คอลัมน์ Think Tank : เทวดาตกสวรรค์?

REUTERS/Soe Zeya Tun/File Photo

ได้รับการยกย่องเชิดชูและแบกความหวังอันยิ่งใหญ่ แต่พวกเขากลับเดินหน้าต่อหลังจากนั้นเพื่อสร้างความผิดหวังให้โลก เหมือนอย่างกรณีของออง ซาน ซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่ทำไม่ได้ตามความคาดหวังเสมอไป

การประกาศผลของคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลของนอร์เวย์ทุกในเดือนตุลาคมทุกปี หลายครั้งมักจะตามมาด้วยการประท้วงและการอภิปรายถกเถียงที่ร้อนแรง น้อยครั้งที่ผู้ได้รับราวัลโนเบลสาขาสันติภาพจะได้รับการยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์

ทว่า ออง ซาน ซูจี เป็นหนึ่งในนั้น

หลังได้รับรางวัลเมื่อปี 1991 จากการยืนหยัดขัดขืนต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยกับรัฐบาลทหารพม่า “สุภาพสตรีแห่งย่างกุ้ง” ผู้บอบบางร่างเล็กได้รับการยกย่องเชิดชูมายาวนานว่าเปรียบเสมือนนักบุญ

Advertisement

แต่ตอนนี้ ในฐานะผู้นำสูงสุดของพม่า เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในเรื่องความล้มเหลวที่จะปกป้องชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮีนจาจากการถูก “ล้างเผ่าพันธุ์”

กลุ่มผู้สนับสนุนซู จี และนักสังเกตการณ์จำนวนมากระบุว่า เธอไม่มีอำนาจในการควบคุมกองทัพที่ปกครองประเทศมาเป็นเวลา 50 ปี และเพิ่งจะสูญเสียอำนาจส่วนหนึ่งให้กับรัฐบาลพลเรือนของเธอ

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ผู้คนกว่า 430,000 คนได้ร่วมลงชื่อผ่านทางออนไลน์ เรียกร้องให้ริบรางวัลโนเบลของเธอ และเจ้าของรางวัลรายอื่นที่ได้รับการยกย่อง ทั้งเดสมอนด์ ตูตู มาลาลา และองค์ทะไลลามะ ต่างเรียกร้องให้เธอมีมาตรการเพื่อยุติความรุนแรง

Advertisement

อัสเล สเวน นักประวัติศาสตร์โนเบล กล่าวว่า “สำหรับคนที่ต่อสู้อย่างหนักเพื่อประชาธิปไตยและได้รับความนิยมมาอย่างยาวนานเช่นเธอ แต่กลับต้องพบตนเองตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาเลย”

ไม่ธรรมดา แต่ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ในขณะที่ซูจี อาจอยู่ในระดับที่ไม่มีใครเทียบได้ แต่คนดังเจ้าของรางวัลโนเบลอีกหลายรายก็สูญเสียความเจิดจรัสของพวกเขาไปตามกาลเวลา

สเวนบอกว่าอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐอเมริกา เป็นกรณีที่คล้ายคลึงกับซูจีที่สุด

โอบามาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2009 เพียงแต่ 9 เดือนหลังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ก่อให้เกิดความกังขาในหมู่ผู้คนจำนวนมาก แต่ในเวลานั้นเป็นช่วงที่ความนิยมในตัวเขาอยู่ในจุดสูงสุด

8 ปีต่อมา ยังคงมีเสียงเรียกร้องให้ยึดคืนรางวัลโนเบลของโอบามา โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดีย จากความล้มเหลวในการยุติสงครามอิรักและอัฟกานิสถาน รวมถึงนโยบายของเขาในการใช้โดรนโจมตีอย่างเข้มข้น

“เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับใครก็ตามที่จะทำให้ได้ตามความคาดหวังเหล่านั้น” ไกร์ ลุนเดอสตัด เลขาธิการคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลระหว่างปี 1990-2014 บอก

“ผมไม่คิดว่า คณะกรรมการคาดหวังให้โอบามาต้องปฏิวัติการเมืองระหว่างประเทศไปโดยสิ้นเชิง มันเป็นเรื่องของการก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง”

นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับรางวัลอีกหลายคนที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดพลาดอย่างชัดเจน

เลค วาเลซา อดีตประธานาธิบดีโปแลนด์ที่ได้รับรางวัลเมื่อปี 1983 ถูกกล่าวหาว่าร่วมมือกับหน่วยสืบราชการลับของคอมมิวนิสต์

ก่อนหน้านั้นอีกนาน เออร์เนสโต โมเนตา นักสันตินิยมชาวอิตาเลียน ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการสนับสนุนให้อิตาลีทำสงครามกับอาณาจักรออตโตมันในปี 1911 สี่ปีหลังจากที่เขาได้รับรางวัล

ลุนเดอสตัดบอกว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบ แต่พวกเขาเหล่านี้ต้องแบกรับความคาดหวังในการเป็นแบบอย่างที่น่ายกย่องมากเป็นพิเศษ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image