โกลบอลโฟกัส : เปิด’วอร์รูม’คิม จอง อึน

สถานการณ์ตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีที่ทำทีทำท่าว่าจะสร่างซาลงตามสัดส่วนของ “สงครามน้ำลาย” ที่ลดลงตามลำดับ จู่ๆ ก็ทวีความเข้มข้น แหลมคมและสุ่มเสี่ยงขึ้นสู่ระดับสูงสุดอีกครั้ง เมื่อ คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือมีคำสั่งให้ทดลองยิงขีปนาวุธครั้งใหม่อีกครั้ง เมื่อเวลา 05.57 น. ตามเวลาท้องถิ่น ในวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา

เพราะนั่นเป็นครั้งแรกที่เกาหลีเหนือ “เจตนา” ยิงขีปนาวุธข้ามหัวเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกด้วยกัน

แถมยังมีคำ “เตือน” สำทับตามมาด้วยว่า การยิงดังกล่าวนี้คือการ “โหมโรง” ในการ “จัดการ” กับเป้าหมายจริงๆ นั่นคือ เกาะกวม ดินแดนในแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา

และเป็นข้อเท็จจริงที่สนับสนุนข้อสังเกตของผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารหลายคน ที่เคยชี้เอาไว้ว่า ในระหว่างที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำอเมริกันกับ คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือเล่นสาด “สงครามน้ำลาย” ใส่กันนั้น กองทัพเกาหลีเหนือ “เตรียมพร้อม” เปิดฉากสงครามมากกว่าสหรัฐอเมริกา

Advertisement

มากถึงขนาดจัดเตรียม “วอร์รูม” ไว้พร้อมสรรพตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมแล้วด้วยซ้ำไป

นี่ยังไม่นับข้อเท็จจริงที่ว่า คำประกาศของคิม จอง อึน หลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะตอนที่ “ขู่” ว่าจะโจมตีเพื่อ “เอนเวนโลป กวม” นั้น ไม่ใช่ “วาทกรรมประดิษฐ์” ที่ใช้พูดกันหรูๆ เหมือนที่ทรัมป์ทำอยู่เท่านั้น แต่เป็นคำพูดที่หมายถึง “ยุทธวิธี” ที่บรรดานักการทหารทั้งหลายรู้จักกันดี

“เอนเวนโลป” ไม่ได้เป็นการโจมตีปกติธรรมดา แต่เป็นการโจมตีแบบ “ปิดล้อมรอบด้าน” ไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามแม้แต่หนทางถอยออกจากที่ตั้ง

Advertisement

คิม จอง อึน สนับสนุนข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ไว้ด้วยการเปิดเผยด้วยว่า เกาหลีเหนือจะยิงขีปนาวุธถึง 4 ลูกเพื่อการนี้ เพราะยุทธวิธีแบบ “เอนเวนโลป” จำเป็นต้องโจมตีข้าศึกจากทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลังพร้อมๆ กัน

คิม ดอง-ยับ ผู้เชี่ยวชาญยุทธวิธีด้านการทหารจากสถาบันตะวันออกไกลศึกษา ในสังกัดมหาวิทยาลัยเกียงนัม ในกรุงโซล ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า มีภาพนิ่งชุดหนึ่งที่เผยแพร่ผ่าน “เคซีเอ็นเอ” สำนักข่าวทางการของเกาหลีเหนือเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เกาหลีเหนือมีแผนการละเอียดในระดับแผนยุทธการแล้วในการ “แบ๊กอัพ” คำข่มขู่ของคิม จอง อึน

คิม ดอง-ยับ เชื่อว่าภาพชุดนั้นถ่ายในระหว่างการเดินทางเยือน “วอร์รูม” ของคิม จอง อึน!

หลายภาพในภาพที่เกาหลีเหนือเผยแพร่ออกมาดังกล่าว แสดงภาพคิม จอง อึน พร้อมกับคณะนายทหารสำคัญๆ กำลังตรวจสอบและหารือกันอย่างจริงจัง ภาพหนึ่ง ท่านผู้นำคิมกำลังตรวจสอบภาพถ่ายผ่านดาวเทียมที่เห็นได้ชัดว่า เป็นภาพถ่ายของฐานทัพอากาศสหรัฐอเมริกาบนเกาะกวม

ใกล้ๆ กัน ที่ปรากฏอยู่บนผนังด้านหลังคือ “แผนที่” แสดง “พื้นที่ปฏิบัติการ” ทั้งในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น

อีกภาพ “ท่านคิม” กำลังถืออุปกรณ์ชี้อยู่ในมือ คิม ดอง-ยับ ตั้งข้อสังเกตว่า ทิศทางของการชี้คือแผนที่แผ่นหนึ่ง ซึ่งมีข้อความกำกับเอาไว้ว่า “แผนการยิงเพื่อโจมตีของกองกำลังยุทธศาสตร์”

ข้อสังเกตอีกประการก็คือ หนึ่งในบรรดาสารพัดนายพลที่ตามหลังคิม จอง อึน ในระยะประชิดนั้นคือ คิม จอง ซิก ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมอวกาศเก่าแก่ของประเทศ และเป็น “มันสมอง” ที่อยู่เบื้องหลังโครงการขีปนาวุธของเกาหลีเหนืออย่างแท้จริง

แผนที่ดังกล่าวแสดงถึง “เส้นทางการบิน” ของขีปนาวุธ ซึ่ง คิม ดอง-ยับ ชี้ให้เห็นว่าดูเหมือนจะเริ่มต้นจากบริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกของเกาหลีเหนือ เหินข้ามประเทศญี่ปุ่นแล้วไปสิ้นสุดในจุดที่ใกล้กับกวม

จุดเริ่มต้นดังกล่าวอยู่ในปริมณฑลของ “ซินโป” เมืองชายฝั่งด้านตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือดำน้ำของเกาหลีเหนือ

คิม จอง อึน เคยบรรยายการโจมตีกวมเพื่อตอบโต้คำปรามาสของสหรัฐอเมริกาไว้ว่า จะเป็นการใช้ขีปนาวุธพิสัยปานกลาง (ไออาร์บีเอ็ม) 4 ลูก ที่จะเดินทางผ่านท้องฟ้าเหนือจัดหวัด ชินาเมะ, ฮิโรชิมา และโคอิชิ ของญี่ปุ่น เป็นระยะทาง 3,356.7 กิโลเมตร ใช้เวลา 1,065 วินาที

ระบุเป้าไว้ชัดเจนด้วยว่า จะตกลงสู่น่านน้ำนอกชายฝั่งเกาะกวมระหว่าง 30-40 กิโลเมตร

คิม จอง อึน พูดถึงเป็นเชิงยกย่องต่อแผนการดังกล่าวไว้ด้วยว่า เป็นแผนที่ทำไว้โดยละเอียดและรอบคอบอย่างยิ่ง

คิม ดอง ยับ เชื่อว่า การเผยแพร่ภาพและข้อมูลเหล่านี้ออกมา ไม่ใช่เรื่องผิดพลาด หรือบังเอิญ แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่า เกาหลีเหนือศึกษาเรื่องนี้มานานมากแล้ว และพร้อมแล้วที่จะลงมือถ้าหากท่านผู้นำอย่าง คิม จอง อึน ตัดสินใจที่จะลงมือ

นอกจากนั้นยังเป็นการแสดงออกถึง “ความมั่นใจ” และเป็นการ “ท้าทาย” อยู่ในตัว

“เป็นการบอกสหรัฐอเมริกาว่า อะไรกำลังจะเกิดขึ้น และท้าทายว่า ถ้าอยากยับยั้งก็ลองดู”

ขีปนาวุธพิสัยกลางที่ถูกระบุไว้ในแผนการครั้งนั้น คือ “ฮวาซง-12”

ไม่น่าแปลกแต่อย่างใด ที่ในการทดลองยิงขีปนาวุธข้ามหัวญี่ปุ่นครั้งล่าสุดนี้ ก็เป็นการทดลองยิง “ฮวาซง-12” เช่นเดียวกัน

องค์ความรู้เกี่ยวกับคลังแสงนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือที่ชาติตะวันตกมีอยู่ในมือนั้นอยู่ในสภาพ “ไม่ค่อยเป็นชิ้นเป็นอัน” เท่าใดนัก แต่เกาหลีเหนืออ้างเอาไว้ว่า สามารถมี “ขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป” (ไอซีบีเอ็ม) อยู่ในครอบครองแล้ว ซึ่งนั่นหมายถึงว่า เกาหลีเหนือสามารถกดปุ่มนิวเคลียร์โจมตีโจมตีประเทศใดก็ได้ ที่อยู่ในภายในรัศมีราว 10,000 กิโลเมตร

ฮวาซง-12 ไม่ใช่ไอซีบีเอ็ม เป็นเพียงไออาร์บีเอ็ม อย่างไรก็ตาม พิสัยทำการของมันก็ยังสูงถึง 5,000 กิโลเมตร

กวม ตั้งอยู่ห่างจากเกาหลีเหนือเพียงแค่ 3,000 กิโลเมตรเศษ ไออาร์บีเอ็มอย่าง ฮวาซง-12 จึงสามารถคุกคามต่อกวมได้แบบสบายๆ

ที่กวม สหรัฐอเมริกามีทั้ง ฐานทัพอากาศ ฐานทัพเรือ และกองบัญชาการกองกำลังลาดตระเวนชายฝั่งอยู่ที่นั่น รวมบุคลากรทางทหารอเมริกันทั้งหมดไม่น้อยกว่า 6,000 นาย

หากทำตามที่ข่มขู่ ทั้งสถานที่และบุคลากรเหล่านั้นคงไม่เป็นอันตราย แต่อเมริกันทั้งประเทศจะรู้สึกเสียหน้าร้ายแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนการสกัด “ฮวาซง-12” ก่อนถึงเป้าหมายจึงสำคัญอย่างยิ่งยวด ทั้งโดยนัยทางทหารและนัยทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศสำหรับสหรัฐอเมริกา

ระบบต่อต้านขีปนาวุธทันสมัยที่สุดของสหรัฐอเมริกาที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “ทาด” ดูเหมือนจะเป็นทางออกเดียว เพื่อป้องกันไม่ให้ทรัมป์และอเมริกันทั้งประเทศหน้าแตกยับเยิน

ชื่อเต็มๆ ของ “ทาด” คือ “เทอร์มินัล ไฮ อัลติจูด แอเรีย ดีเฟนซ์” ที่หมายถึง “ระบบป้องกันพื้นที่ในระดับสูงตอนปลาย” ทำหน้าที่ทั้ง ดักจับ ส่วนที่เป็น “หัวรบ” ของขีปนาวุธ เพื่อทำลายทิ้ง ในตอนปลายของการทำงานของขีปนาวุธในช่วง “ก่อน” หรือ “ขณะ” กำลังตกกลับลงสู่บรรยากาศของโลก ซึ่งเป็นระดับความสูงที่เป็น “อวกาศ”

“ทาด” ไม่ได้มีหัวรบแต่อาศัย “พลังงานจลน์” หรือการกระแทกเพื่อทำลายหัวรบ ดังนั้น จึงสามารถทำลายหัวรบได้ โดยที่ระเบิดนิวเคลียร์ในหัวรบยังไม่จุดระเบิด ส่งผลให้การแพร่กระจายหรือการตกค้างของกัมมันตภาพรังสีจากการทำลายหัวรบขีปนาวุธมีโอกาสเป็นไปได้น้อย

ยิ่งเป็นการทำลายหัวรบขณะอยู่ใน “อวกาศ” ได้ ยิ่งเป็นการดี เพราะเป็นการป้องกันไม่ให้เศษชิ้นส่วนจากซากของหัวรบส่งผลให้เกิดอันตรายต่อผู้คนบนพื้นดิน

ฮวาซง-12 ขับเคลื่อนด้วยจรวด 2 ตอน ใช้เชื้อพลิงเหลวที่เกาหลีเหนือพัฒนาขึ้นเอง ใช้ชื่อ “แต่โปดอง-1” ขณะที่อยู่ในอวกาศจะเดินทางด้วยเชื้อเพลิง ทำความเร็วเหนือเสียงหลายเท่า ยากที่จะยิงสกัด

ทหารอเมริกันจำเป็นต้องรอให้ฮวาซง-12 ทำงานจนถึงขั้นตอนสุดท้าย นั่นคือการปล่อยหัวรบให้ตกกลับลงสู่ชั้นบรรยากาศของโลก เพื่อลงสู่เป้าหมาย จึงจะใช้ “ทาด” ยิงสกัด ตอนนั้นขีปนาวุธเกาหลีเหนือจะไม่มีเชื้อเพลิงหลงเหลือ ตกกลับสู่โลกด้วยแรงดึงดูดของโลกเท่านั้น

เท่าที่ผ่านมา ระบบต่อต้านขีปนาวุธ “ทาด” ของสหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการทดลองดักจับและทำลายขีปนาวุธชนิด 100 เปอร์เซ็นต์ 14 ครั้ง ทำลายได้ทั้ง 14 ครั้ง

ปัญหาก็คือ มันไม่เคยถูกใช้ในสถานการณ์สงครามจริงๆ มาก่อนเท่านั้นเอง

ในขณะที่คนส่วนใหญ่เป็นกังวลกับการโจมตีด้วยขีปนาวุธติดหัวรบ “นิวเคลียร์” จากเกาหลีเหนือ ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์บอกว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่าขีปนาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือก็มี นั่นคือ “ขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบบรรจุอาวุธเคมี”

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนจากหลายประเทศเชื่อว่า เกาหลีเหนือมี “คลังอาวุธเคมี” ขนาดใหญ่อยู่ในครอบครอง ซึ่งทำให้ไม่น่าแปลกแต่อย่างใดที่ เครื่องมือสำคัญในการลอบสังหาร คิม จองนัม พี่ชายของคิม จอง อึน ก็คือ “สารวีเอ็กซ์” หนึ่งในอาวุธเคมีที่ร้ายแรงที่สุด

ชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เตือนไว้เมื่อต้นปีนี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่เกาหลีเหนือจะบรรจุ “สารพิษมอมประสาท” ใส่ไว้ในหัวรบแทนระเบิดทั่วไปหรือนิวเคลียร์

ฮามิช เดอ เบรตตัน-กอร์ดอน ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธเคมี ระบุว่า เกาหลีเหนือมี “สารวีเอ็กซ์” อยู่ในครอบครองราวๆ 5,000 ตัน ปัญหาที่น่ากลัวหากหัวรบในขีปนาวุธของเกาหลีเหนือบรรจุมันเอาไว้แทนที่ระเบิดหรือระเบิดนิวเคลียร์ก็คือ ระบบต่อต้านขีปนาวุธ “ทาด” ไม่สามารถจัดการกับสารเคมีที่หลงเหลือได้ แม้จะสามารถจัดการกับหัวรบได้ก็ตาม

เบรตตัน-กอร์ดอน ระบุว่า “ทาด” สามารถจัดการกับหัวรบบรรจุสารเคมีได้จริง แต่ทำลายสารเคมีในหัวรบได้อย่างมากที่สุดก็แค่ 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนที่หลงเหลือยังคงเป็นภัยมหันต์ต่อมนุษย์บนพื้นดิน

ดังนั้น ข้อแนะนำของผู้เชี่ยวชาญแทบทั้งหมดก็คือ หากเลี่ยงได้ ก็ควรหลีกเลี่ยงการก่อสงครามกับเกาหลีเหนือเป็นดีที่สุด

ปัญหาก็คือ การทดลองขีปนาวุธของเกาหลีเหนือครั้งล่าสุด ถือเป็นครั้งที่ 14 ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา และเป็นครั้งที่ 16 ในประวัติศาสตร์การพัฒนาจรวดของเกาหลีเหนือ

นอกจากนั้น เกาหลีเหนือยังทดลองระเบิดนิวเคลียร์อีก 5 ครั้ง กว่าครึ่ง เป็นการทดลองในยุคของ “คิม จอง อึน”

ปฏิกิริยาของนานาชาติและสหประชาชาติ เท่าที่ผ่านมา ทำได้เพียงแค่การแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เกาหลีเหนือ ตกอยู่ภายใต้การแซงก์ชั่นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมาตลอด

การแซงก์ชั่นครั้งล่าสุด ซึ่งถือว่าเข้มข้นที่สุด ทำให้ทางเลือกในการใช้การแซงก์ชั่นแทบหมดไปโดยปริยายแล้ว

คำถามที่ท้าทายที่สุดในเวลานี้ก็คือ มีวิธีการ “ลงโทษ” เกาหลีเหนือแบบอื่นหลงเหลืออยู่อีกหรือไม่? และคืออะไร? หากไม่ใช่ “ปฏิบัติการทางทหาร”?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image