คอลัมน์ โกบอลโฟกัส : กองทัพกู้ชาติ โรฮีนจา แห่งอาระกัน

REUTERS/Danish Siddiqui

เรื่องราวความรุนแรง และการกล่าวหาและโต้ตอบกันไปมาระลอกใหม่เกี่ยวกับสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศพม่าหรือเมียนมา คงยากที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะสามารถสะสางให้ได้ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายได้

เหตุรุนแรงระลอกล่าสุด เริ่มต้นขึ้นหลังจาก “กองกำลังติดอาวุธ” ลงมือโจมตีที่ตั้งของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ พร้อมๆ กันหลายจุด เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา

ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 12 ราย

กองทัพพม่าส่งกำลังทหารเข้าไปเพิ่มเติม เพื่อไล่ล่ากองกำลังติดอาวุธดังกล่าว

Advertisement

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เหตุการณ์ปราบปรามแบบเหวี่ยงแห ซึ่งข้อมูลของทางการระบุว่ามีผู้เสียชีวิตราว 400 รายในช่วงเวลาดังกล่าว และถูกองค์การพัฒนาเอกชนกล่าวหาว่าเป็นการดำเนินความพยายาม “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” โดยใช้เหตุรุนแรงเป็นข้ออ้างเพื่อ “ล้างมุสลิม” ออกจากประเทศ มีข้อมูลของพฤติกรรมรุนแรง “เกินกว่าเหตุ” เช่น เผาหมู่บ้าน ฆ่าตัดคอ ฯลฯ

ในขณะที่ฝ่ายทหารและรัฐบาลพม่าอ้างว่าเป็นการปราบปรามตามปกติแต่ถูกป้ายสีให้กลายเป็นเหตุรุนแรง มีการกล่าวอ้างถึงขนาดว่า ชาวบ้านเผาหมู่บ้านของตัวเองเพื่อหวังผลเช่นนี้ ออง ซาน ซูจี ระบุถึงความพยายามเพื่อ “โฆษณาชวนเชื่อ” โดยใช้ “เฟคนิวส์” เพื่อหวังผลต่อการกดดันรัฐบาลพม่าเช่นเดียวกัน

ต่างฝ่ายต่างมีหลักฐาน มีปากคำของเหยื่อ และมีกรณีตัวอย่าง สำหรับอ้างอิงถึงความเป็นจริงของฝ่ายตน

Advertisement

แต่การที่ทางการพม่ากีดกันผู้สื่อข่าวต่างชาติ และ ไม่ยินยอมแม้แต่ให้เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เข้าไปในพื้นที่โดยเด็ดขาด ยิ่งทำให้ข้อกล่าวอ้างทั้งหลายยากเย็นอย่างยิ่งที่จะยืนยันข้อเท็จจริงได้

กระนั้น ความจริงที่โลกเห็นกับตาก็คือ ชาวโรฮีนจากว่า 123,000 คน หอบลูกจูงหลานตะเกียกตะกายเดินเท้าพยายามหลบหนีข้ามแดนออกมายังบังกลาเทศ อีกราว 400,000 คนติดกับอยู่ในสภาพต้องหลบหนีเอาชีวิตรอด ใช้ชีวิตอยู่บนเทือกเขาและราวป่าใน “พื้นที่ขัดแย้ง”

นอกจากนั้นก็ยังมีความจริงอีกประการที่ว่า โรฮีนจา คือชนกลุ่มน้อยที่ทางการพม่าปฏิเสธการมีตัวตน รัฐบาลพม่าไม่ถือว่า โรฮีนจา เป็นชนกลุ่มน้อยดั้งเดิมในดินแดนของตนเอง เป็นเพียงแค่ “คนที่ลอบเข้าเมือง” มาใช้ชีวิตอยู่โดยผิดกฎหมาย นั่นหมายถึง โรฮีนจา มีบัตรประจำตัวประชาชนไม่ได้ รับการศึกษาพื้นฐานไม่ได้ ประกอบอาชีพอย่างถูกต้องตามกฎหมายไม่ได้ เดินทางไปไหนมาไหนในพม่าก็ไม่ได้

พม่าไม่เรียกโรฮีนจาว่า โรฮีนจา แต่เรียกว่า “เบงกาลี” ที่แสดงนัยถึงความเชื่อที่ว่าคนเหล่านี้คือ เชื้อชาติหนึ่งในบังกลาเทศที่เข้ามาอยู่ในพม่า

บังกลาเทศ ปฏิเสธว่า โรฮีนจา ไม่ใช่คนของตนเอง ทำได้เพียงแค่ให้ที่พักพิงชั่วคราวบริเวณชายแดนที่เรียกกันว่า “ค็อกซ์ส บาซาร์” ซึ่งแออัดจนล้น ชาติมุสลิมอีกหลายชาติก็ปฏิเสธเช่นกันว่า โรฮีนจา ไม่ใช่คนของตน

โรฮีนจา จึงเป็นคนไร้รัฐ คนไร้รัฐกลุ่มใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นคนที่ถูก “ลงทัณฑ์” มากที่สุดในโลกกลุ่มหนึ่งเช่นกัน

ภายใต้เหตุการณ์แบบเดิมๆ ความรุนแรงและชะตากรรมสลดใจแบบเดิมๆ มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เด่นชัดอยู่ 2 ประการ หนึ่งคือ รัฐบาลพม่าชุดนี้มาจากการเลือกตั้งและในทางปฏิบัติแล้วผู้นำรัฐบาลคือ ออง ซาน ซูจี อดีตผู้ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ!

ความคาดหวังว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในยะไข่จะดีขึ้น หรือมีทางออกอย่างสันติและมีมนุษยธรรม เริ่มลดน้อยถอยลงตามลำดับ

นักสังเกตการณ์ตั้งข้อสังเกตว่า ซูจีไม่เพียงวางเฉย ไม่พยายามลดบทบาทของทหารในสถานการณ์ยะไข่ลงเท่านั้น แต่ยังไม่ยอม “ประณาม” การกระทำทารุณกรรมรุนแรง ผิดหลักมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นอีกด้วย

การแสดงออกบางอย่างของ นางออง ซาน ซูจี อาจเข้าใจได้ในทางการเมือง กระนั้น หลายๆ อย่างก็ชวน “ฉงน” และทำลายศรัทธาต่อซูจี ผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาแล้วลงทีละน้อย

การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนอีกประการหนึ่งก็คือ การปรากฏตัวแสดงบทบาทของ “กองทัพกู้ชาติโรฮีนจาแห่งอาระกัน” ที่เป็นจุดเริ่มของความรุนแรงระลอกใหม่

“กองทัพกู้ชาติโรฮีนจาแห่งอาระกัน” หรือ “ดิ อาระกัน โรฮีนจา ซัลเวชั่น อาร์มี” ที่นิยมเรียกตัวย่อว่า “อาร์ซา” อ้างตัวเป็นผู้รับผิดชอบในการโจมตีที่ตั้งของเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อเดือนสิงหาคมดังกล่าว

แต่ยืนยันว่า เป็นการโจมตีเพื่อ “ปกป้อง” ชาวโรฮีนจา ไม่ได้มีเจตนาเป็นอย่างอื่น

คำถามก็คือ “อาร์ซา” เป็นใครมาจากไหน? เป็นการแผ่อิทธิพลของขบวนการหัวรุนแรงตามลัทธิญิฮัด ที่เชื่อถือในการ “ทำสงครามศักดิ์สิทธิ์” เพื่อปลดปล่อยมุสลิม หรือไม่?

หรือเป็นเพียงกลุ่มคนที่คับแค้นและมืดมนหมดหนทางออกมายาวนานนับสิบๆ ปี จนในที่สุดก็เลือกเอาการจับอาวุธขึ้นสู้เป็นทางออกสุดท้ายกันแน่?

ข้อมูลเกี่ยวกับ “อาร์ซา” อยู่น้อยมาก เท่าที่ตรวจสอบข้อมูลแรกสุดเกี่ยวกับขบวนการนี้ปรากฏอยู่ในรายงานของ “ดิ อินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป” หรือ ไอซีจี ที่เผยแพร่รายงานออกมาเมื่อปลายปีที่แล้ว ต่อมาเป็นการสัมภาษณ์ค่อนข้างยาวของ ไมค์ วินเชสเตอร์ ผู้สื่อข่าว เอเชียไทมส์ กับคนที่อ้างว่า “ได้รับมอบหมายอย่างเป็นทางการ” จากผู้นำอาร์ซา ให้พูดในฐานะ “ตัวแทน” ของตนเอง วินเชสเตอร์เรียบเรียงออกมาเผยแพร่เอาไว้เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา

ข้อมูลสุดท้าย ป๊อปปี้ แม็คเฟอร์สัน ผู้สื่อข่าวของ การ์เดียน ซึ่งเดินทางไปยัง “ค็อกซ์ส บาซาร์” มีโอกาสได้พูดคุยกับหนึ่งในสมาชิกของ “อาร์ซา” ผ่านทางโทรศัพท์ ได้รายละเอียดบางส่วนของขบวนการมาเผยแพร่ไว้เมื่อ วันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมานี่เอง

ที่น่าสนใจก็คือ ข้อมูลจากทั้ง 3 แหล่ง ไม่ค่อยจะสอดรับกันมากนัก บางอย่างขัดแย้งกันอย่างชวนตั้งข้อสังเกตอีกต่างหาก

ข้อมูลของไอซีจีระบุว่าผู้นำอาร์ซา คือ อะตา อุลเลาะห์ ชาวมุสลิมเชื้อสายโรฮีนจาที่ใช้ชีวิตอยู่ในซาอุดีอาระเบีย ระบุด้วยว่า อุลเลาะห์เป็นโรฮีนจาที่เกิดในปากีสถาน แล้วไปเติบโตในซาอุดีอาระเบีย สอดคล้องกับข้อมูลของทางการพม่า ที่ระบุว่า ผู้นำของกองกำลังติดอาวุธในยะไข่ “เป็นหนึ่งในแกนนำที่อยู่ในต่างแดนและได้รับการฝึกจากต่างแดน” เช่นเดียวกับกองกำลังติดอาวุธที่ลงมือปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ตอนนี้

รัฐบาลพม่าเรียกอาร์ซาว่า “กลุ่มผู้ก่อการร้ายเบงกาลีที่่นิยมความรุนแรงสุดโต่ง” ในขณะที่สมาชิกของอาร์ซา บอกว่า พวกตนเป็นเพียง “คนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ” เท่านั้นเอง

แต่ข้อมูลของเอเชียไทม์สและการ์เดียน ระบุตรงกันว่า ผู้นำขบวนการอาร์ซา ชื่อ อะตอลเลาะห์ อาบู อัมมาร์ จุนจูนี (ในรายงานของการ์เดียน เขียนชื่อหลังเป็น “จุนยูนี”)

ไมค์ วินเชสเตอร์ ระบุว่า ผู้นำอาร์ซาอยู่ในวัยสี่สิบเศษ เกิดในครอบครัวโรฮีนจาอพยพในกรุงการาจี ประเทศปากีสถาน ก่อนย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมี “ชุมชนโรฮีนจาพลัดถิ่น” อยู่ราว 150,000 คน ทำหน้าที่เป็น “อิหม่าม” หรือผู้นำสวดในมัสยิดที่นั่น

อะตอลเลาะห์ เดินทางกลับมายะไข่ครั้งแรกในปี 2013 เหตุผลเพราะได้รับการติดต่อจากบรรดาคนหนุ่มสาวภายในพื้นที่ การเดินทางกลับมาดังกล่าวกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งขบวนการทางความคิดขึ้น เรียกว่า “ฮารักกะห์ อัล ยาคิน” หรือ “ขบวนการแห่งศรัทธา” ที่ในเวลาต่อมาขยายตัวและเปลี่ยนโฉมหน้ากลายเป็น กองกำลังติดอาวุธลอบปฏิบัติการลับในพื้นที่ และใช้ชื่อ “อาร์ซา” ในที่สุด

อับดุลเลาะห์ ผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นโฆษกของอาร์ซา บอกกับเอเชียไทม์ส ไว้ว่า “อาร์ซา” เป็นผลพวงโดยตรงของเหตุการณ์ความไม่สงบรุนแรงต่อเนื่องในปี 2012 ซึ่งส่งผลสะเทือนอย่างรุนแรง ฝังติดอยู่ในใจของ “คนรุ่นใหม่”

เป็นคนรุ่นใหม่ที่ “เข้าถึงโซเชียลมีเดีย” และสามารถเสพรับประสบการณ์ได้จากทั่วโลก

เหตุการณ์เมื่อปี 2012 คือเหตุการณ์จลาจลเชื้อชาติระหว่างพุทธกับมุสลิมในยะไข่ รุนแรงถึงขนาดมีการไล่ล่า เผาบ้านเรือน และเข่นฆ่ากันขนานใหญ่ ส่งผลให้โรฮีนจา ส่วนหนึ่งทะลักหนีออกนอกประเทศกลายเป็น “คนเรือแห่งศตวรรษ 21” อีกส่วนหนึ่งไม่น้อยกว่า 130,000 คน กลายเป็นคนพลัดถิ่นภายในประเทศ

อยู่ในค่ายกักกันภายใน และโดยรอบ ซิตตเว เมืองหลวงของรัฐมานับแต่บัดนั้นจนถึงขณะนี้

“อับดุลเลาะห์” ที่ให้สัมภาษณ์ ไมค์ วินเชสเตอร์ และ “ฮาเชม” แหล่งข่าวที่พูดคุยกับ แม็คเฟอร์สัน ยืนยันตรงกันว่า อาร์ซาพัฒนาขึ้นมาเป็น “ขบวนการติดอาวุธที่เกิดและเติบโตขึ้นในประเทศ” แทนที่จะเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการญิฮัดสากล เหมือนเช่นกองกำลังติดอาวุธโรฮีนจาอื่นๆ หลายกลุ่มก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “องค์การเอกภาพโรฮีนจา” (โรฮีนจา โซลิดาริตี ออร์แกไนเซชัน-อาร์เอสโอ) ซึ่งปัจจุบันสลายตัวไปแล้ว

และแตกต่างอย่างยิ่งกับสิ่งที่ ไอซีจี เชื่อว่า อาร์ซา เชื่อมโยงกับกลุ่มสุดโต่งทางศาสนาภายนอกประเทศ ทั้งในอัฟกานิสถาน, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทั้งในแง่ของค่ายฝึก, การฝึกและอาวุธ

อับดุลเลาะห์บอกว่า อาร์ซาเป็นกองกำลังติดอาวุธที่ใช้ยุทธวิธีแบบกองโจรที่มีค่ายฝึกเป็นของตนเองอยู่ในพื้นที่ห่างไกลในยะไข่มาตั้งแต่ปี 2014 เป็นอย่างน้อย

“ผู้ฝึก” นั้นอับดุลเลาะห์อ้างว่าเป็น “โรฮีนจา” ที่เคยเข้าเป็นทหารหรือตำรวจให้กับทางการพม่า เขาอ้างด้วยว่า คนเหล่านี้คือผู้ฝึกอาวุธและยุทธวิธีให้กับตนเองอีกด้วย

ข้ออ้างเรื่อง “ผู้ฝึก” ที่ว่านั้น ไม่ค่อยได้รับความเชื่อถือจากนักวิเคราะห์อิสระมากมายนัก เหตุผลหนึ่งก็คือโดยข้อเท็จจริงพื้นฐาน โรฮีนจาไม่น่าจะได้รับการยอมรับถึงขนาดสามารถเข้าเป็นทหารหรือตำรวจได้ ที่เป็นไปได้มากกว่าก็คือ มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นอดีตทหารหรือตำรวจจากประเทศอื่น ที่ให้บริการนี้แบบ “อาสาสมัคร” มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของทางการและอับดุลเลาะห์ สอดคล้องกันประการหนึ่ง นั่นคือ ค่ายเหล่านี้เป็นค่ายอยู่ในป่าลึก หรือบนแนวเทือกเขาตอนเหนือของเมือง

มองดอ, บูติเตาก์, และยะเตเตาก์ โดยเฉพาะบริเวณเทือกเขามะยู ที่ลดเลี้ยวล้อไปตามแนวชายแดนติดต่อกับบังกลาเทศ ก่อนที่จะลดระดับลงเป็นเมืองมองดอ ในทางตะวันออกและบูติเตาก์ในทางตะวันตก

ทั้งหมดเป็นเป้าหมายในปฏิบัติการทางทหารของกองทัพพม่า

อับดุลเลาะห์บอกว่า หลังการสาบานตนว่าจะปฏิบัติตาม “วิถีแห่งโรฮีนจา” แล้ว สมาชิกจะเข้ารับการฝึก ซึ่งแยกออกเป็น 2 ระดับ ระดับเบื้องต้นคือการฝึกกับไรเฟิลไม้ เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับวินัยและกลยุทธกองโจรพื้นฐานต่างๆ กินเวลา 1-2 สัปดาห์ ก่อนจะเข้าสู่การฝึกจริงระดับ “แอดวานซ์” ที่กินเวลานาน 2-3 เดือน เริ่มตั้งแต่การฝึกทำความคุ้นเคยกับอาวุธ ทั้งปืนสั้น ปืนไรเฟิลอัตโนมัติและปืนกล กับที่ขาดไม่ได้ก็คือ ทักษะในการทำระเบิดแสวงเครื่อง (ไออีดี)

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องยากที่จะประเมินเอาตามคำบอกเล่าว่า อาร์ซา จริงๆ แล้ว มีการจัดตั้งดีแค่ไหนและมีศักยภาพในการรบระดับใด

จริงๆ แล้วไม่มีใครแน่ใจด้วยซ้ำไปว่า อาวุธที่ใช้ เป็นอาวุธที่ได้จากการ “ปล้น” และ “ยึด” มาจากทหารและตำรวจจริงหรือไม่ หรือมีใครฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดให้การสนับสนุนอยู่

สิ่งหนึ่งที่หลายคนแน่ใจก็คือ นี่คือผลพวงของการ “ลงทัณฑ์” ที่พม่ากระทำต่อโรฮีนจามานับสิบๆ ปี

ส่งผลให้โรฮีนจาส่วนหนึ่งรู้สึกเหมือนเช่นกับที่ ฮาเชม รู้สึกและบอกกับการ์เดียน เอาไว้ว่า พวกตนมีชีวิตอยู่ในสภาพ แม้จะไม่ตายก็ไม่เหมือนกับการมีชีวิต ดังนั้นจึง

ต้องทำอะไรสักอย่าง

“เราต้องการสิทธิที่เราพึงได้ ไม่อย่างนั้น ไม่เราตาย พวกเขาก็ตาย!”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image