คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : การกลับมาของ “อัลเคด้า”

REUTERS/Brendan McDermid

ขบวนการก่อการร้าย อัล กออิดะห์ หรือที่เรียกกันตามการออกเสียงภาษาอังกฤษว่า อัลเคด้า คือกลุ่มก่อการร้ายที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ด้วยปฏิบัติการโจมตีต่อเป้าหมายในดินแดนสหรัฐอเมริกาในวันที่ 11 กันยายน เมื่อ 16 ปีก่อน

การก่อการร้ายที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3,000 ราย ซึ่งเป็นการสูญเสียชีวิตจากเหตุการณ์ก่อการร้ายที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่

รัฐบาลอเมริกันในเวลานั้นประกาศที่จะ “ล้างแค้น” ในทันทีไม่นานหลังเกิดเหตุ

“เมื่อเราหาพบว่าใครคือคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ พวกนั้นจะไม่ชอบที่ผมเป็นประธานาธิบดีแน่” จอร์จ ดับเบิลยู บุช บอกก่อนย้ำว่า เรื่องนี้ “ต้องมีคนชดใช้”

Advertisement

การตอบโต้ดังกล่าวก่อความเสียหายให้กับอัลเคด้าจริง โดยเฉพาะการสูญเสียผู้นำลัทธิอย่าง โอซามา บิน ลาเดน ให้กับเจ้าหน้าที่ในสังกัด “กองพัฒนาสงครามพิเศษแห่งกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา” หรือ “เดฟจีอาร์ยู” ที่รู้จักกันมากกว่าในชื่อของ “ซีล ทีม ซิกซ์”

แต่ 16 ปีผ่านไป ความกังวลที่แท้จริงเริ่มกลับมาใหม่ เมื่อบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านก่อการร้ายทั้งหลายชี้ว่า อัลเคด้ากำลังสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ อาศัยโอกาสดีที่ทั้งโลกหันไปทุ่มความสนใจให้กับ กองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส หรือไอซิส) จนมีความแข็งแกร่ง “เทียบเท่า” หรืออาจจะ “สูง” กว่าอัลเคด้า เมื่อก่อนหน้าเหตุการณ์ 9/11 อีกครั้งหนึ่งแล้ว

ก่อนหน้าเหตุการณ์มหาวินาศของสหรัฐอเมริกา สมาชิกที่ “แอ๊กทีฟ” คือเคลื่อนไหวอยู่จริงของอัลเคด้า มีอยู่รวมกันแค่เรือนหมื่นทั่วโลก แต่ทุกวันนี้เฉพาะสมาชิกของขบวนการก่อการร้ายในเครืออัลเคด้าในซีเรียเพียงลำพังก็มีอยู่มากถึง 30,000 คนแล้ว ตามการประเมินจากบางแหล่ง นี่ยังไม่นับอีกหลายหมื่นที่ต่อสู้อยู่ในนามของกลุ่มก่อการร้ายในเครืออัลเคด้าในพื้นที่อย่าง โซมาเลีย, เยเมน, อัฟกานิสถาน, แอฟริกาเหนือ ฯลฯ

Advertisement

ในขณะที่ไอเอสยังคงกลายเป็นข่าวพาดหัวอยู่ตลอดเวลา ทั้งจากการยึดครองพื้นที่ในอิรักและซีเรีย รวมถึงปฏิบัติการก่อการร้ายโจมตีเป้าหมายหลายแห่งทั่วยุโรปตะวันตก อัลเคด้าดำเนินการฟื้นฟูตัวเองขึ้นมาใหม่อย่างเงียบๆ ผ่านการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มติดอาวุธในท้องถิ่นหลายแห่ง ที่จับปืนขึ้นต่อสู้อยู่ใน “สงครามกลางเมือง” นองเลือดในแต่ละพื้นที่เหล่านั้น

ผลลัพธ์ที่ปรากฏในเวลานี้ก็คือ ความพยายามเพื่อการต่อต้านการก่อการร้ายของชาติตะวันตก ถูกทุ่มไปให้กับการสร้างความเสียหายต่อไอเอสให้ได้มากที่สุด

แต่ในขณะที่ไอเอสอ่อนแอลงในระดับหนึ่ง อัลเคด้ากลับเฟื่องฟูขึ้นมาอีกครั้ง

แคทเทอรีน ซิมเมอร์แมน นักวิเคราะห์อาวุโสในเรื่องอัลเคด้า ประจำสถาบัน อเมริกัน เอนเทอร์ไพรส์ ยอมรับว่า ไอเอสกับการคงอยู่ในอิรักและซีเรีย ดึงความสนใจเกือบทั้งหมดไปจากปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายของตะวันตก จนกระทั่งเมื่อไอเอสกำลังสูญเสียพื้นที่ยึดครองอย่างรวดเร็ว ทุกคนถึงได้หันไปมองรอบๆ ตัวแล้วก็ออกปากเหมือนกันว่า ภัยคุกคามมหึมา “ยังคงอยู่”

และไม่ใช่จากไอเอส แต่เป็นจากศัตรูเก่าแก่อย่าง อัลเคด้า

เมื่อ 3 ปีก่อนหน้านี้ ไอเอสควบคุมพื้นที่บางส่วนในอิรักและซีเรีย รวมๆ กันแล้วมากมายใกล้เคียงกับเนื้อที่ของประเทศอังกฤษทั้งประเทศ มีกองทัพนักรบอยู่ภายใต้บังคับบัญชาเกือบแสน ถือเป็นความแข็งแกร่งที่เป็นตัวผลักดันให้อัลเคด้า กลายเป็น “เรื่องรอง” ในความคิดของนักวิเคราะห์เพื่อต่อต้านการก่อการร้ายเกือบทั้งหมด

ถึงตอนนี้ ไอเอสเสีย 78 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ยึดครองในอิรักไป นอกจากนั้นยังเสียการควบคุมในพื้นที่อีกไม่น้อยกว่า 58 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่อิทธิพลในซีเรีย ซึ่งนัยยะสำคัญไม่ได้อยู่เพียงแค่การเสียพื้นที่เท่านั้น แต่ยังเป็นการเสียประชากรสนับสนุนอีกต่างหาก เนื่องจากไอเอสในซีเรียหมดอิทธิพลในจุดศูนย์กลางที่มีประชากรเป็นจำนวนมากไปทั้งหมด ยกเว้นเพียงที่เดียวคือเมืองรัคกา ที่ไอเอสอุปโลกน์ขึ้นมาเป็นเมืองหลวงของประเทศตัวเอง และกำลังตกเป็นเป้าถล่มของกองกำลังพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐอเมริกาอยู่ในเวลานี้

นายพลอเมริกันรายหนึ่งประเมินเอาไว้ว่า ในช่วงเวลา 3 ปีมานี้ ไอเอสเสียกำลังรบไประหว่าง 60,000 ถึง 70,000 คนทั้งในซีเรียและอิรัก

จนถึงเวลานี้มีสมาชิกกองกำลังไอเอสอยู่ใน 2 ประเทศดังกล่าวเพียงระหว่าง 12,000 ถึง 15,000 คนเท่านั้นเอง

ในทางตรงกันข้าม สมาชิกของกลุ่มติดอาวุธที่เชื่อมโยงอยู่กับอัลเคด้าในซีเรีย ซึ่งเรียกตัวเองว่า “ฮายัต ทาฮะรีร์ อัล-ชาม” หรือ “เอชทีเอส” ที่วิวัฒนาการมาจากกลุ่มก่อการร้ายนิยมอัลเคด้าเดิมที่เรียกว่า “จาบัท อัล-นุสรา” นอกจากจะมีพื้นที่ควบคุมภายใต้อิทธิพลของตนเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังมีกองกำลังติดอาวุธอยู่ใต้บัญชาการมากกว่าไอเอสแล้ว

ประเมินกันคร่าวๆ ว่า เอชทีเอสมีกำลังรบอยู่ระหว่าง 20,000-30,000 คนในเวลานี้

ทั้งหมดนั่นไม่เพียงแสดงให้เห็นถึง “ความสำเร็จ” ในการ “สร้างตัว” ครั้งใหม่ของอัลเคด้าเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความสำเร็จของยุทธวิธีที่แตกต่างกันชัดเจนอีกด้วย

นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อค้านก่อการร้ายระบุตรงกันว่า มีเหตุปัจจัยสำคัญบางประการที่ทำให้ไอเอสประสบความพ่ายแพ้ในการรบอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วในซีเรีย แต่เหตุเดียวกันไม่เกิดขึ้นกับกลุ่มของอัลเคด้า

เหตุปัจจัยประการแรกก็คือ ไอเอสไม่ยอมหรือไม่ก็ไม่ยืดหยุ่นพอจนสามารถสร้างความร่วมมือกับกลุ่มกบฏต่อต้านระบอบการปกครองของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ได้ ไม่เพียงเท่านั้น ไอเอสยังโดดเดี่ยวตัวเองด้วยการโจมตีกลุ่มกบฏอื่นๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนไม่เหลือพันธมิตรอีกเลยในซีเรีย

สาเหตุสำคัญประการถัดมาก็คือ ในเวลาเดียวกับที่การยึดดินแดนแล้วประกาศเป็นพื้นที่ในปกครองของตนเองสร้างความเป็นปฏิปักษ์ขึ้นกับทั้ง “มหาอำนาจ” ในภูมิภาค เรื่อยไปจนถึงสหรัฐอเมริกาและยุโรป ไอเอสยิ่งทำให้ความเป็นศัตรูกับชาติเหล่านั้นรุนแรงมากขึ้นด้วยการลงมือก่อการร้ายซ้ำแล้วซ้ำอีกในหลายประเทศ ตั้งแต่ ตุรกี อียิปต์ เรื่อยไปจนถึงในหลายชาติยุโรป

กดดันให้แม้แต่ประเทศที่อยู่ห่างไกลจากพื้นที่ซีเรีย อย่างฝรั่งเศส หรืออังกฤษ เห็นพ้องกันว่าไอเอสเป็นภัยคุกคามเฉพาะหน้าที่ต้อง “จัดการ” ในทันที

อัลเคด้าดำเนินการแตกต่างออกไป

แทนที่จะโจมตีกลุ่มกบฏซีเรียกลุ่มอื่นๆ เอชทีเอส กลุ่มอัลเคด้าในซีเรีย กลับใช้วิธีการ “แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ระหว่างตนเองกับกลุ่มกบฏอื่นๆ เพื่อ “เป้าหมายร่วม” นั่นคือการล้มล้างระบอบการปกครองอัสซาด

เอชทีเอสยินยอม “บูรณาการ” ยุทธศาสตร์ของตัวเอง หรือในบางครั้งถึงกับยินยอมนำกองกำลังติดอาวุธของตนเข้าร่วมในการปฏิบัติการกับกลุ่มกบฏอื่นๆ ซึ่งไม่เพียงเป็นการ “ก่อมิตร” ที่ดีที่สุดเท่านั้น ยังเป็นโอกาสดีที่สุดในการแพร่กระจายอุดมการณ์และความคิดตามแบบฉบับและแนวทางของอัลเคด้า ให้กว้างขวางออกไปด้วยอีกต่างหาก

ความร่วมมือดังกล่าว ยังทำให้ยากที่กองกำลังพันธมิตรซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาจะกำหนด “อัลเคด้า” ในซีเรียเป็นเป้าโจมตีอีกด้วย

ข้อเท็จจริงเรื่องนี้เห็นได้ชัดเจน เมื่อฝ่ายอเมริกันสั่งฝูงบินรบให้ถล่มฐานที่มั่นอัลเคด้าในซีเรีย เมื่อปี 2014 กลุ่มต่อต้านอัสซาดที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาโวยวายเสียงดัง

และยืนกรานว่า นั่นคือการโจมตี “หุ้นส่วนสงคราม” ของตน…ซึ่งก็จริง

มีอา บลูม ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยจอร์เจียสเตท ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า เพื่อ “ปกปักรักษารากฐานของขบวนการที่กำลังสร้างตัวขึ้นใหม่” ในซีเรีย แกนนำอัลเคด้าที่ “ศูนย์กลาง” ถึงกับยินยอมให้เอชทีเอส ที่เป็น จาบัท อัล-นุสรา ในเวลานั้น ประกาศตัว “ระงับ” การเป็นส่วนหนึ่งในองค์การของอัลเคด้า เมื่อปี 2016 เป็นปฏิบัติการที่ก่อให้เกิดข้อกังขาขึ้นทั่วไปว่า ในความเป็นจริง เอชทีเอสกับอัลเคด้ามีโยงใยสัมพันธ์ถึงกันหรือไม่และอย่างไร

ทั้งๆ ที่ มีอา บลูม บอกว่า ทั้งหมดไม่ได้เป็นความพยายามแยกตัวจริงๆ จัง แต่เป็นเพียงการกระทำในทำนอง “ปากว่า ตาขยิบ” ที่รู้กันเองดีของทั้งสองฝ่ายเท่านั้นเอง

สุดท้าย ในช่วงที่ผ่านมา อัลเคด้าไม่ได้ลงมือ “ก่อการร้าย” ครั้งใหญ่โตโดยอาศัยกองกำลังของตนในซีเรียอีกเลยโดยเฉพาะกับเป้าหมายในชาติตะวันตก ซึ่งแตกต่างอย่างใหญ่หลวงกับไอเอส ที่ใช้ดินแดนยึดครองของตนประหนึ่งเป็น “กองบัญชาการ” เพื่อการควบคุมและประสานงานปฏิบัติการก่อการร้ายในหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป

ซึ่งแสดงความต่างในทางยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนของกองกำลังก่อการร้าย 2 กลุ่มที่มีฐานที่มั่นและมีกำลังคนอยู่ในซีเรียเหมือนๆ กัน

ไอเอสตั้งเป้าหมายใช้ซีเรียเป็นฐาน เพื่อ “โกอินเตอร์” ตามยุทธศาสตร์เอาชนะ “ศึกไกล” ที่เป็นศึกใหญ่ของตนเอง

อัลเคด้ากลับใช้ซีเรียเป็นฐานในการแผ่อิทธิพลใน “ท้องถิ่น” เพื่อเอาชนะ “ศึกใกล้” ให้ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดตามยุทธศาสตร์ของ บิน ลาเดน

ซิมเมอร์แมน ตั้งข้อสังเกตไว้เป็นเชิงเตือนว่า ซีเรียเป็นเพียงตัวอย่างความสำเร็จหนึ่งของอัลเคด้าเท่านั้น ในความเป็นจริง อัลเคด้าประสบความสำเร็จไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันในหลายๆ พื้นที่ หลายๆ ประเทศในเวลานี้

คำถามที่ว่า ระหว่างไอเอสกับอัลเคด้า กลุ่มไหน ขบวนการใดอันตรายกว่ากันในระยะยาว คงไม่ต้องการคำตอบอีกแล้ว

ข้อมูลที่น่าสนใจจากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่า ชั่วระยะเวลาเพียงปีเดียวระหว่าง 2015-2016 สมาชิกกลุ่มอัลเคด้าในคาบสมุทรอาหรับ (เอคิวเอพี) เพิ่มพรวดเดียว 4 เท่า จาก 1,000 คน เป็นกว่า 4,000 คน และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้อัลเคด้าอยู่ในสถานะได้เปรียบในสงครามกลางเมืองที่นั่น

ในโซมาเลีย กลุ่มก่อการร้ายในเครืออย่าง “อัล ชาบับ” ใช้ประโยชน์จากการเมืองระหว่างตระกูลในพื้นที่พร้อมกับความล้มเหลวจากการปกครองที่ฉ้อฉลได้อย่างเอกอุ ถึงขนาดที่ คริสโตเฟอร์ อันซาโลเน นักวิจัยจากฮาวาร์ด ชี้ว่า อัลชาบับจะเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ปราบปรามได้ยากเย็นที่สุดในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าจะจากกองทัพอเมริกันหรือด้วยความพยายามระดับนานาชาติ

แม้แต่ในอัฟกานิสถาน อัลเคด้ายังสามารถทำให้อเมริกันต้องคงทหารอยู่มากกว่า 11,200 นาย โดยที่ยังไม่มีแผนการที่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรกับอัลเคด้าและทาลิบันที่นั่น

นักสังเกตการณ์บางคนเชื่อว่า อัลเคด้ากำลังสร้างตัว จัดตั้งองค์กร และสั่งสมพลานุภาพขึ้นมาใหม่ รอวันเวลาที่เหมาะสมแสดงศักยภาพใหม่ออกมาต่อเป้าหมาย

รอ “การนำ” ของผู้นำรุ่นใหม่อย่าง ฮัมซา บิน ลาเดน ที่เชื่อกันว่ายังคงใช้แหล่งเดิมของผู้เป็นบิดา ในอัฟกานิสถานและปากีสถาน ซุ่มซ่อนกบดานอยู่

ถึงตอนนั้นสงครามเลือดด้วยการก่อการร้ายครั้งใหม่ก็คงเกิดขึ้นให้รับรู้กันอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image