“Myanmar Insight 2017”

นับตั้งแต่พม่ามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อราว 2 ปีก่อน พม่าได้กลายเป็นประเทศที่ดึงดูดความสนใจจากนักธุรกิจและนักลงทุนที่ต่างรู้ดีว่า พม่าเป็นประเทศที่ยังคงเต็มไปด้วยทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ เช่นเดียวกับโอกาสทางธุรกิจมากมายที่รออยู่ เมื่อไม่นานมานี้ถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง และสมาคมนักธุรกิจไทยในพม่า ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาด้านเศรษฐกิจ “Myanmar Insight 2017” ขึ้น เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและกฎหมายด้านเศรษฐกิจของพม่า รวมทั้งโอกาสการค้าการลงทุน ทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนไทยที่ประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจในพม่า โดบได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมรับฟังการสัมมนามากถึง 500 คน

นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวขณะเป็นประธานเปิดงานว่า จากประสบการณ์ที่เคยเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำพม่า และการรับฟังข้อมูลจากนักธุรกิจไทยสังเกตได้ว่า นักธุรกิจไทยพอใจกับประสบการณ์การดำเนินธุรกิจกับนักธุรกิจพม่าเพราะเป็นคนน่าเชื่อถือและรักษาคำพูด ขณะที่ชาวพม่ามีมุมมองที่ดีต่อสินค้าไทย และเห็นว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดีและเหมาะสมต่อราคา ซึ่งเป็นมุมมองที่ควรรักษาไว้ นักธุรกิจไทยต้องมองภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในภาพรวม และมองไปถึงกรอบความร่วมมือต่างๆ ซึ่งต่างมีแผนแม่บทเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีเส้นทาง India-Myanmar-Thailand Trilateral Highway และ East West Economic Corridor ซึ่งล้วนแต่ขยายโอกาสด้านธุรกิจจากเวียดนามไปจนถึงประเทศอินเดีย ที่สำคัญอาเซียนโดยเฉพาะพม่าซึ่งอยู่ตรงกลางและเป็นประตูสู่ความเชื่อมโยงทั้งหมด ดังนั้น นักธุรกิจไทยต้องมองภาพใหญ่ และมองไกลไปกว่าตลาดพม่า ซึ่งมีอนาคตที่สดใสอย่างแน่นนอน

นายอ่อง ทุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์พม่า กล่าวว่า ได้เห็นพัฒนาการด้านเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าประมงขณะที่ประจำการอยู่ในสถานทูตพม่าในไทย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของพม่าเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของไทยมากกว่าพม่า 6 เท่า ขณะที่นักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวในไทยก็มากกว่าพม่าถึง 11 เท่า ทั้งนี้เชื่อว่าไทยและพม่ายังสามารถเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกันได้อีกมาก โดยนโยบายของพม่าคือการสร้างความมั่นใจด้านธุรกิจด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจ และการมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(เอสดีจีส์)ของสหประชาชาติ

นายเซ็ต อ่อง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผนและการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลพม่ามีนโยบายที่จะปรับปรุงสภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกฎหมาย อาทิ กฎหมายการลงทุนและกฎหมายเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งนี้ยืนยันว่ารัฐบาลพม่าสนับสนุนนักลงทุนจากไทย และเห็นถึงความรักและมิตรภาพระหว่างสองประเทศ

Advertisement

ด้านนายอ่อง นาย อู เลขาธิการคณะกรรมการการลงทุนแห่งพม่า กล่าวว่า นักลงทุนไทยเข้ามาลงทุนในพม่ามากเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและสิงคโปร์ ส่วนสาขานักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนมากที่สุดคือก๊าซ ไฟฟ้า ภาคการผลิต โทรคมนาคม และอสังหาริมทรัพย์

สมาคมนักธุรกิจไทยในพม่าและภาคเอกชนไทยที่ดำเนินธุรกิจในพม่าแนะนำให้นักลงทุนที่สนใจจะลงทุนในพม่าต้องทำความเข้าใจในภาพรวมของพม่า ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ให้ศึกษาตลาดในเชิงลึก พัฒนาแผนธุรกิจ หาหุ้นส่วนที่ดี รู้รอบกฎหมาย ภาษี กฎระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ เกี่ยวกับการค้าการลงทุน เตรียมความพร้อมด้านการเงินก่อนลงทุน รอบรู้ระบบโลจิสติกส์ การบริหารจัดการพัฒนาบุคลากร การประสานงานกับภาครัฐและองค์กรต่างๆ ในพม่า ควบคู่ไปกับการตอบแทนสังคม นอกจากนี้ควรต้องมีการลงพื้นที่เพื่อรับรู้ถึงสภาพแวดล้อม และประเด็นท้าทายโดยตรงเพื่อพัฒนาแผนธุรกิจต่อไป

นักธุรกิจไทยในพม่าต่างมองว่า การลงทุนในพม่าเป็นการขยายธุรกิจ ไม่ใช่การย้ายฐานธุรกิจจากไทย และอยากให้นักธุรกิจไทยที่สนใจจะไปลงทุนในพม่าควรมองไปที่โอกาสอันยิ่งใหญ่มากกว่าประเด็นท้าทายที่รอคอยอยู่

Advertisement

จักร บุญ-หลง
เอกอัครราชทูตไทยประจำพม่า

จักร บุญ-หลง

การเมืองของพม่าในขณะนี้มีเสถียรภาพ รัฐบาลก็ได้รับความสนับสนุนจากประชาชนอย่างเต็มที่ กองทัพก็ให้การสนับสนุนรัฐบาลด้วยดี ไม่มีความขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้น เป็นภาพของรัฐบาล กองทัพ กับภายใน ซึ่งมีความยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ ส่วนประเด็นสำคัญที่ต่างชาติให้ความสนใจ อาทิ เรื่องรัฐยะไข่ ปัญหาสิทธิมนุษยชน ทางการพม่าเขาก็บอกว่าพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเต็มที่

ในเรื่องเศรษฐกิจ พม่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพมาก พม่าได้พยายามทำเต็มที่ ออกกฎระเบียบใหม่ๆ อาทิ กฎหมายการลงทุนต่างชาติ และกำลังศึกษาเพื่อเสนอออกกฎหมายควบคุมทรัพย์สินทางปัญญา แต่ต้องยอมรับว่าพม่าอยู่แบบโดดเดี่ยวมานาน หลังมีการเลือกตั้ง เป็นประชาธิปไตย ประชาคมระหว่างประเทศยกเลิกการคว่ำบาตร สหรัฐก็ให้สิทธิพิเศษทางภาษี หรือจีเอสพี คนคาดหวังว่าพม่าต้องตูมตาม แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะยังมีอะไรที่นักลงทุนต่างชาติต้องการอีก

ประการแรกกฎหมายที่เกี่ยวกับการลงทุนยังไม่พร้อม แต่คำสั่งต่างๆ ก็ทยอยออกมา ประการต่อมาโครงสร้างพื้นฐานก็ยังไม่พร้อม และกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา นอกจากนี้ไฟฟ้าก็ยังไม่เพียงพอ ต่างๆ เหล่านี้ทำให้นักลงทุนลังเล ค่าที่ดินในพม่าที่เคยพุ่งขึ้นไปแพงมหาศาลก็ลดลงแต่ก็ยังแพงอยู่ ทั้งหมดนี้ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังรออยู่ ซึ่งรวมถึงนักลงทุนไทยด้วย

อย่างไรก็ดีอยากบอกนักลงทุนไทยว่าอย่าเต้นฟุตเวิร์คอยู่ข้างนอก นักลงทุนรายใหม่ถ้าอยากจะเข้ามาทำธุรกิจในพม่า ขอให้ศึกษาอย่างจริงจัง พม่ามีศักยภาพแน่นอน เพราะหลังจากแก้ไขปัจจัยต่างๆ เหล่านี้แล้ว การลงทุนและการค้าขายจากต่างชาติก็จะเข้ามาในพม่า เมื่อมีระเบียบต่างๆ แล้วก็จะมีการจ้างงาน ผู้คนลืมตาอ้าปาก ศักยภาพของพม่ามีแต่จะเติบโตไม่มีลดลง เพราะพม่ามีทรัพยากรมาก และอยู่ระหว่าง 2 ประเทศใหญ่คือจีนและอินเดีย จึงเป็นโอกาสของบริษัทไทยที่จะเข้าไปทำธุรกิจในพม่า แต่อย่าเข้าไปแบบไม่มีข้อมูล

อีก 2-3 ปีข้างหน้าพม่าจะมีความพร้อมมากกว่านี้ ถ้าเราฟุตเวิร์กรออยู่ 2-3 ปีก็จะช้าแล้ว อยากให้บริษัทไทยเข้าไปตั้งบริษัทในพม่าก่อน และติดตามข้อมูลเพื่อหาช่องทางหรือผู้ร่วมธุรกิจในพม่าที่ไว้ใจได้ อย่าไปแบบสุ่มสี่สุ่มห้า ต้องคอยติดตามข้อมูลและกฎระเบียบต่างๆ ในพม่ามีอุตสาหกรรมน่าสนใจหลายอย่าง อาทิ พลังงาน การผลิตอาหาร และโครงสร้างพื้นฐาน

ความจริงภาคเอกชนไทยมีตัวช่วยเยอะมาก สมาคมนักธุรกิจไทยในพม่าก็ทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย มีการแบ่งปันข้อมูลให้กับคนที่สนใจ ทั้งภาคการธนาคาร กฎหมาย จะคอยติดตามข้อมูลและมาสรุปให้คนไทยฟัง มีการจัดสัมมนาใหญ่ปีละ 2 ครั้ง เพื่อเล่าให้สมาชิกรวมถึงผู้สนใจรับฟังว่าพม่าไปถึงไหน เชิญผู้ใหญ่ของพม่ามาคุยให้ฟัง เพื่อให้เห็นลู่ทางของการลงทุนในพม่า

สถานเอกอัครราชทูตไทยก็มีการจัดกิจกรรมเพื่อให้ข้อมูลความรู้ รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านต่างๆ นอกจากนี้ก็มีศูนย์ข้อมูลธุรกิจ และมีเว็บไซต์ที่เปิดให้ภาคเอกชนที่สนใจจะเข้าไปลงทุนในพม่ามาขอข้อมูลต่างๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีข้อมูลมากเช่นกัน

ปัจจัยบวกทั้งหลายเอื้อต่อการลงทุนของภาคเอกชนไทยในพม่า แต่ภาคเอกชนก็ต้องทำการบ้าน นอกจากนั้นต้องคิดด้วยว่าเราต้องไม่เข้าไปแล้วคิดแต่เพียงจะนำเอาเงินกลับมา แต่ขอให้ทำโครงการที่เป็นประโยชน์ให้กับสังคมพม่าด้วย เพราะในพม่ายังมีคนด้อยโอกาสและต้องการการพัฒนาอีกมาก

ปัจจุบันความสัมพันธ์ไทย-พม่า ใกล้ชิดกันมาก ทั้งในระดับรัฐบาลและกองทัพ ถือได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่ในจุดสูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา เมื่อความสัมพันธ์และความร่วมมือใกล้ชิดกันขนาดนี้ก็น่าจะมีความร่วมมือต่างๆ ได้มากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image