครั้งนั้นใช้ชื่อว่า “ยูไนท์ เดอะ ไรท์ แรลลี” หรือการชุมนุมเพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับกลุ่มปีกขวา กลุ่มที่เข้าร่วมในการชุมนุม มีตั้งแต่กลุ่ม “คลู คลักซ์ แคลน-เคเคเค” กลุ่มเคลื่อนไหวกึ่งศาสนากึ่งการเมือง ที่เคยโด่งดังสุดขีดในยุคทศวรรษ 1950 ด้วยพิธีกรรม “แขวนคอคนดำ” ประจาน, กลุ่มที่มีแนวความคิดสุดโต่งแบบเดียวกับลัทธินาซี ของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่มักเรียกกันว่า “นีโอนาซี” หรือ “นาซีใหม่”, กลุ่มซึ่งมีแนวความคิดว่าชนผิวขาวคือชนเผ่าที่มีศักยภาพและสิทธิสูงสุดในหมู่มนุษยชาติ ที่เรียกกันว่าลัทธิบูชาผิวขาว หรือ “ไวท์สุปรีมาซิสม์”, กลุ่มคนผิวขาวที่มีแนวความคิดชาตินิยมสุดโต่ง หรือ “ไวท์ เนชั่นแนลลิสม์”, กลุ่มที่มีแนวความคิดตามแบบสมาพันธ์ในอดีตที่ถือว่าการค้าทาสเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ซึ่งมักเรียกกันว่า “นีโอ คอนเฟดเดอเรท” โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “สันนิบาตแห่งแดนใต้” หรือ “ลีก ออฟ เดอะ เซาท์”, กลุ่มเหยียดผิว “สกินเฮด”, กลุ่มต่อต้านมุสลิม, กลุ่มต่อต้านผู้มีความหลากหลายทางเพศ (แอลจีบีที) เป็นต้น

Advertisement

กลุ่มต่างๆ ที่มีแนวความคิดทำนองข้างต้นนี้ มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป นอกเหนือจาก “ลีก ออฟ เดอะ เซาท์” แล้ว ยังมีอาทิ “แวนการ์ด อเมริกา” (นีโอนาซี), กลุ่มสโมสรนักศึกษาผิวขาว (ไวท์ สุปรีมาซิสม์), กลุ่มแนวหน้าชาตินิยม (เนชั่นแนลลิสม์), เนชั่นแนล โพลิซี อินสติติวท์ (เอ็นพีไอ ที่ถูกระบุว่าเป็นกลุ่มไวท์ เนชั่นแนลลิสม์), สภาพลเมืองอนุรักษนิยม (เคาน์ซิล ออฟ คอนเซอร์เวทีฟ ซิติเซนส์) ฯลฯ

นักวิชาการระบุว่า บางส่วนเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวปกติ แต่ “ส่วนใหญ่” ของกลุ่มเหล่านี้จัดได้ว่าเป็น “กลุ่มเกลียดชัง” หรือ “เฮทกรุ๊ป” ที่มีนิยามไว้ชัดเจนว่า นอกเหนือจากเคลื่อนไหวตามแนวทางของตนเองแล้วยังต้อง “โจมตีหรือดำเนินการให้เกิดอันตราย” ต่อ “ชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งในสังคมทั้งชนชั้น” อีกด้วย

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า กลุ่มเกลียดชังเหล่านี้ในสหรัฐอเมริกามีมากถึง 917 กลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มปีกขวาและผิวขาว

Advertisement

กลุ่มเคลื่อนไหวผิวดำที่ถือเป็น “เฮทกรุ๊ป” มีเพียงกลุ่มซึ่งยึดถือแนวคิดแบ่งแยกดินแดนผิวดำเท่านั้นเอง

เมื่อพิจารณาจากผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่ชาร์ล็อตส์วิลล์ จึงเป็นปรากฏการณ์ “สะวิงขวา” อย่างรุนแรง ทางการเมืองและสังคมอเมริกัน เป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ และเปิดเผยที่สุดครั้งแรกหลังจากที่สหรัฐอเมริกา มีประธานาธิบดีอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์

แต่ทำไมต้องเป็นที่ชาร์ล็อตส์วิลล์ และทำไมต้อง “ปกป้องการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ โรเบิร์ต อี. ลี”? เหมือนอย่างที่มีการกล่าวอ้างกันในที่ชุมนุมว่า อนุสาวรีย์ดังกล่าวจำเป็นต้องปกปักรักษาไว้ในฐานะ “มรดกของคนขาว”

สงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มรัฐทางใต้ประกาศตัวเป็น “สมาพันธ์” แยกตัวออกจาก “สหพันธรัฐ” เพราะความขัดแย้งกันว่าด้วยเรื่องของ “ทาสผิวดำ” ในปี 1861 เกิดการสู้รบกันขนานใหญ่ สูญเสียชีวิตไปไม่น้อยกว่า 600,000 คน เมืองหลายเมือง อาทิ แอตแลนตา ถูกทำลายเสียหายชนิดราบเป็นหน้ากลองทั้งเมืองกว่าที่ฝ่ายสมาพันธ์จะพ่ายแพ้ และมีการ “เลิกทาส” ในที่สุดในปี 1865

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ อนุสาวรีย์ของ โรเบิร์ต อี. ลี ในชาร์ล็อตส์วิลล์ ก็เป็นเช่นเดียวกับอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์สำหรับฝ่ายสมาพันธ์อีกราว 1,500 ชิ้นกระจายกันอยู่ทั่วสหรัฐอเมริกา แต่ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐทางใต้ของสหรัฐอเมริกา นั่นคือ ไม่ได้สร้างขึ้นทันทีหลังสงครามยุติลง แต่มีคำสั่งให้ก่อสร้างขึ้นในอีกราว 50 ปีหลังสงครามสิ้นสุด คือในปี 1917 และนำมาประดิษฐานไว้ที่ “ลีปาร์ก” ในปี 1924

กระแสสร้างอนุสาวรีย์ทำนองเดียวกัน เกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงทศวรรษที่ 50 ในเวลาเดียวกับที่ธงสมาพันธ์ ยุคสงครามกลางเมืองกลายเป็นที่นิยม รัฐทางใต้หลายรัฐ อาทิ ฟลอริดา เปลี่ยนธงชาติของรัฐให้คล้ายคลึงกับธงสมาพันธ์ในช่วงเวลาดังกล่าว

โจเซฟ ลอว์นเดส นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอเรกอน ให้ทรรศนะกับ “การ์เดียน” เอาไว้ว่า กระแสนิยมสร้างอนุสาวรีย์ทั้ง 2 ครั้งดังกล่าวไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นกระแสที่เกิดขึ้นในช่วงที่ “ปฏิกิริยาทางเชื้อชาติ” ระหว่างคนขาวกับคนดำ เกิดขึ้นสูงสุด

ลอว์นเดสชี้ว่า ระลอกแรกนั้นเกิดขึ้นในตอนที่มีการนำเอากฎหมายหลายฉบับ ที่ถูกเรียกรวมๆ ว่า “กฎหมายจิม โครว์” มาประกาศใช้ในหลายรัฐทางตอนใต้ของประเทศ

“จิม โครว์ ลอว์” เป็นชื่อเรียกรวมๆ ถึงบรรดากฎหมายที่ตราขึ้นตามแนวคิดกีดกัน เหยียดเชื้อชาติโดยตรง (คำว่า “จิม โครว์” ที่ถูกนำมาใช้เป็นชื่อเรียกนั้น คือคำเรียกคนผิวดำแบบเหยียดหยามเหมารวมว่าเป็น “อีกาจิม”) ในบทบัญญัติของกฎหมายเหล่านี้ โรงเรียนของรัฐ (ในรัฐที่เคยเป็นรัฐสมาพันธ์แต่เดิม) จะต้องแบ่งแยกกันเด็ดขาดระหว่างโรงเรียนของคนขาวกับคนดำ เช่นเดียวกับในอีกทุกๆ เรื่อง ตั้งแต่ห้องน้ำสาธารณะ เรื่อยไปจนถึงการขนส่งสาธารณะ

ลอว์นเดสระบุว่า กฎหมายอีกาจิม และอนุสาวรีย์เหล่านี้ มีทั้งนัยยะทางการเมืองและนัยยะเชิงวัฒนธรรม ในทางการเมืองนั้นกฎหมายอีกาจิม ถูกใช้เพื่อ “แบ่งแยก” คนขาวและคนดำออกจากกัน ไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองแนวทางเสรีนิยมและผู้นิยมแนวคิด ซีวิล ไรท์ ที่ถือว่าพลเมืองทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน และพยายามหลอมรวมคนยากจนทั้งผิวดำและผิวขาวเข้าเป็นพันธมิตรเพื่อต่อต้านบรรดา “เจ้าของไร่และปศุสัตว์” ผู้มั่งคั่งจากรัฐทางใต้ของประเทศ

ในขณะที่อนุสาวรีย์ ถูกสร้างขึ้นเพื่อ “คนขาว” โดยเฉพาะ เป็นปัจจัยเชิงวัฒนธรรมเพื่อเชื่อมโยงคนขาวเหล่านั้นเข้ากับบรรดาเจ้าของไร่และปศุสัตว์ผู้มั่งคั่งเหล่านั้นอีกครั้ง

ลีโอนาร์ด เซสไคนด์ นักเคลื่อนไหวและนักเขียนเจ้าของหนังสือประวัติศาสตร์แห่งลัทธิชาตินิยมผิวขาวในสหรัฐอเมริกาชื่อ “บลัด แอนด์ โพลิติกส์” ระบุว่า เป้าประสงค์สำคัญของอนุสาวรีย์เหล่านี้ก็คือ ความพยายาม “เขียนประวัติศาสตร์ใหม่” ว่าสงครามกลางเมืองไม่ใช่ “ความพ่ายแพ้ที่อัปยศ” แต่เป็น “การต่อสู้ดิ้นรนที่สูงส่ง”

และเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความชอบธรรมให้กับกฎหมายจิม โครว์!

กฎหมายอีกาจิม ถูกยกเลิกด้วยคำพิพากษาศาลฎีกา สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1954 ในคดีที่เรียกว่าคดี “บราวน์กับคณะกรรมการการศึกษา” ซึ่งระบุว่า การแยกโรงเรียนรัฐเป็นโรงเรียนสำหรับคนขาวและคนดำนั้น ผิดบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

คำพิพากษาดังกล่าว ไม่เพียงนำไปสู่การเคลื่อนไหวของกลุ่มสิทธิพลเรือนที่นำโดยนักเคลื่อนไหวผิวดำทั้งหลายให้ขยายวงไปสู่เรื่องอื่นๆ รวมทั้งเรื่องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังก่อกระแสต่อต้านขึ้นในหมู่รัฐทางใต้ครั้งใหญ่อีกครั้ง และนำไปสู่กระแสการสร้างอนุสาวรีย์รำลึกถึงสงครามกลางเมืองอีกครั้ง เช่นเดียวกับกระแสคลั่ง “ธงสมาพันธ์”

การต่อสู้ดังกล่าวแม้ไม่ใช่การจับอาวุธขึ้นสู้ แต่ก็เป็นการต่อสู้ทางการเมืองครั้งใหญ่ อาทิ บางรัฐถึงขั้นไม่ให้เงินทุนสนับสนุนโรงเรียนบางแห่ง หรือไม่ก็มีการปิดโรงเรียนไปเลยด้วยซ้ำ

ลอว์นเดส กับ เซสไคนด์ สรุปทรรศนะของตนเองจากข้อเท็จจริงข้างต้นเหล่านี้ไว้ว่า อนุสาวรีย์เหล่านี้จึงเป็นสัญลักษณ์แทน แนวคิดว่าด้วยความเหนือกว่าของคนขาว เป็นตัวแทนแนวคิดการค้าทาส เหยียดผิว และการดิ้นรนต่อสู้ทางสีผิว

เซสไคนด์ระบุด้วยว่า อนุสาวรีย์เหล่านี้ถูก “ตั้งคำถาม” ตั้งแต่เริ่มมีการสถาปนากันในช่วงทศวรรษ 1960 ในช่วงที่มีการต่อสู้เพื่อยกเลิกกฎหมายอีกาจิม แล้วก็ยังกลายเป็นจุดถกเถียงกันไม่เลิกมาจนถึงขณะนี้

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้อนุสาวรีย์เหล่านี้กลับมาเป็นจุดโฟกัสอีกครั้ง เกิดขึ้นเมื่อปี 2015 เมื่อมีการสังหารชาวแอฟริกัน อเมริกัน 9 คน ระหว่างเข้าโบสถ์ โดยมือปืน ดิลันนน์ รูฟ ที่เมืองชาร์ลสตัน รัฐเซาท์แคโรไลนา เพราะหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว นิกกี เฮลีย์ ผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนาในเวลานั้น ซึ่งเวลานี้คือผู้แทนถาวรของสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ มีคำสั่งให้ปลดธงสมาพันธ์ออกจากเสาด้านหน้ารัฐสภาของรัฐในเมืองโคลัมเบีย จุดกระแสความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการเก็บหรือโค่นอนุสาวรีย์สงครามกลางเมืองจากเมืองทางใต้ของสหรัฐอเมริกาทั้งหมด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่าง “แบล็ก ไลฟ์ แมทเทอร์”

ลิซา วูลฟอร์ก สมาชิกแบล็ก ไลฟ์ แมทเทอร์ ในชาร์ล็อตส์วิลล์ อธิบายเหตุผลส่วนหนึ่งไว้ว่า ตัวอนุสาวรีย์เองจัดว่าเป็น “ประวัติศาสตร์บิดเบือน”

“เป็นเครื่องมือบดบังประวัติศาสตร์ บอกเล่าเรื่องราวของ “วิถีทางที่พ่ายแพ้” ไปแล้วจากทศวรรษ 1920 ด้วยวิธีที่ทำให้เข้าใจว่า พวกค้าทาส ใช้แรงงานทาสทางใต้ในเวลานั้นคือผู้ชนะ”

ลอว์นเดสระบุว่า การต่อสู้ทางการเมืองและสังคมที่มีอนุสาวรีย์เหล่านี้เป็นจุดศูนย์กลาง เคยจำกัดอยู่เพียงแค่ในระดับภูมิภาค เฉพาะในบางรัฐทางใต้ โดยกลุ่มนีโอคอนเฟดเดอเรท อย่าง เคาน์ซิล ออฟ คอนเซอร์เวทีฟ ซิติเซนส์ หรือ ลีก ออฟ เดอะ เซาท์

“แต่ตอนนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ในระดับประเทศสำหรับบรรดาขบวนการเคลื่อนไหวปีกขวาทั้งหลาย อนุสาวรีย์เหล่านี้สร้างความรู้สึกฮึกเหิม กำลังดิ้นรนต่อสู้และถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของปราการด่านสุดท้าย” ของขบวนการเหล่านั้นไปแล้ว

อเล็กซานเดอร์ รีด รอสส์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยพอร์ทแลนด์สเตท กล่าวว่า อนุสาวรีย์เหล่านี้ดึงดูดสารพัดกลุ่มขวาจัดเข้ามารวมตัวกันได้ ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่าอนุสาวรีย์เหล่านี้คือตัวแทนที่ทำให้รำลึกถึงช่วงเวลาที่ “คนขาว” ครองอำนาจสูงสุดโดยไม่มีใครกังขา สงครามกลางเมืองสำหรับคนเหล่านี้คือ การต่อสู้ “ตามธรรมเนียมสุภาพบุรุษคนขาวที่เหมาะสม” เป็นครั้งสุดท้าย

และเกิดขึ้นในยามที่กระแสขวาจัดกำลังพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดในสหรัฐอเมริกา

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ว่าทำไม สังคมอเมริกันส่วนใหญ่จึงยอมรับท่าทีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไม่ยอมประณามกลุ่มปีกขวาสุดโต่งที่ก่อเหตุในครั้งนี้ และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำอธิบายของทรัมป์ที่ว่า “คนเหล่านั้นเพียงแค่ต้องการปกป้องอนุสาวรีย์ โรเบิร์ต อี. ลี”

อเมริกันบางคนระบุว่า เหตุการณ์ที่ชาร์ล็อตส์วิลล์ แสดงให้เห็นว่าสงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกายังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง

อีกบางคนบอกว่า สังคมอเมริกันกำลังลุกเป็นไฟ

และคนจุดไฟก็ไม่ใช่ใคร โดนัลด์ ทรัมป์ นี่เอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image