คอลัมน์ วิเทศวิถี : ไทยกับโออีซีดี

เมื่อไม่นานมานี้ระทรวงการต่างประเทศได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(โออีซีดี) จัดเวทีหารือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของโออีซีดีในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายทางนโยบายของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิตอลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ขึ้น

แม้ว่าการประชุมดังกล่าวอาจไม่เป็นที่สนใจเท่าใดนักในไทยท่ามกลางสถานการณ์ “ไล่จับปู” ที่กำลังสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วทุกหัวระแหง แต่การประชุมดังกล่าวถือว่ามีนัยสำคัญที่น่าสนใจอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศไทยยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารเช่นในปัจจุบัน

โออีซีดีถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2504 เพื่อบูรณะฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมของยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันโออีซีดีมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 34 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรป รวมถึงสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป

กว่า 56 ปีที่ผ่านมา โออีซีดีมีบทบาทอย่างสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศสมาชิก ผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ส่งเสริมการค้าเสรี และให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาทั้งในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ยังช่วยวิเคราะห์แนวทางที่นโยบายต่างๆ เพื่อพิจารณาถึงการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกและกับประเทศภายนอกกลุ่ม โดยเฉพาะในประเด็นปัญหาข้ามชาติต่างๆ อันเกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์

Advertisement

ในฐานะองค์กรวิจัยที่มีคุณภาพที่สุดองค์กรหนึ่งของโลก เป็นแหล่งรวมข้อมูลวิจัยและสามารถให้ข้อเสนอแนะต่างๆ แก่ประเทศสมาชิก โออีซีดีจึงมักจะถูกเปรียบเปรยว่าเป็นเสมือนฝ่ายเลขานุการของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หรือจี 20 อีกด้วย

การก้าวเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนกระบวนการรวมตัวทางเศรษฐกิจภายในประชาคมอาเซียนของโออีซีดี ย่อมจะส่งผลดีต่อการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในภาพรวม เพราะเป็นการช่วยยกระดับมาตรฐานของอาเซียนเข้าสู่มาตรฐานสากล

นอกจากจะสนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจของของอาเซียนแต่ละประเทศแล้ว ก่อนหน้านี้โออีซีดีได้เลือกให้ไทยเป็น 1 ใน 4 ประเทศ ร่วมกับโมร็อกโก เปรู และคาซักสถาน ที่โออีซีดีจะร่วมมือผ่านโครงการ “คันทรี โปรแกรม” โดยไทยถือว่าเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ได้รับเลือกจากโออีซีดี แต่โครงการดังกล่าวถูกระงับไปเนื่องจากมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทย

การกลับมาครั้งนี้ ไทยและโออีซีดียังได้เห็นพ้องที่จะรื้อฟื้นโครงการคันทรี โปรแกรม ร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจและความเชื่อมั่นที่โอดีซีดีมีต่อไทย แต่ที่มากไปกว่านั้นคือโออีซีดีได้มองข้ามข้อจำกัดและปัญหาในประเด็นที่เคยเป็นข้อติดขัดเนื่องจากการเมืองไทยไปสู่ความร่วมมือในอนาคต

นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของการดำเนินนโยบายการทูตของไทย แต่ความร่วมมือดังกล่าวจะนำพาไทยไปถึงจุดใด ก็ขึ้นกับการดำเนินการภายในประเทศของไทยเป็นสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image